มติสมัชชาสุขภาพฯ ขีดเส้นปี 2565-2568 ประเทศไทยไร้แร่ใยหิน

การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 18-20 ธันวาคม 2562 หนึ่งในวาระสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งคือ การทบทวนมาตรการ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาสังคมสุขภาวะที่ทุกภาคส่วนควรรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์และผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

ประเทศไทยวันนี้ยังคงเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพประชาชน หนึ่งในปัญหานั้นคือ มลพิษทางอากาศซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งหมอกควันไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมถึงการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารอย่างผิดวิธีที่อาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของแร่ใยหิน ซึ่งแฝงอยู่ในกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องยางปูพื้น ฉนวนกันความร้อน ฝ้าเพดาน ฯลฯ

หลายประเทศทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า แร่ใยหินเป็นสาเหตุการก่อมะเร็ง องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ได้ให้ข้อเสนอแนะกับประเทศต่างๆ ว่า การควบคุมการสัมผัสแร่ใยหินให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นเรื่องที่ยากมาก ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือต้องยกเลิกการผลิต การนำเข้า และการใช้แร่ใยหินในทุกผลิตภัณฑ์

ในปี 2561 มีการยกเลิกการนำเข้าและการใช้แร่ใยหินไปแล้ว 66 ประเทศ ขณะที่มีราวๆ 129 ประเทศ แม้จะยังไม่มีกฎหมายยกเลิกอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการใช้แร่ใยหินในระดับที่น้อยมากหรือไม่มีการใช้เลย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ได้มีมติรับรองมาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน และต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติสมัชชาฯ ให้ประเทศไทยปราศจากแร่ใยหินภายในปี 2555 อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่การทบทวนมติสมัชชาฯ อีกครั้งในปีนี้ เพื่อกำหนดมาตรการ แสวงหาความร่วมมือ และปรับเพิ่มยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้จริง

ผลการประชุมต่อเนื่องตลอด 3 วัน นำมาสู่รูปธรรมในการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะ โดย นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการต่อยอดจากมติเดิมเมื่อปี 2553 โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่าต้องยกเลิกการใช้แร่ใยหินในสังคมไทย โดยทุกภาคส่วนต้องมีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ ทั้งการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ปราศจากแร่ใยหินมาใช้และการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเก่าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินด้วยขั้นตอนที่ถูกต้องปลอดภัย

“สำหรับข้อกังวลของภาคเอกชนก็คือ ผลิตภัณฑ์บางอย่างยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้ แต่นั่นก็เหลือน้อยมากแล้ว ดังนั้นที่ประชุมจึงยืนยันมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการออกกฎเกณฑ์ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องยางปูพื้น ภายในปี 2565 และยกเลิกการใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าเบรก คลัทช์ ท่อซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคา ภายในปี 2568

“นอกจากนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องการนำเข้า กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่ควบคุมการปลูกสร้างและการรื้อถอนอาคาร และกระทรวงสาธารณสุขจะเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องผลกระทบของแร่ใยหินต่อไป” นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าว

มติสมัชชาฯ 15 ประการ

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ว่าด้วยการทบทวนมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน มีรายละเอียดดังนี้

  1. ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการ

1.1 ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายในปี พ.ศ. 2565 เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนหรือใช้วัสดุอื่นทดแทนแร่ใยหินไครโซไทล์ได้อย่างเหมาะสมเพียงพอแล้ว

ประกอบด้วย

(1) กระเบื้องแผ่นเรียบ
(2) กระเบื้องยางปูพื้น

1.2 ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายในปี พ.ศ. 2568

(1) ผ้าเบรกและคลัทช์
(2) ท่อซีเมนต์ใยหิน
(3) กระเบื้องมุงหลังคา

  1. ขอให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางและมาตรการในการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน และการสนับสนุนให้มีมาตรการที่ทำให้การใช้วัสดุทดแทนแร่ใยหินมีราคาถูกลง
  2. ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้มีมาตรการในการกำจัดขยะที่มีแร่ใยหินและกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบในการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ
  3. ขอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาแนวทางและมาตรการทางกฎหมาย ในการรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคาร ทิ้ง และกำจัดขยะซึ่งมีวัสดุที่มีแร่ใยหิน
  4. ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องผลกระทบของแร่ใยหิน และออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นในกระบวนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน
  5. ขอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานภาครัฐใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหิน
  6. ขอให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และรณรงค์ให้ใช้วัสดุที่ไม่มีแร่ใยหินในการก่อสร้าง รื้อถอน ซ่อมแซม และต่อเติมอาคาร
  7. ขอให้กรมประชาสัมพันธ์สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลแก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบอาชีพ นายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับอันตรายจากแร่ใยหิน การป้องกันอันตรายที่ครอบคลุมตลอดวงจรของการใช้ รื้อถอน ทำลายวัสดุที่มีแร่ใยหิน รวมทั้งวัสดุทดแทนแร่ใยหิน
  8. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำกับติดตามการแสดงข้อมูล คำเตือนอันตรายของแร่ใยหินบนฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน โดยฉลากต้องแสดงให้ประชาชนเห็นได้ชัดเจนและเข้าใจง่าย ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พ.ศ. 2552 เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2553) เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ 2) อย่างเข้มงวด
  9. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบการวินิจฉัยโรคเหตุแร่ใยหิน เฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงโรคเหตุแร่ใยหิน
  10. ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบลงทะเบียนสถานประกอบกิจการและแรงงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้ข้อมูลการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงแรงงานที่ทำงานกับแร่ใยหิน ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนงานหรือออกจากงานไปแล้ว เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพจากเหตุแร่ใยหิน
  11. ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการให้กองทุนเงินทดแทนครอบคลุมในการดูแลค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวัง วินิจฉัย รักษา ฟื้นฟู และจ่ายเงินทดแทนแก่แรงงานที่มีประวัติการทำงานสัมผัสแร่ใยหินในอดีตและป่วยเป็นโรคเหตุแร่ใยหินภายหลังออกจากงานหรือเกษียณ รวมทั้งให้ประชาชนรับทราบถึงสิทธิประโยชน์
  12. ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำกับติดตาม ประเมินสถานประกอบกิจการให้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 29 พฤศจิกายน 2556) และประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง ขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย กำหนดให้ในบรรยากาศของสถานที่ทำงานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตรายในลำดับที่ 32 แอสเบสตอส ชนิดไครโซไทล์ asbestos (Chrysotile form) มีค่าขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายตลอดระยะเวลาการทำงานปกติคือ 0.1 ไฟเบอร์/ลูกบาศก์เซนติเมตร
  13. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน กลไกทางเศรษฐศาสตร์ และการใช้มาตรการทางกฎหมาย สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งไปสู่การลดและเลิกใช้แร่ใยหิน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนที่สามารถหาซื้อได้ง่าย ราคาถูก มีความแข็งแรงและปลอดภัย
  14. ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14

 

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า