โครงการปลูกป่าของทรัมป์ ทำไมต้นไม้พันล้านต้นจึงส่งผลเสียต่อโลก

ถึงแม้เวทีประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ครั้งที่ 50 ที่เมืองดาวอส (Davos) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนมกราคมจะผ่านพ้นไปสักพัก แต่โครงการหรือนโยบายต่างๆ ของผู้นำโลกที่กล่าวไว้ในเวทีนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยวาระหลักของการประชุมเศรษฐกิจครั้งนี้คือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และหนึ่งในผู้นำโลกที่ได้มาแสดงทัศนคติและแผนการพัฒนาด้านต่างๆ ก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ทว่าการกล่าวสุนทรพจน์ 30 นาทีของทรัมป์นั้น เขากลับเชิญชวนให้นักลงทุนทั่วโลกเข้ามาลงทุนด้านกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐ มากกว่าจะพูดถึงประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระหลักของการประชุม

เนื้อหาในการพูดถึงนโยบายสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อยของทรัมป์ก็คือ แผนการเข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้พันล้านต้น ที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้คนทั่วโลกร่วมกันปลูกต้นไม้จำนวนมาก โดยมีจุดประสงค์หลักคือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และในงานแถลงนโยบายประจำปีของสหรัฐในคืนวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทรัมป์ก็ได้ย้ำเป็นรอบที่สองว่า นโยบายสิ่งแวดล้อมของเขาคือการเข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้พันล้านต้นนี้ที่เคยได้กล่าวไว้ที่ดาวอส

“เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม อเมริกาจะเข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้หนึ่งพันล้านต้น เพื่อนำพาภาครัฐและเอกชนให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ในอเมริกาและทั่วโลก” ทรัมป์กล่าวในงานแถลงนโยบายประจำปีของสหรัฐ คืนวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ หลังการกล่าวถึงเรื่องอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ทรัมป์กลายเป็นผู้นำโลกที่ถูกชาวเน็ตหยิบยกมาแซวมากที่สุดคนหนึ่ง เพราะหลายครั้ง ทรัมป์มักให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ เช่น พฤศจิกายน ปี 2018 ทรัมป์แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียว่า

“คุณต้องดูแลพื้นที่” ทรัมป์กล่าว “คุณก็รู้ว่าพื้นที่ป่านั้นสำคัญมาก ผมเคยคุยกับประธานาธิบดีฟินแลนด์ เขาเรียกประเทศตัวเองว่าเป็นประเทศแห่งป่า และพวกเขาก็ใช้เวลามากมายในการกวาดใบไม้และทำความสะอาดป่า และพวกเขาก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร” ทรัมป์กล่าว

ด้วยท่าทีลักษณะนี้ ทำให้ทุกครั้งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการให้ความสนใจและตั้งคำถามกับนโยบายและความคิดเห็นของทรัมป์ในฐานะผู้นำโลกได้

โดยเฉพาะแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมครั้งล่าสุด ‘การเข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้พันล้านต้น’

การตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของต้นไม้นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ดี ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงทำให้โครงการปลูกต้นไม้ต่างๆ สามารถดึงดูดทั้งเม็ดเงินและแรงคนสนับสนุนจำนวนมหาศาลได้

ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนตุลาคม 2018 ยูทูเบอร์อย่าง จิมมี โดนัลด์สัน (Jimmy Donaldson) เจ้าของช่องยูทูบ MrBeast ก็ได้เปิดตัวแคมเปญที่จะให้คนร่วมบริจาคเงินจำนวนกว่า 20 ล้านดอลลาร์ เพื่อปลูกต้นไม้จำนวน 20 ล้านต้น นอกจากนี้ยังมีมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อร่วมปลูกต้นไม้ รวมถึงเปลี่ยนชื่อทวิตเตอร์ส่วนตัวชั่วคราวเป็น ‘Treelon’ หรือจะเป็นที่เอธิโอเปียที่ทำบันทึกสถิติโลกว่าสามารถ ‘ปลูกต้นไม้ได้มากที่สุดใน 1 วัน’ สถิติอยู่ที่ 23 ล้านคน ปลูกต้นไม้ 350 ล้านต้นในวันเดียว

แต่รายงานที่เผยแพร่ใน A Journal of the Society for Conservation Biology เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2020 พบว่า ต้นไม้นั้นบทบาทไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงของโลกเราในขณะนี้ รวมถึงหลังจากที่โครงการปลูกต้นไม้พันล้านต้นนี้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากต่างออกมาแนะนำไปในแนวทางเดียวกันว่า การปลูกต้นไม้พันล้านต้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าผลดี พร้อมแนะนำว่า ยังมีวิธีแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เหมาะสมกับการสนับสนุนไปทั่วโลกมากกว่านี้ให้เลือกอีกมากมาย

เพราะจริงๆ แล้ว การที่เราคิดว่าต้นไม้จะกลายเป็นตัวเอกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น เป็นสิ่งที่ยังต้องพิจารณาในหลายประเด็น

ความต้องการพื้นที่ปลูกต้นไม้ที่มากเท่าขนาดของพื้นที่ 10 เท่าของประเทศไทย

ปัญหาหนึ่งของการปลูกต้นไม้จำนวนมหาศาลคือเรื่องของพื้นที่ เพราะอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินที่เหมาะสมในการปลูกมากขนาดนั้น และถ้าต้องปรับและเปลี่ยนพื้นที่ต่างๆ เพื่อเพาะปลูก ก็ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

สำนักข่าว Independent ประมาณการไว้ว่า ในการปลูกต้นไม้ประมาณ 2,000 ต้น ต้องใช้พื้นที่ราว 6.25 ไร่ ดังนั้น การปลูกต้นไม้พันล้านต้นทั่วโลกเราจะต้องการพื้นที่ประมาณ 3,000 ล้านไร่ หรือคิดเป็นพื้นที่ 10 เท่าของประเทศไทย

และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริค ( Eidgenössische Technische Hochschule Zürich: ETH Zürich) ในปีล่าสุดพบว่า พื้นที่โดยประมาณของที่ดินทั่วโลกที่สามารถรองรับต้นไม้อย่างต่อเนื่องได้และยังไม่ได้ถูกใช้โดยมนุษย์ มีเหลืออยู่เพียงประมาณ 5,625 ล้านไร่ เท่านั้น

การปลูกป่าทดแทนคือการทำลายความหลากหลายของระบบนิเวศ?

จากการศึกษาวิจัยพบว่า พื้นที่ว่างเปล่าที่ปกคลุมด้วยหญ้านั้นช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนราว 30 เปอร์เซ็นต์ เอาไว้ในดิน ซึ่งพื้นที่ทุ่งหญ้าเหล่านี้เมื่อตีเป็นสัดส่วนแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นผิวโลกทั้งหมด แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะพื้นที่ว่างเปล่าเหล่านี้เป็นบ้านของสัตว์ป่าจำพวกสิงโต ช้าง และสัตว์อื่นๆ

ดังนั้น การทำโครงการปลูกต้นไม้ในบริเวณที่เป็นทุ่งหญ้า จะส่งผลให้ต้นไม้และสัตว์ต่างๆ ที่มีอยู่เดิมถูกรุกราน นอกจากนี้แล้ว ระบบนิเวศที่เป็นทุ่งหญ้าเหล่านี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของผู้คนและสัตว์ต่างๆ อย่างจำกัด การที่มีต้นไม้มากขึ้น ทำให้ความต้องการน้ำในดินเพิ่มขึ้นสูงด้วย เพราะต้นไม้ทุกต้นต่างก็ต้องการน้ำมาหล่อเลี้ยงรากและลำต้นให้เติบโตต่อไป แต่สำหรับในพื้นที่อย่างทุ่งหญ้าที่มีน้ำจำนวนน้อยอยู่แล้ว ย่อมเกิดการแย่งน้ำกัน จนสุดท้าย นอกจากจะไม่ได้เพิ่มจำนวนต้นไม้ในทุ่งหญ้า ยังทำให้ต้นไม้เดิมล้มตายเพราะขาดน้ำอีกด้วย

ไม่ใช่แค่เฉพาะระบบนิเวศแบบทุ่งหญ้าเท่านั้นที่ได้รับความเสียหายจากการปลูกต้นไม้ทดแทน  แต่ระบบนิเวศในรูปแบบอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นทุนดรา ป่าดิบชื้น ป่าผลัดใบ ป่าสน หรือระบบนิเวศอื่นๆ เองก็เช่นกัน เพราะต้นไม้ที่นำไปปลูกใหม่ส่วนมากไม่ใช่พืชท้องถิ่น จึงกลายเป็น ‘สิ่งแปลกปลอม’ สำหรับพื้นที่นั้นๆ ทำให้ต้นไม้เดิมในระบบนิเวศนั้นถูกรุกรานไปด้วย ส่งผลให้พื้นที่ป่าเหล่านั้นเปลี่ยนสภาพจาก ‘ป่า’ (forest)  เป็น ‘ป่าที่ถูกรุกราน’ (Forest Invasive Alien Species: FIAs) จากแมลงหรือจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ติดมากับต้นไม้ต่างถิ่นที่มนุษย์นำมาปลูกใหม่

อันที่จริงแล้วยังมีหลักการด้านการปลูกป่าทดแทนอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ แต่เหตุผลหลักๆ เพียงเท่านี้ก็พอจะทำให้เราเห็นภาพคร่าวๆ แล้วว่า โครงการปลูกต้นไม้จำนวนมากในโลกไม่สามารถทำได้ง่ายขนาดนั้น

ดังนั้น จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่าต้นไม้เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยมวิธีหนึ่ง สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้แน่นอน แต่จากเหตุผลหลายประการข้างต้น ก็ทำให้เห็นว่า เราไม่สามารถวางต้นไม้ไว้ให้รับบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เพราะการปลูกต้นไม้หลายพันล้านต้นนั้น เป็นหนึ่งในหลายพันวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญเพียงข้อเดียว เพราะยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถทำได้เพื่อหยุดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นในโลกเราขณะนี้

หลายครั้งแคมเปญปลูกต้นไม้กลายเป็นแคมเปญที่มีขึ้นเพื่อความสบายใจจากการที่ผู้คนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศอย่างหนักหน่วง และเมื่อถึงช่วงที่การปลูกต้นไม้อาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาแรกที่หยิบมาใช้ และไม่ใช่วิธีง่ายๆ ที่จะทำได้อย่างสมจริง เราคงได้แต่หวังว่า อาจมีวิธีอื่นๆ ที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ได้ผลดีมากกว่าส่งผลเสีย ให้ผู้นำโลกอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้หยิบไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและออกแบบนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าเดิม อย่างที่ โอลิเวอร์ รัคแฮม (Oliver Rackham) นักวิชาการด้านระบบนิเวศวิทยาคนสำคัญของอเมริกา เคยกล่าวไว้ว่า “การปลูกต้นไม้ไม่ได้มีความหมายเหมือนการอนุรักษ์ แต่เป็นเหมือนการยอมรับว่าการอนุรักษ์นั้นล้มเหลว”

อ้างอิงข้อมูลจาก:

review.thaiware.com

independent.co.uk

independent.co.uk

technologyreview.com

Author

หทัยธร หลอดแก้ว
เด็กปิ่นเกล้าที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมง เดินทางข้ามฟากมาทำงานที่ลาดพร้าว และใช้อีก 4 ชั่วโมง เพื่อเล่นกับแมวในออฟฟิศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า