บุญเลิศ วิเศษปรีชา: คืนสิทธิในการประกันตัว คืนชีวิตให้กับผู้ถูกกล่าวหา

เนื่องจากเมื่อวันอังคารที่ 27 เมษายน 2564 ผมและอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ร่วมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ไปติดตามเรื่องการเข้าถึงการศึกษาเอกสารตำราของ คุณปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) ซึ่งเป็นนักศึกษาของคณะ และ คุณพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งสองและคนอื่นๆ เช่น ทนายอานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และคนอื่นๆ ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหลายคดี รวมถึงข้อหา มาตรา 112

อย่างไรก็ดี ผมได้ยินเสียงโต้แย้งทำนองว่า ไม่ควรอ้างเรื่องการเรียนของนักศึกษามาขอความเห็นใจหรือเป็นเหตุผลในการขอประกันตัว

ผมจึงอยากบอกชัดๆ ว่า ผมเห็นด้วยอย่างมากว่า การขอให้นักศึกษาได้เข้าถึงตำราเรียนระหว่างถูกจองจำเป็นเรื่องรอง ไม่ใช่เรื่องหลักการใหญ่ แต่เหตุที่ต้องทำเรื่องนี้ไปพลาง เพราะเรื่องหลักการใหญ่ ยังไม่ถูกเคารพและปฏิบัติตาม นั่นคือหลักที่ว่า การมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลักการ ส่วนการไม่ให้ประกันตัวเป็นเพียงข้อยกเว้นที่จะกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 อย่างรัดกุมชัดเจน

สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยว่า ทำไมอาจารย์ที่เป็นห่วงนักศึกษาและประชาชนที่ไม่ได้ประกันตัว จึงยังคงติดตามเรื่องนี้ไม่หยุดหย่อน นั่นก็เพราะการได้ประกันตัวเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ไม่ควรถูกละเมิด และขอให้เหตุผลตามกฎหมายไปตามลำดับ ดังนี้

จากการได้ติดตามอ่านคำร้องขอยื่นประกันตัวของทนายความ ตลอดจนแถลงการณ์ของคณาจารย์สาขานิติศาสตร์ นักกฎหมาย คำอธิบายโดยละเอียดของอาจารย์สาขานิติศาสตร์ ตลอดจนคำสั่งให้ประกันตัว คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ คุณจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เมื่อศุกร์ที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา (ดูลิงค์ต่างๆ ในตอนท้ายของบทความ) จะพบว่า ทั้งในรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต่างมีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาไว้ชัดเจนแล้ว เหลือก็แต่จะใช้ดุลยพินิจให้เป็นไปตามกฎหมาย

เริ่มจากในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 29 วรรค 2 วรรค 3 และวรรค 5 เขียนไว้ชัดเจนว่า

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้ การคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี

คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

สองข้อความตามรัฐธรรมนูญข้างต้นเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” ดังนั้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนักศึกษา จะแสดงความเห็นชี้นำ หรือตำรวจ อัยการจะเขียนบรรยายฟ้องว่า กระทำความผิดอย่างนั้นอย่างนี้เข้าข่ายผิดมาตรา 112 อันนั้นล้วนแล้วแต่เพียง “การกล่าวหา” และสันนิษฐานไว้ก่อนว่ายังไม่ผิด และจะไปปฏิบัติกับพวกเขาเสมือนผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้

การที่พวกเขาไม่ได้ประกันตัวและถูกส่งเข้าเรือนจำ ก็เท่ากับพวกเขาถูกปฏิบัติเสมือนถูกคำพิพากษาแล้ว เพราะผู้ที่ถูกกล่าวหาระหว่างถูกดำเนินคดี ถูกส่งเข้าเรือนจำต้องปฏิบัติตามกฎของเรือนจำ เหมือนผู้ต้องหาที่ถูกคำพิพากษาเด็ดขาดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมีโควตาน้ำอาบได้ 8 ขัน นอนในห้องแออัด จำกัดการเข้าเยี่ยม การพบญาติพี่น้อง เข้าถึงการเรียนได้ยาก ฯลฯ

ลองคิดดูนะครับ พวกเขายังไม่ถูกตัดสินว่าผิด แต่ต้องอยู่ในเรือนจำเหมือนนักโทษเด็ดขาด เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และถ้าต่อมาภายหลังศาลตัดสินว่า พวกเขาไม่ผิด สิทธิและเสรีภาพที่เขาสูญเสียไประหว่างถูกจองจำ เช่น นักศึกษา ที่ต้องดรอปจากการเรียน พ่อแม่ทุกข์ร้อน ถ้าเป็นคนวัยทำงานก็ต้องออกจากงาน แล้วครอบครัวจะลำบากขนาดไหน สิ่งที่สูญเสียไปไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ นั่นคือเหตุผลว่า การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จึงเป็นหลักสำคัญของการดำเนินคดีอาญาของรัฐสมัยใหม่

ผมอยากจะเทียบเคียงกับกรณีของ ผู้ต้องหาคดี กปปส. ที่ได้รับการประกันตัวแม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาไปแล้ว นั่นก็เป็นไปตามหลักว่า เขายังต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ ฎีกาอยู่ เขาก็ควรได้สิทธิในการประกันตัว

ประเด็นต่อมา ผมเห็นคนโต้แย้งผู้ที่เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ทำนองว่า อ้างแต่รัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรค 2 แต่ไม่พูดถึงวรรค 3 ที่เขียนในลักษณะสามารถไม่ให้ประกันตัวได้เหมือนกัน ใช่ครับ มาตรา 29 วรรค 3 สามารถมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวได้โดยเขียนว่า “การคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี” เราสามารถไตร่ตรองดูได้ว่า ที่รุ้งและเพนกวิน มาตามที่ตำรวจและอัยการเรียกทุกนัด และก็ยังเรียนหนังสืออยู่ พวกเขามีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือ

ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรค 5 เขียนว่า “การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

เราลองไปดูว่า กฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ที่เกี่ยวข้องกับการประกันตัว เขียนไว้ว่าอย่างไรบ้าง

“มาตรา 107 เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็วและผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108 มาตรา 108/1 มาตรา 110 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 และมาตรา 113/1”

จากข้อความที่ผมเน้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายก็เขียนไว้สอดรับกับรัฐธรรมนูญดีอยู่แล้ว นั่นคือ ถือหลักว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยควรได้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสำคัญ และการไม่ให้ประกันต้องเป็นเฉพาะเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 108/1 เท่านั้น

“มาตรา 108/1 การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
  2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
  3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
  4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
  5. การปล่อยตัวชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

    คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย และผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว”

จากมาตราดังกล่าว ลองดูกรณีที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ประกันตัว คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ คุณจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายน ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จะพบว่า ศาลตั้งประเด็นชัดเจนว่า “เหตุในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจะต้องเป็นเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1”

หลังจากไต่สวนข้อเท็จจริงตามเงื่อนไข 5 ข้อ ผู้พิพากษาในวันนั้น จึงมีคำสั่งออกมาว่า “กรณีนี้จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอว่าจะเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 และ 4 โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองทำกิจกรรมที่จะกระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้จำเลยมาศาลตามนัด หากผิดสัญญาปรับคนละ 200,000 บาท”

ตามเหตุผลที่ได้อธิบายมาตามลำดับ จึงได้แต่หวังว่า การพิจารณาการยื่นขอประกันตัวทั้ง เพนกวิน รุ้ง ทนายอานนท์ ไมค์ และคนอื่นๆ ได้ถือหลักการเดียวกัน คือ หากไม่เข้าเงื่อนไขที่จะไม่ให้ประกันตัวแล้ว ทั้งหมดควรได้รับการประกันตัว ส่วนการกำหนดเงื่อนไขใดๆ ให้เป็นดุลยพินิจของศาล

อีกทั้ง ขณะนี้ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน อดอาหารมาถึง 44 วันแล้ว โดยส่วนตัว สุขภาพร่างกายทรุดโทรมจนถึงขั้นวิกฤติ สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ทุกเมื่อ เขาอดอาหาร เอาร่างกายและชีวิตของตัวเองเข้าแลก เพื่อให้สังคมได้ตื่นตัว ตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเผชิญว่าเป็นธรรมและถูกต้องหรือไม่ เพนกวิน และรุ้ง อดอาหาร ไม่ได้เพื่ออะไร แค่เพื่อเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายของพวกเขาและเธอ ที่จะได้ประกันตัว ออกมาต่อสู้คดี โดยไม่ตัดสินไปก่อนว่าเขาและเธอผิด

อ้างอิง

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า