เมื่อไฟป่าในออสเตรเลีย ไม่ได้อยู่แค่ในออสเตรเลีย

วันนี้ไฟป่าในออสเตรเลียดับหมดแล้วหรือยัง? ช่วงนี้ใครหลายคนอาจจะมีคำถามนั้นผุดขึ้นมาในหัวทุกๆ วัน และคำตอบของวันนี้ก็คือ “ยัง”

แม้ว่าพายุฝนพร้อมลูกเห็บจะพากันโหมกระหน่ำใส่ออสเตรเลียใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วยทุ่นแรงให้นักดับเพลิง และลดกำลังไฟไปได้มหาศาลในหลายพื้นที่โดยเฉพาะที่ที่เปลวไฟมีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ออสเตรเลียก็ยังคงต้องเผชิญกับเปลวไฟที่กำลังแผลงฤทธิ์อยู่อีกมากกว่า 100 จุดอยู่ดี จากการอัพเดตในเว็บไซต์ของ The Guardian เมื่อวันอังคารที่ 21 มกราคม ยังมีไฟลุกไหม้อยู่ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ทั้งหมด 87 จุด และในรัฐวิคตอเรียอีก 17 จุด

อิทธิพลจากเปลวเพลิงไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น มันตอกย้ำคำว่า ‘โลกไม่มีพรมแดน’ ด้วยการส่งตัวแทนเป็นกลุ่มควันเดินทางนับหมื่นกิโลเมตรและทิ้งหลักฐานเล็กๆ น้อยๆ ไว้ในหลายประเทศบนอีกซีกโลก ถือเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ที่ไม่พึงประสงค์นัก

ทัวร์รอบโลกของกลุ่มควัน

ก่อนหน้านี้ NASA ออกมารายงานในเว็บไซต์ว่ากลุ่มควันจากไฟป่าในออสเตรเลียจะจัดทัวร์รอบโลกอย่างน้อย 1 รอบ โดยมีสปอนเซอร์หลักเป็นเมฆไพโรคิวมูโลนิมบัสที่ผลักควันบางส่วนให้ขึ้นไปอยู่บนชั้นบรรยากาศ ก่อนจะออกเดินทางไปทั่วโลก และจากเว็บไซต์ของ NASA ในวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มควันเหล่านั้นก็วนกลับมาจบทัวร์บนผืนฟ้าเหนือออสเตรเลียอีกครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หมอกควันจากไฟป่าเปิดฉากทัวร์รอบโลกครั้งแรกด้วยการเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเพื่อนบ้านอย่างนิวซีแลนด์ ส่งผงเขม่าดำ (black carbon) และฝุ่นเข้าไปฝังตัวในกองหิมะ เปลี่ยนสีธารน้ำแข็งบนภูเขาทางใต้ให้กลายเป็นสีน้ำตาลคาราเมล ซึ่งไม่ได้เพียงแต่ทำให้ทัศนียภาพสีขาวสะอาดหายไปเท่านั้น ความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์หรือ Albedo ที่เกี่ยวพันกับสีของหิมะก็ลดลงไปด้วย

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนิวซีแลนด์กำลังอยู่ในฤดูร้อนที่แสงอาทิตย์แผดเผาแรงกว่าปกติ ธารน้ำแข็งที่เคยสะท้อนแสงป้องกันตัวเองจากการละลายอย่างรวดเร็วได้ระดับหนึ่งกลับสูญเสียความสามารถตรงนั้นไปบางส่วน ทำให้อุณหภูมิของมันสูงขึ้น หิมะจึงมีแนวโน้มที่จะละลายเร็วขึ้นกว่าเดิม

ห่างออกไปอีก 12,000 กิโลเมตร กลุ่มควันเดินทางผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกไปถึงประเทศแถบลาตินอเมริกาอย่างชิลี อาร์เจนตินา บราซิล อุรุกวัย ก่อนถึงอเมริกาใต้เมื่อต้นเดือนมกราคม พวกมันส่งสัญญาณให้ประชากรบนพื้นดินรับรู้ถึงการมาเยือนด้วยเมฆสีเทาครึ้มและพระอาทิตย์สีแดงฉาน

“นี่เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่ควันจากไฟป่าของออสเตรเลียเดินทางมาถึงลาตินอเมริกา” ลูเซีย ชิโพเนลลี (Lucia Chiponelli) ผู้จัดการด้านเทคนิคของสถาบันอุตุนิยมวิทยาอุรุกวัย (Inumet) กล่าวกับเว็บไซต์ SciDev.Net

อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มควันที่อยู่สูงขึ้นไปจากพื้นกว่า 5,000 เมตรไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้คนที่อยู่ด้านล่างแต่อย่างใด นอกจากแต่งแต้มสีแปลกตาและทิ้งความอึมครึมเอาไว้บนท้องฟ้าเท่านั้น

“แม้ออสเตรเลียจะอยู่ห่างไกลออกไป แต่ฝุ่นควันเหล่านี้ก็จะทำให้ผู้คนรับรู้ถึงความรุนแรงของไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อประเทศนั้นได้” ลูเซียกล่าว

การโต้ตอบระหว่างภาวะโลกร้อนกับไฟป่า

ในขณะที่มนุษย์จำนวนหนึ่งยังเลือกที่จะหันหลังให้กับปัญหาโลกร้อนหรือภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) โลกก็ตอบกลับด้วยการส่งคลื่นความร้อน ภาวะแห้งแล้ง และกระแสลมรุนแรงลงมากระพือไฟป่าที่ออสเตรเลียต้องเผชิญอยู่บ่อยๆ ให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าทุกครั้ง

ผลกระทบต่อโลกโดยรวมบางส่วนยังคงรอการวิจัยอยู่ แต่ที่แน่ๆ เมื่อเปลวไฟกัดกินพื้นที่กว้างเป็นบริเวณมหาศาล ทั้งบ้านเรือนและป่าไม้ที่ถูกเผาไหม้ก็ได้ส่งข้อความกลับอีกทีหนึ่งไปยังชั้นบรรยากาศโลกในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะกลายไปเป็นก๊าซดักความร้อนบนชั้นบรรยากาศในที่สุด โดยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนปีที่แล้วจนถึง 15 มกราคมที่ผ่านมา คาร์บอนเหล่านั้นมีปริมาณมากถึง 400 ล้านตัน คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนคาร์บอนทั้งหมดที่ออสเตรเลียมักปล่อยขึ้นไปใน 1 ปี

นั่นหมายความว่า เช่นเดียวกับที่ภาวะโลกร้อนมีส่วนทำให้ไฟป่ามีขนาดใหญ่โตขึ้น บางส่วนของเปลวไฟพวกนั้นก็กำลังย้อนกลับไปมีอิทธิพลกับภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน

สัตว์ทะเลไม่ถูกใจสิ่งนี้

ภาพ: Dan Zelazo ( flickr.com/photos/1yen)

นอกจากผลกระทบที่มีต่อชั้นบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมบนพื้นดินแล้ว ลึกลงไปใต้ท้องทะเลก็ยังมีสิ่งมีชีวิตที่ร้องเสียงเบาหวิวอยู่ว่า “ฉันไม่ถูกใจสิ่งนี้นะ”

เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ลอยตัวขึ้นไปเคว้งคว้างอยู่บนอากาศ มหาสมุทรที่เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนชั้นดีก็เงื้อมมือไปคว้าคาร์บอนส่วนหนึ่งลงมาอยู่ด้วยกัน และเมื่อคาร์บอนทำปฏิกิริยากับน้ำทะเล มันจะผลิตลูกหลานออกมาเป็นกรด ทำให้ความเป็นกรดของมหาสมุทรเพิ่มมากขึ้น

โชคไม่ดีที่เจ้าถิ่นบางชนิดไม่ถูกโรคกับความเป็นกรดนัก นั่นคือสิ่งมีชีวิตใต้น้ำที่ผลิตแคลเซียมและเปลือกแข็งๆ ไม่ว่าจะเป็นหินปะการังหรือสัตว์ทะเลมีเปลือก เพราะกรดในน้ำทะเลจะทำให้เปลือกของพวกมันเปราะบาง และแตกหักได้ง่าย

หากชั้นบรรยากาศด้านบนกำลังหวังให้คาร์บอนไดออกไซด์ลอยต่ำลงมาอีกหน่อย สัตว์ใต้ผืนทะเลพวกนี้ก็คงกำลังหวังให้มันลอยขึ้นไปสูงอีกนิดเหมือนกัน


Author

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า