คน (ไทย) ไร้บ้านในมะนิลา

 

ผมอยู่มะนิลาทั้งหมด 16 เดือน คือปี 2554 อยู่สองเดือน และช่วงปี 2556-2557 ที่ผมไปอยู่อีก 14 เดือน

ถึงแม้จะไม่ได้กินอยู่แบบคนไร้บ้านทุกประการ อย่างที่เคยบอกแล้วว่า ผมเช่าห้องไว้เก็บของ และจะกลับมาพักที่ห้องทุกคืนวันอาทิตย์ ก่อนจะออกไปในวันจันทร์ แต่ด้วยความที่ผมคลุกคลีกินอยู่กับคนไร้บ้านจนเนียน แถมอยู่นานเป็นปี เลยทำให้คนไร้บ้านไม่น้อยนึกว่า ผมเป็นคนไร้บ้านจริงๆ บางคนไม่เอะใจด้วยซ้ำว่า ผมไม่ใช่คนฟิลิปปินส์

เริ่มด้วยผิวพรรณจากเดิมเป็นคนผิวขาวกลายเป็นผิวกร้านแดดสีดำแดงแบบคนฟิลิปปินส์ น้ำหนักตัวที่เคยออกกำลังกายก่อนมาอยู่ภาคสนาม ก็ยังลดลงไปได้อีกร่วมสิบกิโล ทำให้ตอนขากลับผมผอมบักโกรก แล้วก็เลือกใส่เสื้อผ้าแบบคนไร้บ้าน คือเสื้อยืดเก่าๆ สีเข้มๆ เวลาเหงื่อออกแล้วแห้งจะเห็นขี้เกลือสีขาวด่างกลางหลัง สวมกางเกงขาสั้นคลุมแค่เข่า เวลาเหงื่อออกจะได้ไม่เหนอะหนะเหมือนกางเกงขายาว บนหัวมีหมวกแก็ปไว้กันแดด สะพายกระเป๋าแบ็คแพ็คใบเก่า และรองเท้าแตะของคนไร้บ้านต้องแบบนี้ ขาดแล้วเอาตะปูดามเอาไว้

ในกระเป๋าผม นอกจากเสื้อผ้าสองสามชุด สมุดโน้ต ปากกาแล้ว ก็มีโทรศัพท์มือถือราคาถูก พกเผื่อไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน อันนี้ทำตามคำขอของอาจารย์ที่ปรึกษาคือ แคเธอรีน บาววี (Katherine Bowie) ที่วิสคอนซิน ซึ่งบอกผมว่า ในฐานะที่เธอเป็นแม่คน เธออดเป็นห่วงผมไม่ได้ จึงขอให้ผมพกโทรศัพท์ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เผื่อถูกจับ หรือเกิดอุบัติเหตุจะได้โทรหาใครได้ แต่ผมไม่เคยเจอเรื่องร้ายๆ แบบนั้น

ส่วนอุปกรณ์ที่มีคนถามผมมากก็คือกล้องถ่ายรูป ผมไม่ได้พกกล้องถ่ายรูปติดตัว เพราะจะกลายเป็นเป้าหมายของพวกกรีดกระเป๋า รูปถ่ายที่เห็นส่วนใหญ่เป็นรูปถ่ายที่ถ่ายอยู่ไม่กี่วัน ก่อนจะกลับเมืองไทย จึงถ่ายรูปกับคนไร้บ้านไว้เป็นที่ระลึก

หลังจากเดินตระเวนกินข้าวกับคนไร้บ้านได้สักสองเดือน ผมก็ค่อยๆ รู้ตัวเชิงประหลาดใจว่า ขนาดคนไร้บ้านที่ผมสนิท และรู้ว่าผมเป็นนักศึกษาที่มาคลุกคลีเพื่อศึกษาชีวิตคนไร้บ้าน ก็ยังคิดกับผมราวกับว่าผมเป็นคนไร้บ้านไม่ต่างกับพวกเขา

บ่ายวันหนึ่ง หลังจากกินข้าวที่ฟีดดิ้งโปรแกรมแห่งหนึ่งในตอนเที่ยงเสร็จ ผมมีแผนจะไปบ้านเพื่อนซึ่งเป็นเอ็นจีโออยู่ที่เมืองเกซอน ในเขตเมโทรมะนิลา ถ้านั่งรถโดยสารก็ใช้เวลาชั่วโมงกว่าถึงสองชั่วโมง ขึ้นกับว่ารถติดแค่ไหน ปกติแล้วผมไม่ชอบออกนอกสนาม แม้จะมีเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ แต่ผมก็ไม่เคยติดต่อเพื่อนเลย และไม่ค่อยชอบให้เพื่อนมาหาด้วย ผมชอบอยู่เป็นคนไร้บ้าน แต่เพื่อนคนนี้ เขาส่งลูกชายมาตามหาเมื่อวันก่อน อยากให้ไปบ้านเขา เพราะเขามีเพื่อนจากอินเดียมาดูงานชุมชนแออัด จึงอยากให้ผมได้เจอ ผมก็เลยปฏิเสธไม่ได้

ขณะที่ผมนั่งกับมาร์ลีน เธอเป็นคนไร้บ้านที่สนิทกับผมทีเดียว สักบ่ายสองโมงกว่า มาร์ลีนก็บอกผมว่า “วันนี้จะไปบ้านเพื่อนไม่ใช่เหรอ ที่นี่ไม่มีอะไรทำแล้ว จะไปบ้านเพื่อนก็รีบไปเถอะ อย่าช้าเลย” ผมฟังแล้วก็นึกล่วงหน้าในใจว่า เธอคงจะบอกว่า เดี๋ยวเย็นไปรถจะติด แต่เปล่า มาร์ลีนบอกว่า

“จะไปถึงคอมมอนเวลท์ อเวนิว (Commonwealth Avenue) เกซอนซิตี้ (Quezon City) ไม่ใช่เหรอ ไกลนะ ไม่ใช่ใกล้ๆ เดินหลายชั่วโมงกว่าจะถึง ไปได้แล้ว” คือเขานึกไม่ถึงเลยว่าผมจะมีเงินสัก 20 เปโซ (15 บาท) ขึ้นรถโดยสารไป ไม่ต้องเดิน

อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับค่าโดยสารเหมือนกัน แต่คราวนี้หนักกว่าเรื่องที่แล้วอีก มันเป็นช่วงท้ายๆ ของการลงฟิลด์แล้ว ก่อนจะกลับไทยผมจึงไปเยี่ยมเพื่อนที่ทำงานเป็นเอ็นจีโออยู่กับชนพื้นเมืองที่เมืองอินฟันต้า (Infanta) จังหวัดเกซอน ถ้านั่งรถโดยสารก็ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง ผมไปค้างกับเพื่อนสามสี่วันก็กลับมามะนิลา พอกลับมาถึง ก็มีคนถามหลายคนว่า ผมไปไหนมา ไม่เห็นหน้าหลายวัน

พอผมบอกว่าไปอินฟันต้า คนไร้บ้านคนหนึ่งก็ทำท่าตกใจ พูดว่า “อินฟันต้า น่ะเหรอ ไกลนะ เดินหลายวันเลยสิ เดินยังไงไหว” ผมนึกอยู่ในใจ นี่นึกว่าผมเป็นคนไร้บ้านเดินห้าหกวันข้ามจังหวัดขนาดนั้นเลยเหรอ

ด้วยความที่ผมต่อคิวกินข้าวฟรีตามโครงการแจกอาหาร ทำให้คนไร้บ้านหลายคนมักคิดว่า ผมเป็นคนไร้บ้านจริงๆ เงินห้าบาทสิบบาทก็คงไม่มี วันหนึ่งมีคนไร้บ้านที่ผมไม่คุ้นหน้าสองคนอยากคุยกับผม เมื่อรู้ว่าผมเป็นนักศึกษาจากเมืองไทย เขาถามผมว่ากินอยู่อย่างไร ผมบอกว่า ก็ไปตามฟีดดิ้งโปรแกรม แล้วก็เดินเก็บของเก่านิดหน่อย

เขาถามผมต่อว่า อาบน้ำที่ไหน พร้อมแนะนำว่า รู้หรือไม่ว่า แถวลีการ์ดา (Legarda) มีที่อาบน้ำแค่ 10 เปโซ (7.50 บาท) ซึ่งนับว่าถูก เพราะที่อาบน้ำตามตลาดที่แม่ค้าอาบกันเสียค่าอาบน้ำ 20 เปโซ  (15 บาท) เพื่อนเขาอีกคนก็พูดขึ้นมาว่า “เอ็งไปแนะนำให้ไปอาบน้ำที่เสียตังค์ทำไม ดูสารรูปสิ อย่างนี้จะมีเงินที่ไหนเล่า แนะนำที่ไปอาบน้ำฟรีก็พอ”

การที่ผมพูดภาษาตากาล็อกได้ ก็ยิ่งทำให้คนไร้บ้านบางคนไม่เอะใจด้วยซ้ำว่า ผมไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี แม้ผมพูดภาษาตากาล็อกได้ แต่สำเนียงยังไม่เหมือนคนฟิลิปปินส์ทีเดียวนัก แทนที่คนไร้บ้านจะคิดว่าผมไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ กลับถามผมว่า เพิ่งมาจากต่างจังหวัดหรือไง ถึงพูดตากาล็อกแบบเหน่อๆ

เรื่องทำนองเดียวกัน คราวนี้เป็นเด็กน้อยวัยสัก 12-13 ขวบ ผมเคยคุยเคยเล่นกับเธอในคราวปี 2554 แล้ว แต่ครั้งหลังในปี 2556 ผมอยู่ภาคสนามไปนานหลายเดือนแล้ว กว่าที่เธอกับแม่จะกลับมาที่ถนนอีกที ผมเลยพยายามจะคุยว่า จำผมได้มั้ย เราเคยเจอกัน แต่เธอทำท่ารำคาญ ไม่ค่อยอยากฟังผมลำดับความ เพื่อทวนความจำ เธอพูดเสียงดังทำนองว่า อะไรเล่า รำคาญ จนคนไร้บ้านคนอื่นปรามว่า พูดกับผมดีๆ หน่อย ผมนี่เป็นคนต่างประเทศ

เด็กน้อยก็ตอบว่า “คนต่างประเทศที่ไหนเล่า ก็พูดภาษาตากาล็อกอยู่นี่” จนสุดท้าย เธอก็ยังจำผมไม่ได้ ว่าเราเคยคุยเล่นกันแล้วเมื่อสองปีก่อน

เรื่องการพูดภาษาตากาล็อกที่จะบ่งบอกว่า ผมเกือบเหมือนคนท้องถิ่น คือต้องรู้คำสแลง รวมไปถึงคำสัปดนด้วย วันหนึ่งมีคนชวนผมไปดูหนัง ที่โรงหนังชั้นสองที่เสียค่าตั๋ว 30 เปโซ (22 บาท) สำหรับดูหนังวนไปวนมา ผมบอกไม่ไปดู แถวนั้นโป้กโป้ก (pogpog) เยอะ ในโรงหนังก็มีโชะปะ (shopa) ด้วย คนไร้บ้านก็หัวเราะกันฮาใหญ่ เพราะ pogpog เป็นสแลงหมายถึงโสเภณี ส่วน shopa หมายถึงการทำ oral sex แต่ว่ากันตามตรง ผมไม่ได้มีประสบการณ์ตรง แค่ฟังบาลแล้วมาพูดต่อให้ตัวเองดูเก๋าดี (ถ้าลืมไปแล้วว่า บาล เป็นใคร ก็ย้อนกลับไปอ่านตอน ปมของบาล ได้ครับ)

คนไร้บ้านอีกคนหนึ่งที่เห็นหน้ากันบ่อยมาก เพราะเขาจะมาเข้าคิวกินข้าวมื้อค่ำ ที่หน้าวัดซิกข์หรือบุมไบย์ จนเห็นหน้ากันคุ้นเคย แต่ผมไม่เคยคุยกับเขาจริงๆ เป็นเวลาหลายเดือนมาก เขาถึงมาถามผม สีหน้าซีเรียส

“จริงเหรอ มีคนบอกว่านายไม่ใช่คนฟิลิปปินส์”

พอผมบอกว่า ใช่ เขาก็ถามผมต่อ “ได้ยินมาว่านายเป็นนักศึกษา จริงเหรอ ขอดูบัตรหน่อยสิ” อันนี้เป็นเรื่องปกติในฟิลิปปินส์ที่คนจะไม่ค่อยเชื่อสถานภาพจากคำบอกปากเปล่า ต้องขอดูบัตรประกอบ พอผมเอาบัตรนักศึกษามหาวิทยาลัยวิสคอนซินให้ดู เขาก็ทำหน้าทึ่ง แบบไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ เพราะผมมีบัตรนักศึกษาเป็นการ์ดแข็งๆ น่าเชื่อถือ ไม่ใช่บัตรกระดาษทำปลอมง่าย รูปบนบัตร ก็ใช่หน้าผม แม้จะอูมกว่าตัวจริงตอนนั้นก็ตาม

จากนั้นหนุ่มคนนี้ก็คุยกับคนอื่นต่อว่า ผมไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ แน่นอนว่าคนที่ไม่ชอบผมก็ย่อมมี คนไร้บ้านคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า มีคนพูดถึงผมในทางไม่ดีว่า ผมน่าจะเป็นพวกหลบหนีคดีมาจากเมืองไทย ไม่สมควรให้อยู่ที่นี่ น่าจะถูกเนรเทศกลับไป เขาถ่ายทอดคำพูดของชายคนนี้อีกว่า “เขาไม่เชื่อเลยว่า นายเป็นนักศึกษา แถมยังท้าพนันกับคนอื่นอีกว่า นายจะอยู่ฟิลิปปินส์ไปตลอด ไม่มีทางได้กลับเมืองไทยหรอก”

ในช่วงท้ายๆ อีกเหมือนกัน ผมจำเป็นต้องขอข้อมูลสถิติของทางราชการเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ซึ่งต้องหาเวลาไปยื่นจดหมายและโทรนัดกับเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองมะนิลาไว้ว่าจะเข้าไปเอาข้อมูล คืนก่อนวันที่จะไปรับข้อมูล ขณะที่ผมกำลังเข้าคิวรออาหารที่หน้าวัดซิกข์ คนไร้บ้านคนหนึ่งซึ่งก็คุ้นหน้ากันแต่ไม่ถึงขั้นสนิท แนะนำผมว่า มีคนกำลังหาคนไปรับจ้างเดินขบวนพรุ่งนี้ ถ้าผมว่างก็ไปเผื่อได้เงินใช้ ผมก็บอกว่า คงไม่ได้ไป เพราะพรุ่งนี้มีที่ไปแล้ว จะไปที่ว่าการเมืองมะนิลา

ชายไร้บ้านคนนี้ก็ตอบว่า “เออ ไปที่ว่าการเมืองมะนิลาก็ดีเหมือนกัน ไปขอสมัครงานไว้ เผื่อเขาจะมีงานกวาดถนนให้ทำ วันละ 300 เปโซ ถ้าได้ก็ดีเลยล่ะ”

ผมฟังแล้วก็คิดอยู่ในใจว่า ถ้าเป็นช่วงสองสามเดือนแรกที่ผมเพิ่งมาลงสนาม แล้วคนอื่นๆ เห็นผมเนียนคล้ายคนไร้บ้านแบบนี้ ผมคงดีใจ แต่นี่ผมอยู่มาเป็นปีแล้ว ผมคิดไปอีกทาง เรานี่คงไม่มีแววเป็นปัญญาชนนักวิจัยเลย ใครๆ จึงคิดว่าเรานี่ เป็นคนไร้บ้านจริงๆ

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า