ปวดหลัง ตาเสีย เครียดสะสม และจ่ายแพง: ว่าด้วยการสไตรค์ “เรียนออนไลน์เราจะตายกันหมด”

“ไม่เห็นด้วยนะคะ คนที่เดือดร้อนกว่านักเรียนคือครู ทางฝ่ายวิชาการและฝ่ายบริหารต้องลงมากดดันครูเพิ่ม แค่นี้ครูก็ทำงานลำบากอยู่แล้ว ตอนนี้ไม่มีใครไม่เดือดร้อนค่ะ สถานการณ์โรคระบาดไม่ได้ดีขึ้นก็ไม่ควรไปเรียนที่โรงเรียน ถูกต้องแล้วนะคะ”

“เข้าใจว่าระบบการศึกษาไทยมันค่อนข้างล้มเหลว แต่ในบางครั้งการที่มีความคิดแบบนี้ มันไม่ได้มีผลดีกับเราเลย เพราะประเทศอื่นเขาก็เริ่มเรียนออนไลน์กันแล้ว แล้วเราจะต่อต้านทำไม มันก็มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้”

“กระทบคะแนนตัวเอง กระทบกำลังใจอาจารย์ แล้วเมื่อไรจะกระทบกระทรวงจนเขามาแก้ไขได้ล่ะ มันไม่เหมือนประท้วงหยุดงานนะที่กระทบเยอะจนได้ผล อันนี้มันแทบไม่มีผลอะไรต่อกระทรวงเลย”

เสียงส่วนหนึ่งจากผู้คัดค้านกิจกรรมสไตรค์หยุดเรียนออนไลน์ หรือ #ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิสัส ของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6-10 กันยายน 2564 โดยขณะนี้มีตัวเลขนักเรียนเข้าร่วมแคมเปญแล้ว 8,646 คน

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินระยะเวลานานเกือบ 2 ปี ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบการศึกษาไทยอย่างมหาศาล 

การเรียนออนไลน์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ สะท้อนให้เห็นผ่านข้อมูลจาก กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ปีการศึกษา 1/2564 ที่มีนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษที่ ‘มีความเสี่ยง’ ต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาราว 1.9 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมดในช่วงวัยเรียนในการศึกษาภาคบังคับที่มีอยู่ราว 9 ล้านคน

#ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิสัส หรือ การสไตรค์หยุดเรียนออนไลน์เป็นเวลา 5 วัน ของนักเรียนจำนวนหนึ่ง จึงเป็นไปเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อระบบการศึกษา และประกาศข้อเรียกร้องที่พวกเขามองว่าเป็น ‘สิ่งพื้นฐานที่นักเรียนควรได้รับตั้งแต่แรก’ ดังนี้ 

  • กระทรวงศึกษาธิการต้องออกคำสั่งปรับลดตัวชี้วัด ชั่วโมงการเรียน ภาระงานของครูและนักเรียนให้ชัดเจน รวมไปถึงปรับหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเรียนออนไลน์ในปัจจุบันโดยทันที
  • กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญในการช่วยเหลือและเยียวยาสภาพจิตใจนักเรียนจากการเรียนออนไลน์ที่มีความเคร่งเครียดมากกว่าปกติ รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการรายงานปัญหาต่างๆ เพื่อตรวจสอบ และหาทางแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริง
  • ในกรณีที่สถานศึกษายังไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาฉีดให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดหาอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และเยียวยาค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงอย่างเร่งด่วนและทั่วถึง
  • กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งทำให้การศึกษามีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยอาจมีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการศึกษา พักชำระหนี้การศึกษา และจัดหาสวัสดิการในเบื้องต้นให้กับนักเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้มีนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาไปมากกว่านี้
  • รัฐบาลต้องนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมาฉีดให้นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยต้องมีการเปิดเผยข้อมูล สัญญา และรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนอย่างโปร่งใส และดำเนินการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด เพื่อให้ระบบการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมข้างต้นออกมาไม่น้อย ด้วยเหตุผลส่วนใหญ่ที่ว่า ผู้ได้รับผลเสีย คือ นักเรียนและครู หาใช่กระทรวงศึกษาธิการ 

แต่กลุ่มนักเรียนเลวยังคงเคลื่อนไหวต่อไป และยึดมั่นในข้อเรียกร้องทั้ง 5 โดยพวกเขาเชื่อว่า หากข้อเรียกร้องเหล่านี้ถูกกระจายให้คนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับรู้ จะช่วยทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถาม ถกเถียง และจับตามองว่า กระทรวงศึกษาธิการจะเข้ามาแก้ไขปัญหาการศึกษาที่นักเรียนไทยต้องเจออย่างไร และเมื่อไหร่

สไตรค์ หยุดเรียนออนไลน์: ไม่เงียบ ไม่ยอมรับ ต้องออกมาเรียกร้อง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

หากใครจำภาพเด็กหญิงถูกห้อยตัวลงมาจากสกายวอล์คแยกอโศก พร้อมกับป้ายไวนิลขนาดใหญ่ด้านข้างที่ระบุข้อความว่า ‘เด็ก 1.8 ล้านคน (ข้อมูลจากปี 2563) กำลังหลุดจากระบบการศึกษา เพราะการเรียนออนไลน์ที่ไม่เห็นหัวเด็ก’ ในวันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2564 วันแรกของการเริ่มกิจกรรมสไตรค์ หยุดเรียนออนไลน์ หรือ #ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิสัส ของกลุ่มนักเรียนเลว ที่สร้างความฮือฮาต่อผู้ที่พบเห็น และบนโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก

แองจี้ด.ญ.ปวีณ์ธิดา วรเมจกานนท์ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คือเด็กสาวคนนั้น และเธอยังเป็นตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลวที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อประท้วงกระทรวงศึกษาธิการให้เร่งแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาช่วงวิกฤติโควิด-19 ให้เร็วที่สุด

“การแสดงห้อยตัวเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่แทนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เด็ก 1.8 ล้านคน ที่เป็นอนาคตของชาติบางคนตอนนี้ยังไม่มีอุปกรณ์ประกอบการเรียน หรืออินเทอร์เน็ต เด็กบางคนต้องทิ้งตัวเองลงในระบบการศึกษาที่ไม่เปิดโอกาสให้เขาเลือกว่าจะเป็นอะไร เช่น บางคนอยากเป็นหมอ แต่เพราะเข้าไม่ถึงการศึกษา เขาก็จบชีวิตไปกับการไม่ได้เป็นหมอ ต้องไปเป็นอย่างอื่นแทน เด็กบางคนเครียด ยิ่งเรียนออนไลน์ยิ่งเครียด จนต้องพบจิตแพทย์ ซึ่งถ้าปล่อยไว้และหนักกว่านี้ เราก็ไม่รู้จะสูญเสียเด็กอีกกี่คนโดยที่ไม่ควรจะสูญเสีย”

ด้วยความอัดอั้น หมดความอดทน ไม่อยากอยู่กับสภาพสังคมที่การศึกษาไม่โอบอุ้มเด็ก แองจี้จึงเลือกที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยเธอให้เหตุผลในฐานะของการเป็นสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลวว่า “การที่เราเลือกวิธีสไตรค์ เราคิดว่ามันเป็นวิธีที่ทำให้คนหันมาสนใจข้อเรียกร้องของเราได้ง่ายขึ้น แม้จะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากทำ เพราะอาจเสียประโยชน์ส่วนบุคคล แต่อย่างน้อยก็ทำให้สังคมได้ยกประเด็นขึ้นมาถกเถียงกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รู้ถึงสิ่งที่รัฐควรทำ รู้ถึงข้อเรียกร้องของเรา ต่อให้ไม่ทำ แต่อย่างน้อยวิธีการนี้ก็เป็นวิธีการที่ช่วยกระจายข่าว กระจายข้อเรียกร้องของเราให้ไปถึงผู้มีอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้”

แองจี้-ด.ญ.ปวีณ์ธิดา วรเมจกานนท์

เช่นเดียวกันหากสลัดความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม แองจี้ตอบอย่างมั่นใจว่า เธอก็ยังจะเข้าร่วมกิจกรรมนี้อยู่ดี เพราะ “เราเป็นหนึ่งในเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา ไม่ว่าจะวัคซีน การเรียนการสอน ความเครียด ตัวนักเรียนทุกคนมันได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยใน 1-5 ข้อเรียกร้องนี้ และเรารู้สึกว่าถ้าเราอยู่เฉยๆ ปัญหาคงไม่หาย”

ด้วยวิธีการสไตรค์ที่มี 3 รูปแบบ คือ การไม่เข้าเรียน การเปลี่ยนรูปโปรไฟล์หรือพื้นหลัง และการเช็คชื่อแล้วออกจากห้องเรียน แองจี้เล่าว่าตัวเธอเองจำเป็นต้องเข้าเรียนบางวิชา เพราะหากไม่เข้าอาจทำให้ยากต่อการเข้าใจเนื้อหา เช่น วิชาฟิสิกส์ เคมี และชีวะ การแสดงออกของเธอจึงเลือกทำในรูปแบบที่ 2 ที่ช่วยผลักดันกิจกรรมให้เป็นที่พูดถึงได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

แม้กระทรวงศึกษาฯ จะแก้ไขปัญหาการเรียนออนไลน์โดยการออกนโยบายลดการบ้าน ลดเวลาเรียน หรือให้เงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท แต่กลุ่มนักเรียนเลวเห็นว่า การให้เงินเยียวยา 2,000 บางส่วนเด็กยังได้ไม่ทั่วถึง และการออกนโยบายลดการบ้าน หรือลดเวลาเรียน เป็นเพียงนโยบายที่ขึ้นกับโรงเรียนนั้นๆ ว่าจะปฏิบัติหรือไม่ โดยไม่ใช่การบังคับจากกระทรวงศึกษาฯ

“จริงๆ เราต้องการที่จะเรียนออนไซต์เลย คือในเมื่อออนไลน์ไม่ได้ประสิทธิภาพ ข้อเรียกร้องเราทั้งหมดจึงต้องได้ เพื่อให้นักเรียนได้กลับไปเรียนที่โรงเรียน แต่ถ้ายังทำไม่ได้ รัฐยังไม่นำวัคซีนที่มีคุณภาพเข้ามา กระทรวงศึกษาฯ ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่เชิญชวนให้ลดการบ้าน แต่ต้องบังคับใช้ไปเลย แล้วเด็กที่เรียนโรงเรียนที่ไม่ได้ปฏิบัติตามล่ะ?

“ถึงจะลดการบ้าน แต่ครูบางคนก็เก็บคะแนนเข้าเรียน แทนการไม่ให้เด็กทำการบ้าน ซึ่งเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ที่พร้อม เขาก็เสียคะแนนตรงนั้นไป”

แม้จะมีการลดการบ้าน ลดเวลาการเรียน แต่แองจี้ชี้ให้เห็นปัญหาที่ลึกลงไปอีกว่า นโยบายนี้ไม่ได้สร้างขึ้นจากความเข้าใจของเด็กจริงๆ เพราะถึงแม้จะมีการลดหย่อนให้ แต่ปัญหาจริงๆ แล้วคือ วิธีการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล ที่ไม่ได้ประเมินตามที่เรียน ทำให้เด็กยังต้องพึ่งการเรียนพิเศษอยู่เช่นเดิม

“จริงๆ การเรียนการสอนไม่ว่าจะแบบไหน ถ้าดีจริงไม่ต้องไปเรียนพิเศษเลยด้วยซ้ำ อย่างเราจะสอบเข้า ม.4 แต่ก็ต้องเรียนพิเศษ เพราะเรียนไม่รู้เรื่อง และข้อสอบก็ไม่ใช่ตามที่สอน ดังนั้นมันไม่ใช่ปัญหาของการลดหย่อน แต่มันคือปัญหาของวิธีการสอน และการวัดผลที่ไม่ตรงตามที่เรียน”

ความเครียดจากการเรียนไม่รู้เรื่อง เรียนไม่เข้าใจ เด็กบางส่วนตกขอบจากการศึกษา และอีกหลายปัญหาจากการเรียนออนไลน์ เป็นแรงผลักดันให้กลุ่มนักเรียนเลวจัดกิจกรรมสไตรค์ หยุดเรียนออนไลน์ พร้อมข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ เพื่อกดดันภาครัฐให้แก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น

“สำหรับเราข้อเรียกร้องต้องได้ทั้ง 5 ข้อ และต้องได้อย่างเร็วที่สุด อย่างเรื่องวัคซีนถ้าทุกคนได้ฉีดเร็วและทั่วถึง การระบาดจะลดลง ผลกระทบต่อเยาวชนก็ลดลงด้วย หลายๆ สถานที่อย่างโรงเรียนที่ควรได้เปิดเป็นอันดับแรกๆ แต่กลับต้องเปิดช้ากว่าห้างสรรพสินค้า ถึงแม้การเรียนในโรงเรียนจะแย่ แต่ก็ดีกว่าการเรียนออนไลน์ เด็กที่จะหลุดจากระบบก็จะได้กลับเข้าสู่ระบบ

“ต่อให้จบการสไตรค์ และเรายังไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้สังคมได้ตั้งคำถามว่าทำไมปัญหายังไม่ถูกแก้ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ควรจะได้รับการแก้ไขตั้งนานแล้ว”

เสียงของครูชั้นผู้น้อย: นักเรียน ‘เรียกร้อง’ ไม่ใช่ ‘ต่อต้าน’

ในวันที่เราและ ‘ครูฝน’ (นามสมมุติ) สนทนากันเพื่อมองปรากฏการณ์ประท้วงหยุดเรียนออนไลน์ผ่านแว่นของผู้เป็นครู ในด้านหนึ่ง ตัวเลขจำนวนคนหยุดเรียนออนไลน์ในเว็บไซต์ นักเรียนเลว ก็ทะยานถึง 8,394 คน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์แคมเปญที่แตกออกเป็นหลายฝ่าย ทั้งเห็นด้วย เห็นต่าง และเห็นว่าต้องแก้ไขปรับปรุง

สำหรับครูฝน ครูภาษาอังกฤษในจังหวัดทางภาคอีสาน เอ่ยเห็นด้วยอย่างตรงไปตรงมา เพราะในฐานะบุคลากรในระบบการศึกษา เธอคือหนึ่งในผู้ที่ถูกกดทับจากระบบโดยตรง 

“เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เด็กของเราชั้น ม.5 แอดมิทเข้าโรงพยาบาลไป 1 คน จากภาวะความเครียดในการเรียนออนไลน์ ถามว่าโรงเรียนทำอะไรไหมกับเหตุการณ์นี้ เรายังไม่เห็น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น โรงเรียนควรประกาศนโยบายออกมาได้แล้วว่าคุณจะทำอะไรต่อไป เพราะเดี๋ยวมันต้องมีเคสอื่นๆ ตามมาอีก หากนักเรียนยังตกอยู่ในสภาวะแบบเดิม”

อีก 2 เดือนข้างหน้า จะครบ 2 ปี ของการทำงานเป็นครู ปัญหาการศึกษาที่เราต่างรู้กันดีจากประสบการณ์เดิมของแต่ละคน ไม่ว่าจะหลักสูตรและกฎระเบียบที่ล้าหลัง หรือความเหลื่อมล้ำที่ผลักเด็กจำนวนมากออกจากระบบ ครูฝนประสบมาแล้วทั้งสิ้น 

“เราเห็นด้วยกับการสไตรค์นะ มันเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เด็กสามารถเรียกร้องได้ง่ายที่สุด เสียหายน้อยที่สุด เพราะเอาเข้าจริง ต่อให้เข้าเรียนออนไลน์ครบก็ไม่ได้แปลว่าจะเรียนรู้เรื่อง เพราะฉะนั้น หยุดเรียนไป 1 อาทิตย์ ก็ไม่ได้โง่ลงไปกว่าเดิม หรือบางคนอาจจะได้ความรู้มากขึ้นก็ได้จากการหยุดเรียนอาทิตย์หนึ่ง เขาอาจจะไปอ่านหนังสือ ไปค้นคว้าอย่างอื่นที่สนใจก็ได้ บางคนอาจจะเจอความชอบของตัวเองจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองในโลกที่ความรู้มีอยู่ทุกที่แล้วก็ได้”

อาจเพราะใกล้ชิดกับเด็กๆ อยู่ทุกวัน อีกทั้งอายุก็ไม่ได้ห่างกันมากนัก ครูฝนจึงรับรู้และรับฟังปัญหาของพวกเขาอยู่ทุกๆ วัน แต่ถึงอย่างนั้น คนเป็นครูก็ใช่ว่าปลอดภัยจากแรงกดทับของระบบการศึกษา เพราะมากกว่าภาระงานที่ถมครูจนแทบไม่มีเวลาสอน คือ ระบบอุปถัมป์และโครงสร้างอำนาจที่กดครูตัวเล็กจนบี้แบน 

“เราทุกข์กับระบบที่บีบเราไว้ เราอยากจะทำ อยากจะสร้างสรรค์ อยากจะสอนในแบบของเรา หรือกระทั่งระบบการออกข้อสอบ เช่น ตัวเราเองสอนวิชาภาษาอังกฤษ​ เราก็จะมีวิชาเพิ่มเติมเป็นฟังและพูด ซึ่งชื่อก็บอกอยู่ว่าเป็นวิชาฟังและพูด แต่พอตอนสอบ กลับให้เด็กสอบในกระดาษ… แล้วมัน ‘ฟัง’ ‘พูด’ ยังไง”

นับตั้งแต่ปรากฏการณ์ ‘โบว์ขาว’ ยาวมาถึง #ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิสัส ครูฝนมองว่า เราทุกคนล้วนมีสิทธิจะเรียกร้องในสิทธิที่ไม่ได้รับ ในสภาวะที่กลไกแก้ปัญหาของระบบถูกทำให้เป็นอัมพาต 

“เด็กนักเรียนเขากล้าที่จะออกมา เรานับถือใจเขาเลยนะ สมัยเราเรียนเราก็คิดแย้งกับครู แต่เราไม่กล้า เราคิด แต่ไม่ได้แสดงออก ซึ่งการแสดงออกของเขานั้น มีผิดมีถูกไหม เราก็ต้องถามว่า แล้วไม้บรรทัดคำว่าถูกผิดของคุณคืออะไร เอาอะไรมาวัดว่าผิดหรือถูก กฎหมายข้อไหนห้ามเด็กหยุดเรียน ถ้ามาตรวัดของคุณคือกฎหมาย ก็ต้องมาดูว่ามีกฎหมายไหนห้ามเด็ก ซึ่งไม่มี

“ไม่ผิดที่เขาจะเรียกร้องโดยการหยุดเรียน เพราะเขาคือผู้ประสบปัญหา นอกจากเขาจะเรียกร้องให้ผู้ใหญ่รับรู้แล้ว ยังส่งผลต่อเพื่อนอีกหลายๆ คนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเหมือนกัน ซึ่งเพื่อนนักเรียนเหล่านั้นอาจจะไม่รับรู้ข่าวสารหรือไม่มีพลังพอที่จะออกมาเรียกร้อง”

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ในภาวะโรคระบาด ถือเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ ประเด็นสำคัญคือ แล้วรัฐจะออกแบบการศึกษาอย่างไร 

เว็บไซต์ research.eef.or.th เปิดข้อมูลจากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 (MICS6) ก่อนวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่า อัตราการเข้าเรียนของเด็กที่มีสถานะยากจนและร่ำรวยแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กล่าวคือ ร้อยละ 87 ของเด็กในครัวเรือนที่มีสถานะร่ำรวยได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ขณะที่เด็กในครัวเรือนที่มีสถานะยากจนได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพียงร้อยละ 53 เท่านั้น 

หากมาดูตัวเลขล่าสุดในปีการศึกษาล่าสุด 1/2564 ของ กสศ. พบว่า มีนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษารวมประมาณ 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมดในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับที่มีประมาณ 9 ล้านคน

มากกว่านั้น ข้อมูลของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในปี 2564 จะพบว่ามีเด็ก 43,060 คน ที่ยังไม่พบข้อมูลว่าได้กลับเข้ามาเรียนต่อ โดยส่วนใหญ่อยู่ในชั้นรอยต่อ ม.3 ขึ้น ม.4 จำนวน 33,710 คน และ ป.6 ขึ้น ม.1 จำนวน 8,699 คน อนุบาล 3 ขึ้น ป.1 จำนวน 604 คน ปัญหาหลักๆ มาจากรายได้ของครอบครัวที่ลดลงเหลือเฉลี่ย 1,094 บาทต่อเดือน หรือ 36 บาทต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผลกระทบต่อนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม

“เมื่อรัฐบังคับให้เขาต้องเรียนออนไลน์ แง่หนึ่งคือรัฐบังคับให้เขาต้องมี ต้องจ่าย สุดท้ายแล้วเมื่อเขาหาเงินมาซื้อไม่ได้ เขาต้องหลุดจากระบบ ถามว่าเงิน 2,000 ที่ให้มา ซื้อมือถือดีๆ เครื่องหนึ่งที่พอจะเรียนออนไลน์ได้เสถียรยังซื้อไม่ได้เลย เข้า Google Classroom ได้ไหม 

“อีกเรื่องคือสุขภาพจิต เรื่องนี้เรื่องใหญ่ แล้วระบบการศึกษาไทยไม่ได้ take action จริงจัง ตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว เด็กต้องเรียน 7 คาบต่อวัน ครูต้องสอนอัดๆ ครูในโรงเรียนตีกันแทบตายเพื่อแย่งว่าฉันจะสอนคาบเช้า เธอสอนคาบบ่ายนู่นนี่นั่น ถามเด็กสักคำไหมว่าเขาแฮปปี้หรือเปล่ากับสิ่งที่การศึกษาจัดให้

“ครูส่วนใหญ่มองว่า การสไตรค์ คือการต่อต้าน แต่ในอีกสังคมหนี่ง มองว่าการสไตรค์ คือการเรียกร้อง มีเส้นบางๆ กั้น ซึ่งเมื่อไหร่ที่คุณมองว่ามันคือการต่อต้าน มันคือความขัดแย้ง มันคือ negative แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณมองว่ามันคือการเรียกร้อง เมื่อนั้นคุณจะมองเห็นปัญหาของเขา คุณจะมองเห็นข้อเรียกร้องของเขา แต่ถ้ามองว่าต่อต้าน ก็จบเลย ไม่มีการฟังใดๆ เกิดขึ้น 

“มีหน้าที่เรียนก็เรียนไป คำคำนี้สำหรับเรามองว่า ถ้าเขาเรียนแล้วไม่ได้ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข เขาจะเรียนไปเพื่ออะไร สุดท้ายแล้ว หน้าที่ของครูก็คือการให้ความรู้ ให้ประสบการณ์กับเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถใช้ความรู้และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข แต่ถามว่า แล้วไหนล่ะความสุข เด็กเขาไม่แฮปปี้แล้วค่ะ” 

ครูฝนทิ้งท้าย ก่อนเธอจะขอตัวไปปฏิบัติภารกิจอยู่เวรโรงเรียนด้วยน้ำเสียงอ่อนล้า

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า