ภาพถ่าย: อารยา คงแป้น
ภาพประกอบ: Shhhh
คุณภาพของคนไม่ได้สร้างแค่วันเดียว… เพราะวิทยาศาสตร์บอกเราว่า พัฒนาการของคนจะถูกเสริมสร้างอย่างจริงจังในช่วง 0-6 ขวบแรกของชีวิต ทั้งพัฒนาการของสมอง ภาษาและการสื่อสาร ความมั่นคงทางอารมณ์ สุขภาวะ และอื่นๆ ก็ขึ้นอยู่กับอิฐก้อนแรกที่ผู้ใหญ่จะช่วยกันก่อ
พักเรื่องเหล่านี้เอาไว้ก่อน ลองจินตนาการว่า…
หากคุณเป็นหนุ่มสาวโรงงาน หรือผู้ประกอบอาชีพที่ต้องหาเช้ากินค่ำ (ที่บางวันยาวไปถึงค่อนเช้า) มีลูกน้อยอยู่ในวัย 3-5 ขวบ อันเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นก้าวสู่รั้วโรงเรียนในระดับชั้นอนุบาล 1-3 คุณต้องส่งลูกน้อยเข้าเรียนและก็รู้ชัดถึงข้อมูลสองย่อหน้าต้น แต่คุณมีเงื่อนไขในชีวิตดังนี้
- ต้องมีค่าเทอมที่คุณจ่ายไหวตามค่าแรง (อย่างน้อยก็ขั้นต่ำ) ที่ได้รับแต่ละวัน
- บ้านต้องใกล้โรงเรียน เนื่องจากคุณจะได้มีเวลารับส่งเด็กๆ ด้วยตัวเอง และต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในชีวิตการทำงานของคุณและครอบครัวด้วย
- ต่อเนื่องจากข้อ 2 ที่ว่าบ้านและโรงเรียนต้องใกล้กัน เพื่อที่เด็กๆ จะได้พักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม และพร้อมจะเรียนรู้โลกใหม่ใบนี้ด้วยอารมณ์ที่แจ่มใส
- หากตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 3 จะไม่เป็นการร้องขอมากเกินไปนัก คุณอยากพบโรงเรียนที่มีคุณภาพ และมีหลักสูตรการสอนที่เป็นไปตามพัฒนาการของเด็กๆ อันตรงตามสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ว่าไว้ในสองย่อหน้าแรกด้วย
มองไปรอบๆ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในท้องถิ่นบ้านเรา เงื่อนไขข้อที่ 1 ถึง 3 อาจไม่ใช่ปัญหา โจทย์ใหญ่คือข้อ 4 ที่ไม่อาจการันตีได้ว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่เอ่ยมา แต่หากใครได้ลองไปเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เป็นต้นแบบในการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน… ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านราชคราม’ ตําบลราชคราม อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศูนย์เครือข่ายอีกราว 15 แห่ง อาจตอบโจทย์ที่ว่านั้น
อิฐก้อนแรก พัฒนาการต้องเต็มร้อย
ที่นี่เราจะเน้นเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก จะไม่เร่งรัดว่าเด็กๆ เข้าโรงเรียนแล้วต้องท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ ให้ได้ แต่เราใส่ใจพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ อารมณ์ สุขภาวะ ส่งเสริมผ่านการวาดรูป ปั้นดินน้ำมัน ซึ่งเราจะสื่อสารกับผู้ปกครองให้รับทราบแนวทางร่วมกัน”
วินัย ไกรมงคล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข และรักษาการผู้อำนวยการกองศึกษา เทศบาลตําบลราชคราม กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ และในฐานะคณะทำงานด้านนโยบายและการสนับสนุน นอกจากจัดหาภาคีการศึกษาด้านวิชาการ ด้านสุขอนามัยเด็ก ยังประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้เข้ามาดูแลสุขภาพของเด็กๆ ด้วย
“เรื่องสุขภาพของนักเรียน ทุกๆ เช้า คุณครูจะคอยคัดกรองและตรวจสุขภาพของเด็กๆ ตั้งแต่เด็กเดินเข้าโรงเรียน ตรวจพัฒนาการของเด็กๆ ด้วย DSPM (Developmental Surveillance and Promotion Manual: คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย) นอกจากนี้ทุกๆ สามเดือน เรายังมีคุณหมอจาก รพ.สต. ที่เข้ามาตรวจเช็คสุขภาพของเด็กๆ เป็นประจำอีกด้วย” ผอ.วินัย กล่าว
แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยดูแลเด็ก แต่ผู้ที่อยู่หน้างานทุกวันอย่างคุณครู นอกจากจะต้องเข้าใจศาสตร์ด้านการสอนและดูแลเด็กปฐมวัยแล้ว ครูจำต้องมีความเข้าใจด้านพัฒนาการต่างๆ ของเด็กในเบื้องต้น คือเป็นผู้คัดกรองและคอยสังเกตดูว่าเด็กคนไหนมีพัฒนาการที่ช้าหรือไม่ เพื่อจะเข้าไปช่วยอุดช่องโหว่และผลักดันส่งเสริมเด็กได้อย่างทันท่วงที ซึ่งทั้งหมดนี้ครูต้องมีความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งต้องคอยอัพเดทข้อมูลชุดนี้ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
ต่อประเด็นนี้ ผอ.วินัย อธิบายว่า ครูที่โรงเรียนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปอบรมงานวิชาการ ทั้งด้านการสอนและงานพัฒนาการเด็ก โดยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะด้านกุมารเวชศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการที่เข้ามาเติมเต็มความรู้ให้กับครูในโรงเรียน
การบ้านวิชาแรก วิชาร่างกายและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
สุขภาพร่างกายที่ดี ต้องมาพร้อมกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ดี
รุ่งรดี พุฒิเสถียร คุณครูประจำหมวดสุขภาพ อธิบายหลักสูตรการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ว่า ในห้องเรียนจะไม่ได้แบ่งเป็นวิชาเลข ภาษาอังกฤษ ไทย สังคม ตามหลักสูตรของโรงเรียนทั่วไป หากเป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ 3-5 ขวบ ที่เน้นการอบรม ให้การศึกษา และได้รับพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ตามวัยและความสามารถของนักเรียนแต่ละคน
วิชาภาษาอังกฤษ วิชาเลข หรือวิชาอะไรก็ตามที่เราเข้าใจกัน ทุกอย่างจะถูกบูรณาการให้เป็นวิชาเดียว เช่น เด็กๆ จะรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษ การนับเลข หรือหน้าที่ของตัวเอง จากการวาดรูปบ้าน ว่ารูปนี้มีหน้าต่างกี่บาน เขาก็จะได้รู้จักตัวเลข ได้รู้ศัพท์ภาษาอังกฤษของคำว่าหน้าต่างคืออะไร สีนี้คือสีอะไร เด็กๆ จะค่อยๆ เรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ด้วยตัวเอง
ครูรุ่งรดีบอก
แต่ใช่ว่าจะไม่มีการจัดแบ่งจำแนกวิชาออกเป็นหมวดหมู่เสียทีเดียว เพราะเนื้อหาที่คุณครูสอนจะถูกออกแบบและจัดกลุ่มเป็น 4 วิชาหลัก ในชื่อว่า 1) วิชาร่างกายของเด็กๆ 2) บุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก เช่น ครอบครัว บ้าน โรงเรียน วัด 3) ธรรมชาติรอบตัว และ 4) สิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก
ครูรุ่งรดี อธิบายว่า เด็กเล็กตั้งแต่อนุบาล 1 ถึง 3 จะได้เรียนทั้ง 4 วิชาเหล่านี้เหมือนกันทั้งหมด แต่จะเพิ่มความซับซ้อนขึ้นเมื่อเลื่อนชั้นเรียนสูงขึ้น และเมื่อถึงอนุบาล 3 เด็กๆ จึงจะได้เรียนวิชาการพื้นฐานเพื่อเตรียมเข้าโรงเรียนระดับประถมศึกษาต่อไป
ไม่เพียงแค่การออกแบบวิชาเรียนเพื่อเน้นพัฒนาการของเด็กเท่านั้น หากยังเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งหมายให้เด็กๆ ทำความเข้าใจเรื่องสุขภาวะและหน้าที่ของตัวเองด้วย
กิจวัตรประจำวันของเด็กๆ ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านราชคราม ตั้งแต่เดินเข้ามาในประตูรั้วแล้ว เด็กๆ จะสวัสดีทักทายกับคุณครูที่หน้าประตู ก่อนจะสอบถามและวัดไข้เพื่อแยกเด็กที่ไม่สบายให้อยู่ในห้องคัดกรอง หากอุณหภูมิร่างกายอยู่ในระดับปกติ เด็กๆ จะเดินขึ้นไปเก็บกระเป๋า อาจเลือกเล่นอยู่ในห้องเรียนที่มีขนาดกว้างราว 60 ตารางเมตรโดยประมาณ ภายในห้องมีมุมของเล่นครบครัน วางเรียงรายอยู่บนชั้นเป็นระเบียบ หรือไม่ก็เดินลงมาเล่นเครื่องเล่นที่ลานสนามหญ้าเทียมสลับโฟมกันล้มหน้าโรงเรียนก็ได้
หลังเข้าแถวเคารพธงชาติ เด็กๆ จะต้องทบทวนวิธีล้างมือ 5 ขั้นตอน ก่อนจะเดินเรียงแถวเข้าห้องเรียน ที่มีแก้วน้ำ แปรงสีฟัน และผ้าเช็ดหน้า วางเรียงเป็นระเบียบ พร้อมระบุชื่อและรูปถ่ายของแต่ละคน อันเป็นสัญลักษณ์ของใช้ของตัวเอง
ภาพเด็กๆ ที่เดินออกจากห้องเรียนมาหยิบแก้วน้ำส่วนตัว เดินไปกดตู้น้ำ พร้อมเดินกลับมาล้างแก้วตรงก๊อกน้ำ ล้างหน้าแปรงฟัน แล้วหันไปเก็บของส่วนตัวเข้าที่ เป็นภาพที่เห็นได้ตลอดวันและอย่างเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะหลังมื้ออาหารกลางวันและหลังตื่นนอน (เพิ่มเติมคือแป้งขาวๆ ที่หน้าเด็กๆ)
โรงเรียนชุมชน สร้างโดยชุมชน
เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ ก็ให้ต้องอมยิ้มกับเหตุผล เพราะริเริ่มสร้างขึ้นโดยชุมชน โดยมีแกนนำเป็นชาวบ้านและเจ้าอาวาสวัดเชิงเลนเป็นหัวเรือใหญ่
“แต่เดิมเป็นแค่สถานที่รับเลี้ยงเด็กให้กับชาวบ้านที่จะต้องไปทำงาน โดยใช้สถานที่โรงเรียนวัดเชิงเลนเป็นที่รับเลี้ยง แต่พอปี 2530 เริ่มมีนักเรียนมากขึ้น จึงย้ายไปสังกัดเทศบาลตำบล จากนั้นเจ้าอาวาสวัดเชิงเลนเห็นความสำคัญ จึงให้พื้นที่สร้างศูนย์ฯแห่งนี้ขึ้น โดยว่าจ้างสถาปนิกที่เคยไปดูงานจากญี่ปุ่นมาออกแบบ และก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2550 จากนั้นจึงเริ่มหาแนวร่วมภาคีเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาเรื่อยมา”
พะเยาว์ ศรีประพันธ์ รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านราชคราม และแกนนำผู้บุกเบิกศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ตั้งแต่ต้น เล่าให้เราฟัง
ผลงานของสถาปนิกที่ ‘ครูเยาว์’ ว่า มีลักษณะเป็นอาคารเรียน 2 ชั้น โดยครึ่งชั้นล่างโผล่พ้นดิน หากอีกครึ่งหลบอยู่ชั้นใต้ดิน มีทั้งหมด 4 อาคาร วางล้อมกรอบเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นที่ตรงกลางนอกจากจะมีเสาธง สนามหญ้า สวนหย่อม ยังมีต้นหูกระจงสูงใหญ่คอยให้ร่มเงาแก่เด็กๆ เวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ และหากยืนหันหน้าเข้าหาเสาธง บริเวณด้านหลังของเด็กๆ จะมีน้ำตกเทียมที่ให้ละอองเย็นและส่งเสียงคลอตลอดวัน
“ความตั้งใจของท่านเจ้าอาวาส คืออยากให้เด็กๆ รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ให้เด็กๆ รู้สึกอยากมาโรงเรียน” ครูพะเยาว์บอกด้วยรอยยิ้ม
ไม่เพียงแค่บรรยากาศโดยรอบจะร่มรื่นน่าอยู่แล้ว หากเป็นความกว้างของห้องเรียนแต่ละห้องที่โอ่โถงเพียงพอให้เด็กๆ ได้กระโดดโลดเต้นไม่รู้เบื่อ อีกทั้งยังมีสื่อการสอนและของเล่นอีกนานาชนิดวางไว้ให้เด็กๆ ได้เล่นในชั่วโมงพักผ่อน และที่สำคัญเสาทุกต้นยังหุ้มเบาะนุ่มๆ ไว้ป้องกันเด็กที่วิ่งเล่นซุกซน
ห้องเรียนจะค่อนข้างใหญ่ เพราะสถาปนิกออกแบบว่าอยากให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่วิ่งเล่น และจัดมุมสำหรับเก็บสื่อการสอนของแต่ละห้องอีกด้วย
อาจเรียกได้ว่า นี่คือการออกแบบตั้งแต่ต้นทางและอย่างเข้าใจในการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ จะให้ความไว้วางใจและอบอุ่นใจเมื่อได้มาโรงเรียน และเมื่อลองถามคุณครูว่า เป็นไปได้ไหมที่จะมีโรงเรียนที่ถูกออกแบบอย่างเข้าใจ เป็นของชุมชน และได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการอย่างศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้ ครูตอบอย่างไม่ลังเลว่า
“เป็นไปได้แน่นอน แต่ต้องเริ่มจากความเข้าใจ”