ตาตายโฮเซ่ คนที่ร้อย

“นายต้องการสัมภาษณ์คนทั้งหมดกี่คน”

ตาตายโฮเซ่ ถามผมกลับ เมื่อผมบอกความจำนงว่าจะขอสัมภาษณ์ประวัติชีวิต ตอนนั้นแกเข้าใจดีว่าผมไม่ได้เป็นคนไร้บ้านจริงๆ แต่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกลงพื้นที่คลุกคลีอยู่ข้างถนนเพื่อทำวิทยานิพนธ์ เรารู้จักกันมานานหลายเดือนและนอนอยู่หน้าตึกแถวเดียวกัน

“ร้อยคน” ผมตอบ

อันที่จริงตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เยอะมาก สำหรับการวิจัยทางมานุษยวิทยาที่ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นความลึกซึ้งกับผู้คน นักมานุษยวิทยามักจะมีผู้ให้ข้อมูลหลัก (key informants) จำนวนหนึ่ง ผมคิดว่าสัก 10 หรือ 20 ก็เยอะแล้ว แต่ผมสัมภาษณ์คนถึงร้อยคน เพราะนอกจากเรื่องภูมิหลังชีวิตแล้ว ผมอยากทราบทัศนะของคนจำนวนมาก เพื่อไม่ให้ความเห็นที่ผมได้กระจุกอยู่ในกลุ่มคนที่ผมสนิทไม่กี่คน

“งั้นนายสัมภาษณ์คนให้ได้ 99 คนก่อน แล้วค่อยมาสัมภาษณ์ฉันเป็นคนที่ร้อย”

ตาตายโฮเซ่ตอบราวกับแกมั่นใจว่ามีเรื่องราวที่ต่างกับคนไร้บ้านคนอื่นๆ ที่ผมต้องเซอร์ไพรส์

คำว่าตาตาย (tatay) แปลตามตัวว่าพ่อ ใช้เรียกคนรุ่นราวเดียวกันกับพ่อ จึงพอจะบอกได้ว่า แกอายุรุ่นไหนแล้ว

ผมจำตาตายโฮเซ่ได้ครั้งแรก เมื่อตอนเราไปกินข้าวที่ฟีดดิ้งโปรแกรม (feeding program) ที่เมืองเกซอน (Quezon) ห่างจากที่เรานอนร่วมสองสามชั่วโมงเดิน พอขากลับ เราเดินกลับมาทางเดียวกัน เลยจำแกได้ หลังจากนั้นก็เห็นแกตามฟีดดิ้งโปรแกรมที่ต่างๆ มองจากรูปลักษณ์ แกก็คือคนไร้บ้านในภาพคิดของคนหลายคน มีหนวดเคราพอประมาณ สวมหมวก ใส่เสื้อผ้าสีเข้ม นุ่งกางเกงขาสั้น สะพายถุงปุ๋ยเก็บของเก่า

ความที่แกทำท่าว่า แกมี ‘ของ’ จะเซอร์ไพรส์ผม ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า มีช่วงหนึ่งแกหายไปสักสองเดือนช่วงที่ไต้ฝุ่นเข้าเยอะๆ ฝนตกติดๆ กัน พอเจอหน้าแก ผมจึงถามว่าไปอยู่ไหนมา ไม่เห็นหน้าตั้งนาน แกส่ายหน้า เหมือนไม่อยากให้ถาม แต่ตอนนั้นเรายังไม่สนิทกัน ถ้าเป็นคนหนุ่มหายหน้าไปสักสองสามเดือน ผมจะเดาว่าไปทำงาน ไม่ก็ติดคุกคดีเล็กๆ น้อยๆ แต่ตาตายโฮเซ่แก่และสุภาพเกินกว่าที่จะไปทั้งสองทางนี้

เมื่อถึงวันที่ผมจะสัมภาษณ์แกเป็นคนที่ร้อย เย็นวันนั้น ตาตายโฮเซ่บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง พร้อมกับทำงานแยกของเก่าที่เก็บมาได้ไปด้วย เป็นการเล่าเรื่องที่เป็นระบบทีเดียว แกเปิดเรื่องด้วยการบอกว่า

“นายอยากรู้ใช่มั้ยว่าทำไมคนถึงมาเป็นคนไร้บ้าน สำหรับฉัน ฉันมาอยู่ที่นี่ เพราะพระเจ้าเรียกฉัน”

ผมเงยหน้าจากสมุดโน้ต มองหน้าแกอย่างงงๆ

แล้วตาตายโฮเซ่ก็พูดต่อไปว่า แกไม่เหมือนคนอื่นๆ แกไม่ได้เป็นคนไร้บ้าน เพราะไม่มีบ้าน ไม่มีงานทำ ครอบครัวแตกแยก ติดยา หรือมีคดีติดตัว แกมีบ้านอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรทีเดียวแหละ ในเมืองมันดาลูยง (Mandaluyong) เป็นเมืองที่อยู่อาศัยของคนมีเงินในเมโทรมะนิลา ครอบครัวก็ดี มีลูกสาวคน และลูกชายคน ต่างเรียนจบมหาวิทยาลัยทำงานแล้วทั้งคู่ เมียแกก็ทำงานดี เป็นถึงระดับผู้บริหารของสายการบินแห่งหนึ่ง ส่วนแกเคยทำงานเป็นวิศวกรระดับสูงของกรมด้านธรณี ดูแลเรื่องสัมปทานเหมืองแร่ แต่เออร์ลีรีไทร์ เพราะไม่อยากย้ายไปอยู่ในที่ไกลบ้านกว่าเดิม จึงลาออกกินบำนาญอยู่บ้าน

แกเล่าต่อไปว่า พอเกษียณอยู่บ้าน ในละแวกบ้านก็มีแต่คนมีฐานะดีด้วยกันทั้งนั้น วันๆ ไม่ทำอะไร นั่งเล่นไพ่นกกระจอก ตกเย็นก็ดื่มเหล้าดื่มเบียร์ตามประสาคนที่ไม่มีเรื่องให้เดือดเนื้อร้อนใจ

จุดเปลี่ยนชีวิตมาถึง เมื่อวันหนึ่งแกมาเที่ยวที่ลูเนต้า แล้วพบเห็นสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน

“ตอนแรกฉันเห็นคนใส่เสื้อผ้ามอมแมม นั่งรวมๆ กันแถวใต้ต้นมะม่วง ฉันก็สงสัยว่าเขาทำอะไรกัน พอเข้าไปดูใกล้ๆ อ๋อ ถึงได้รู้ว่า เขานั่งฟังบราเธอร์คนหนึ่งสอนไบเบิล ฉันฟังแล้วก็ชอบ จากฟังห่างๆ ฉันก็เข้าไปฟังใกล้ๆ ยิ่งฟัง ยิ่งชอบ เหมือนได้ฟังคำสอนของพระเจ้า”

(ฟังแกเล่าถึงตอนนี้ผมแอบโล่งใจ ที่ไม่ใช่กระเป๋าเงินหาย แล้วได้รับการช่วยเหลือจากคนไร้บ้าน อันนี้พล็อตไทยๆ เกินไป)

ตาตายโฮเซ่บอกว่า ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าการสอนไบเบิลเป็นส่วนหนึ่งของฟีดดิ้งโปรแกรม มีเงื่อนไขต้องมาฟังสอนไบเบิลก่อน แล้วค่อยได้อาหาร

วันนั้นตาตายโฮเซ่กลับบ้านด้วยความรู้สึกอิ่มใจเป็นพิเศษ ได้คำสอนของพระเจ้าเป็นอาหารทางจิตวิญญาณ เขาเปรียบเทียบว่า ชีวิตของเขาที่วันๆ เอาแต่เล่นไพ่นกกระจอก ดื่มเหล้าเบียร์ เป็นชีวิตที่มีแต่อบายมุข คำสอนของพระเจ้าเบิกทางใหม่ให้กับเขา

สัปดาห์ต่อมา ตาตายโฮเซ่กลับมาที่ลูเนต้าเพื่อมาฟังคำสอนจากไบเบิลอีกครั้ง เขาแต่งตัวเสื้อผ้าธรรมดา เริ่มคุ้นชินกับคนไร้บ้านที่มานั่งฟังและรออาหาร เมื่อรู้ว่ามีฟีดดิ้งโปรแกรมแบบนี้หลายแห่งในแต่ละวัน แกชักหลงใหล และเริ่มคิดว่าคนพวกนี้อยู่ได้แกก็น่าจะอยู่ได้ จึงตัดสินใจกลับไปบ้าน เก็บเสื้อผ้า ออกมานอนข้างถนน

น่าสงสัยว่า คนเคยอยู่สบาย จะออกมาอยู่ได้ยังไง แล้วลูกเมียแกไม่ห่วงบ้างหรือ

ตาตายโฮเซ่บอกว่า ตอนแรกๆ ยังไม่ได้บอกลูกเมียว่ามานอนข้างถนน แค่บอกว่ามีที่ไปแล้ว ออกมาครั้งละสามสี่วัน มีเสื้อผ้าติดกระเป๋า แล้วก็กลับบ้าน แรกๆ เมียเป็นห่วงอยากให้แกมีเงินติดตัวออกมาบ้าง แกก็รับไว้ แต่ไม่ค่อยได้ใช้ ตอนหลังแกบอกที่บ้านตามตรงว่า แกออกมาอยู่ข้างถนนสบายใจ ห่างไกลอบายมุข เงินก็ไม่ต้องใช้

ตาตายโฮเซ่บอกว่า ชีวิตข้างถนนและคำสอนจากการเรียนไบเบิล เปลี่ยนแกจากคนหยิ่งยโส มาเป็นผู้ถ่อมตน

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน  นายไม่มีทางมาขอสัมภาษณ์ฉันได้ ต้องผ่านเลขาฯฉันก่อน ตอนนี้ฉันเปลี่ยนไปมากแล้ว”

มองจากรูปลักษณ์ภายนอก แกเหมือนคนไร้บ้าน คนเก็บของเก่าทั่วไป แต่แกมีความภูมิใจอยู่ลึกๆ ว่า แกต่างจากคนอื่น ตาตายโฮเซ่เล่าแบบขำๆ ว่า เวลาแกเดินเก็บของเก่า พอนั่งพักแล้วมีคนเก็บของเก่ามาปรับทุกข์ คนเหล่านี้มักจะคิดว่าแกคงมีที่มาเหมือนคนอื่นๆ

“บางคนถามฉันว่าเข้าคุกมากี่ครั้งแล้วล่ะ ฉันหัวเราะ แล้วเขาก็ตอบเองว่า หลายครั้งล่ะสิ ฉันก็เออ เออ หลายครั้ง” แกเล่าพร้อมหัวเราะร่วน

ผมเคยเล่าเรื่องตาตายโฮเซ่ให้เพื่อนชาวอเมริกันฟัง เธอฟังแล้วก็บอกว่า “ฝันกลางวัน” พร้อมคำอธิบายว่า มันคืออาการป่วยทางจิตประเภทหนึ่งของคนที่มีชีวิตจริงยากลำบาก จึงต้องใช้วิธีสร้างโลกเทียมขึ้น

ผมฟังแล้วก็ยอมรับว่าน่าคิดเหมือนกัน แต่เมื่อนั่งนึกถึงบางฉากบางตอน ผมกลับรู้สึกว่าตาตายโฮเซ่มีบางอย่างแตกต่างจากคนไร้บ้านคนอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น คืนหนึ่งผมถูกเจ้าหน้าที่สงเคราะห์จับตัวพร้อมกับคนไร้บ้านหลายคนรวมถึงแก ตาตายโฮเซ่ไม่แสดงท่าทีตกใจ แถมกระซิบบอกผมเป็นภาษาอังกฤษอีกว่า “ดีมากสำหรับงานศึกษาของนาย” แกหมายถึงประสบการณ์ที่ผมถูกจับจริงๆ

อีกฉากหนึ่ง ตอนที่ผมร่ำลาเพื่อนๆ กลับเมืองไทย และกลับไปเขียนวิทยานิพนธ์ที่อเมริกา ตาตายโฮเซ่บอกว่า ขออีเมลผมด้วย ลูกสาวแกกำลังจะแต่งงานกับหนุ่มชาวสิงคโปร์ เขาจะไปสิงคโปร์ เผื่อว่าอาจจะได้แวะมาเมืองไทย

อย่างไรก็ดี ประเด็นของผมไม่ได้อยู่ที่ว่า เรื่องของตาตายโฮเซ่จะจริงหรือเท็จ หรือถูกเสริมถูกแต่งแค่ไหน ผมยกไว้ก่อน

เรื่องที่ผมอยากบอก เนื่องมาจากผมมักได้ยินคนพูดอยู่บ่อยๆ ว่า คนไร้บ้านบางคนมีบ้านดีๆ รวยๆ แต่ชอบและเลือกมาอยู่ข้างถนน ผมอยากจะบอกว่า ก็คงมีหรอก คนแบบนั้น แต่มันน้อยมาก แต่ที่คนส่วนใหญ่ต้องมาเป็นคนไร้บ้านนั้น เพราะเหตุผลอื่นๆ ตกงาน กระหน่ำซ้ำด้วยปัญหาที่บ้าน สมัครงานใหม่ก็ยาก เพราะเคยมีประวัติติดคุก เป็นต้น ไม่ใช่เหตุผลแบบชอบเที่ยวพเนจร หรือถูกพระเจ้าเรียกอย่างตาตายโฮเซ่หรอกครับ

ดังนั้น ประเด็นของผมอยู่ที่ว่า ต่อให้เรื่องของตาตายโฮเซ่เป็นเรื่องจริง แกก็จะเป็นคนไร้บ้านเพียงหนึ่งคนในร้อยคนที่ผมสัมภาษณ์ที่มีบ้าน แต่เลือกมาอยู่ข้างถนน

เรื่องดราม่าโรแมนติกแบบนี้ ในชีวิตจริงมีสักหนึ่งในร้อยครับ

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า