ประสบการณ์ในวัยเด็กจะส่งผลเป็นพฤติกรรมหลายๆ ด้านเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เหมือนที่แนวคิดจิตวิทยาที่ว่า มนุษย์ถูกขึ้นรูปไว้ตอนเด็ก และงานวิจัยชิ้นใหม่ก็แสดงให้เห็นข้อมูลความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ ถึงขั้นทำนายแนวโน้มชีวิตในอนาคตได้เลยทีเดียว
ทีมนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยดุค (Duke University) ได้ทำการวิจัยเพื่อทดสอบพัฒนาการของเด็กวัย 3 ขวบ ด้วยการเก็บคะแนน Brain Health ซึ่งเป็นการทดสอบ 45 นาที ดูการตอบสนองของเด็ก เช่น การรู้ตัว การเคลื่อนไหว ความอดทนต่อสิ่งกระตุ้น และทักษะด้านภาษา และพบว่า เด็กที่ได้คะแนนต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์มีแนวโน้มจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหา
เขารู้ได้อย่างไร
การทดสอบนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ตัวอย่างการเก็บข้อมูลอยู่ที่เมืองดะนีดิน (Dunedin) ประเทศนิวซีแลนด์ โดยใช้เด็กอาสาสมัคร 1,037 คน ที่เกิดระหว่างเมษายน 1972 ถึงมีนาคม 1973 และตามติดชีวิตจนพวกเขาอายุราว 40 ผลที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ต้องใช้และพึ่งพาบริการสาธารณะจากรัฐถึง 80 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าคนทั่วไป
เด็กที่ได้คะแนนสูงจะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ตรงกันข้าม เด็กที่เคยได้คะแนน Brain Health ต่ำว่า 20 เปอร์เซ็นต์นี้ มีแนวโน้มสูงที่จะก่ออาชญากรรม ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จนพึ่งพาระบบสังคมสงเคราะห์ หรือไม่ก็ป่วยเรื้อรัง ต้องพบแพทย์บ่อย และมีค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลสูง
หากสงสัยว่า ความยากจนและพื้นฐานครอบครัวหรือเปล่า ที่ทำให้พวกเขาโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบนี้ – ดูเหมือนจะไม่ใช่ เพราะงานที่เผยแพร่ใน Nature Human Behavior ชิ้นนี้ได้ทำการแยกเด็กที่ได้คะแนนต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ไว้เป็นสองกลุ่ม ผลปรากฏว่า ทั้งกลุ่มที่อยู่ใต้เส้นความยากจนและชนชั้นกลางมีปลายทางไม่ต่างกัน ต่างโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีโอกาสล้มเหลวด้วยกันทั้งสิ้น ฝ่ายแรกต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ ขณะที่ฝ่ายหลังต้องควักกระเป๋าใช้เงินมหาศาลเพื่อซ่อมแซมชีวิตที่ผุกร่อน
เทอร์รี มอฟฟิตต์ ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยดุค หนึ่งในทีมวิจัย บอกว่า เรื่องนี้สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการตีตรากลุ่มคนที่มีชีวิตล้มเหลว และคะแนน Brain Health นี้ไม่ใช่มาตรวัดที่จะสามารถตัดสินอนาคตคนได้ตั้งแต่เด็ก เธอบอกว่า จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้คือ หาความเชื่อมโยงของพัฒนาการในวัยเด็กที่จะส่งผลไปถึงตอนโต เพื่อที่ให้คนเห็นความสำคัญของการศึกษาในวัยเตรียมอนุบาล และหาแนวทางการดูแลเด็กให้ดีกว่าเดิม ไม่ใช่ส่งพวกเขาไปเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องรับการบำบัดในอนาคต
นอกจากนี้มอฟฟิตต์ยังพยายามชี้ให้เห็นว่า ผู้ใหญ่ที่เติบโตขึ้นมาเป็นอาชญากร หรือประสบปัญหาชีวิต ไม่ควรถูกมองว่าเป็นพวก loser สังคมควรให้ความช่วยเหลือและเข้าใจมากขึ้น เพราะชีวิตคนนั้นต่างกัน ขณะที่สามีของมอฟฟิตต์ ศาสตราจารย์อัฟชาลอม คาสปี จากคิงส์คอลเลจ (King’s College London) บอกว่า ผลวิจัยชิ้นนี้จะช่วยให้รัฐบาลหันมาสนใจการดูแลเด็กเล็กมากขึ้น เช่น ให้ความช่วยเหลือครอบครัว ดูแลพัฒนาการเด็กในวัยเริ่มต้น เพื่อให้มนุษย์คนหนึ่งได้มีจุดเริ่มต้นชีวิตที่ดีกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม มอฟฟิตต์กล่าวถึงข้อสรุปงานวิจัยนี้ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผลร้ายจะเป็นอย่างไรถ้าเด็กไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลที่ดีในวัยเตรียมอนุบาล ผลออกมาถูกต้องสำหรับเด็กที่เกิดในยุค 1970 แต่อาจจะผิดสำหรับเด็กที่เกิดในยุค 2020 ก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก: qz.com
sputniknews.com
bbc.com