กลุ่มผู้ประท้วงหัวรุนแรงนับพันบุกรัฐสภาบราซิล พร้อมทำลายสถานที่ราชการหลายแห่งทั่วกรุงบราซิเลีย ล่าสุดถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแล้วกว่า 1,200 คน
ภายหลังจาก ลูอิส อินาซิยู ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) หรือ ‘ลูลา’ จากพรรคแรงงาน ประเทศบราซิล ชนะการเลือกตั้งทั่วไปด้วยผลโหวต 50.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนตุลาคม 2022 นำมาซึ่งความไม่พอใจผลการเลือกตั้งของกลุ่มผู้เห็นต่าง รวมถึงผู้สนับสนุน ชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) อดีตประธานาธิบดี
8 มกราคม 2023 เวลา 21.00 น. เริ่มมีการชุมนุมประท้วงผลการเลือกตั้ง ก่อนที่เวลาต่อมา ภาพวิดีโอบนโซเชียลมีเดียจะปรากฏภาพความรุนแรงจากกลุ่มผู้ประท้วง โดยมีการใช้อาวุธทุบทำลายข้าวของในทำเนียบประธานาธิบดี อาคารศาลฎีกา และอาคารรัฐสภาที่อยู่บริเวณใกล้เคียง รวมถึงมีภาพควันไฟ การขโมยสิ่งของ และภาพผู้ประท้วงกระชากตำรวจลงจากหลังม้าและทำร้ายร่างกาย เหล่านี้คือความโกลาหลที่เกิดขึ้น
ย้อนกลับไปวันที่ 1 มกราคม 2023 ลูลาเข้ารับพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีท่ามกลางการเฉลิมฉลองของชาวบราซิลนับแสน หากแต่ผู้สนับสนุนหัวรุนแรงฝ่ายโบลโซนาโรปฏิเสธผลการเลือกตั้งดังกล่าว และเริ่มนัดชุมนุมค้างแรมบริเวณฐานทัพทั่วบราซิล เพื่อเรียกร้องให้กองทัพออกมารัฐประหาร
BBC Brazil ชี้ว่า ค่ายพักแรมเหล่านี้มีการจัดระเบียบอย่างดี และกลุ่มที่สนับสนุนโบลโซนาโรหลายคนปักหลักตั้งแต่เดือนตุลาคม หลังเกิดเหตุ อเล็กซานเดร เดอ โมราเอส (Alexandre de Moraes) ผู้พิพากษาศาลสูงสุด มีคำสั่งให้รื้อค่ายผู้ประท้วงที่ตั้งอยู่นอกกองบัญชาการกองทัพในกรุงบราซิเลียและที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
ทางด้านลูลาติดภารกิจที่เมืองอะรารัคควารา (Araraquara) รัฐเซาเปาโล จึงไม่ได้อยู่ที่กรุงบราซิเลียในช่วงเกิดเหตุ เขากล่าวโทษโบลโซนาโรที่เป็นคนจุดชนวนผู้ชุมนุมหัวรุนแรงเป็นพวกฟาสซิสต์ พร้อมทวิตว่า “ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องต้องถูกลงโทษ”
สาเหตุที่ลูลาอ้างถึงโบลโซนาโรเช่นนั้น เป็นเพราะโบลโซนาโรไม่ได้อยู่ในวันที่ตนทำพิธีสาบานตน โดยตามธรรมเนียม อดีตประธานาธิบดีต้องเป็นผู้มอบสายสะพายแก่ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งโบลโซนาโรแสดงท่าทีปฏิเสธผลการเลือกตั้งชัดเจน
กระนั้น โบลโซนาโรปฏิเสธคำกล่าวหาที่ว่า ตนมีส่วนเกี่ยวข้องต่อเหตุความรุนแรง และแสดงความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไปไกลกว่าการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย
เคที วัตสัน (Katy Watson) ผู้สื่อข่าว BBC ประจำภูมิภาคอเมริกาใต้ รายงานว่า ผู้ชุมนุมบางส่วนไม่เพียงโกรธแค้นที่โบลโซนาโรพ่ายแพ้การเลือกตั้งชนิดฉิวเฉียด แต่ต้องการให้ลูลากลับเข้าคุก จากรณีทุจริตฟอกเงินในรัฐวิสาหกิจน้ำมัน ในปี 2017 เขาถูกคุมขังนาน 18 เดือน ก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี 2019 หลังศาลสูงสุดตัดสินยกฟ้อง
ถึงอย่างไร ไม่ใช่ผู้สนับสนุนโบลโซนาโรทั้งหมดจะเห็นด้วยกับความรุนแรง แดเนียล ลาเซอร์ดา (Daniel Lacerda) วัย 21 ปี กล่าวกับ BBC ว่า “ผมโหวตให้โบลโซนาโรนะ แต่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย คือถ้าคุณไม่สนับสนุนประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คุณก็ควรแสดงออกอย่างถูกต้องและเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่ก่อความรุนแรงแบบนี้”
ขณะที่ อิบาเนส โรชา (Ibaneis Rocha) ผู้ว่าการกรุงบราซิเลีย ถูกถอดออกจากตำแหน่งเป็นเวลา 90 วัน ตามคำสั่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด ฐานล้มเหลวในการป้องกันเหตุจราจล
ล่าสุด ตำรวจสามารถเข้ายึดพื้นที่ทั้ง 3 แห่งกลับคืน โดยใช้มาตรการตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตาและเสปรย์พริกไทย พร้อมควบคุมผู้ก่อเหตุจลาจลกว่า 1,200 คน และรถบัสที่ใช้บรรทุกผู้ชุมนุมกว่า 40 คัน
BBC รายงานว่า ผู้ก่อเหตุไม่ใช่คนในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า มีรถบัสทั้งหมดราว 100 คัน บรรทุกผู้ประท้วงเข้าเมืองหลวงในวันเกิดเหตุ ซึ่งสวมเสื้อสีเหลืองอันเป็นสีของทีมชาติบราซิล พร้อมผืนธงชาติบราซิลห่อหุ้มร่างกาย ฉะนั้น ย่อมต้องมีผู้สนับสนุนการก่อการวุ่นวาย
ฟลาวิโอ ดิโน (Flavio Dino) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของบราซิล กล่าวว่า ตำรวจรู้แล้วว่าใครเป็นคนจ้างรถบัสคันดังกล่าว และตอนนี้จะสอบสวนทุกคนที่อยู่บนรถต่อไป
อ้างอิง
- Brazil protests: Lula vows to punish ‘neo-fascists’ after Bolsonaro supporters storm congress
- Brazil Congress: Lula vows to punish supporters of Bolsonaro after riot
- Storming of Brazil Congress condemned as attack on democracy
- Supporters of Jair Bolsonaro mount an insurrection in Brazil