ชีวการเมือง: เมื่อโรคระบาดเผยโฉมหน้าอำนาจรัฐไทย

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ปลายเดือนมีนาคม 2564 นับเป็นการระบาดในวงกว้างที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ ท่ามกลางความกังวลเมื่อรัฐประกาศตัวเลขคนติดเชื้อและคนตายเพิ่มขึ้นทุกวัน ความหวังเดียวที่พอประคับประคองคนไทยให้ใช้ชีวิตต่อไปได้คือ ‘วัคซีน’ ด้วยเชื่อว่าวัคซีนจะป้องกันไม่ให้เชื้อลงปอดจนป่วยหนัก ช่วยฟื้นคืนเศรษฐกิจและชีวิตปกติให้กลับมาดังเดิม

อย่างไรก็ตาม การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไทยกลับเป็นไปอย่างล่าช้า วัคซีนตัวหลัก (AstraZeneca) ผลิตและส่งมอบไม่ทัน วัคซีนตัวช่วย (Sinovac) ก็มีประสิทธิภาพไม่น่าเชื่อถือ และพบว่าก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง เช่น อัมพาตหรือเสียชีวิต กระทั่งถูกสั่งระงับใช้งานในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ แม้ข่าวด้านลบจะออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าสั่งวัคซีนเจ้าปัญหาเข้ามาอีกจำนวนมาก ในขณะเดียวกันกลับปฏิเสธไม่เข้าร่วมโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก (COVAX) ซึ่งเป็นช่องทางเข้าถึงวัคซีนคุณภาพในราคาต่ำ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเข้าร่วมกันหมด ประชาชนจำนวนมากจึงเริ่มวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจัดหาวัคซีนของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางความอลหม่านของการจัดหาวัคซีน งานศึกษาชื่อ ‘ชีวการเมืองกับขบวนการสร้างชาตินิยมแบบไทยในภาวะโรคระบาดโควิด-19: ศึกษานโยบายวัคซีนของรัฐไทย’ ของ รศ.ดร.สุมาลี มหณรงค์ชัย ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายว่า โรคระบาดทำให้รัฐมีอำนาจในการควบคุมชีวิตพลเมืองมากขึ้น โดยข้ออ้างในการปกป้องชีวิตมนุษย์จากภัยคุกคามอย่างเชื้อโรค แต่การรวมศูนย์อำนาจและการตัดสินใจเช่นนี้กลับไม่อาจถูกตรวจสอบได้โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ในทางกลับกัน ผู้ที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบหรือกระด้างกระเดื่องต่อรัฐกลับถูกดำเนินคดีและแปะป้ายให้เป็นพวกชังชาติ ความคิดเช่นนี้ได้รับการหนุนโดยประชาชนบางส่วนที่ถูกโน้มน้าวให้หวาดผวาเชื้อโรค และยอมจำนนต่อมาตรการทุกอย่างที่รัฐป้อนให้ในนามของความหวังดี โดยไม่คำนึงว่าแต่ละมาตรการที่ออกมาจะมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ แม้ภายหลังจะปรากฏข้อมูลให้เห็นว่า นโยบายจัดหาวัคซีนของรัฐบาลเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่หรือสถาบันใดๆ จนทำให้ประเทศไทยได้วัคซีนที่ไม่มีคุณภาพและล่าช้า แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยพร้อมใจเชื่อคำของรัฐบาลที่ว่า “ฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

สุมาลียังได้อธิบายให้เห็นว่า การเมืองที่มีเป้าหมายกระทำต่อชีวิตมนุษย์มีกระบวนการอย่างไร มีที่มาอย่างไร และอันตรายเพียงใด โดยเฉพาะในยามเกิดโรคระบาด ซึ่งรัฐรวมศูนย์อำนาจในการตัดสินใจเอาไว้เอง โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องประชาชนจากภัยคุกคาม ผ่านแนวคิด ‘ชีวอำนาจ’ (biopower) และ ‘ชีวการเมือง’ (biopolitics)

รู้จักชีวอำนาจ ชีวการเมือง

สุมาลีอธิบายว่า แนวคิดชีวอำนาจและชีวการเมือง ซึ่งเสนอโดย มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) มักถูกนำมาใช้แทนกันบ่อยๆ แต่อันที่จริงทั้งสองคำมีความแตกต่างกันเล็กน้อย

ชีวอำนาจที่ฟูโกต์กล่าวถึง เป็นอำนาจที่ทำงานใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) การสร้างวินัย ซึ่งมีเป้าหมายคือร่างกายมนุษย์ อำนาจวินัยมองร่างกายเปรียบเสมือนเครื่องจักรชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถปรับแต่งให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้ และ 2) การควบคุมกำกับ ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่มนุษยชาติในฐานะเผ่าพันธุ์หนึ่งของสิ่งมีชีวิต กล่าวคือ อำนาจอย่างหลังมุ่งเป้าทำงานกับประชากรมนุษย์ ซึ่งมีกระบวนการทางชีววิทยา ตั้งแต่สืบพันธุ์ เกิด เจ็บป่วย (สุขภาพ) และตาย 

ฟูโกต์พยายามเสนอว่า ชีวอำนาจต่างจากอำนาจของผู้ปกครองดินแดนในยุคโบราณ (หรือที่เรียกว่า องค์อธิปัตย์) ซึ่งเป็นเจ้าชีวิต มีอำนาจล้นฟ้า มีประกาศิตสั่งลงโทษผู้อยู่ใต้ปกครองให้ถึงแก่ความตายได้ อำนาจอธิปัตย์สมัยโบราณจึงเป็นอำนาจแบบทำให้ตาย (take life) หรือยอมให้อยู่ (let live) แต่การทำงานของชีวอำนาจต่างออกไป เพราะเป้าหมายคือ ทำให้อยู่ (make life) หรือไม่ให้ตาย ในบางกรณีอาจยอมให้ตายได้ (let die) หากพิจารณาแล้วว่า การสละชีวิตนั้นๆ สามารถทำให้ประชากรโดยรวมมีชีวิตที่ดีขึ้น

ชีวอำนาจไม่ตัดสินประหารใครเพื่อแสดงว่าตนเป็นเจ้า แต่จะประคบประหงม ฟูมฟัก รักษาชีวิตของผู้อยู่ใต้อำนาจ เนื่องจากมองว่าหากมนุษย์มีชีวิตที่ดีจะทำประโยชน์ได้มากกว่า ชีวอำนาจใช้เครื่องมือและเทคนิคหลากหลายเพื่อวัตถุประสงค์นี้ อาทิ ความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ระเบียบวินัย ความมั่นคงในชีวิต ฯลฯ

เมื่อร่างกายของมนุษย์เป็นทุนทางเศรษฐกิจคล้ายเครื่องจักรที่สามารถปรับแต่งให้พัฒนาได้ ร่างกายพลเมืองจึงเป็นพื้นที่ที่ต้องมีการจัดระเบียบ เพื่อให้แข็งแรงและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ร่างกายมนุษย์จึงต้องถูกทำให้อยู่ใต้บงการ 

ไม่เพียงแค่ร่างกายเท่านั้น แต่กระบวนการชีวิตทั้งหมดของมนุษย์ยังต้องถูกกำกับควบคุมด้วย เพื่อให้สามารถรีดประโยชน์จากกระบวนการชีวิตได้อย่างสูงสุด อาทิ การควบคุมการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การให้ความสำคัญกับอนามัยของแม่และเด็ก เพื่อให้ ‘ผลิต’ ชีวิตใหม่ที่สุขภาพดี การควบคุมโรคระบาดต่างๆ ไม่ให้ประชากรอ่อนแอ ตลอดจนจัดการกับศพเมื่อเสียชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะ เป็นต้น

ขณะที่ความหมายของชีวการเมือง คือภาคปฏิบัติของชีวอำนาจ โดยเป็นการทำให้อำนาจที่มีเป้าหมายดูแลชีวิตมนุษย์ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สุมาลีชี้ว่า เมื่อการจัดการชีวิตของมนุษย์ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณมูลค่าทางเศรษฐกิจ การออกนโยบายใดๆ เพื่อบริหารจัดการชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน จึงถือเป็นชีวการเมืองไปด้วย

ชีวอำนาจจึงเป็นการกำกับควบคุมชีวิตอย่างแยบยล (โดยอาศัยกลไกของชีวการเมือง) ผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจเช่นนี้จะไม่รู้สึกว่าชีวิตของตนถูกกำกับตั้งแต่เกิดจนตาย ตราบใดก็ตามที่พวกเขายังได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาอาจยังเห็นดีเห็นงามกับชีวอำนาจ ซึ่งคอยกำกับดูแลพวกเขาอยู่

ด้วยเหตุนี้ ชีวิตและร่างกายมนุษย์จึงมีความสำคัญในทางการเมืองขึ้นมา เพราะการปกป้องดูแลชีวิตได้กลายเป็นทั้งพันธกิจและเครื่องค้ำจุนความชอบธรรมแก่ผู้มีอำนาจ

ชีวการเมืองกับโรคระบาด

ปลายปี 2562 (ค.ศ. 2019) กองทัพไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้เปิดสงครามกับมนุษยชาติ ภายใต้สถานการณ์สู้รบเช่นนี้ รัฐไทยเรียกร้องให้ประชาชนต้องร่วมมือกับรัฐ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ มาตรการ และบรรทัดฐานอย่างเคร่งครัด เพื่อขจัดภัยคุกคามอย่างเชื้อโรค พร้อมทั้งตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในเดือนมีนาคม 2563 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ เพื่อรวมศูนย์อำนาจในการตัดสินใจ บัญชาการ การกระจายข้อมูลข่าวสาร และการประกาศมาตรการควบคุมโรค

ศบค. เป็นกระบอกเสียงของรัฐในการรณรงค์ให้ประชาชนไทยปฏิบัติตามวิถีชีวิตแบบปกติใหม่ (new normal) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ ใช้แอลกอฮอล์และเจลล้างมือ หลีกเลี่ยงการรวมตัว เว้นระยะห่างทางสังคม ทำงานและเรียนออนไลน์ และทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของเชื้อ สุมาลีเห็นว่า มาตรการเหล่านี้คือการทำงานของชีวอำนาจที่สร้าง ‘ความปกติ’ ขึ้นในสังคม (normalizing society) เพื่อให้สามารถควบคุมชีวิตมนุษย์ได้โดยง่าย

แต่ความปกติที่เพิ่งสร้างก็มีด้านไม่พึงปรารถนาเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อชีวอำนาจนั้นถูกใช้โดยรัฐไทย เพราะเมื่อมนุษย์เผชิญหน้าภัยคุกคามที่มองไม่เห็นและรับมือไม่เป็น พวกเขาจะยอมรับและฝากชีวิตไว้กับอำนาจที่อ้างว่าจะดูแลคุ้มครองให้ปลอดภัย (และปลอดเชื้อในกรณีนี้) กระทั่งยินดีให้อำนาจนั้นกำกับควบคุมชีวิตประจำวันของตน โดยปราศจากการตั้งคำถามใดๆ

ในยามที่คนกำลังตระหนกจากโรคระบาด ความรู้ทางการแพทย์ที่แม้เป็นเพียงข้อสมมุติฐานที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์กลับกลายเป็น ‘ความจริง’ ขึ้นมาได้ ไม่ว่าแพทย์จะพูดอะไร คนส่วนใหญ่ที่มีความหวาดกลัวก็พร้อมจะเชื่อเสมอ ตัวอย่างเช่น เมื่อจัดหาวัคซีนตัวหลักไม่ทัน และต้องรณรงค์ให้คนยอมฉีดวัคซีนรองซึ่งไม่มีประสิทธิภาพนัก รัฐบาลจึงฉวยใช้ความรู้จากแพทย์บางคนมาเกลี้ยกล่อมให้คนไทยยินยอมฉีดวัคซีนเท่าที่จัดหามาได้ พร้อมด้วยสูตรไขว้ต่างๆ ภายใต้คำกล่าวอ้างว่า รัฐได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดแก่พลเมืองแล้ว

นี่หมายความว่า รัฐไทยจัดหาวัคซีนที่ดีที่สุดแก่คนไทยแล้วใช่หรือไม่?

มหากาพย์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไทย

แน่นอนว่าประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยยังไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐจัดหามา จึงออกมาตั้งคำถามถึงกระบวนการจัดหาวัคซีนที่ทั้งล่าช้า ไม่โปร่งใส และไร้ประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ทำไมรัฐบาลไทยไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX การยอมให้บริษัทที่ไม่มีประสบการณ์ผลิตวัคซีนได้รับสัมปทานไป เอื้อผลประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจรายใดหรือไม่ มีใครหรือกลุ่มใดได้รับผลประโยชน์จากการสั่งซื้อวัคซีนไร้คุณภาพซ้ำๆ จำนวนมากหรือไม่ เป็นต้น จนทำให้อย่างน้อย 11 คน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและโดนหน่วยปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ปั่นกระแสโจมตี

สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ในขณะนั้นวัคซีนทุกตัวอยู่ระหว่างการทดลองและพัฒนา ยังไม่มีเจ้าไหนยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ อีกทั้งการจองวัคซีนผ่านโครงการ COVAX อาจเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนล่าช้าและเลือกไม่ได้ รัฐบาลจึงไม่ต้องการวางมัดจำล่วงหน้าเพื่อซื้อวัคซีนที่ยังไม่ทราบถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมองว่าเงินมัดจำอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูงและต้องซื้อขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ การทำสัญญาเพื่อเข้าร่วม COVAX จึงยุ่งยากและอาจไม่คุ้มทุน 

เหตุผลเรื่องความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยยังรวมถึงวัคซีนที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยี mRNA เช่น วัคซีนยี่ห้อ Pfizer และ Moderna ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยใช้กับมนุษย์มาก่อน ทางการไทยยังอ้างว่า การจัดเก็บและจัดส่งวัคซีนประเภทนี้ยุ่งยาก ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก (ติดลบ 70 องศาเซลเซียส) เนื่องจากโมเลกุลของ mRNA ถูกทำลายได้ง่าย

แต่เหตุผลที่อ้างมาแทบทั้งหมดนี้ ก็เกิดขึ้นกับวัคซีนหลักที่รัฐจัดหาอย่าง AstraZeneca และ Sinovac ด้วยไม่ใช่หรือ?

สุมาลีชี้ว่า อาจเป็นเพราะในขณะนั้นรัฐคุมสถานการณ์การระบาดในระลอกแรกๆ ได้ดี และประชาชนต่างพร้อมยินยอมปฏิบัติตามวิถีชีวิตใหม่ที่ ศบค. โน้มน้าวในสื่อหลักทุกวัน รัฐบาลไทยจึงไม่ร่วมโครงการ COVAX แต่ต้องการจัดหาวัคซีนที่ผู้ผลิตต่างประเทศยินดีถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแก่บริษัทในไทย 

ต่อมา บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca ของสหราชอาณาจักร ซึ่งใช้เทคโนโลยี viral vector ลงนามกันในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายใต้งบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส สำหรับประชากรไทย 13 ล้านคน 

อย่างไรก็ดี สงครามกับเชื้อโรคได้ปะทุขึ้นอีกครั้งเป็นระลอกที่ 3 ในเดือนเมษายน 2564 เริ่มจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ จนเชื้อแพร่กระจายไปทั่วหลังคนเดินทางกลับต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ ขณะที่วัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์กลับส่งมอบไม่ทันกำหนด แม้รัฐจะอนุมัติให้นำเข้า Sinovac จากจีนมาเป็นกรณีเฉพาะ เพื่อใช้เสริมเกราะป้องกันของคนไทย และลบคำครหาที่ว่า ‘แทงม้าตัวเดียว’ แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนสำรองตัวนี้กลับถูกวิจารณ์ในหลายแห่งทั่วโลก จนบางประเทศไม่อนุมัติให้คนที่ฉีดวัคซีนชนิดนี้เดินทางเข้าประเทศ แม้กระทั่งจีนเองก็ไม่ได้ใช้ Sinovac ฉีดให้พลเมืองของตนเป็นหลัก หากแต่เน้นผลิตเพื่อส่งออก

การจัดซื้อ Sinovac ยังมีปมน่าสงสัยหลายจุด กล่าวคือ เป็นการจัดซื้อโดยตรง ไม่ผ่านตัวกลาง แต่ราคาสูงกว่าราคาตลาดที่ประเทศอื่นๆ ซื้อ จนเกิดข้อครหาว่ามี ‘เงินทอน’ จากการจัดซื้อ Sinovac ถึง 7 ดอลลาร์ต่อโดส (ประมาณ 200 บาท) มีการปกปิดข้อมูลสำคัญในสัญญาจัดซื้อ อาทิ ราคา เงื่อนไขทางการค้า ทั้งที่ควรต้องเปิดเผยเนื่องจากเงินเหล่านั้นมาจากภาษีประชาชน อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยยังรับรองให้ใช้วัคซีนตัวนี้ในกรณีฉุกเฉินก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศรับรอง ทั้งๆ ที่รายงานทางการแพทย์จำนวนมากบ่งชี้ว่า Sinovac มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่ำ (50.4 เปอร์เซ็นต์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้กับผู้สูงวัย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยก็ยังเดินหน้าสั่งซื้อ Sinovac เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่า “วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่มีให้ฉีดเร็วที่สุด”

ในขณะเดียวกัน วัคซีนทางเลือกตัวอื่นๆ นอกจาก 2 ยี่ห้อนี้ ไม่อาจนำเข้ามาได้โดยง่าย เพราะข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่เอื้อให้เอกชนดำเนินการได้เองโดยตรง หากต้องให้หน่วยงานรัฐ เช่น องค์การเภสัชกรรม เป็นตัวแทนในการซื้อขาย ตัวอย่างเช่น วัคซีน Moderna ซึ่งกระบวนการจัดซื้อถูกชะลอไว้หลายเดือน 

“ฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” 

ครั้นเมื่อ AstraZeneca ไม่เพียงพอ และไม่มีวัคซีนตัวอื่นๆ ในมือ แพทย์บางคนจึงเสนอการฉีดวัคซีนแบบสูตรไขว้ โดยฉีดวัคซีนเข็มแรกด้วย Sinovac แล้วตามด้วย AstraZeneca เข็มสอง ประชาชนไทยจึงคล้ายถูกบีบบังคับให้ต้องฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไรก็ตามที่รัฐจัดหามาให้เพื่อ ‘กันตาย’ และการเป็นพลเมืองที่ดีต้องไป “ฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แม้กระนั้นการระบาดระลอกที่ 3 ก็พรากชีวิตคนไทยไปถึง 4,763 ราย

สุมาลีเสนอว่า เมื่อการฉีดวัคซีนเพื่อชาติกลายเป็นมาตรฐานของวิถีชีวิตแบบปกติใหม่ไปแล้ว ใครก็ตามที่ละเมิดบรรทัดฐานนี้โดยต่อต้านและวิจารณ์วัคซีนที่มาจากความห่วงใยของรัฐ จะถูกมองว่าผิดปกติจากสังคม หรือเป็นพวก ‘ชังชาติ’ ซึ่งอาจรับเงินจากตะวันตกมาเพื่อด้อยค่าวัคซีน ยิ่งเมื่อคนกลุ่มนี้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อวัคซีนอย่างโปร่งใส ก็ยิ่งถูกมาว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมและอาจเป็นตัวแพร่เชื้อสู่คนไทยคนอื่นที่ยอมเชื่อฟังรัฐ

ชีวการเมืองจึงถึงคราวบรรจบกับกระบวนการสร้างชาตินิยม ทำให้การลุกขึ้นมาตรวจสอบงบประมาณและเงื่อนไขในการจัดซื้อวัคซีนกลายเป็นความผิด เพราะไม่เชื่อมั่นว่ารัฐได้จัดหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตประชาชน 

ในทัศนะของสุมาลี รัฐฉวยใช้ภัยคุกคามจากเชื้อโรค เพื่อเพิ่มอำนาจในการกำกับควบคุมชีวิตของผู้คนอย่างล้วงลึกไปถึงวัตรปฏิบัติประจำวัน ออกกฎหมายฉุกเฉินที่อาจเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม ปรุงแต่ง ‘ความจริง’ ผ่านสื่อหลักและหน่วยปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร และเสริมสร้างชาตินิยมให้แข็งแกร่งขึ้น 

ทั้งหมดนี้เมื่อมองผ่านแนวคิดชีวอำนาจและชีวการเมืองแล้ว จะเห็นได้ว่ากระบวนการจัดหาวัคซีนที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน เป็นเหมือนการเล่นกับความเป็นความตายของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องการเมืองอย่างแยกไม่ออก เพราะเป็นการเมืองที่แนบเนียน กระทั่งว่าผู้คนอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าชีวิตของตนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่กำลังทำเพื่อชาติ ทว่าชาติที่ไม่คำนึงถึงการตัดสินใจของเหล่าสมาชิกอาจจะน่ากลัวยิ่งกว่าโรคระบาดที่กัดกินชีวิตของมนุษย์ก็เป็นได้ 

ที่มา

สุมาลี มหณรงค์ชัย. ชีวการเมืองกับขบวนการสร้างชาตินิยมแบบไทยในภาวะโรคระบาดโควิด-19: ศึกษานโยบายวัคซีนของรัฐไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

สนับสนุนโดย

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า