WAY to READ: The Cult at The End of The World ความตายของ โชโกะ อาซาฮาร่า

โอมชินริเกียว

…เวลา 07:45 สมาชิกของลัทธิโอมชินริเกียวหรือโอมปรมัตถ์สัจจะที่เรียกกันสั้นๆ ว่า โอมฯ ระดับหัวกะทิ 5 คน แทรกซึมอยู่ท่ามกลางมนุษย์ พวกเขาแยกกันขึ้นรถไฟใต้ดิน 5 ขบวน คนละชานชาลาเพื่อเดินทางสู่จุดหมายที่ต่างกัน ทุกคนรู้เวลาและสถานที่เป็นอย่างดี รู้ด้วยว่าเวลา 08:15 รถไฟทั้ง 5 ขบวนจะผ่านย่านคาซูมิกาเซกิ ซึ่งเป็นแหล่งรวมศูนย์อำนาจของญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นที่ตั้งของกระทรวง ทบวง กรม สำคัญมากมายที่รับผิดชอบดูแลชาวญี่ปุ่น 125 ล้านคน…

– บทเปิด ‘นรกที่รถไฟใต้ดิน’

 

ต้นเดือนกรกฎาคม 2018 ที่ผ่านมา ข่าวการประหารชายชาวญี่ปุ่นไว้หนวดเครารุงรังคนหนึ่ง ผู้เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำลัทธิหนึ่งซึ่งบัญชาให้สาวกนำแก๊สซารินไปปล่อยในรถไฟใต้ดิน ทำให้มีคนเสียชีวิต 80 คน บาดเจ็บ 2,500 คน

เหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นในปี 1995 หรือผ่านมาแล้ว 23 ปี

ชายไว้หนวดเครารุงรังที่ถูกประหารด้วยการแขวนคอมีชื่อว่า ‘โชโก อาซาฮาร่า‘ แต่นั่นไม่ใช่ชื่อจริง ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็น ‘ชิซูโอะ มัตซึโมโตะ’ เด็กชายยากจนจากชนบทของญี่ปุ่น ดวงตาเกือบบอดข้างหนึ่ง และไขว่คว้าบางสิ่งมาตลอด บางสิ่งที่ในที่สุดนำไปสู่ความวิปลาสทางความคิดเมื่อเขาก้าวขึ้นสู่ผู้นำสูงสุดขององค์กรที่มีทั้งกำลังคน สติปัญญา และทรัพย์สมบัติมหาศาล ภายใต้ชื่อ ‘ลัทธิโอมชินริเกียว’ หรือ ‘โอมปรมัตถ์สัจจะ’

The Cult at The End of The World ของ เดวิด แคปแลน (David E. Kaplan) และ แอนดรู มาร์แชลล์ (Andrew Marshall) หรือในชื่อภาษาไทยว่า โอมชินริเกียว ลัทธิมหาภัย แปลโดย โรจนา นาเจริญ นำเราไปรู้จักชีวิตของ โชโกะ อาซาฮาร่า นับตั้งแต่จุดแรกเริ่มของชีวิตเขาก่อนก้าวขึ้นสู่ผู้นำลัทธิในปี 1986 เมื่อโชโกะที่บำเพ็ญเพียรตามรอยพระพุทธเจ้ามาเป็นเวลายาวนานได้กล่าวอ้างว่าเขาบรรลุโสดาบันแล้ว ณ บริเวณเทือกหิมาลัย

แรกเริ่มในสมัยที่ยังเป็นแค่ เด็กชายชิซูโอะ มัตซึโมะโตะ โชโกะมีความมุ่งมั่นถึงความร่ำรวยเป็นเบื้องต้น เนื่องจากที่บ้านมีฐานะยากจน ที่โรงเรียน เขามีความปรารถนาอยากเป็นที่ชื่นชมของเพื่อนๆ ด้วยการลงสมัครประธานนักเรียน แต่ไม่เคยได้รับเลือก เขาตัดพ้อเรื่องนี้กับครู ซึ่งให้คำตอบที่เด็กชายไม่อยากได้ยินว่า “ทุกคนกลัวเธอ” ชิซูโอะจึงตะโกนใส่หน้าครูว่า จะยิงให้ตาย!

แน่นอนถ้ามองแค่นี้ เราอาจคิดว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ยุติธรรมต่อชีวิตวัยเด็กของโชโกะนัก ด้วยการวาดภาพให้เขาเป็นปีศาจมาตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งในแง่หนึ่งไม่อาจปฏิเสธ แต่อีกเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธเช่นกันคือ เด็กชายชิซูโอะที่มีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงได้เก็บซ่อนอารมณ์นั้นไว้ แล้วแปรเปลี่ยนตัวเองกลายเป็น โชโกะ อาซาฮาร่า ในที่สุด

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะร่ำรวยนั่นเอง พอเรียนจบชั้นมัธยม ชิซูโอะสามารถเก็บเงินได้ถึง 30,000 เหรียญ ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยเลยในสมัยนั้น เป้าหมายต่อไปของเด็กหนุ่มจึงการก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอย่างมหาวิทยาลัยโตเกียว แต่ชิซูโอะไม่ได้เป็นคนหัวดีขนาดนั้น และเป็นอีกครั้งที่เขาผิดหวัง

เขากลับคืนบ้านเกิด มีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนในโรงนวด หวนคืนสู่โตเกียว ได้พบรักกับหญิงสาวแสนดีคนหนึ่งที่มีกิจการคลินิก มีลูกด้วยกันหกคน ชีวิตที่ควรจะสงบดีของชิซูโอะกลับเริ่มต้นด้วยการหลอกลวงคนไข้ด้วยวิธีฝังเข็มจนนำไปสู่การจับกุมฐานฉ้อโกง โดนปรับไป 1,000 เหรียญ แต่ตอนนั้นเขาโกงเงินไปกว่า 100,000 เหรียญ เงินค่าปรับเพียงเท่านี้จึงไม่ได้ทำให้รู้สึกเดือดร้อนเท่าไหร่

อาจเพราะชิซูโอะพบว่าตัวเองมีพรสวรรค์ในการหาเงินได้อย่างง่ายดาย เขาจึงเขียนลงในสมุดบันทึกเพื่อตั้งคำถามถึงชีวิตว่า เกิดมาเพื่ออะไร สิ่งที่ตนเองต้องการจริงๆ คืออะไร?

คำถามนั้นนำไปสู่ความสนใจเรื่องโหราศาสตร์ ในที่สุดนำไปสู่ความสนใจในเรื่องพุทธศาสนา ซึ่งเป็นกระแสในช่วงปี 1980-1989 ในญี่ปุ่น จนมีชื่อเรียกปรากฏการณ์ในครั้งนั้นว่า ‘ชั่วโมงเร่งด่วนของพระเจ้า’ กอรปกับในปี 1985 นิตยสารหลายเล่มนำเสนอประเด็นเหลือเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่น เรื่อง UFO การหยั่งรู้ พลังจิต โทรจิต

ซึ่งแน่นอนชิซูโอะไม่พลาดที่จะอ้างว่าตนนั้นลอยตัวอยู่ในอากาศได้ 30 วินาที

จากจุดนั้น ชิซูโอะก่อตั้งโรงเรียนโยคะให้กลายเป็นที่หลบลี้จากอาการเครียดของคนเมืองหลากหลายสาขาอาชีพ ทำเงินได้มากมายจนเปิดสาขาไปทั่วประเทศ

…นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเด็กบ้านนอกที่ชื่อ ชิซูโอะ มัตซึโมโตะ ผู้ซึ่งในวัยเด็กมีทุกอย่างที่เด็กคนอื่นไม่มี ทั้งยากจน ตาเกือบบอด และล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งเหล่านั้นค่อยๆ เลือนหายไปทีละน้อย ไม่นาน ชิซูโอะ มิตซึโมโตะ ก็ถูกฝังอยู่ใต้เอกลักษณ์-โชโกะ อาซาฮาร่า…

– หน้า 29

การเกิดใหม่ในฐานะศาสดาวันโลกาวินาศ

จากโรงเรียนโยคะมาสู่องค์กรในชื่อ ‘โอมปรมัตถ์สัจจะ’ หรือ ‘โอมชินริเกียว’ ที่โชโกะ อาซาฮาร่า นำเรื่องราวทั้งที่เขาได้ถ่ายรูปคู่กับองค์ดาไลลามะกับเรื่องบรรลุโสดาบันมาตกแต่งและปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นอีกเรื่องเพื่อบอกเล่าให้สานุศิษย์ฟัง สร้างฐานะที่มั่นคงให้กับโชโกะมากขึ้นๆ จนลัทธิโอมชินริเกียวกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ

จากนั้นความสนใจของอาซาฮาร่าก็เปลี่ยนไปตามกระแส จนมาหยุดอยู่ที่ความเชื่อในวันโลกาวินาศ เข้าขั้นหมกมุ่น ไม่ใช่ด้วยความหวาดกลัว แต่เพราะเห็นโอกาสที่จะทำเงินจากความหวาดผวาของผู้คน ซึ่งจะหลั่งไหลมาหาเขาในฐานะ ‘ศาสดาองค์ใหม่’

…ตาข้างหนึ่งของอาซาฮาร่าจับอยู่ที่หายนะ แต่อีกข้างเพ่งอยู่กับกระแสเงินที่ทะลักเข้ากระเป๋า เขาตั้งใจใช้วันโลกาวินาศเป็นกลยุทธ์สร้างชุมชนขึ้นมาใหม่ แล้วตักตวงเงินนับล้านๆ เหรียญ…

– หน้า 36

 

ระหว่างเด็กชายที่ขาดไร้ทุกสิ่ง ถูกปฏิเสธ และหยามหมิ่น

ระหว่างชายที่เล็งเห็นโอกาสในการได้มาสิ่งซึ่งเคยขาดในวัยเยาว์

การอ่าน The Cult at The End of The World ในบริบทที่ต่างไปจากเดิม ทำให้ภาพที่เคยพร่าเลือนของชิซูโอะที่เคยถูกบดบังด้วยภาพลักษณ์ของโชโกะ ชายไว้หนวดเครารุงรังที่บัญชาการสังหารคนในรถไฟใต้ดินค่อยๆ ฉายอีกภาพให้ชัดเจนขึ้น

เป็นภาพของเด็กชายที่มีดวงตาเกือบบอดข้างหนึ่ง เจ็บปวดต่อทุกสิ่งที่ประเดประดังเข้ามาในชีวิต ร่ำร้องและตะโกนใส่ทุกคนที่เขารู้สึกว่าทำให้รู้สึกเจ็บ สิ่งที่น่าคิดคือ ในห้วงเวลานั้น ถ้ามีครูสักคนใส่ใจชิซูโอะมากพอ กอดเขา และพูดคุยเขาเช่นมนุษย์กับมนุษย์คุยกัน ไม่ใช่มองเขาในฐานะเด็กประหลาด ผิดแผกจากคนอื่น แล้วสร้างปัจจัยให้เด็กร่วมห้องต่างรังเกียจก่อนทิ่มแทงเขาด้วยคำพูด “ทุกคนกลัวเธอ”

ชีวิตของชิซูโอะจะเปลี่ยนไปจากนี้ไหม?

แน่นอนเราคงไม่มีคำตอบ เพราะ โชโกะ อาซาฮาร่า ถูกประหารด้วยการแขวนคอ และถูกจดจำในฐานะผู้นำลัทธิมหาภัยไปแล้ว

ประวัติศาสตร์มีความจริงในตัวมันเอง แต่มุมมองต่อประวัติศาสตร์จะเป็นตัวชี้วัดความจริงในการมองตัวเราเอง ว่าเรามองประวัติศาสตร์ในแง่มุมของ ‘มัน’ หรือ ‘พวกมัน’ และ ‘เรา’ หรือ ‘พวกเรา’ เหมือนที่เคยเป็นมาตลอด ในฐานะมนุษย์ แล้วศึกษาเข้าใจ เรียนรู้ ในฐานะบทเรียนไม่ให้โลกสร้างคนอย่าง โชโกะ อาซาฮาร่า ซ้ำ

หาได้ใช่การสาสมสะใจในโทษประหารที่ได้รับ


The Cult at The End of The World /David E. Kaplan & Andrew Marshall
โอมชินริเกียว ลัทธิมหาภัย
โรจนา นาเจริญ แปล
สำนักพิมพ์มติชน

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า