เรื่องสั้นตามใจชอบลำดับที่ 9: ‘บรรเลง’ ‘ยโสธร’ นักเขียนนิยายลูกทุ่ง ร่วมสมัยเดียวกับ ‘ไม้ เมืองเดิม’

จำได้ว่าในช่วงสมัยวัยเด็กต่อกับวัยรุ่นที่เริ่มอ่านหนังสือนิยายเป็นเล่มๆ นอกจากหนังสือการ์ตูนเป็นเล่มๆ หรือที่เรียกว่า ‘นิยายภาพ’ ในชุดวรรณคดีต่างๆของ สวัสดิ์ จุฑารพ เหม เวชกร และ ประยูร จรรยาวงศ์ แล้ว ก็ยังมีหนังสือการ์ตูนเป็นเล่ม แยกเป็นชื่อต่างๆ เช่น หนูเล็กลุงโกร่ง ขวานฟ้าหน้าดำ อัศวินสายฟ้า ฯลฯ ที่มาพร้อมกับความติดใจในการอ่านหนังสือนิยายเป็นเล่มๆ ที่พิมพ์กันออกมาแบบเป็น ‘ซีรีส์’ ในชื่อต่างๆ เช่น ‘ดำทมิฬ’ ‘ลูกคนยาก’ ‘ขวัญใจนักเรียน’ ‘ชุปเปอร์แมนแกละ’ ‘เสือใบ’ ‘เสือดำ’ ฯลฯ ราคาตกเล่มละ 2.50-3.00 บาท นักเขียน นักประพันธ์ ในแบบ ‘ซีรีส์’ ออกต่อเนื่องเป็นรายเจ็ดวัน สิบห้าวัน ที่มีชื่อยังจำได้ ก็ว่ากันมาตั้งแต่ ‘ป.อินทรปาลิต’ ‘จ.ไตรปิ่น’ ‘ส.บุญเสนอ’ ‘ไม้ เมืองเดิม’ มนัส จรรยงค์ ‘ลพบุรี’ จันตรี ศิริบุญรอด ฯลฯ และเรื่อยมาจนถึงแนวนิยายในขนบแบบลูกทุ่งของผู้ใช้นามปากกาว่า ‘บรรเลง’ ที่ในสมัยผมเป็นวัยรุ่นนั้นเคยเขียนนิยายเรื่อง จ้าวทุ่ง พิมพ์เป็นเล่มบางๆ ออกติดต่อกันอาทิตย์ละครั้ง ต่อมานำมารวมพิมพ์เป็น 2 เล่มปกแข็งในภายหลัง และงานเขียนเรื่อง จ้าวทุ่ง ของ ‘บรรเลง’ เป็นนิยายลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมไม่แตกต่างไปจากงานเขียนในแบบของ ‘ไม้ เมืองเดิม’ และ มนัส จรรยงค์

ช่วงที่ติดการอ่านนิยายลูกทุ่งเรื่อง จ้าวทุ่ง ของ ‘บรรเลง’ นั้น ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น จำได้ว่า นิยายเรื่องนี้น่าจะมาพร้อมๆ กับเสียงร้องในแบบเพลงของ คำรณ สมบุญณานนท์ และ จำรัส สุวคนธ์ (น้อย) เมื่อนิยายเรื่อง จ้าวทุ่ง เอามารวมพิมพ์เป็นปกแข็ง 2 เล่มจบบริบูรณ์  ผมก็ยังซื้อเก็บไว้โดยที่ก็ไม่ทราบว่าใครคือ ‘บรรเลง’ เหมือนเช่นที่ในสมัยนั้นก็ไม่ทราบว่าใครคือ ‘ส.บุญเสนอ’ วิตต์ สุทธเสถียร ‘ลพบุรี’ ‘อุษา เข็มเพ็ชร’ ‘ตา ส.’ ‘ส.อาจสาลี’ ‘ส.เนาวราช’ ‘เศก ดุสิต’ ฯลฯ แต่ก็จำได้ว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นนักเขียน นักประพันธ์ นิยาย ‘อ่านเล่น’ ที่มาจากสำนักพิมพ์ เพลินจิตต์ หรือไม่ก็สำนักพิมพ์ บางกอก

บรรเลง’ เป็นใคร ?

ข้อมูลในหนังสือ ประวัตินักเขียนไทย [เล่ม 1] จากโครงการจัดทำประวัตินักเขียนไทย ของกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2520 และต่อมาได้แก้ไขเพิ่มเติมนำมาจัดพิมพ์อีกครั้ง โดยสำนักพิมพ์ศิลปะบรรณาคาร เมื่อปี พ.ศ. 2527 ในหนังสือ ประวัตินักเขียนไทย เล่มนี้ได้ให้รายละเอียดที่มาจากแบบสอบถาม นางแฉล้ม สิงหพันธุ์ ผู้เป็นภรรยา และจากข้อเขียนของเธอเอง ที่เขียนไว้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2518 ทำให้นักอ่านในรุ่นหลังได้ทราบว่า ‘บรรเลง’ และ ‘ยโสธร’ เป็นนามปากกาของ นายบรรพต สิงหพันธุ์ เป็นชาวจังหวัดสระบุรี เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2456 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 รวมอายุเพียง 51 ปี

เพื่อบันทึกข้อมูลไว้ให้ปรากฏ ผมขอเรียบเรียงประวัติจากข้อมูลในหนังสือ ‘ประวัตินักเขียนไทย’ (เล่ม 1) มาปรากฏไว้ ณ ที่นี้ อีกครั้ง

บรรพต สิงหพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องของ รองอำมาตย์โทเขอญ สิงหพันธุ์ อดีตนายอำเภอศรีสะเกษ มณฑลอุดร จังหวัดอุบลราชธานี กับ นางบัว สิงห์พันธุ์

พ.ศ. 2476 นายบรรพต สิงหพันธุ์ อายุได้ 20 ปี ได้สมรสกับ นางแฉล้ม สิงหพันธุ์ (บุนนาค) มีบุตรด้วยกัน 8 คน

การศึกษา

พ.ศ. 2464 เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนประชาบาลวัดหนองพลับ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี เรียนอยู่ปีเดียวก็ย้ายมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนวัดสามจีนใต้ (ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดไตรมิตรวิทยาลัย) จบชั้นประถมศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2469 จากนั้นเข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดโสมนัสวิหาร นางเลิ้ง ถึง พ.ศ. 2471 ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง สี่พระยา ที่เรียกว่า ‘เซียงเงียบฮ้อ’ สำเร็จประโยคมัธยมหลักสูตรโรงเรียนพณิชยการ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2474 จากนั้นก็ไม่ได้เรียนต่อ ณ ที่ใดอีกเลย เนื่องจากบิดาล้มป่วย

การทำงาน

บรรพต สิงหพันธุ์ เริ่มต้นชีวิตการทำงาน เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 โดยเข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยแพทย์ประจำสุขศาลาจังหวัดสมุทรปราการ แต่เนื่องด้วยงานไม่ถูกอัธยาศัยจึงได้ลาออกในปลายปีนั้น หลังจากกลับมาอยู่บ้านระยะหนึ่ง จึงสมัครเข้าทำงานที่บริษัทสหศีนิมาจำกัด (ศาลาเฉลิมกรุง) ในหน้าที่เขียนกระจกโฆษณาภาพยนตร์ ขณะเดียวกันก็ได้ร่วมทุนกับเพื่อนๆ ตั้งบริษัทรับเขียนป้ายโฆษณาทุกชนิด ให้ชื่อบริษัทว่า ‘สหการเผยแพร่’ แต่กิจการของบริษัทอยู่ได้ไม่นานก็ต้องเลิกไป และเขาเองก็ได้ลาออกจากบริษัทสหศีนิมาจำกัด (ศาลาเฉลิมกรุง) ด้วย

กรกฎาคม พ.ศ. 2477 กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งในตำแหน่งพันจ่าโท กองคลังวรภาชน์ กระทรวงวัง ในพระบรมมหาราชวัง จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2474 รัฐบาลสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ยุบกระทรวงวัง บรรพตจึงถูกปลดออกจากราชการพร้อมกับข้าราชการคนอื่นๆ แต่ในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน เขาได้รับเชิญไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนสอนภาษาจีนประจำอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี สอนหนังสืออยู่ระยะหนึ่งก็ลาออก พร้อมกับความตั้งใจว่า 

“—จะไปเป็นนักหนังสือพิมพ์”

ชีวิตการเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์

ด้วยการชักนำของนักหนังสือพิมพ์ชื่อ สเตอร์ กัณหดุล บรรพต สิงหพันธุ์ จึงมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ณ วังถนนประมวญสีลม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 แล้วก็ได้เข้าประจำกองกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน ประมวญวัน  และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ประมวญสาร ซึ่งสื่อในค่ายนี้ทั้งสองฉบับอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์

อาจกล่าวได้ว่า บรรพต สิงหพันธุ์ มีพรสวรรค์ในการประพันธ์อยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นจากการที่เขาเขียนเรื่องสั้นมาลงพิมพ์ในนิตยสาร กรุงเทพฯเดลิเมล์ รายสัปดาห์ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง ดังนั้นเมื่อได้ประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ซึ่งออกหนังสืออยู่ถึง 2 ฉบับ เขาจึงไม่รีรอที่จะเริ่มเขียนเรื่องลงพิมพ์ นิยายในแนวขนบ ‘ลูกทุ่ง’ ที่ตั้งชื่อเรื่องว่า จ้าวทุ่ง และ จ้าวไพร  เป็นนิยายเรื่องยาว 2 เรื่องในยุคแรกๆ ของเขาที่เขียนติดต่อกัน โดยทะยอยลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ประมวญสาร รายสัปดาห์มาตั้งแต่ในช่วงก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มใช้นามปากกาว่า ‘บรรเลง’  จนเป็นที่โด่งดัง และหลังจากนั้น บรรพต สิงหพันธุ์ ก็ใช้ชีวิตในการเป็นนักเขียนนักประพันธ์เรื่อยมา

เมื่อทำงานคลุกคลีอยู่ที่สำนักพิมพ์ ประมวญสาร หลายปี จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2  ครั้งนั้นปรากฏว่าสำนักพิมพ์ถูกระเบิดไฟของญี่ปุ่น เกิดเพลิงลุกไหม้โรงพิมพ์หมด บรรพตจึงสิ้นสุดการทำงาน ณ ที่นี้ แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็สมัครเข้าทำงานเป็นผู้สื่อข่าวในสำนักพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งมีนักเขียนร่วมกลุ่มที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น เช่น ‘ศรีบูรพา’ ‘ยาขอบ’ ‘แม่อนงค์’ สด กูรมะโรหิต ชิต บูรทัต ฯลฯ

พ.ศ. 2489 เมื่อสำนักพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ หยุดกิจการลง บรรพต สิงหพันธุ์ก็ไปสมัครเข้าทำงานที่บริษัทไทยพณิชยการ จำกัด ของ นายอารีย์ ลีวีระ ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย และต่อมาได้ย้ายไปทำที่หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ที่อยู่ในเครือเดียวกัน เมื่อหนังสือพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ หยุดกิจการไประยะหนึ่ง ก็กลับมาเปิดกิจการใหม่ บรรพตก็ย้ายกลับไปร่วมงานกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ อีกครั้ง และได้ประจำทำงานด้านหนังสือพิมพ์อยู่ที่นี่ จนกระทั่ง ประชามิตรสุภาพบุรุษเลิกดำเนินการไปในที่สุด หลังจากนั้นเขาก็ไปทำงานใหม่ คือที่สำนักพิมพ์ของ ร.ท.สัมพันธ์ ขันธชวนะ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ กิตติศัพท์ รายสัปดาห์

ในปี พ.ศ. 2497 บรรพตพักการงานไป 1 ปี เพราะประสบอุบัติเหตุตกรถเมล์ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อรักษาหายแล้วได้อุปสมบท 1 เดือน วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2498 เขาก็กลับมาทำงานหนังสือพิมพ์อีก โดนเข้าร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ไทยรายวัน ของบริษัทธนะการพิมพ์ ในความอำนวยการของ พลเอกเนตร เขมะโยธิน และอยู่ในอุปการะของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

ต่อมาล้มป่วยด้วยโรคอัมพาต ครั้นต้นปี พ.ศ. 2501 หายป่วย ก็ได้เข้าร่วมงานด้านสาธารณประโยชน์มากขึ้น นอกเหนือจากรับหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรายวัน เช่น เป็นสมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2502 เป็นกรรมการสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2503 เป็นกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าพณิชยการพระนคร เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 เป็นสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้งชมรมศิษย์เก่ารุ่น ‘เซียงเงียบฮ้อ’ และยังได้รับทุนจากมูลนิธิวิชาการหนังสือพิมพ์ กับทุนของบริษัทสแตนดาร์ด แวคคัมออยล์ ให้เดินทางไปไซ่ง่อน สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ และพนมเปญ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503

ผลงาน

ผลงานเขียนหนังสือของ บรรพต สิงหพันธุ์ มีกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมากในนิตยสารต่างๆ เรื่องสั้น เรื่องยาว และสารคดี และในจำนวนนี้เขามีความชำนาญในการเขียนเรื่องสั้นมากที่สุด งานเรื่องสั้นชิ้นแรก ‘ขวัญใจสระบุรี’ เขียนขึ้นในสมัยที่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมโรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง และได้ลงพิมพ์ในนิตยสาร กรุงเทพฯ เดลิเมล์ รายสัปดาห์  โดยใช้นามปากกาในครั้งนั้นว่า ‘รักซ้อน’ จากนั้นก็มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ ประมวญวัน  ประมวลสาร  ประชามิตรสุภาพบุรุษ รวมทั้งมีผลงานเรื่องสั้นในนามปากกาต่างๆ พิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร สยามสมัย ปิยมิตร ฯลฯ

นวนิยายเรื่องยาวในยุคแรกๆ ของเขาเท่าที่ได้เห็นมา ก็มีเช่นเรื่อง จ้าวทุ่ง จ้าวไพร เวียงท้อ ศึกนางพญาละแวก ฉลามเกาะหมาก พลั่วเงิน และ สันติไพร โดยเฉพาะเรื่อง จ้าวทุ่ง ได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ. 2516

นามปากกาต่างๆ ของ บรรพต สิงหพันธุ์ เท่าที่รวบรวมไว้ในหนังสือ ‘ประวัตินักเขียนไทย’ (เล่ม 1) มีดังนี้  

  • รักซ้อน 
  • นิพนธ์ 
  • สุวพีร์  
  • ไกรลาศ 
  • ผา บางกอก 
  • บรรเลง 
  • ยโสธร 

‘เรื่องสั้นตามใจเลือก’ ลำดับต่อไปนี้ ขอนำแนวเรื่องตามขนบลูกทุ่งมาฟื้นบรรยากาศแบบเก่าๆ เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน (คลองสองที่เป็นสถานที่ในเรื่องสั้น เข้าใจว่าอยู่ที่ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี)   

เรื่องสั้น เลือดแค้น ปรากฎพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ เพลินจิตต์ฉบับพิเศษ ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2495

‘เพลินจิตต์พิเศษ’ เป็นหนังสือเล่มรายเดือน มีทั้งฉบับปกแข็งและปกอ่อน ปกแข็ง ราคาเล่มละ 8.50 บาท ปกอ่อน ราคาเล่มละ 7 บาท ความหนาของหนังสือ 400 หน้า นายเวช กระตุกฤกษ์ เป็นเจ้าของ และผู้พิมพ์ผู้โฆษณา  

เวช กระตุกฤกษ์

‘เพลินจิตต์พิเศษ’ รายเดือนฉบับนี้ ยังไม่ปรากฏชื่อบรรณาธิการ แต่ในฉบับต่อๆ มาจะปรากฏชื่อบรรณาธิการบริหาร คือ เอื้อม รุจิดิษ (นักเขียน นักประพันธ์ นามปากกา ‘อ.ร.ด’)  ถ้าหากมีจังหวะในโอกาสต่อๆ ไป บางที ‘เรื่องสั้นตามใจเลือก’ อาจจะนำผลงานของ ‘อ.ร.ด.’ มาแนะนำแก่ท่านผู้ติดตาม WAY of WORDS ก็เป็นได้  ไม่ทราบว่าในแวดวงเคยรู้จัก ‘อ.ร.ด’ มาก่อนบ้างหรือไม่


เลือดแค้น

‘บรรเลง’

เจ้าหยัดเปนคนดี      แต่เหตุการณ์มันบังคับ
ให้ต้องเป็นคนร้าย     และติดตะรางอยู่หลายปี

“รับไปสิ วุฒทนีย์ จะกลัวอะไร รับเงินนี้ไปใช้ในสิ่งที่จำเป็น ผมขอร้องคุณอย่าริอ่านทำงานอย่างนี้อีก” แล้วเขาก็ผละไป

“ครับผม ผมคือนักโทษชายหยัด กิ่งยอดแหลม โทษฐานฆ่าคนตาย จำคุกยี่สิบปีขอรับ”

พะทำมะรงมองดูสาระรูปนักโทษหนุ่มของเขาด้วยความพึงใจ  เจ้าหยัดเป็นคนหนุ่มอกสามศอก ทั้งสูงทั้งใหญ่ ใบหน้าอ่อนแต่แววตาคมวาว มันหวีผมเรียบแม้ว่าผมนั้นจะยาวปรกหูเพราะไม่มีเพื่อนนักโทษตัดให้  เจ้าหยัดนั่งคุกเข่าพนมมืออยู่ข้างๆ เก้าอี้และรอฟังคำของนายแม้น พะทำมะรง

“มีจดหมายถึงแกฉบับหนึ่ง” พูดแล้วนายแม้นก็หยิบซองปิดผนึกออกมาส่งให้ “แล้วแกไปได้ เจ้าหยัด”

เจ้านักโทษคดีอุกฉกรรจ์รับจดหมายแล้วก็เดินดุ่มลงจากเรือนออฟฟิศของพะทำมะรงไป  บริเวณคุกจังหวัดสระบุรีไม่สู้จะกว้างขวางเท่าใดนัก เจ้าหยัดจึงถือจดหมายนั้นมาจ่อมตัวนั่งลงใต้ร่มต้นมะขาม ซึ่งไม่มีฝักและใบอ่อนเหลืออยู่เลย

“ถ้าจะหนังสือแม่” เจ้าหยัดรำพึง ให้เกิดสังหรณ์ใจพิกล ว่าคงจะมีข่าวร้ายมาจากบ้านพี่คำพลคลองสอง มันจึงขมีขมันชักชองออกโดยเร็ว  ที่สุดสีหน้าก็เปลี่ยนเป็นตื่นเต้น

“ลายมืออ้ายเกิด…อ้ายเกิดมันเรียนจบ ป.สี่แล้วนี่หว่า”  เจ้าหยัดพึมพำกับตนเองแล้วหัวร่อหึๆ  พร้อมกับลงมืออ่านจดหมายนั้นโดยเร็ว แต่มันก็อ่านไม่ค่อยออกเหมือนกัน

ตัวอักษรในจดหมายนั้นทำให้เจ้าหยัดเปลี่ยนแปลงสีหน้าของมันไปอย่างรวดเร็ว มันหน้าเผือดลง  เผือดลง  ริมฝีปากเริ่มสั่น แต่มันก็พยายามที่จะกัดริมฝีปากหนาเตอะของมันไว้…หักห้ามความปวดร้าวในใจซึ่งสุดที่จะทนทานต่อไปแล้ว  แต่ครั้นแล้ว…ด้วยความรู้สึกปวดร้าวเจ้าหยัดก็น้ำตาคลอหน่วย และค่อยๆ หยดแมะๆ ลงบนแผ่นจดหมายนั้น มันตาฝ้าฟางด้วยน้ำตาจนอ่านต่อไปไม่ไหว…เจ้าหยัดแหงนหน้าขึ้นสูดจมูกและสะอื้นออกมาในอกอย่างสุดแสนจะทุกข์รันทดในใจ…

ครอบครัวนั้น ความจริงก็คือกระต๊อบหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ริมกระโดงบนเนื้อที่นาของนายเพ็ชร์ เศรษฐีบ้านสองหลังแฝด หลังคามุงกระเบื้องแดง เป็นทั้งนักเลงโตและเจ้าของที่นากว้างขวางคนหนึ่งในตำบลคลองสองนี้ บนกระต๊อบดังกล่าวมีพ่อแม่และลูกอยู่ด้วยกันสามคน ผู้พ่อคือลุงอ่วม แม่คือป้าจัน และเจ้าลูกชายวัย ๑๗ มีรูปร่างล่ำสันบึกบึนราวกับหนุ่มเต็มที่แล้วนั้น  คือเจ้าหยัดลูกชายซึ่งเก็บผักหักฟืนมาหาเลี้ยงพ่อแม่โดยไม่คิดถึงความเหนื่อยยากแต่ประการใด

เจ้าหยัดต้อนควายสองตัวกลับเข้าคอกริมกระต๊อบ  มันรู้สึกว่าเจ้าเขียวออกจะเหงาๆ ไป  ซึ่งถ้าเจ้าควายคู่นี้ตัวใดตัวหนึ่งล้มป่วย หรือเป็นอันตรายลง พ่อแม่ของเจ้าหยัดจะต้องตกหน้าที่อับจนลงไปอีก เพราะควายคู่นี้เช่ามาจากนายเพ็ชร์ผู้ข่มขู่ลุงอ่วมกับป้าจันไว้ว่า

“เอ็งนะ ถ้าเอาควายกูไปเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดละก้อ – มึงเอ๋ย  มึงต้องเป็นขี้ข้ากูไปตลอดชาติเชียวนะมึง”

ฉะนั้น เจ้าหยัดจึงวิตกกังวลในควายตัวนั้นมาก มันรีบเอาเคียวเกี่ยวใบตะไคร้กับใบยอมาปนลงในกองหญ้าอ่อน เพื่อให้ควายได้บริโภคเป็นสมุนไพร ถ้าว่าจะเกิดป่วยไข้อันใดขึ้น ในขณะที่กุลีกุจอจัดการสุมไฟไล่ยุงอยู่นั้น ลุงอ่วมก็เรียกลงมาจากกระต๊อบว่า

“อ้ายหมา ขึ้นมากินข้าวเสียเถอะมึง กะเดี๋ยวจะได้ไปบ้านเจ้านายเขา”

เจ้าหยัดเบิ่งตามองดูพ่อของมันด้วยท่าทางฉงนสนเท่ห์ “เอ๊ะ ไปทำไมกันพ่อ”

“ก็ไม่รู้หว่ะ…แต่มันสั่งคนมาให้ไปหาหน่อย”

เจ้าหยัดพึมพำอะไรออกมาสองสามคำ  เมื่อจัดแจงควายล่ามคอกเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ขึ้นมากินข้าว ซึ่งมียอดแคจิ้มน้ำพริกกะปิเก่าๆ คลุกส้มมะขามป่นผสมด้วยพริกแห้ง มีปูนาตัวงามๆ ต้มกับน้ำเกลือหลายตัว กับปลาหลดเค็มอีกสามสี่ตัว ซึ่งล้วนแต่เป็นของถูกปากเจ้าหยัดทั้งนั้น  ค่าที่มันหิวมาจากกลางทุ่งแล้วนั่นเอง

กินข้าวยังไม่ทันอิ่ม ฟ้าเดือนยี่ก็มืดมัวบอกเวลาค่ำลงเสียแล้ว  เสียงลุงอ่วมเรียกเตือนมาอีก  ป้าจันจุดตะเกียงกระป๋องนมขึ้นมาพอมีแสงสว่างได้แลเห็นหน้ากันได้  เจ้าหยัดจึงต้องอิ่มข้าว ล้างจานสังกะสี แล้วก็เอาท่อนแขนเช็ดปากเช็ดแก้มเป็นอันจบพิธีกินข้าวกันเสียที  เมื่อมันมาที่นอกชานกระต๊อบ  ลุงอ่วมก็ดึงตะพดจะเดินลงกระไดไป  เจ้าหยัดก็พลอยถือมีดขอหัวตัดตามพ่อไปด้วย

ผ่านคันนาตัดทุ่งมาหลายคัน จนแลเห็นแสงตะเกียงลานส่องสว่างอยู่บนบ้านหลังใหญ่ ปลูกในบริเวณแมกไม้ร่มรื่น  บ้านนายเพ็ชร์เศรษฐีใหญ่ ล้อมรั้วไว้ด้วยต้นมะขามเทศกำลังรุ่นเพิ่งงอกงามได้ขนาด  ที่ปากทางเข้าบ้านมีกระท่อมของเจ้าแก่นผู้เป็นนายยามประตูเฝ้าบ้านและยามระวังเหตุไปในตัว  เจ้าแก่นผู้นี้เคยเป็นนักโทษฆ่าคนตายแหกคุกมา  ด้วยความอุปการะของนายเพ็ชร์ เจ้าแก่นจึงสวามิภักดิ์อยู่กับนายเศรษฐีใจดีของมัน  เจ้าแก่นเป็นคนใจคอดุร้าย  ฉะนั้นจึงเป็นที่รักใคร่ของนายเพ็ชร์มาก  นายยังไม่ทันจะออกปาก เจ้าแก่นก็ชิงลงมือฟันแทงเอาเป็นศพไปเสียก่อน  และลงใครเป็นอริกับนายเพ็ชร์ แล้วไม่ว่าจะอยู่ไกลอยู่ใกล้ประการใดเป็นถูกเจ้าแก่นมือมีดไปคุกคามเข้าสังหารหรือทำร้ายเป็นการสั่งสอนเสียทุกรายไป แต่เจ้าแก่นกับเจ้าหยัดก็เป็นมิตรรักและถูกอัธยาศัยกันเป็นอันดี

เมื่อไปถึงบ้านนายเพ็ชร์ ทั้งลุงอ่วมและเจ้าหยัดก็ขึ้นไปบนเรือนใหญ่ เป็นเวลาที่เจ้าบ้านร่างใหญ่สำราญอยู่กับลูกๆ เมียๆ  พอพ่อลูกทั้งคู่ขึ้นไปบนเรือน  ลูกสาวคนสวยของเศรษฐีเพ็ชร์ที่ชื่อแววตา ก็ลุกออกจากที่ๆนั่งถักคอลูกไม้อยู่ เข้าไปเสียในห้องข้างใน ทั้งสองคนพ่อลูกจึงนั่งที่เดิมนั้น  นายเพ็ชร์มองดูพ่อลูกด้วยอาการวางปึ่งตามวิสัยผู้มีเงิน

“เอ้อ แกมาก็ดีแล้ว” เศรษฐีใหญ่พูดขึ้น ชำเลืองตามามองดูเจ้าหยัดซึ่งกำลังตั้งใจฟังถ้อยคำของเขาอยู่  นายเพ็ชร์จึงกล่าวต่อไปว่า

“คือว่า ที่ๆ แกปลูกกระต๊อบอยู่นี้ ความจริงข้าก็ให้แกอยู่กันเป็นสุขมานานปีดีดักแล้ว  คราวนี้ถึงคราวที่ข้าจะต้องการใช้ของข้าบ้างล่ะ  ข้าถึงเรียกแกมาเพื่อจะบอกว่า ให้รื้อไปปลูกเสียริมกระโดงท้ายนาทางโน้น ข้าต้องการที่ๆ แกอยู่เดิมนี้ปลูกเรือนและทำยุ้งของข้า…”

ทั้งเจ้าหยัดและลุงอ่วมสะดุ้ง หน้าเผือดไปทั้งพ่อทั้งลูก ลุงอ่วมร้องขึ้นว่า

“ตายละนาย  ก็หน้านี้มันหน้าทำนากันแล้ว ฉันก็ต้องไปดูนาดูข้าว หาเวลาว่างสักน้อยก็ไม่ได้  เอ้อ ก็อยู่กันแค่นี้ ไหงไม่บอกกันเสียแต่เมื่อแล้งก่อน จะได้เตรียมเนื้อเตรียมตัวได้ทัน  โธ่ นายจะเปลี่ยนเป็นที่อื่นเสียมิได้หรือ”

“แกอย่าพูดมากไปเลย อ่วมวะ  ข้าบอกให้แกย้ายไปก็ย้ายไปก็แล้วกัน  แล้วเมื่อย้ายไปแล้ว  ถ้าไม่มีธุระปะปังอะไรนักก็อย่ามาพลุกพล่านแถวบ้านข้านัก  ทั้งแกและทั้งอ้ายหยัด เดี๋ยวข้าเกิดเข้าใจผิดขึ้นมานึกว่าเป็นสายพวกปล้น ก็จะถูกยิงตายเสียเปล่าๆ  เอาละ แกไปได้ และย้ายไปในสามวันนี้…”

“เดี๋ยวก่อน นาย” ลุงอ่วมขัดขึ้น เค้าหน้าแกเต็มไปด้วยความไม่พอใจ “ฉันถามนายจริงๆเถอะมันมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นรึ นายถึงไล่ฉันให้ไปอยู่ถึงลำกระโดงโน้น อ้ายไปน่ะฉันต้องไปตามคำนายบอกทุกเมื่อแหละ ทว่าก็ไม่สบายใจ ด้วยไม่รู้ว่านอกจากนายจะเอาที่ไปปลูกฉางแล้ว นายไม่พอใจอะไรฉันหรือเปล่าหร็อก…”

“แกก็อยู่กับข้ามานานแล้ว”  นายเพ็ชร์พูดตัดบท “อะไรๆ แกก็รู้กันอยู่  แกน่ะไม่มีอะไรหรอก ตีเสียว่าข้าจะเอาที่ปลูกเรือนของข้าก็แล้วกัน ไม้ไร่ไม่พอก็ไปตัดเอาตามแต่จะใช้ จากเก่าๆ หลังครัวข้าก็มี เลยขนไปเสียด้วยเลยก็ได้…”

พูดแล้วเศรษฐีเพ็ชร์ก็ลุกเข้าไปเสียในเรือน  พ่อลูกก็ลงจากเรือนท่านเศรษฐีไปที่ประตูรั้ว เจ้าหยัดสวนทางกับเจ้าแก่นผู้พิทักษ์เศรษฐีเพ็ชร์ เจ้าแก่นร้องทักว่า

“กลับรึวะ หยัด – เอ็งกะน้าอ่วมถ้าจะมาพูดเรื่องที่บ้านใช่ไหม”

“เออ” เจ้าหยัดรับคำ แล้วรีบถามว่า “เอ็งรู้อะไรไม๊วะ ทำไมนายถึงเกิดมาไล่บ้านข้าปุบปับอย่างนี้”

“เอ ข้าก็ไม่รู้เรื่อง” เจ้าแก่นตอบ “แกให้ไปก็ไปตามแกว่าก็แล้วกันวะ หมู่นี้แกโมโหบ่อยบ่อยจนข้าเข้าหน้าไม่ติด”

เป็นอันว่าทั้งลุงอ่วมและเจ้าหยัดต่างก็เก็บความสงสัยไว้ในใจด้วยกันทั้งนั้น สองคนพ่อลูกเดินปรึกษากันมา และปรับทุกข์กันถึงความเดือดร้อน การที่จะรื้อกระต๊อบและไปปลูกใหม่ในที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มและรกร้างเป็นละเมาะ

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งพ่อแม่ลูกก็จัดการโยกย้ายกระต๊อบไปตามปกาสิตของนายเพ็ชร์ – เศรษฐี เจ้าหยัดต้องเหน็ดเหนื่อยสายตัวจะขาด  มันเป็นคนปลูก คนลงเสา คนรื้อและคนขนของ เสร็จในวันที่มันกำลังแบกกระบุงข้าวสารจากกระต๊อบเก่าไปกระต๊อบใหม่นั่นเอง  เจ้าหยัดก็สวนทางกับแววตาลูกสาวสวยของนายเพ็ชร์ แววตากลับมาจากไปเยี่ยมป้า หล่อนกางร่มแพรสีเขียวเดินมากับนางแถมคนใช้

“ย้ายบ้านยังไม่เสร็จหรือจ๊ะพี่หยัด” แววตาถามและยิ้มพราย หล่อนหยุดยืนสนทนาด้วยและมองดูแผ่นอกที่โทรมด้วยเม็ดเหงื่อของเจ้าหยัดด้วยความเห็นใจ

“จะเสร็จค่ำนี้แหละ…เอ้อ แววไปไหนมารึ”

“ฉันไปบ้านป้ามา” แววตาตอบ “ฉันสงสารลุงกับป้ามาก ต้องโยกย้ายลำบากลำบน ฉันจะบอกให้ พ่อแกโกรธว่าพี่หยัดหมั่นไปที่บ้านเสมอๆ  แล้วก็มีคนพูดกันว่า ฉันกับพี่หยัดมีอะไรๆกันอยู่  พี่หยัดต้องระวังตัวหน่อยนะ คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ แล้วก็อย่าไว้ใจทางอย่าวางใจคนให้มากนัก จะจนใจเองเข้าสักวันหนึ่ง”

เจ้าหยัดมองดูสาวรักด้วยแววตาซื่อๆ “จะทำไงได้ แวว  ฉันมันคนยากจน ใครๆ เขาก็จงเกลียดจงชังไปทั้งนั้น  ชาตินี้ฉันบอกตรงๆ นะ นอกจากแม่กับพ่อแล้ว ไม่มีใครเขาจะมารักมาสงสารคนอย่างฉันหรอก  ฉันอยากจะหนีไปเสียให้พ้นที่นี่ แต่ใจมันไม่ยอมไป”

“ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่างเขาเถอะ” แววตาพูดหนักๆ  “จำไว้ว่า ฉันไม่เหมือนที่พี่ว่าก็แล้วกัน ฉันไปละ  มีอะไรจะให้แถมมันมาบอก”

แววตายิ้มให้เจ้าหยัดอีกครั้ง แล้วก็เดินจากไป  เจ้าหยัดมองตามหลังไปก็ถูกนางแถมหันมาชี้หน้าและแลบลิ้นหลอก  ซึ่งถึงอย่างไรก็ทำให้เจ้าหยัดยิ้มออกมาได้  นอกจากแววตาคนนี้คนเดียวเท่านั้น แล้วมันก็หามีใครเป็นผู้ปลอบโยนและเป็นดวงใจของมันเลยไม่

เจ้าหยัดเอาของมากระต๊อบใหม่จวนครบแล้ว  แต่ยังลืมกิ่งมะม่วงที่เพิ่งลงกิ่งได้ใหม่ๆ  จึงเดินกลับไปหมายจะถอนมาปลูกที่กระต๊อบใหม่ของมัน  เจ้าหยัดไม่ได้ปริปากบอกกับใครถึงถ้อยคำของแววตามันคงสนิทใจอยู่ไม่สร่าง และขณะที่เจ้าหยัดเดินตัดทุ่งมานั้นทั้งท้องทุ่งมืดทมึน มีแต่แสงดาวระยิบอยู่บนท้องฟ้า ลมทุ่งพัดเย็นสบายดี

เจ้าหยัดเดินใจลอยมาตลอดทาง ในขณะที่มันกำลังจะผ่านพุ่มสะแกข้างทางริมคันนาไปนั้น เจ้าหยัดก็ชงักและถอยสู้ เมื่อปรากฏร่างของชายคนหนึ่งโถมเข้าแทงมันสุดแรงเกิด  เจ้าหยัดหลบมาเสียทัน คมมีดเฉียดสีข้างไปเย็นวาบ แล้วในพริบตาเดียวนั้นเอง เจ้าหยัดก็เตะสวนตามติดๆไป เจ้าศัตรูในความมืดเสียหลักไปบ้าง แต่ก็ยังคงถือมีดโถมแทงเข้ามาอีก  เจ้าหยัดไม่ยอมให้เสียเวลามันโดดเข้าปัดมือที่พุ่งมีดเข้ามาใหม่ และชกกร้วมเข้าให้ เจ้าคนผู้นั้นเซกลับไป และมีดกระเด็นหลุดจากมือไปทันที ต่อจากนั้นสงครามหมัดมวยจึงได้เริ่มขึ้น ท่ามกลางความมืดกลางทุ่งโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

เจ้าหยัดเสียเปรียบศัตรูของมันในเรื่องร่างกายที่เล็กกว่า แต่ความปราดเปรียวในวัยหนุ่มฉกรรจ์ของมันนั่นเองช่วยให้มันชกต่อยได้ถนัดและรวดเร็ว มันควงกำปั้นชกต่อยอย่างเร่งร้อน ไม่มีตำรับตำราและลูกไม้ มิช้าคนทั้งคู่ก็กอดปล้ำกันล้มลุกคลุกคลานเข้าไปในกอข้าว เจ้าหยัดได้เปรียบขึ้นคร่อมอกได้ แล้วมันก็รัวกำปั้นชกหน้าจนศัตรูของมันมืออ่อน และสลบแน่นิ่งไป

เจ้าหยัดจิกผมมันชูขึ้นมาดูใกล้ๆ มันเบิกตาโพลงและอุทานออกมาด้วยความตกใจ

“อ้ายแก่น – อ้าว  นี่กูกับอ้ายแก่นมาหลงสู้กันรึนี่” เจ้าหยัดร้องขึ้น ปลุกสั่นเจ้าแก่นให้คืนสติ แต่เจ้าแก่นไม่รู้สึกตัวเลย เลือดปากเลือดจมูกไหลอาบตัว

เมื่อแก้ไขเจ้าแก่นไม่ฟื้นแล้วเจ้าหยัดก็แบกร่างเจ้าแก่นขึ้นบ่า เดินโทงๆ ตัดทุ่งตรงไปยังบ้านเศรษฐีเพ็ชร์ทันที  เจ้าหยัดทำความตื่นเต้นให้แก่คนในบ้านเศรษฐีเพ็ชร์กันขนาดใหญ่ เมื่อมันแบกร่างของเจ้าแก่นวางลงหน้ากระไดบ้าน

เศรษฐีเพ็ชร์ลุกพรวดพราดออกมาด้วยดวงตาลุกวาว เมื่อประสบภาพเจ้าหยัดหอบร่างเจ้าสมุนเอกมาให้

“อ้ายหยัดทำร้ายร่างกายอ้ายแก่นกูรึ…อ้ายผี”  นายเพ็ชร์ตวาดลั่นบ้าน “อ้ายเนรคุณอย่างมึง…มันต้องยิงทิ้งเสียแหละดี พวกเราจับอ้ายหยัดไว้ก่อน”

“อ๊ะ จะต้องมาจับข้าทำไม๊”  เจ้าหยัดร้องขึ้นด้วยความไม่พอใจ “ถ้าข้าคิดร้ายอ้ายแก่นแล้ว ที่ไหนจะแบกมันมา ก็แทงมันตายโหงเป็นผีไปเสียแล้วมิดีหรือ  นี่ข้าคิดว่าอ้ายแก่นคงคิดว่าข้าเป็นคนบ้านอื่น มันมืดๆ จนจำกันไม่ได้ ผลัวผละก็ถึงกันเสียแล้ว เลยสู้กันจนเหมือดไปข้างหนึ่งอย่างงี้แหละ อ้ายข้าก็คิดว่าเป็นคนอื่นเหมือนกัน”

นายเพ็ชร์ระงับความวู่วามไว้ได้ด้วยการนิ่งอึ้ง เขาถามขึ้นว่า “เอ็งกับอ้ายแก่นไปพบกันที่ไหน ทำไมถึงเกิดสู้กันอย่างนี้”

เจ้าหยัดเล่าว่ามันไปเอากอมะม่วงที่บ้านเก่าที่ลืมไว้ พอเดินมาตามทางก็ถูกเจ้าแก่นดักแทง สู้กันพักใหญ่ เจ้าแก่นก็ถูกชกสลบไป มันจึงพามา  แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหยัดก็ยังยืนยันแต่ว่า เจ้าแก่นคงแทงผิดตัว

“เมื่อตอนเย็นมีคนถิ่นอื่นมาในหมู่เรา ๒-๓ คน เจ้าแก่นคงคิดว่าข้าเป็นพวกนั้นก็ได้” เจ้าหยัดพูดขึ้น  หาน้ำมาลูบหน้าเจ้าแก่นจนมันรู้สึกตัว

แต่ก่อนที่เจ้าแก่นจะพูดอะไรออกมา  นายเพ็ชร์ก็ลงไปตวาดมันว่า “อ้ายระยำ จะแทงคนทั้งทีก็แทงผิดตัว  มึงเกือบจะไปฆ่าเอาอ้ายหยัดเข้า รู้ไหม ดีแต่มันชกมึงหมอบแล้วพามาที่นี่”

“โธ่ อ้ายหยัดหรอกรึ” เจ้าแก่นพึมพำแล้วหัวเราะแห้งๆ “สิ้นเคราะห์ไปทีวะ แล้วเอ็งเจ็บกงไหนบ้างล่ะ”

“ก็โดนหมัดเอ็งเข้าไปหลายพลั้กอยู่เหมือนกัน” เจ้าหยัดตอบแล้วหัวเราะ  “เอาละ แกหายแล้วข้าก็กลับเสียที ยังไม่ได้กินข้าว-กินปลา”

ว่าแล้วเจ้าหยัดก็อำลานายเพ็ชร์เดินดุ่มๆ ออกจากรั้วบ้านไป มีคนตามไปดูจนเจ้าหยัดไปไกลจากรั้วบ้านแล้ว นายเพ็ชร์ก็ยกเท้าเตะเจ้าแก่นเข้าอั้กใหญ่

“มึงมันเลวยิ่งกว่าหมา ทำเท่านี้ก็ไปเสียท่ามันแล้ว นี่ดีแต่ว่ามันไม่ไหวทันมึง นึกว่ามึงไปทำมันผิดตัว ถุย อ้ายแก่น มึงเห็นจะรับใช้กูไม่ได้เสียแล้ว มันต้องปัญญากูเอง”

นายเพ็ชร์ไม่ยอมฟังเสียงเจ้าแก่นอธิบายใดๆ ต่อไป  เขากลับขึ้นไปบนเรือนใหญ่ และเกรี้ยวกราดต่อการที่เจ้าแก่นลูกน้องไปถูกเจ็บกลับมา

เช้าวันรุ่งขึ้น

นางแถมก็ถือสารของแววตาเอามาให้เจ้าหยัด ความในหนังสือนั้นว่า

“พี่จงระวังตัวให้ดี อย่าออกจากบ้านเป็นอันขาด…”

“มันเรื่องอะไรกันวะ – อีแถม” เจ้าหยัดถามนางคนถือสาร คิ้วขมวดเข้าหากัน “กูไปทำอะไรให้ใครเจ็บแค้นนักหรือ คนมันถึงจงเกลียดจงชังกูนัก”

“ข้าก็ไม่รู้” นางแถมตอบ “พี่แววเขาบอกว่า กลางค่ำกลางคืนอย่าออกจากบ้านไปไหนเป็นอันขาดเชียวนะ คนเขาคิดร้ายอยู่ เขารู้ระแคะระคายแล้วว่า พี่แววตาจะตามแกไป…”

“อีบ้าเอ๋ย..จะกินเข้าไปวันๆ ก็ไม่มีอยู่แล้ว จะไปพาไปตามใครเขา  เฮ้อ..คนเอ๊ยคนมีปากก็ใส่ความกูไปแท้ๆ”

เมื่อนางแถมกลับไปแล้วก็ประจวบกับป้าจันเกิดตัวร้อนจับไข้  ลุงอ่วมผู้ซึ่งไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของลูกชาย เพราะเจ้าหยัดมิได้ปริปากพูดอะไรให้รู้เลยก็บอกให้ลูกชายไปขอยาที่บ้านนายรอดหมอยาประจำตำบล และมีเมียสาวอายุเพิ่งจะสิบหกเท่านั้น

เจ้าหยัดลงกระไดไปสักครู่ ทั้งลุงอ่วมและป้าจันก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นสามนัดติดๆ กัน มันเป็นอาณัติสัญญาณว่าคงเกิดฆ่าฟันกันตายขึ้นที่บ้านใดบ้านหนึ่งแล้ว  และคงจะมีคนเป็นศพไปสามศพอย่างไม่ต้องสงสัย  ทั้งสองคนผัวเมียเกิดเป็นห่วงเจ้าหยัดขึ้นมาทันที

“แกเฝ้าบ้านไว้นะ ข้าจะไปฟังเรื่องเขาข้างในหมู่บ้านก่อน ไปตามหาอ้ายหยัดมันด้วย”

ยังมิทันที่ลุงอ่วมจะลงจากกระต๊อบ เจ้าหยัดก็วิ่งกระหืดกระหอบกลับมา มันหน้าตาตื่น แต่ก็ยังมีความสะกดใจไม่ตื่นเต้นจนเกินไป

“เกิดเรื่องใหญ่แล้วพ่อ” เจ้าหยัดหยุดละล่ำละลัก “พอฉันโผล่รั้วเข้าไปเรียกน้ารอด น้าหมอ  น้าหมอ  น้ารอดแกโผล่หน้าออกมา ก็ไม่รู้ว่าใครมันแอบอยู่ริมกอไผ่ เอาปืนยิงน้ารอดสามนัดซ้อน น้าแกล้มร้องโอย แล้วก็ร้องระบุชื่อฉัน อ้ายหยัดยิงกูแล้ว ช่วยด้วย  พอดีมะลิเมียแกโผล่ออกมาอีก เห็นหน้าฉันอยู่นอกรั้ว มะลิมันก็ร้องระบุชื่อฉันว่า อ้ายหยัดยิงหมอกูแล้ว”

“แล้วเอ็งเสือกหนีมาทำไม” ป้าจันร้องขึ้น “ก็เข้าไปบอกมันซิว่าคนยิงมันอยู่ตรงโน้น”

“โธ่แม่ ฉันกำลังตกใจ” เจ้าหยัดพูดด้วยความตื้นตัน “แล้วนี่จะทำอย่างไรดี”

“ไปกับกู – ปืนผาหน้าไม้มึงไม่เคยยิงจะไปกลัวอะไรวะ ไป-ไปเล่ามันตามจริงๆ ดูที” ลุงอ่วมแกขัดขึ้นแล้วลุกออกมาทั้งสองคนพ่อลูก

แต่ทั้งพ่อลูกก้าวลงจากระต๊อบไปไม่กี่ก้าว กำนันพูนกับนายเพ็ชร์และเจ้าแก่นก็พาลูกบ้านตามมาถึง ทุกคนเข้าจับกุมเจ้าหยัด โดยไม่ยอมฟังเสียงใดๆ  กำนันพูนซึ่งล่อเหล้าเถื่อนเข้าไปจนงอมแงมแทบครองสติไม่ได้แล้วตวาดเป็นมูลฟ้องระบุขึ้นว่า

“อ้ายอ่วม มึงเลี้ยงลูกไม่ดี มึงมันอบรมลูกให้เป็นพาลเกเร อ้ายลักเล็กขโมยน้อยที่แล้วๆ มาน่ะก็ช่างเถอะ แต่ว่าคราวนี้มันหนักมือ เหยียบจมูกกูไปมากเสียแล้ว  มึงอ้ายหยัด หลงรักอีมะลิเมียหมอรอด  ใครๆ เขาก็รู้ใจมึงทั้งนั้น แต่ว่าครั้งนี้มันไม่รอดมือกูไปได้เสียแล้ว”

            “นี่กำนันหาว่าข้ายิงน้ารอดรึนี่” เจ้าหยัดถามขึ้นแล้วหัวเราะแค้นๆ “ปืนข้าก็ยิงไม่เป็น ข้ามาเรียกน้ารอดจะเอายาไปให้แม่ คนยิงน่ะมันยิงไปจากทางโน้น…”

“เอ็งพูดไปหมามันก็ไม่ฟัง” นายเพ็ชร์ตวาดขึ้น “อ้ายหยัดเป็นคนยิงแน่ คนตายก็ระบุอย่างนั้น มะลิมันก็ออกมาเห็นหน้าเอ็งเต็มตา เอาละ กำนันเอาตัวไปคุมไว้ก่อน ส่วนว่าใครจะแก้ตัวใครอย่างไรนั้น ไว้พูดกันทีหลัง”

“แต่ข้าไม่ได้ยิง นี่ข้าเห็นคนยิงแล้วยังมาจับข้าจะได้อยู่รึ ปืนผาหน้าไม้ข้าก็ไม่มีเลย ไม่เคยมีเลยตั้งแต่เกิดมา” เจ้าหยัดร้องขึ้นด้วยความโกรธ มันมองกวาดหน้าคนด้วยความประสงค์ร้าย  “มาจับข้าไม่ได้ ข้าไม่ยอม”

“ถ้าเอ็งไม่ยอม เอ็งก็ขัดขืนและต่อสู้เจ้าพนักงาน กูเป็นกำนันนะโว้ย” กำนันพูนยกมือชี้หน้า “ให้กูจับไปเสียดีๆ อ้ายหลานชาย แล้วเพลาเจ้าหน้าที่นายอำเภอเขาสอบสวนเอ็ง เอ็งก็ให้การท่านไปตามที่รู้ที่เห็น ถ้าเอ็งพูดจามีน้ำหนักพยานรัดกุมดี ท่านก็จะปล่อยตัวเอ็งมาเป็นพยาน  อ้ายใครมันผิดจริงๆ ก็ได้ผิดไป ข้าจับเอ็งก็เพราะอีมะลิมันระบุแจ้งความไว้”

“โธ่ อีมะลิ  ช่างไม่คิดเลยว่ากูนินับถือมึง” เจ้าหยัดร้องขึ้นแล้วหันมามองดูพ่อ ซึ่งยืนกัดฟันน้ำตาคลอหน่วย

เฒ่าอ่วมตบไหล่ลูกชายแล้วว่า  “ไปก็ไปกับมัน อ้ายหยัด เราไม่ผิด ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้  กูมันจนเสียหน่อยเดียวเท่านั้น คนมันถึงหาเรื่องมาใส่หัวไม่มีหยุด”

นายเพ็ชร์หันมาถมึงตาดูลุงอ่วมด้วยความไม่พอใจ เขาร้องขึ้นว่า “แกแก่แล้วนะโว้ย อ้ายอ่วม จะพูดจะจาให้ระวังถ้อยคำไว้บ้าง  ถึงเอ็งก็เถอะ ถ้าขืนทำตัวเป็นนักเลงหัวไม้ในละแวกบ้านกู  กูก็เห็นจะคบมึงไม่ได้”

คืนนั้นเจ้าหยัดถูกคุมตัวไปไว้บ้านกำนันก่อน เพื่อเดินทางไปกิ่งอำเภอในวันรุ่งขึ้น ทำให้ป้าจันที่ครั่นเนื้อครั่นตัวอยู่แล้ว ด้วยความตกใจและเสียใจ แกก็เลยล้มเจ็บลงทันที  แต่ลุงอ่วมไม่ได้เอาใจใส่ด้วย แกออกไปสอบถามตามชาวบ้านใกล้เคียง ครั้นแล้วก็กลับมาเล่าให้เมียของแกฟังโดยละเอียด

“กูนึกแล้วไม่มีผิด” ลุงอ่วมพูดขึ้นกับเมียของแกด้วยอาการกราดเกรี้ยว “กูรู้ว่าอ้ายเศรษฐีเพ็ชร์คนนี้มันไม่ซื่อ  อีเขียวกระซิบบอกกับกูเมื่อกี้นี้เองว่า อ้ายเพ็ชร์มันเกิดไปชอบอกชอบใจอีมะลิเมียหมอรอด ตามวิสัยมันชอบแย่งเมียเขา ที่มันไล่กระต๊อบเก่าของเราก็จะไปปลูกบ้านให้อีมะลิอยู่ใหม่นั่นเอง  มันลงมือฆ่าหมอรอดคราวนี้ ถึงอ้ายหยัดไม่ไปเจอเข้า  มันก็คงจัดการกันตามที่กะมา  แต่อ้ายหยัดไปประจวบเหมาะเข้าพอดี  มันจึงเลยโยนความผิดให้อ้ายลูกเรา  ดีแล้วกูจะไปบอกอ้ายหยัด ให้เล่าความจริงให้ศาลท่านฟังเสีย  คราวนี้จะมีใครเสียอีก นอกจากอ้ายแก่นเท่านั้นเป็นตัวการ”

“แกก็ต้องระวังตัวแกไว้มั่งนะ …พ่ออ้ายหมา” ป้าจันแกเตือนผัวของแก “เรามันจนนะแกเอ๋ย อ้ายหยัดไปนอนบ้านกำนันละหนาวแย่ ผ้าห่มก็ไม่มี มันอยู่บ้านยังมีไฟผิง”

ด้วยความยากจนข้นแค้น…สองผัวเมียไม่มีโอกาสได้แก้ไขลูกชายของแกโดยทางใดๆ เลย ในที่สุดเจ้าหยัดก็ถูกฟ้องศาล หาว่ายิงหมอรอดตาย เพราะเจ้าหยัดเคยมีความรักนางมะลิ ภรรยาของหมอรอด  เมื่อก่อนที่นางมะลิจะอยู่กินกับหมอรอด ถึงแก่เจ้าหยัดเคยจับมือจับแขนนางมะลิ ต่อว่าต่อขาน มีพยานของกำนันพูนปรักปรำหลายปาก  ในวันที่ยิงหมอรอดตายนั้น นางมะลิวิ่งออกมาก็พบเจ้าหยัดยืนหน้าถมึงทึงอยู่ แล้ววิ่งหนีไป ส่วนเจ้าแก่นเป็นพยานปากเอก เห็นเจ้าหยัดวิ่งหนีไปและโยนปืนเข้าไปในป่า กำนันพูนเป็นพยานว่าไปค้นพบปืนของกลาง และเจ้าหยัดรับสารภาพว่ายิงในคืนนั้น แต่ตอนหลังปฏิเสธ  เจ้าหยัดพยายามชี้แจงถึงความจริง  เบื้องหลังคดีรายนี้ แต่มันก็พูดอะไรไม่ได้…ทนายของมันซึ่งศาลตั้งให้ว่าความให้แก่มันก็เป็นลูกมือและเพื่อนของเศรษฐีเพ็ชร์ตามเคย ทั้งลุงอ่วมและป้าจันให้การก็งกๆ เงิ่นๆ สุดท้ายก็กลายเป็นฟังไม่ขึ้น และหักล้างพยานโจทก์ไม่ได้  ฉะนั้นเจ้าหยัดจึงต้องติดคุก ขนาดว่าเห็นจะไม่มีวันออกเสียแล้ว มันถึงกับร้องไห้ออกมาเมื่อฟังคำพิพากษา จำคุก ๒๐ ปี!

ระหว่างต้องโทษอยู่ในเรือนจำ เจ้าหยัดได้รับเงินจากแววตาฝากมาให้ร้อยบาท พร้อมกับส่งข่าวให้ทราบว่า บัดนี้บิดาของหล่อน คือเศรษฐีเพ็ชร์ได้อยู่กินกับมะลิเมียหมอรอดอย่างเปิดเผยแล้ว  แววตาบอกมาว่า “เรื่องอะไรฉันรู้ดีแล้ว พี่หยัดออกมาฉันจะบอกให้ แล้วเราจะแต่งงานกัน…”

เจ้าหยัดก็ได้แต่กำจดหมายแล้วนั่งซึมกะทืออยู่คนเดียว…ต่อไป

วันหนึ่ง บังเอิญมีนักโทษจากหนองสีดา ตำบลเดียวกันมาติดคุกด้วยเรื่องทำร้ายร่างกายเขาบาดเจ็บ เจ้าหยัดดีใจที่มีโอกาสพบคนบ้านเดียวกัน แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเอง มันก็ต้องกล้ำกลืนความปวดร้าวในใจยิ่งขึ้น

“เมื่อก่อนเขาส่งตัวข้ามานั้น”  เจ้าเอี้ยง นักโทษแทงคนบาดเจ็บเพราะมารักสาวคนเดียวกัน เล่าเรื่องทางบ้านให้ฟัง “ข้าได้ข่าวว่าอีมะลิมันเจ็บมาก ใครๆ เขาก็ว่าผีตายโหงหมอรอดมันมากินเมียมัน อ้ายเศรษฐีเพ็ชร์ก็วิ่งเต้นหามดหาหมอมารักษา แต่อีมะลิก็ไม่หาย มันหาหมอผีมาเข้าทรงเจ้าพ่อเขาตก  เจ้าพ่อบอกว่าลุงอ่วมพ่อเอ็งเป็นคนเอาผีมากินอีมะลิ  พออีมะลิตาย พ่อเอ็งก็ถูกคนร้ายตีเอาบาดเจ็บสลบคาคันนา มีคนไปพบเข้า เขาเอากลับมาบ้านก็พูดจาอะไรไม่ได้เสียแล้ว พ่อเอ็งอยู่ได้ไม่กี่วันก็ตาย แม่เอ็งขายข้าวขายของหมดแล้วก็ออกบวชเป็นชี ไปอยู่วัดพร้าว…”

เจ้าหยัดทนทุกข์ทรมานด้วยความปวดร้าวใจโดยไม่มีทางใดจะระบายความกลัดกลุ้มของมันได้เลย แต่เจ้าหยัดก็เสงี่ยมเจียมตัว มันได้ลดโทษแทบทุกปีที่ผ่านไป พอปีที่สาม เจ้าหยัดก็ได้ข่าวว่าเศรษฐีเพ็ชร์ได้ล้มป่วยเป็นอัมพาต ลูกเมียหนีหายตายจากไปหมด แต่เจ้าแก่นยังอยู่ และทำทีจะครอบครองทรัพย์สมบัตินั้นด้วย เพราะเมียคนหนึ่งของเศรษฐีเพ็ชร์ก็ไปกินอยู่หลับนอนกับเจ้าแก่นโดยออกหน้าออกตา  เจ้าหยัดก็ได้แต่ยกมือท่วมหัว แล้วพึมพำว่า “อะยัมมะทันตาแหละมึงเอ๋ย ให้ทุกข์แก่เขา มึงก็หนีกรรมไปไม่พ้นดอก…กูเป็นทุกข์อยู่ก็แต่แววเท่านั้น คุณพระคุณเจ้าคุ้มครองแววมันด้วยเถิด ใจของเจ้านั้นบริสุทธิ์อย่างน้ำค้างเจียว แม่รักกูเอ๋ย”

วันนี้มันได้รับจดหมายนั้น  จดหมายของเจ้าเกิด เด็กชายผู้เป็นน้องของนางแถม คนสนิทของแววตา เขียนบอกมันมาว่า

“…อีแถมมันตามผู้ชายไปแล้ว แต่มันสั่งให้ฉันเขียนหนังสือนี้มาบอกแก ว่าแต่ก่อนนั้นลุงเพ็ชร์แกเป็นอัมพาต ตัวตายไปแถบหนึ่ง ลุกเดินไม่ได้ อ้ายแก่นก็ขึ้นครองเรือนใหญ่ เอาเมียลุงเพ็ชร์สองคนทำเมียมัน  พอลุงเพ็ชร์ตายก็จัดงานศพอย่างเอิกเกริก  พองานศพเสร็จแล้ว อ้ายแก่นก็ได้พี่แววเป็นเมีย  เสียงเขาพูดกันว่า มันขืนใจพี่แววตา เพราะมันจะเอาโฉนดที่ดินด้วย วัวควายก็ขายหมดนานแล้ว  อยู่กับมันไม่ได้กี่วัน มันก็เมาเหล้าหามรุ่งหามค่ำ เพื่อนเกลอเฮฮาตลอดรุ่ง

มาเมื่อวานนี้เอง อ้ายแก่นเมามาก พี่แววตาก็ไปอยู่เสียที่งานวัด เกิดไฟไหม้บ้านนั้นหมดทั้งหลัง อ้ายแก่นก็เลยถูกไฟครอกตายในบ้านนั้นเอง  พี่แววตาเวลานี้ก็หมดตัวแล้ว มีข้าวของทองเงินฝากสมภารวัดพร้าวไว้เล็กๆน้อยๆ  แต่หน้าโฉนดที่ไร่นาสาโทนั้นยังอยู่ พี่แววแกก็ไปบวชชีและอยู่กับป้าจัน แม่ของพี่หยัด แล้วเขาสั่งมาว่าให้บอกพี่หยัดว่า แกออกจากคุกไปเมื่อไร เขาจะสึกไปแต่งงานกับแก  ขอให้แกรักษาเนื้อรักษาตัวไว้ให้ดี ส่วนผีสางอ้ายแก่นนั้น ไหนๆ มันก็ตายไปแล้ว อโหสิความผิดให้มันก็แล้วกัน เท่าที่มันทำให้แกทนทุกข์ทรมานมาอย่างนี้ ในที่สุดมันก็แพ้บุญไปเอง

สาเหตุที่ไฟไหม้บ้านพี่แววตา และอ้ายแก่นถึงแก่ความตายนั้น พี่แววเขาให้บอกมาว่า อ้ายแก่นมันคงเมา ดิ้นไปเตะเอาตะเกียงลานหกล้ม และไฟติดขึ้น เพราะตะเกียงดวงนั้นพี่แววตาแกจุดไว้แต่เย็น แล้วก็ไปวัด…”

เจ้าหยัดกล้ำกลืนความทุกข์ในอกนั้นต่อไปอีก ศัตรูของมันก็ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว  แต่มันยังจะต้องถูกจองจำทำโทษต่อไปโดยไม่มีความผิดเลยสักนิดเดียว


หมายเหตุ: สะกด การันต์ วรรคตอน ได้คงไว้ตามต้นฉบับเดิม

พิมพ์ครั้งแรก : เพลินจิตต์พิเศษ เล่ม ๑ 
มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

นายเวช กระตุฤกษ์ เจ้าของ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา
[ในนามสำนักพิมพ์เพลินจิตต์]

Author

สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นักเขียนไทยกว่าครึ่งค่อน โดยเฉพาะสายวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทั้งผลิตเรื่องสั้นและนวนิยายในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วน ‘ผ่านมือชาย’ ที่ชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้เป็นเสมือนครูใหญ่แห่งโรงเรียนวรรณกรรมไทยโดยแท้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า