ก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนด้ามขวานมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม จุดเด่นที่ผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ภาษา อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจและยอมรับในวัฒนธรรมของกันและกัน แต่ภายหลังเสียงระเบิดและเสียงร้องไห้ที่ดังระงมขึ้น ราวกับว่าความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันที่เคยเหนียวแน่นและกลมเกลียวได้หายลับตาไปในทันที
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่แยกผู้คนออกจากกัน หวาดกลัวซึ่งกันและกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจไม่ได้ถูกสร้างและคืนกลับมาใหม่ภายในวันเดียว แต่เราจะต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘การปฏิสัมพันธ์’ ขึ้นมา นี่คือคำพูดเรียบๆ ของ อันธิฌา แสงชัย อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แม้จะเป็นคำพูดเรียบๆ แต่ดวงตาของเธอกลับเต็มไปด้วยประกายแห่งความหวัง
เพราะ ‘การปฏิสัมพันธ์’ คือความพยายามที่เป็นไปได้หนึ่งเดียวที่จะสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม ที่เต็มไปด้วยความคิดความเชื่อ ภาษา เพศ พันธุ์ ให้กลับมางอกงามดังเดิม แต่วิธีการของ อันธิฌา กลับมี ‘สไตล์’ ที่ยากจะหาใครเหมือน
เธอจะทำให้กิจกรรมยามว่างกลายเป็นพื้นที่ในการรวบรวมผู้คน ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ที่ถูกตัดขาดไปจะถูกฟื้นฟูขึ้น แต่ยังหมายรวมถึงกิจกรรมและอุดมการณ์การเคารพซึ่งกันระหว่างเพศที่หลากหลาย นี่คือที่มาของฝันที่เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ของอันธิฌา แสงชัย และ บูคู เอฟซี ทีมฟุตบอลที่หลากหลายและรุ่มรวยพันธกิจแห่งปัตตานี คือคำตอบที่มีสไตล์ไม่เหมือนใครอย่างแน่นอน
คนในสามจังหวัดอยู่กันอย่างไร ในห้วงเวลาที่มีความไม่สงบเกิดขึ้น
ที่นี่มีคนหลากหลาย แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเป็นคนมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม แต่จริงๆ แล้วที่นี่ก็มีทั้งอิสลาม ไทยพุทธ ไทยเชื้อสายจีน ผู้คนมีความหลากหลายไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ เลย แต่ความน่าสนใจก็คือว่า ความหลากหลายของวัฒนธรรมที่นี่ค่อนข้างที่จะมีพลวัต มีความเคลื่อนไหวและความแตกต่างกันมากจริงๆ ขณะที่ในสังคมอื่น ผู้คนอาจจะมีจุดร่วมกันในบางอย่าง เช่น มีความเป็นสังคมที่อยู่รวมกัน สังคมชนบทก็ใกล้กัน ความเป็นเมืองก็ใกล้กัน มันก็ไม่ค่อยจะเห็นความแตกต่างมากนัก
แต่ในสามจังหวัด ไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะในสังคมเมือง แม้จะมีเพื่อนบ้าน แต่พวกเขาก็แตกต่างกัน ไม่ได้ร่วมกิจกรรมที่ทำให้มีปฏิสัมพันธ์อะไรด้วยกันเลย หรือแม้ว่าเมืองจะมีความทันสมัยมากขึ้น มีร้านกาแฟ มีการพบปะกันตามปกติ แต่ก็ต่างกินต่างอยู่ ยิ่งในกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมเฉพาะลงไป ไม่ได้มีจุดที่มาร่วมกัน หรือว่ากิจกรรมที่อิงกับศาสนา คนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมก็จะเป็นคนเฉพาะกลุ่มนั้นๆ ไป แต่ถ้าเป็นวัฒนธรรมแบบที่ภาครัฐเข้าใจหรือจัดบ่อยๆ อย่างพวกงานเปิดร้านขายของ งานเทศกาล ตลาดน้ำ ซึ่งไม่ได้สร้างการอยู่ร่วมกันในเชิงพหุวัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง เพราะก็แค่การขายของ คนก็มาเดินซื้อของกิน แต่ก็มีความพยายามอยู่เหมือนกันที่จะทำให้คนหันมาสนใจคนในพื้นที่ อย่างเช่นงานกือดาจีนอ เป็นงานของชุมชนคนจีน
แต่เท่าที่ทราบคือ ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น มันมีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ชัดเจนกว่านี้ อย่างเช่น คนรุ่น 60 ขึ้นไป หลายๆ คนยังสามารถพูดได้ 2-3 ภาษา คนจีนสามารถพูดภาษามลายูได้ พูดไทยได้ คนมลายูก็มีเพื่อนชาวพุทธ เพื่อนชาวจีนที่เป็นเด็กๆ ที่เรียนมาด้วยกัน ในโรงเรียนก็ยังมีพื้นที่ของความเป็นพหุวัฒนธรรมมากกว่าตอนนี้
แล้วตอนนี้สภาพสังคมแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน?
ใช่ค่ะ แยกขาดจากกันและมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อกันและกันด้วย มันมีหลายสาเหตุที่ทำให้สังคมต้องแยกขาดจากกัน สาเหตุหลักๆ ก็มีเรื่องของความไม่สงบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นเยอะ จนทำให้มีคนได้รับผลกระทบจำนวนมาก พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็จะมีการมองว่าเป็นเพราะคนกลุ่มหนึ่ง เพราะคนกลุ่มนั้น พอเกิดขึ้นมากๆ มันก็ค่อยๆ แยกตัวออกจากกัน สมมุติว่าผู้ก่อเหตุถูกมองว่าเป็นกลุ่มมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม คนพุทธก็จะมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น เมื่อคนพุทธรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาก็หันไปพึ่งพิงไปอิงกับอำนาจภาครัฐมากขึ้น และต้องการที่จะได้รับการปกป้องจากทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ ด้วยท่าทีแบบนี้ คนมลายูที่มีปัญหากับคนไทยพุทธก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้นไปอีก เพราะคนสองกลุ่มมีความห่างกันและแยกขาดจากกันมากยิ่งขึ้น
ในอดีต ราวๆ 20 กว่าปีที่แล้ว คนพุทธในพื้นที่ชนบทหรือคนพุทธในพื้นที่นอกเมืองจะมีโรงเรียนในตามหมู่บ้าน คนเขายังเรียนด้วยกันและรู้จักกันหมด แต่ในช่วง 15 ปีให้หลัง พอเกิดสถานการณ์ที่คนไทยพุทธส่งลูกเข้าไปเรียนในตัวเมือง มาเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัด ในชุมชนก็เลยมีแต่นักเรียนเพียงกลุ่มเดียว ก็คือ นักเรียนมลายู
สถานการณ์มันยากขึ้นเรื่อยๆ เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีลงไป พวกเขาก็ไม่มีเพื่อนที่หลากหลายเลย รู้จักกันแค่กลุ่มๆ เดียว มีนักศึกษาที่เรารู้จักเป็นคนไทยพุทธ เขาเล่าว่า บ้านเขาอยู่ที่อำเภอสะบ้าย้อย บริเวณที่เขาอยู่มีชาวไทยพุทธ แต่รอบๆ เป็นชาวมุสลิมทั้งหมด เขาบอกว่าเขาโตขึ้นมาโดยที่ไม่รู้จักกับเพื่อนวัยเดียวกันที่อยู่ข้างบ้านเลย พ่อแม่ส่งเขามาเรียนตั้งแต่ยังเด็ก วันหยุดเขาก็เล่นในบ้าน ไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อนที่อยู่ละแวกเดียวกันที่เป็นมุสลิมเลยซักคน
เราเคยทำวิจัยชิ้นเล็กๆ มีแบบสอบถามพร้อมกับใส่คำถามลงไปว่า มีเพื่อนที่เป็นคนต่างศาสนาไหม ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์บอกว่าไม่มีเลย กลุ่มตัวอย่าง 1,000 กว่าคนได้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจว่า คุณไม่มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับคนต่างวัฒนธรรม ทั้งๆ ที่พวกคุณอยู่ในสังคมร่วมกันในพื้นที่ คุณเดินผ่านไปผ่านมา จะเห็นชาวมุสลิม ชาวไทยพุทธ ชาวจีนในพื้นที่ แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน ต่างคนต่างอยู่ เราเคยเห็นภาพหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ เรานั่งกินข้าวต้มอยู่ที่ร้านหน้ามัสยิดกลาง เราเห็นเด็กผู้หญิงที่เป็นไทยพุทธก็ใส่กางเกงขาสั้น ซึ่งพวกเขาสบายใจที่จะแต่งตัวแบบนั้น แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็เดินผ่านหน้ามัสยิดที่มีมุสลิมรุ่นเดียวกันที่ใส่เสื้อผ้าคลุมตัวทั้งหมด ภาพมันเหมือนพวกเขาอยู่คนละโลก ทั้งๆ ที่ก็เป็นพื้นที่เดียวกัน เขาไม่ได้เห็นว่า เอ้อ มันมีความแตกต่างกัน หรือไม่เขาก็อาจจะเห็นนั่นแหละ แต่ไม่รู้จะปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร คนรุ่นก่อนๆ ไม่ได้มีโลกแบบนี้นะ ยิ่งในช่วงอายุ 50-60 กว่าปีขึ้นไป เขาจะบอกเลยทันทีว่าเขามีเพื่อนเป็นชาวไทยพุทธ มีเพื่อนเป็นชาวมุสลิม
ปัญหาของการขาดปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม ส่งผลอย่างไร?
ทำให้ความรู้สึก ‘ไม่ปลอดภัยทางใจ’ คือความไม่ปลอดภัยทางร่างกายมันเกิดอยู่แล้ว เพราะเราไม่สามารถรับประกันได้ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ว่าความปลอดภัยทางใจมันน้อยลงด้วย อย่างเช่น ความรู้สึกว่าคนรอบข้างหรือสภาพแวดล้อมที่แทนที่จะปลอดภัยหรือเป็นมิตรกลับตรงกันข้าม ความรู้สึกหลายอย่างมันน้อยลง
ยิ่งคนรุ่นใหม่ๆ พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะได้อยู่ในชุมชนที่มีปฏิสัมพันธ์กันข้ามวัฒนธรรมมากพอ มากพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยทางใจยิ่งแล้วใหญ่
ทำไมบรรยากาศมันมาถึงจุดนี้ได้?
ช่วงหลังๆ ก็มีกระบวนการ islamization คือการทำให้เป็นอิสลามบริสุทธิ์ เป็นความเคลื่อนไหวของอิสลามที่เป็นสายใหม่ ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากฝั่งตะวันออกกลาง เขาจะเชื่อในหลักการทำให้บริสุทธิ์ แต่อิสลามดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่เป็นอิสลามสายเก่า เป็นอิสลามที่มีประเพณีดั้งเดิม เช่น มะโย่ง มันคือการเล่นดนตรีที่เอาไว้รักษาโรค มีไหว้ครูด้วย ประเพณีแบบนี้ก็ทำให้คนมาอยู่รวมกัน แต่สายบริสุทธิ์เขาก็มองว่ามันไม่ใช่อิสลาม ยิ่งหลังๆ สายนี้ไปเรียนตะวันออกกลางมากขึ้น พอเรียนจบกลับบ้านมา เขาก็เริ่มรู้สึกว่า อยากจะทำให้มุสลิมในพื้นที่มันบริสุทธิ์กว่านี้ สิ่งที่ไม่ใช่อิสลามบริสุทธิ์ต้องผลักออกไป
อีกฝั่งก็มี islamophobia ด้วยเหมือนกัน ซึ่งก็คือความหวาดกลัวคนอิสลาม เป็นสายตาของคนนอก ที่มองเข้าไปแล้วรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้อันตราย ความจริงคือไม่ใช่แค่คนพุทธในพื้นที่ แต่เป็นกระแสโลก เช่นเหตุการณ์ ISIS เหตุกราดยิงที่ Charlie Hebdo หรือกลุ่มโรฮิงญา โรฮิงญาเกิดขึ้นเพราะกลุ่มพระที่เป็นชนชั้นนำในพม่า มองว่า อิสลามโรฮิงญาจะเข้ามายึดครองประเทศ ความคิดแบบ islamophobia มันก็กระจายออกไปอย่างแพร่หลาย
พอมันมีสองความคิดนี้ อันหนึ่งทำให้เป็นอิสลามเข้มข้น อันหนึ่งเกลียดอิสลาม ก็เลยเป็นอย่างที่เห็นในสามจังหวัด เป็นภาพที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับสถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อกว่า 15 ปี ผู้คนไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน บรรยากาศจึงเป็นเช่นนี้
แต่บนโลกก็มีโมเดลการปกครองประเทศที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบ เราพอจะนำมาปรับใช้ได้ไหม เหมือนสหราชอาณาจักรกับสก็อตแลนด์ก็น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นผลดีในการอยู่ร่วมกันและสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้มากขึ้นหรือเปล่า
เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมากนะ แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เราจะเห็นว่า เป็นไปได้ยากมาก ดูง่ายๆ ตอนนี้ผลเลือกตั้งก็ยังไม่ออกเลยนะ การจะไปถึงเรื่องที่ว่า มันยากมาก (ลากเสียงยาวและหัวเราะ) เราอาจจะต้องมีรัฐบาลใจกว้าง นอกจากรัฐบาล ประชาชนต้องมีฐานทางความคิด ความเข้าใจที่มากกว่านี้ ต้องเข้าใจการตัดสินใจของคนอื่นแล้วเคารพการตัดสินใจนั้น ต้องยอมรับในสิ่งที่คนอื่นต้องการจะกำหนดชะตากรรมตัวเอง เท่านั้นไม่พอ ต้องพร้อมยอมรับในการที่คนอื่นจะกำหนดว่าตัวเองเป็นใคร ถ้ารัฐมีนโยบายออกมา แต่คนไทยไม่เอามันก็จบ ประชาชนนี่สำคัญเลย
คนในพื้นที่เองก็มีความซับซ้อนนะ ที่นี่ไม่ใช่ทุกคนอยากจะเป็น รัฐปัตตานี คนสามจังหวัดหลายคนไม่ชอบคำว่า ปาตานี ก็เหมือนอาณาจักรล้านนา ที่นี่มีวัฒนธรรม มีภาษา มีเจ้าเมืองเป็นของตัวเอง แต่คนมุสลิมเองบางกลุ่มก็ไม่ชอบ ไม่อยากเป็นปัตตานี อยากจะรวมอยู่กับไทย เพราะเป็นพลเมืองไทยก็มีสิทธิประโยชน์อะไรมากมายเหมือนกัน นี่ความคิดของคนมลายูบางกลุ่มนะคะ ยังไม่นับรวมคนไทยพุทธในพื้นที่ ไม่ต้องพูดถึงเลย พวกเขาไม่เอาแน่ๆ เพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่าถ้าเกิดการปกครองตัวเองขึ้นมาจริงๆ พวกเขาจะได้รับการปกครองอย่างไร
ตอนนี้รัฐบาลพยายามจะโปรโมทวัฒนธรรมของพื้นที่สามจังหวัดว่า ตรงนี้เป็นมลายูนะ คนไทยพุทธในพื้นที่ก็ลำบาก อยู่ยาก และอึดอัด เขาก็คิดว่าเขาอาจจะอยู่ในพื้นที่มลายู แต่เขาเป็นพุทธ อยู่มาดั้งเดิมไม่ได้อพยพจากไหน แต่แค่ไม่ใช่มุสลิมเฉยๆ
มันซ้อนกันเยอะแยะไปหมด คนที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ต้องใจกว้างมากๆ รวมถึงเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันจริงๆ สามารถเชื่อมโยงผู้คนให้กลับมาอยู่ด้วยกันให้ได้ แต่แนวทางที่รัฐบาลและกองทัพทำในเวลานี้ ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าใจกว้าง แต่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
มีประเด็นการอยู่ร่วมกันประเด็นไหน ที่น่าสนใจที่คนทั่วไปควรจะได้รับรู้บ้าง
ประเด็นเรื่อง ฮิญาบ ในโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เป็นภาพสะท้อนของวิกฤติที่ชัดเจนที่สุด เด็กๆ พอขึ้น ม.1 หรือพอมีประจำเดือนแล้ว ถือเป็นวัยผู้ใหญ่แล้ว เด็กๆ มุสลิมก็จะต้องสวมฮิญาบ เป็นหลักศาสนาที่ต้องปกคลุมร่างกาย มีเด็กกลุ่มหนึ่งในอนุบาลปัตตานีที่เขาก็คิดว่าถึงเวลาที่ต้องสวมแล้ว แต่ปรากฏว่าโรงเรียนไม่อนุญาตให้ใส่ แล้วในโรงเรียนก็มีครูที่เป็นมุสลิมสวมฮิญาบนะ แต่เขาก็ไม่อนุญาต และบอกว่าไม่ใช่เครื่องแบบของนักเรียน แต่ทั้งๆ ที่ตัวอาจารย์ก็ยังสวมใส่
ก็มีการต่อสู้ระหว่างเด็กกับเด็กกับผู้ปกครองกับโรงเรียน คือเรื่องนี้ใหญ่โตมาก เกือบจะมีการประท้วงด้วยซ้ำ ปัญหาคือ มันสร้างความเจ็บปวดกับคนทั้งสองฝ่าย แล้วโรงเรียนดันไปสร้างอยู่บนที่ของวัด เขาก็บอกว่า ที่อื่นข้างนอกมีพื้นที่ให้แสดงอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมเยอะแล้ว ทำไมจะต้องมาเป็นมุสลิมในโรงเรียนอีก ผู้ปกครองก็พยายามต่อสู้นะ ก็มีถกเถียงกันว่าทำไมไม่ย้ายโรงเรียนไปเลย ผู้ปกครองเขาก็ตอบว่า เขาอยากให้ลูกเรียนรู้วัฒนธรรมที่ต่างกัน เขาอยากให้ลูกเจอเพื่อนๆ ที่แตกต่างหลากหลาย แต่อีกฝั่งก็บอกว่า ไม่ได้ นี่พื้นที่วัด เป็นธรณีสงฆ์ ต้องเคารพด้วย
มันคงเป็นอารมณ์ของความกลัวนั่นแหละ กลัวว่าโรงเรียนเป็นปราการด่านสุดท้ายแล้ว พวกเธอกำลังจะมายึดครอง ขณะที่กรณีของประเทศฝรั่งเศส ที่ห้ามไม่ให้สวมใส่ฮิญาบ เขาห้ามบนฐานคิดคนละแบบกับของเรา เขาคิดบนฐานของ Secularism (รัฐฆราวาส) ที่มองว่า ชีวิตสาธารณะกับชีวิตส่วนตัวแยกกัน ศาสนาเป็นชีวิตส่วนตัว ดังนั้นคุณจึงไม่ควรพาชีวิตส่วนตัวคุณมาที่สาธารณะ คุณจะไปนับถืออะไรก็ได้ คุณก็ไปทำที่บ้านคุณ แต่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ต้องปรากฏอัตลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ทุกคนเหมือนกัน
แต่ของไทยเขาคิดกันบนฐานของความไม่ปลอดภัย นักเรียนพุทธในโรงเรียนเขาก็มีปฏิกิริยาด้วยนะ เขาติดโบว์ดำเพื่อประท้วงเพื่อนที่สวมฮิญาบ สรุปเรื่องนี้ นักเรียนมุสลิมก็ลาออก แล้วสิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว แล้วคุณจะให้เด็กเหล่านี้โตขึ้นมาอย่างไร โตมาโดยที่รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งกำลังผลักเขา ไม่เอาเขา
เราพอจะมีวิธีที่ลดช่องว่าง และความรู้สึกไม่ปลอดภัยทางใจที่ว่าได้ไหม
ยกตัวอย่างเลยนะ เมื่อก่อน งานวัด คนมุสลิมสามารถเข้าไปเที่ยว ไปร่วมงานด้วยได้ หรือมีส่วนร่วมขนของยกของ งานของฝั่งมุสลิม คนพุทธก็ไปเที่ยวเพราะเป็นเพื่อนบ้านกัน วัดมีตลาดนัด มุสลิมก็เอาของไปขายได้ในวัด เรื่องแบบนี้ เขาเรียกปฏิสัมพันธ์ค่ะ แต่ว่าในปัจจุบัน บรรยากาศแบบที่เล่าไป ไม่มีแล้ว จะไม่มีใครไปยุ่งเกี่ยวในปริมณฑลของวัฒนธรรมกันและกันเลย ต่างคนต่างอยู่
แน่นอนว่าที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น เพราะเป็นเรื่องของสถานการณ์รุนแรง ความรุนแรงมันแยกคนออกจากกัน ต่างฝ่ายก็จะคิดว่าตนเองถูกกระทำทั้งคู่ ซึ่งจริงๆ แล้วทุกๆ ฝ่ายเป็นผู้ถูกกระทำทั้งนั้น แต่การที่รู้สึกแบบนี้ มันทำให้เกิดการผลักกันออกไป มันไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าอีกฝั่งก็โดน กลายเป็นรู้สึกแต่เพียงว่าฉันโดนกระทำนะ ซึ่งก็เป็นเหตุผลหลักของความไม่ปลอดภัยทางใจเลยก็ว่าได้
ที่ผ่านมา การเยียวยาของรัฐไม่ได้สนใจและให้ความสำคัญกับมิติทางด้านความรู้สึก เข้าใจว่า มีความพยายามจะเยียวยาทางด้านจิตใจ บาดแผลทางใจอะไรมากมาย แต่มันไม่เพียงพอ ไม่ต่อเนื่อง และมีน้อยเกินไป และไม่ถูกมองเห็นความสำคัญ แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ลงมาทำงานตรงนี้ ก็มีปัญหาทางจิต มีความหวาดกลัวหวาดระแวงชาวบ้านเพราะพวกเขาก็มาจากพื้นที่อื่น คนกลุ่มนี้มีความเครียดสูง ซึ่งอารมณ์เช่นนี้ไม่ได้สร้างผลดีเวลาที่เขาทำงาน ชาวบ้านเขาก็กลัวพอกัน กลายเป็นภาพคนเครียดกับคนเครียดอยู่ด้วยกัน
มันไม่มีทางเลือกอื่น นอกเสียจาก ‘การปฏิสัมพันธ์กัน’ เราต้องสร้างพื้นที่ในการปฏิสัมพันธ์ เราควรจะรู้จักกันโดยเฉพาะเริ่มในกลุ่มเด็กๆ วิธีคิดแบบที่ภาครัฐไทยทำอยู่ตลอด เขาอิงวิธีคิดเรื่องพหุวัฒนธรรมกับชาตินิยมไทยนะคะ เขามองเห็นแต่ ‘ความเป็นอื่น’ มองแค่ว่าที่นี่มันมีพหุวัฒนธรรมเกิดขึ้นในพื้นที่นะ หยิบขึ้นมาได้ ขายได้ แต่ไม่ใช่การมองแบบลึกซึ้งเข้าไปถึงแก่นของมัน เขาไม่ได้เข้าใจคุณค่าของความแตกต่างขนาดนั้น แล้วคำว่า พหุวัฒนธรรม ที่รัฐใช้ มันเป็นชาตินิยมแบบจัดเลย ทุกอย่างมันอยู่ภายใต้ร่มเดียว คุณหลากหลายได้นะ แต่ต้องภายใต้ความเป็นไทย งานอะไรต่างๆ ที่ออกมา เขาก็คิดผ่านวิธีคิดแบบแข็งๆ แบบนี้แหละ ไม่ได้เห็นความซับซ้อนของพหุวัฒนธรรม มองแค่มิติเดียว
เท่าที่ทราบมาก็คือ อาจารย์พยายามจะเปิดพื้นที่ให้ผู้คนมาพบเจอกัน เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่มันหายไปให้กลับมาผ่านการสร้างทีมฟุตบอล
จุดเริ่มต้นของ บูคู มันเกิดจากการทำงานในมิติ gender เพราะเราทำงานเรื่อง เพศวิถี ผู้หญิง LGBT แล้วทีมฟุตบอลมันเป็นพื้นที่ที่เราอยากจะส่งข้อความออกไป ปกติเวลาทำงาน เราจะทำงานในเชิงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนได้มาแลกเปลี่ยนในประเด็นที่มันละเอียดอ่อนและล่อแหลม ซึ่งประเด็นเหล่านี้เรามักจะไม่ได้พูดถึงบ่อยเท่าที่ควร เช่น อัตลักษณ์เรื่องเพศ
เราทำแบบนี้มานานพอสมควร เลยคิดว่า โอเค น่าจะมีเครื่องมือหรือพื้นที่ ที่ใช้สื่อสารในวงกว้างกว่าที่เคยทำนะ อีกอย่างก็เป็นเรื่องของสุขภาพร่างกาย เราน่าจะมาเล่นกีฬากันนะ ตัวเราเองก็มีแคมเปญที่จะยุติความรุนแรงในผู้หญิง มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่จะยุติความรุนแรงในผู้หญิง ที่อื่นๆ เขาเต้นเพื่อยุติความรุนแรง แต่เราว่าไม่น่าจะเข้านะ ถ้าจะเอากิจกรรมเต้นมาไว้ที่นี่ เราก็เลยมองหากิจกรรมอื่นที่ต้องสนุกด้วย งั้นก็เลยมาเตะบอลกัน เป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ได้ ในเวลานั้นก็ยังไม่ได้คิดว่าจะมาทำเป็นทีมฟุตบอล หรือรณรงค์เรื่องที่แหลมคมมากกว่านั้น
หลังจากที่เตะบอลยุติความรุนแรงในผู้หญิง 3 เดือน ก็มีหลายคนที่อยากเตะบอลกันต่อ ในที่สุดก็เกิดเป็นทีมฟุตบอลบูคูขึ้น เปิดตัวทีมตอนเดือนสิงหาคม ปี 2559 ก็กลายเป็นทีมอย่างชัดเจน ตอนแรกเลยทีมฟุตบอลบูคูก็ไม่ใช่ทีมผู้หญิงนะ เรามองว่า ในกลุ่มที่มาเตะฟุตบอลบังเอิญมีสมาชิกเป็น LGBT ด้วย เป็นผู้ชายด้วย บางทีตัวเล็กๆ มาเลย เราก็ไม่สามารถไปบอกได้ว่า นี่ทีมฟุตบอลของผู้หญิงนะ เพราะคนที่มาร่วมด้วยมันหลากหลายมาก เราก็เลยทำทีมที่น่าจะถูกมองว่าก้าวหน้าไปอีกสเต็ป
ทีมฟุตบอลหญิงในพื้นนี้ ก็ถือว่าก้าวหน้าแล้วนะ แต่เราดันขึ้นไปอีก ว่ากลายเป็นทีม all gender เป็น inclusive football club ซึ่งยากขึ้น ยากขึ้นเพราะต้องพาทุกคนมาเตะด้วยกัน คำว่าทุกคนมันมีความต่างด้านเพศวิถี ศาสนา การศึกษา อายุ หรือ สภาพร่างกาย ก็กลายเป็นเรื่องที่คนแตกตื่นกันนิดหน่อยช่วงแรก
มีคำถามเกิดขึ้นเยอะเลย เช่น เด็กผู้หญิงมาเตะฟุตบอลจะเป็นทอมไหม ไม่เรียบร้อยด้วยหรือเปล่า นี่เป็นคำถามที่มีคนมาตั้งคำถามกับเรา ว่าเราจะไปทำทำไมเดี๋ยวเด็กผู้หญิงจะกลายเป็นทอมนะ เด็กผู้หญิงมาเตะบอลกับผู้ชายไม่เหมาะสม ดังนั้นเขาก็จะบอกว่า เด็กผู้หญิงมาเตะบอลกับเด็กผู้ชายมันก็อาจจะเกิดเรื่องไม่เหมาะสมได้ มีเรื่องชู้สาว แล้วพอออกมาเตะบอลช่วงกลางค่ำกลางคืนมันก็ไม่ได้ เพราะเขาควรจะอยู่ในบ้าน
เวลาที่ต้องไปใช้สนามฟุตบอล ทีมอื่นเขามีแต่ผู้ชายหมด มีแค่ทีมเรานี่แหละที่มีผู้หญิงด้วย บางทีสนามข้างๆ ก็เป็นผู้ชายวัยทำงานทั้งหมด ในตอนแรกคนที่เข้ามาร่วมบางคน เขาก็เข้ามาแบบงงๆ แต่บางคนก็จะรู้สึกสนุกตั้งแต่ต้นเขาก็ไม่แคร์ เพราะเขามีเพื่อนผู้ชายอยู่แล้ว อยากเตะบอลมาตั้งนานแล้ว จะเตะกับใครก็ไม่แคร์ เพียงแต่ไม่มีโอกาสได้เตะต่างหาก เพราะสังคมห้ามไม่ให้เตะ มีเด็กแบบนี้ที่เข้ามาในทีมนะ
เด็กผู้ชายบางคนเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะเตะบอลยังไงกับเด็กผู้หญิง เด็กผู้หญิงก็คิดเหมือนกัน บางทีก็คิดว่าจะเตะยังไง เกิดมาไม่เคยเตะเลย กลุ่มแบบนี้จะมานั่งข้างสนามก่อนแล้วค่อยๆ เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น บางคนตอนแรกเขาก็จะกลัวๆ ถ้าวันไหนมีเด็กผู้ชายมาเตะกันเยอะๆ เขาก็จะไม่ลง แต่ถ้าเด็กผู้ชายน้อยๆ ก็ค่อยกล้าลง แต่ท้ายที่สุดแล้วมันมีพัฒนาการของปฏิสัมพันธ์ที่ทีมสามารถลงเตะด้วยกันได้จริงๆ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการทำงานร่วมกัน
ด้วยเหตุที่ทีมฟุตบอลบูคู เป็นทีมที่มีความหลากหลายทางเพศในทีม เราจะช่วยให้สมาชิกในทีมที่เป็นผู้หญิง ออกมาเล่นฟุตบอลอย่างไร โดยไม่ให้เกิดปัญหาที่มาจากมิติทางศาสนา วัฒนธรรมและสังคม
วัตถุประสงค์ของการมาเตะฟุตบอลเนี่ย เราไม่ได้ชวนกันมาทำบาปนะคะ (หัวเราะ) เรื่องก็คือว่า เรามองว่า เราจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ที่ทำให้ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันบนความแตกต่างหลากหลาย ประเด็นที่เราเลือกจะเรียนรู้ เราก็ทำผ่านกิจกรรมที่เป็นกีฬา อย่างฟุตบอล แต่วาระที่อยู่เบื้องหลังคือ เราต้องการให้ผู้คนได้เรียนรู้หลายเรื่องมากเลยบนฐานของวิธีคิดเรื่องเพศและสร้างปฏิสัมพันธ์
เวลาที่เราอยู่ในสังคมจริงๆ เราไม่ได้มีแค่ผู้ชาย ไม่ได้มีแค่ผู้หญิง แต่เรามีมากกว่านั้น แม้กระทั่งผู้ชายกับผู้หญิงก็ยังไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันได้มากเท่าที่ควร ก็เลยทำให้เกิดปัญหาเวลาอยู่ด้วยกันพอสมควร ผู้ชายอาจจะผูกขาดวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ คนก็ขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องของ gender ในสังคมชายเป็นใหญ่ วิธีคิดเกี่ยวกับ gender มันเป็นเรื่องที่ว่า ห้ามทำอะไรและควรทำอะไร แค่นี้เอง มันไม่ได้บอก มิติที่ลึกซึ้งของข้อห้ามเหล่านี้มันมีอะไร เราวิพากษ์ได้ไหม ไม่เอาได้ไหม
สิ่งที่ทีมฟุตบอลบูคู อยากให้เกิดขึ้นคือให้คนออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีกีฬาชนิดนี้เป็นสัญลักษณ์ ให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกันและรู้สึกปลอดภัยที่จะอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะมิติใดก็ตาม ซึ่งทีมฟุตบอลของเราก็จะมีหลักคิดที่แตกต่างจากทีมฟุตบอลกระแสหลักด้วย เราสนับสนุนความแตกต่างหลากหลายและต้อนรับทุกคน
แล้วสมาชิกที่เป็นมุสลิมล่ะ การเตะฟุตบอลจะไปกระทบกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของศาสนาเขาไหม
ยกตัวอย่าง เรื่องการละหมาด เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับคนเหมือนว่าจะเคร่งครัดมากน้อยแค่ไหน เวลาที่เราละหมาดอาจจะมีข้อยกเว้นได้เมื่อเรามีกิจกรรมที่คาบเกี่ยวพอดี อาจจะทำการละหมาดชดเชยได้
จากที่คุยกันมา บูคู ไม่ใช่ทีมฟุตบอลกระแสหลัก แน่นอนว่าการทำทีมแบบนี้จะต้องมีแรงกดดันไม่มากก็น้อย ในฐานะผู้ก่อตั้งทีมอาจารย์คิดต่อเรื่องนี้อย่างไร
มันอาจจะถูกมองว่ามันท้าทาย เจตนาเราเราก็รู้ว่ามันท้าทาย ท้าทายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ แต่เจตนาของเรา เราไม่ได้ต้องการการท้าทายแบบลุกขึ้นมาทำตัวกร่าง ท้าตีท้าต่อยกับใคร วัตถุประสงค์ของเราเพียงแค่ต้องการสร้างพื้นที่ในการปฏิสัมพันธ์แค่นั้น คนที่มาเตะฟุตบอลกับเราบางคนเขาไม่มีพื้นที่ที่ปลอดภัยเพียงพอในการเป็นตัวของตัวเอง ในการทำกิจกรรมอะไรแบบนี้ เช่น คนกลุ่ม LGBT เวลาเขาอยู่ในชุมชน เขาก็ไม่สามารถจะเป็นตัวของตัวเองได้ จะกรี๊ด จะหัวเราะเสียงดังหรือจะทำอะไรแบบที่อยากทำแต่ทำไม่ได้ เราเลยมองว่า พื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ
พอเกิดพื้นที่แบบนี้ขึ้น มันก็มีความท้าทายตามมา เราต้องยอมรับว่าบูคู เป็นทีมฟุตบอลทีมแรกที่ใช้หลักการแบบ activism หรือ การนำเอาหลักการมาผลักดันประเด็นทางสังคม เราก็นำประเด็น gender มาเคลื่อนไหว และสร้างปฏิสัมพันธ์ให้ผู้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ก็เปราะบางในหลายๆ มิติ มันเป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะถูกตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำ หรือคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับแนวทางของบูคู
ก็นับได้ว่า บูคู เป็นทีมที่ค่อนข้างเข้มแข็งพอสมควรที่จะผลักดันแนวทางและเปิดพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ของผู้คนต่อไป?
เราทำงานเราก็มีหลักการ มีความชัดเจน เราสามารถตอบคำถามคนอื่นๆ ได้ เราสามารถเอาเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมาเตะฟุตบอลด้วยกันโดยที่ไม่มีปัญหา มีเวลา 2 ปีเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า มันไม่มีเหตุการณ์ที่หลายๆ คนเคยกังวล
เด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงมาเตะฟุตบอลด้วยกันก็ไม่ได้มีอารมณ์ในเชิงชู้สาว ซึ่งจริงๆ มันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ที่มีความไม่เคารพซึ่งกันและกัน เช่น ผู้ชายแซวผู้หญิง ล้อเลียน ฯลฯ เหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นได้ทุกที่ไม่ใช่แค่สนามบอล ในบ้านก็เกิดได้ และสาเหตุที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เพราะสังคมไม่ได้ให้การศึกษาเรื่องความเคารพซึ่งกันและกันต่างหาก
เราจึงมองว่าปัญหามันอยู่ข้างนอก ไม่ใช่ข้างในสนามฟุตบอลของเรา ตั้งแต่ทำทีมมาเราพิสูจน์มาแล้วว่าไม่เคยมีปัญหาตรงนี้เลย ตรงกันข้ามเด็กผู้ชายไม่เคยล้อผู้หญิง ไม่เคยเอาเปรียบในเรื่องเพศ เราทำให้สนามฟุตบอล educate ในเรื่องเหล่านี้
เราค่อยๆ ให้คนส่วนใหญ่ที่กังวลเห็นว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรน่ากังวลเลย
อาจารย์วางอนาคตของทีมฟุตบอลบูคูไว้อย่างไรบ้าง
ตอนนี้มีอยู่ 2 สเต็ป คือฝึกคนในทีมเป็นโค้ช เราจะมีโค้ชฟุตบอลที่เป็นเฟมินิสต์ คือหมายถึง ผู้หญิง ผู้ชาย LGBT เป็นโค้ชที่ฝึกทีมแบบเฟมินิสต์ ก็จะเป็นการเล่นแบบ inclusive เป็น non-violent สเต็ปที่สอง เราก็จะไปสนับสนุนให้มีทีมอื่นๆ ขึ้นมา อาจจะเป็นทีมผู้หญิงก็ได้ หรืออาจจะเป็นทีมลักษณะเดียวกันกับเราก็ได้ ปลายปีนี้เราก็จะจัดทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์ฟุตบอลหญิงสามจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมา กำลังหาทุนอยู่ เพื่อที่จะไปสนับสนุนให้มีทีมฟุตบอลอื่นๆ สร้างพื้นที่ให้พวกเขาได้แข่ง เพราะส่วนใหญ่จังหวัดอื่นๆ ก็จะเล่นกันไม่ต่อเนื่อง เป็นทีมเฉพาะกิจมากกว่า
การเล่นแบบ non-violent แสดงว่าจะไม่เสียบกันแรง ไม่ปะทะ แทคติคแบบนี้ใช้ไม่ได้?
(หัวเราะ) เราจะเล่นแบบไม่ใช้ความรุนแรง จะเปลี่ยนวัฒนธรรมการเล่น เราจะไม่เล่นเกมแบบ Patriarchy ถ้าเล่นแบบนั้น ทีมจะผลักคนที่เล่นบอลไม่เก่งออกไป แล้วก็จะจัดเรียงเป็นระดับๆ ว่าใครเก่งไปอยู่ข้างบน คนอ่อนออกไป แต่ถ้าเล่นวิธีเฟมินิสต์ มันจะกระจายคนออกเป็นแนวราบ ทุกคนจะมีส่วนร่วม เล่นบอลแบบนี้จะไม่มีตัวจริงตัวสำรอง ทุกคนที่มาแปลว่าทุกคนต้องได้ลง ถ้าไปแข่งทุกคนก็ต้องได้ลงแข่ง ซึ่งเราก็แพ้ประจำแหละค่ะ แต่เราไม่แคร์ (หัวเราะ) เพราะเราไม่ได้บอกว่า คนที่เก่งสุดคือตัวจริง วัตถุประสงค์ของเราไม่ใช่เพื่อชัยชนะ แต่วัตถุประสงค์หลักของเราคือต้องการที่จะ educate วัฒนธรรมแบบใหม่ ให้เขาเรียนว่า วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันแบบนี้มันเป็นไปได้ มันมีความสุขและปลอดภัยกว่า วัฒนธรรมแบบเดิมที่บอกว่าคุณต้องเก่งเท่านั้นถึงจะอยู่รอดถึงจะมีพื้นที่ ที่ต้องใช้ความรุนแรงเท่านั้นถึงจะชนะ
ฟังแบบนี้แล้ว เรายังมีความหวังในการจะอยู่ร่วมกันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้นใช่ไหม
เราถึงได้ตั้งทีมฟุตบอลขึ้นมาไง เพื่อให้คนได้มาเจอกัน แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นทางออกที่ง่ายที่สุดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และเป็นทางเดียวที่คุณจะเห็นอีกคนเป็นมนุษย์เหมือนคุณ