โสเภณีเด็ก: ชีวิตที่คู่ขนานกับการถ่ายทอดสดโอลิมปิก

2016-08-16 brazil 02

หน้าจอทีวี สายตานับล้านคู่ทั่วโลกกำลังรับชมการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่เดินทางมาถึงช่วงท้ายๆ ของทัวร์นาเมนท์ ดังที่พบเห็นในข่าวตลอดระยะเวลาแรมปีที่ผ่านมา ปัญหามากมายในบราซิลถูกกวาดไว้ใต้พรมก่อนโอลิมปิกรีโอเดจาเนโร 2016 จะเริ่มต้นขึ้น

ภายใต้ฉากที่ชาติเจ้าภาพพยายามปรุงแต่ง แต่บราซิลยังคงเป็นบราซิล มีภาพอีกมากมายที่ถูกผลักให้ออกไปจากมุมกล้องและการรับรู้ของสายตาชาวโลก ยกตัวอย่างเช่น ไม่ไกลจากบ้านพักนักกีฬา เด็กหญิงอายุอย่างน้อย 9 ขวบ ยืนขายบริการทางเพศเพื่อแลกกับเงินเพียง 4 ดอลลาร์ หรือประมาณ 140 บาท

ปัญหาก้อนใหญ่ใต้พรม

จาก ฟอร์ทาเลซา (Fortaleza – หนึ่งในสนามที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2015) มาถึง เซาเปาโล ที่ตั้งของอารีนาเดโครินเธียนส์ (Arena de Corinthians) สังเวียนฟุตบอลในโอลิมปิก 2016 ผ่านทางหลวง BR-116 ที่ยาว 4,600 กิโลเมตร ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เส้นทางหากิน’ ที่เด็กหญิงนับพันที่อายุประมาณ 10 ขวบจากเมืองต่างๆ ถูกจับมาขายบริการทางเพศ

ถนนที่เรียกกันว่า ‘ถนนแห่งความตาย’ (Rodovia da Morte) เนื่องจากระยะทางยาวไกล และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ตลอดเส้นทางจึงมีจุดพักรถบรรทุก 262 แห่ง และสถานที่เหล่านี้เอง ที่ครอบครัวยากจนพาลูกสาวมาเสนอขายให้กับบรรดาคนขับรถในราคาไม่เกิน 500 บาท

สถิติการค้ามนุษย์ของสหรัฐ U.S. State Department of Trafficking in Persons Report และตำรวจบราซิลประมาณตัวเลขว่า เด็ก 250,000 – 400,000 คนถูกนำมาขายเป็นโสเภณีเด็กในซ่อง โรงแรมริมทาง พื้นที่แถบรีสอร์ต รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว

จำนวนโสเภณีเด็กเพิ่มขึ้นตั้งแต่ฟุตบอลโลกปี 2015 เพราะมีนักท่องเที่ยวชายเดินทางมาจากหลายแห่งทั่วโลกเพื่อชมการแข่งขันกีฬาระดับชาติ เช่นเดียวกับโอลิมปิกที่รีโอเดจาเนโร ในตลาดค้ากาม นี่คือโอกาสทางที่เรียกได้ว่า ‘น้ำขึ้นให้รีบตัก’ มีการจัด sex tourists เกือบเต็มรูปแบบ ตั้งแต่สนามบิน คนขับแท็กซี่ หรือแม้แต่พนักงานโรงแรม ก็สามารถหาเด็กสาวมาให้ร่วมหลับนอนได้

ตามข้อมูลของ Belo Horizonte กลุ่ม NGO ในบราซิล ตลาดค้ามนุษย์จะทวีความคึกคักมากขึ้น และเรื่องเศร้ามีอยู่ว่า เด็กสาวส่วนหนึ่งรอให้ถึงวันที่เธอจะ ‘ถูกซื้อ’ มาถึง เพราะนั่นหมายถึงรายรับที่มากขึ้น พร้อมๆ กับโอกาสที่จะออกไปพ้นจากบราซิล

เรื่องธรรมดาของบราซิล

เด็กหญิงหลายคนเข้าสู่วงการเพราะครอบครัวของพวกเธอเอง ความยากจนคือสาเหตุหลักของการขายลูกสาว ตามแนวคิดของคนยากจนในบราซิล การกระทำแบบนี้เป็นเรื่องแสนธรรมดา ไม่มีอะไรผิด และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ มา โสเภณีเด็กก็เป็นสิ่งที่ ‘รับได้’ สำหรับชาวบราซิล

โจอันนา มารานเฮา (Joana Maranhao) อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติบราซิล ผู้ก่อตั้งองค์กร Infancia Livre (Free Childhood) เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เปิดเผยเรื่องตอนเด็กว่า เธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศซ้ำแล้วซ้ำเล่า และผู้กระทำก็ไม่มีความผิด เพราะในบราซิล การล่วงละเมิดทางเพศแทบไม่ถูกจับดำเนินคดี

แมตต์ โรเปอร์ ผู้ก่อตั้ง Meninadanca องค์กรการกุศลผู้ช่วยเหลือเด็กที่ถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศในบราซิล และผู้เขียนหนังสือ BR-116: Highway to Hell, Remember Me rescue Me and Street Girls ให้ข้อมูลว่า เด็กบางคนต้องขายบริการให้กับผู้ชายแปดคนต่อคืน บางคนถูกบังคับให้แต่งงานกับคนแก่ และมีไม่น้อยที่ไม่สามารถหลุดจากวงจรนี้ได้เพราะยาเสพติด

โรเปอร์อธิบายว่า ในอังกฤษ หากครูล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงอายุ 17 ปี ครูคนนั้นจะถูกตัดสินจำคุก แต่ที่บราซิล การมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุ 12 ไม่นับเป็นการข่มขืน ไม่ใช่อาชญากรรม เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่อยู่คู่กับสังคมมานาน

เด็กหญิงหลายคนถูกขายเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว ส่วนหนึ่งถูกแก๊งค้ากามล่อลวงว่าจะให้งานทำ มีชีวิตที่ดีขึ้น เด็กอายุ 13-15 ปี คล้อยตามคำสัญญาว่าจะได้เป็นนางแบบ ก่อนถูกนำไปขายเป็นโสเภณีเด็กในซ่องเพื่อรองรับลูกค้าระดับสูง และเมื่อพวกเธอตกเป็นสมบัติของแก๊ง โอกาสกลับมาชีวิตเหมือนเดิมก็แทบไม่มีเหลือ

“ปลายทางของเด็กอายุ 13 คือโรงพยาบาล เธอทุกข์ทรมานจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกบังคับให้ดูหนังโป๊ตั้งแต่ 9 ขวบ และพวกผู้ชายก็ยอมเสียเงินเพื่อมาใช้บริการกับเธอ”

ตัวอย่างเช่น เจสซิกา วัย 12 ปี จากเมืองเล็กๆ บนถนน BR-116 ถูกล่อลวงให้ใช้ยาในงานปาร์ตี้ จากนั้นเธอก็ถูกพาขึ้นรถไป เด็กสาวที่โดนลักพาตัวมาพร้อมๆ กับเจสซิกา ถูกนำไปขายที่เมืองชายหาดฟอร์ทาเลซา แม่เล้าบังคับให้พวกเธอ ‘จ่ายค่าเดินทาง’ ด้วยการมีเซ็กส์กับพวกคนขับรถบรรทุก และ ‘จ่ายค่าอาหาร’ ด้วยการมีเซ็กส์กับนักท่องเที่ยว เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ เจสซิกาก็ถูกนำตัวกลับมาส่งที่บ้าน

สำรวจผู้ค้าในตลาด

จากการสำรวจย่านค้ากามในรีโอของโรเปอร์ เขาได้ข้อมูลว่า ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เด็กสาวที่มาขายบริการอายุน้อยลง แต่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีลูกค้าหลายระดับใช้บริการ ตั้งแต่เจ้าของร้านค้า พนักงานรัฐ ตำรวจ และนักการเมืองท้องถิ่น

“พวกพ่อค้าหรือคนที่เข้ามาหาผลประโยชน์อาจทำให้ตัวเลขการค้ามนุษย์สูงขึ้น แต่ถึงจำนวนโสเภณีเด็กจะไม่ได้เพิ่มขึ้นจริง ชีวิตของพวกเธอเหล่านั้นก็ถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ”

ธุรกิจมืดนี้ส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้มีอิทธิพล กลุ่มค้ายาเสพติด และอาชญากร ที่น่าสังเกตคือ ‘แม่เล้า’ หรือนักค้ามนุษย์ที่เป็นผู้หญิง มีจำนวนถึง 43 เปอร์เซ็นต์ของผู้ค้าในตลาด จากข้อมูล Brazil’s United Nations Office on Drugs and Crime บรรดาดีลเลอร์ผู้ทำหน้าที่ตั้งแต่คัดเลือกเด็กสาวจนส่งขายถึงมือลูกค้า มีจำนวนเพิ่มขึ้น 41 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว

 


                อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com
news.com.au
huffingtonpost.co.uk
foxnews.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า