เรื่อง: จุลศักดิ์ แก้วกาญจน์
กลางปี 2015 ‘เกาะฮะชิมะ’ พื้นที่ไม่ถึง 1 ตารางกิโลเมตร ในทะเลอาณาเขตน่านน้ำของรัฐบาลญี่ปุ่น กลายเป็นสมรภูมิรบที่มีความสำคัญของทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีในการเมืองระดับสากล ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณามรดกโลกครั้งที่ 39
รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงต่อที่ประชุมดังกล่าวเพื่อรับรองและขึ้นทะเบียนเกาะฮะชิมะเป็นมรดกโลกที่มีความสำคัญในฐานะ ‘พื้นที่ทางประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 20’ แสดงถึงแสนยานุภาพของ ‘ญี่ปุ่น’ ในทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมแห่งยุคเมจิ และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ได้เปิดแนวการรบเพื่อโต้ตอบคำแถลงดังกล่าวทันที ด้วยการคัดค้านแถลงการณ์ดังกล่าวต่อที่ประชุมว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจงใจหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับความจริงทางประวัติศาสตร์บนเกาะฮะชิมะในช่วงทศวรรษที่ 40 ของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
บนพื้นที่ไม่ถึง 1 ตารางกิโลเมตร ในช่วงก่อนการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลียืนยันข้อเท็จจริงว่า อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินมีการใช้แรงงานบังคับ (forced labour) เกิดขึ้น และเกาะฮะชิมะคือพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นความทรงจำอันเลวร้ายเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งของชนชาติเกาหลี
การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า ยังคงเป็นสมรภูมิรบที่สำคัญของทั้งสองรัฐบาล
The Battleship Island เป็นภาพยนตร์ที่ประกอบสร้างชุดความทรงจำอันเป็น ‘อดีต’ ของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในช่วงเวลาระหว่างปี 1910-1945 ‘เกาหลีของญี่ปุ่น’ หรือ ‘เกาหลีภายใต้การปกครองของมหาจักรวรรดิญี่ปุ่น’ มีชุดความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ลงรอยและยอมรับกันเป็นประวัติศาสตร์ร่วมของทั้งสองรัฐบาลมาจนถึงปัจจุบัน
สนธิสัญญาผนวกเกาหลี-ญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในปี 1910 ได้ล้มล้างระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของจักรวรรดิอันรุ่งโรจน์ของโจซอนลงด้วยการแทนที่ของจักรพรรดิญี่ปุ่นที่ขึ้นเป็นประมุขแทน และกว่า 30 ปีในฐานะที่เกาหลีเป็นดินแดนอาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่นนี้เอง ที่นำมาสู่การผูกปมเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Battleship Island ที่เริ่มถ่ายทำเมื่อกลางปีที่แล้ว ภายหลังเกิดข้อถกเถียงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเมื่อปี 2015
ผลจากการการเกณฑ์แรงงานทั้งหญิงชาย วัยเด็กและวัยทำงานที่ชาวเกาหลีจากกรุงฮันซอง หรือเคโจ เมืองหลวงของจักรวรรดิเกาหลีในขณะนั้นมาสู่เกาะฮะชิมะ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นและกลุ่มบรรษัทอุตสาหกรรม ทำให้เกิดทั้งแรงงานบังคับชาวเกาหลีที่ต้องใช้เป็นคนงานในเหมืองถ่านหิน และเป็นหญิงบริการทางเพศให้กับชาวญี่ปุ่น และห้วงเวลาช่วงต้นเดือนสิงหาคมในปี 1945 ถูกเลือกใช้เป็น ‘จังหวะ’ สำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้สำหรับการบดขยี้ข้อความที่เน้นย้ำถึงผลแห่งการกระทำของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นกับชาวเกาหลี ก่อนที่จะมีการประกาศแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ หลังการระเบิดของปรมณูของสหรัฐอเมริกาที่ฮิโรชิมะในวันที่ 6 สิงหาคม และนางาซากิในวันที่ 9 สิงหาคม
ผ่านสายตาความเป็นชาตินิยมของสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งชีวิตของคนเกาหลีที่เป็นแรงงานบังคับในเหมืองถ่านหิน หญิงบริการทางเพศในเกาะฮะชิมะ จากมุมมองความเป็นเหยื่อแห่งผลจากการกระทำของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นอย่างไร้มนุษยธรรมนี้เอง คืออาวุธที่มีแสนยานุภาพร้ายแรงที่ได้ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเปิดฉากการรบแรกในสมรภูมิแย่งชิงชุดความจริงทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคคาบสมุทรเกาหลี ที่เป็นเวทีการเมืองระดับสากล
การสนับสนุนความจริงของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีเรื่องผลร้ายจากการตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นผ่านภาพยนตร์ กลายเป็นเงื่อนไขสำหรับการกำหนดวาระเพื่อสร้างข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีเสมอมาต่อการชำระประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยการผลักภาระให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องแสดงท่าทีอีกครั้งต่อเรื่องการมีอยู่ของผลกระทบในทางประวัติศาสตร์เรื่องแรงงานบังคับชาวเกาหลี
ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้เน้นย้ำถึงความเป็นชาตินิยมผ่านอดีตที่ต้องต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อได้มาซึ่งเอกราชหลังปี 1945 ต่อสำนึกของชาวเกาหลีที่มีผลต่อการประกอบสร้างที่มาของ ‘ตัวตน’ โดยตรง และขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ได้ก่อร่างแนวความคิดสำคัญที่ส่งต่อมาถึงการก่อสร้างขบวนการประชาชนที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และการสิ้นสุดลงของสงครามเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษต่อมาอย่างมีนัยยะสำคัญ
การค้นหาความจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาแห่งศตวรรษที่ 20 ของประชาชนและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ในการเมืองทั้งระดับภายในประเทศและระดับสากล ยังคงเป็นพลวัตสำคัญที่หล่อเลี้ยงอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยให้ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน การผลักดันให้ความเป็นชาติยังคงก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้ก็เพราะด้วย ‘ความจริง’
ความจริงจะเยียวยาและชดเชยทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกับฝ่ายผู้กระทำ หรือฝ่ายผู้ถูกกระทำก็ตาม ตราบใดที่ความจริงยังไม่ถูกเปิดเผยทั้งหมด ความเกลียดชังระหว่างกันอย่างไม่มีสาเหตุของทั้งสองรัฐบาลจะคอยแหวะบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคต่อไปเรื่อยๆ
บนความจริงที่เกิดขึ้นบนเกาะฮะจิมะ พื้นที่ไม่ถึงหนึ่งตารางกิโลเมตร จะเป็นส่วนหนึ่งในการสมานบาดแผลทางประวัติศาสตร์ได้สนิทดีขึ้นหรือไม่?