การชุมนุมของหนุ่มสาว: จากไฟลามทุ่ง สู่ฝ้าเพดาน 

“ปรากฏการณ์การชุมนุมทางการเมืองของคนหนุ่มสาว” คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญ ในปี 2563 ที่สั่นสะเทือนสังคมไทยในวันนี้ และกระตุ้นเตือนให้คนทั้งสังคมจับตามองบ้านเมืองไปยังวันข้างหน้าอย่างไม่กะพริบตา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ต้นปี จนถึงปลายปี ด้วยการเคลื่อนไหวอันยาวนานของเธอและเขานั้น ด้านหนึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในแง่สำนึกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ และอีกด้านนับเป็นกระจกส่องสะท้อนสถานการณ์ของประเทศนี้ ที่ไม่สามารถโอบรับความฝันของพวกเขา

ไฟประกายแรก

สิ้นเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ถัดจากวันนั้น สังคมไทยได้เห็นปรากฏการณ์การชุมนุมของนักศึกษาปะทุขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ ดูเหมือนความโกรธเกรี้ยวต่อการยุบหนึ่งในพรรคการเมืองที่สดใหม่บนสังเวียนการเลือกตั้ง จะเปิดฉากให้คนหนุ่มสาวยกระดับวาระทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ตลอดเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา กระจายไปกว่า 50 สถาบันทั่วประเทศ

พวกเขาประกาศเจตจำนงในการเรียกร้องประชาธิปไตย และยื่นเงื่อนไขแรกอย่างเป็นทางการด้วยขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหารมากว่า 6 ปี กล่าวได้ว่าในช่วงเวลานั้น เกิดคำถามมากมายว่า เหตุใดพลังทางการเมืองที่เหมือนจะมลายหายไปกว่าครึ่งศตวรรษ จึงกลับมาตื่นตัวเป็นแนวหน้าในการเรียกร้องประชาธิปไตยจนกระจายดั่ง ‘ไฟลามทุ่ง’

กระนั้น การชุมนุมประท้วงที่กำลังกระจายตัวก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กระทั่งล่วงมาจนถึงเดือนมิถุนายน

ยกระดับจากท้องทุ่งสู่ ฝ้าเพดาน

หลังการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองวัย 35 ปี จากบริเวณหน้าที่พักในเมืองหลวงของกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน และกลุ่มบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหายก่อนหน้า ผนวกกับการปล่อยให้ ‘VIP’ ที่มีเชื้อโควิด-19 เข้ามาแพร่เชื้อในไทย ท่ามกลางความทุกข์ยากของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง จากมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล คนหนุ่มสาวก็เคลื่อนออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาสู่ท้องถนน และคงไม่มีที่ใดเหมาะสมเท่าพื้นที่ทางสัญลักษณ์ของการเมืองไทยคือ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’

18 กรกฎาคม 2563 กลุ่มเยาวชนปลดแอกและอีกหลากหลาย จัดชุมนุมย่อยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง 1. หยุดคุกคามประชาชน 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ยุบสภา โดยครั้งนั้นผู้เชี่ยวชาญมีการประเมินกันว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมอาจจะสูงถึง 30,000 คน หลังเพิ่มสูงขึ้นทุกครั้งที่มีการชุมนุมใหญ่

26 กรกฎาคม 2563 พวกเขาพัฒนาสัญลักษณ์ต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนประกอบในการชุมนุมได้อย่างมีสีสัน กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรม #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ พวกเขาวิ่งรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ร้องเพลงที่ดัดแปลงมาจากเพลงประกอบการ์ตูนเรื่อง ‘แฮมทาโร่’ เนื้อเพลงท่อนหนึ่งร้องว่า

“วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่…ของอร่อยที่สุดก็คือ ภาษีประชาชน”

3 สิงหาคม 2563 กลุ่ม ‘มหานครเพื่อประชาธิปไตย’ และ ‘มอกะเสด’ จัดชุมนุมภายใต้ชื่อ ‘แฮร์รี พอตเตอร์ ไม้เท้าเสกคาถา ปกป้องประชาธิปไตย’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุมครั้งนี้เองได้ส่งสัญญาณการต่อสู้ที่คมลึกยิ่งขึ้น

อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นกล่าวปราศรัยเปิดประเด็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์และการปฏิรูปสถาบันฯ เป็นครั้งแรก

10 สิงหาคม 2563 ถึงที่สุด ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ในชื่อกิจกรรม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อ่านข้อเรียกร้อง 10 ประการ ว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

แน่นอนว่าจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมในรั้วมหาวิทยาลัยเพียง 50 องค์กร ได้เติบโตหนักแน่นยิ่งขึ้น จนกระทั่งสามารถปักหลักชุมนุมใหญ่ครั้งแรกได้ในวันที่ 19 กันยายน โดยยึดพื้นที่สนามหลวงเป็นชัยภูมิก่อนจะฝังหมุดคณะราษฎรลงบนผืนดินและเข้ายื่นหนังสือถือประธานองคมนตรีในเช้าวันถัดมา ต่อจากนั้นการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่และการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการเล่นงานคนหนุ่มสาวที่เริ่มตั้งเค้าถึงความหนักหน่วง

ในวันที่ 8 ตุลาคม 2563 คนหนุ่มสาวรวบรวมเครือข่ายการเคลื่อนไหวจากหลายส่วน จงใจใช้ชื่อว่า ‘คณะราษฎร’ เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ได้แก่ 1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลาออก 2. ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย และมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 13-15 ตุลาคม 2563 รัฐบาลตัดสินใจประกาศพระราชกำหนดบริหารแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้่นที่กรุงเทพมหานคร โดยรัฐบาลอ้างว่าผู้ชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

ตามมาด้วยการตอบโต้จากเจ้าหน้าที่ ครั้งนี้แกนนำหลายคนถูกจับกุมคุมขังในเวลาต่อมา ถัดจากนั้นเมืองไทยจึงได้เห็นการชุมนุมต่อต้านแบบไร้ผู้นำ (leaderless resistance) อย่างเป็นทางการ มีการกระจายการชุมนุมไป 75 จังหวัดทั่วประเทศ และในกรุงเทพมหานครมีการเปลี่ยนพื้นที่การรวมตัวไปไม่ซ้ำกัน นี่จึงนับเป็นยุทธวิธีการต่อสู้แบบหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกชนทั่วไปและกลุ่มคนเล็กๆ เข้าร่วมต่อสู้ได้ โดยไม่ขึ้นกับลำดับชั้นของผู้นำ

3 เปลี่ยน – 2 ไม่เปลี่ยน – 1 ความฝัน

คำถามทำนองว่า อะไรคือการเปลี่ยนแปลงในสำนึกของคนหนุ่มสาว บริบททางสังคมการเมืองไทยเกิดอะไรขึ้นในรอบหลายปี จนทำให้พลังทางการเมืองที่เคยหลับใหลอย่างเงียบๆ ตื่นขึ้นมาเป็นหัวหอกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย

“3 เปลี่ยน – 2 ไม่เปลี่ยน – 1 ความฝัน” คือคำอธิบายที่ดีที่สุดในเวลานี้ และสามารถเข้ามาช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมือง

ไอเดียนี้ถูกเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำการรวบรวมข้อมูลจากการเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสัมภาษณ์ผู้คนต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สำหรับเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มีประเด็นที่สำคัญดังนี้

3 เปลี่ยนแปลง คือ

หนึ่ง เกิดการกล่อมเกลาทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หมายถึง คนหนุ่มสาวที่ออกมาเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นคนใน Generation Alpha ที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวสมัยใหม่ (young modern family) ซึ่งพ่อแม่จะเปิดใจรับฟังลูก แม้บางครั้งพ่อแม่อาจจะไม่เห็นด้วย แต่ผลด้านหลับคือทำให้เด็กรุ่นนี้กล้าพูดกล้าแสดงออก ขณะที่ในโรงเรียนเอง ยังมีครูที่มีความคิดแบบเสรีนิยม ทำให้นักเรียนมีเสรีภาพในระดับหนึ่ง

สอง โลกที่หมุนเร็วและโหดร้าย (disruptive world) ข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมการชุมนุม กนกรัตน์เสนอว่ากว่าร้อยละ 60 ของเยาวชนรุ่นนี้เติบโตมาในครอบครัวที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ หมายถึง มีพ่อแม่วัย 30 กว่าปีขึ้นไปจนถึง 50 ปี พ่อแม่รุ่นนี้อาจจะไม่สามารถปรับตัวกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ลูกจึงต้องเข้ามาแบกรับความเปราะบางนั้น

สาม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เด็กรุ่นนี้เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับการใช้เทคโนโลยีด้านบันเทิง-สันทนาการในชีวิตประจำวัน จนเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นพวกเขาก็ใช้มันเป็นที่พูดคุยกับเพื่อนๆ จนนำไปสู่การเรียกร้องในที่สุด

2 ไม่เปลี่ยนแปลง คือ

หนึ่ง สถานศึกษา ที่ยังมีลักษณะอำนาจนิยม ที่แม้ว่าเด็กในรุ่นก่อนๆ ต่างก็เผชิญกับการถูกละเมิดกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ทว่าคนรุ่นก่อน ไม่ได้ตระหนักพอในการเรียกร้อง เพราะพ่อแม่หรือครอบครัวยังมีความเป็นอนุรักษนิยมเช่นกัน ประกอบกับเด็กรุ่นปัจจุบันมีพื้นที่ที่เป็นเสรีนิยมเพิ่มขึ้นในขณะที่สถานศึกษาไม่ได้เปลี่ยนตาม แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยที่บอกว่าพยายามปรับตัว ก็ยังไม่สามารถรองรับกระแสการตื่นตัวของพวกเขาได้

สอง ตลอดช่วงเวลา 6 ปี ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารคสช. พบว่า ในช่วงแรก พ่อแม่หรือแม้แต่ตัวเด็กเองรู้สึกมีความหวังกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เมื่อ 6 ปีผ่านไป กลับรู้สึกว่านอกจากชีวิตจะไม่ได้ดีขึ้นแล้ว พ่อแม่หลายครอบครัวยังได้รับผลกระทบด้วย และยังมองไม่เห็นการปฏิรูปประเทศตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้เมื่อครั้งรัฐประหารยึดอำนาจ

1 ความฝัน คือ

คนรุ่นใหม่มองว่าคนรุ่นตนเองคือผู้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ (agent) เนื่องจากวิถีชีวิตของพวกเขาแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง พวกเขามีความเชื่อว่าสามารถปกป้องอนาคตของพวกเขาเองได้

กนกรัตน์ทิ้งท้ายไว้ว่า เมื่อผู้ใหญ่รู้แบบนี้แล้ว จะทำอย่างไร เพราะอะไรที่ผู้ใหญ่เคยเชื่อว่าทำได้ หรือจะทำให้เขาเป็นอนาคตของชาติแบบที่เราอยากให้เป็น เขาไม่เป็นแบบนั้น แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป

โดยได้ฝากข้อคิดไว้ว่า มีวิธีการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ปะทุอย่างหยาบอยู่สองแนวทาง อย่างแรกคือ รักษาสภาพเดิมของสังคม เช่น การดำเนินคดีกับเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหว การปราบปรามหรือปิดปาก เพื่อกดทับข้อเรียกร้องของพวกเขาต่อไป

และอย่างหลังคือเผชิญหน้ากับสถานการณ์อย่างมีพลวัต หมายถึงยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และพยายามหาทางออกอย่างเป็นอารยะ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า