ภูมิทัศน์การต่างประเทศกัมพูชา ภายใต้นายกฯ ฮุน มาเนต จับสัญญาณสืบทอดอำนาจ สานต่อนโยบายตามรอยพ่อ

อีกหนึ่งประเทศที่กระแสการจัดตั้งรัฐบาลเป็นที่สนใจของนานาประเทศในภูมิภาคเอเชีย นอกจากไทยแล้วก็คือกัมพูชา หลังจากที่ ฮุน เซน (Hun Sen) ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยันว่าจะไม่รับตำแหน่งในรัฐบาลชุดใหม่ โดยสนับสนุนให้ ฮุน มาเนต (Hun Manet) บุตรชาย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชาแทน และได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2023 

สิ่งที่เป็นความแปลกใหม่ในการจัดตั้งรัฐบาลกัมพูชาครั้งนี้อยู่ที่พื้นเพการศึกษาของฮุน มาเนต ที่แทบจะเรียกได้ว่าถูกบ่มเพาะมาจากสถาบันการศึกษาของโลกตะวันตกล้วนๆ ตั้งแต่โรงเรียนนายร้อย United States Military Academy (West Point) ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) และปริญญาเอกในสาขาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol)

นักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองต่างประเทศบางกลุ่มจึงพากันคาดคะเนไว้ว่า ฮุน มาเนต จะเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติแบบหัวก้าวหน้า เข้ามาเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของกัมพูชาไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ และเป็นมิตรกับกลุ่มประเทศโลกตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (EU) มากขึ้นกว่าในยุคฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ปล่อยให้มีการคุกคามสื่อมวลชน และการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของกลุ่มพรรคฝ่ายค้าน จนถูก EU คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (Everything but Arms: EBA) ทำให้กัมพูชาต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากต้องการจะส่งสินค้าเข้าไปขายในตลาดของกลุ่มประเทศสมาชิก EU

ผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือเดินตามรอยพ่อ

ว่ากันตามตรง ประเด็นดังกล่าวนั้นออกจะมีความเป็นไปได้ยากสักนิด เนื่องจากหากพิจารณาเอาที่รูปแบบการรณรงค์หาเสียง และลักษณะการสนทนาปราศรัยของฮุน มาเนต ที่ผ่านๆ มานั้นดูจะไม่ค่อยผิดแผกไปจากฮุน เซน เท่าใดนัก แน่นอนจุดนี้ตีความออกมาได้ 2 มุม ประการแรก คือ ฮุน มาเนต อาจจะตั้งใจส่งสัญญาณถึงความต่อเนื่องในแนวทางการบริหารพรรค Cambodian People’s Party (CPP) และรัฐบาลที่รับช่วงต่อมาจากฮุน เซน หรือในอีกกรณีหนึ่งคือ ฮุน เซน ยังคงเป็นผู้กุมอำนาจทั้งหมดภายในรัฐบาลไว้เช่นเดิม หากแต่เพียงแค่เลือกถอยกลับไปอยู่ในเบื้องหลังแทน 

ทั้งนี้ ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ทั้ง 2 กรณีข้างต้นต่างก็ไม่ได้สะท้อนถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในกัมพูชาดังที่หลายๆ ฝ่ายคาดหวัง

และต่อให้ฮุน มาเนต ได้รับอิสระในการดำเนินนโยบายจากฮุน เซน ก็ไม่ได้รับประกันว่ากัมพูชาจะเปลี่ยนทิศทางไปเอนเอียงเข้าหากลุ่มประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา และ EU ตามพื้นเพการศึกษาของตนเองเสียทีเดียว เพราะหากย้อนกลับไปพินิจเอาจากตัวอย่างในประเทศเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียง อาทิ คิม จอง อึน (Kim Jong Un) ผู้นำเกาหลีเหนือเองก็เป็นศิษย์เก่าจากระบบการศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์ แต่เมื่อกลับมารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือในฐานะทายาทของ คิม จอง อิล (Kim Jong Il) ก็ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในด้านนโยบายต่างประเทศของเกาหลีเหนือ และท่าทีของเกาหลีเหนือในเวทีโลกก็ยังคงเป็นรัฐอันธพาล (rogue state) ที่ชื่นชอบการยิงมิสไซล์ลงน้ำทะเลเพื่อขู่ประเทศเพื่อนบ้านเล่นๆ อยู่ดังเดิม

ดังนั้น ในภาพรวมหากจะพิจารณามิติด้านการต่างประเทศ และนัยทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคที่ออกมาจากรัฐบาลใหม่ของกัมพูชา คงต้องกระทำโดยยึดจากฐานของตระกูลฮุน ที่ยังคงเป็นผู้เล่นรายหลักในการกำหนดนโยบายต่างประเทศอยู่ 

ภายใต้ฐานดังกล่าวนี้ ก็พอจะบอกได้ในเบื้องต้นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฮุน เซน วางรากฐานนโยบายต่างประเทศเอาไว้ค่อนข้างดี กล่าวคือ กัมพูชาสามารถดำรงรักษาอิสระในการกำหนดนโยบายของตนเองเอาไว้ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง โดยไม่ได้ถูกประเทศมหาอำนาจใดๆ เข้ามามีบทบาทจนเสียความสมดุลมากเกินไป ไม่ว่าจะจีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เวียดนาม หรือญี่ปุ่น 

แม้ว่าในทางทฤษฎีนั้น จีนอาจจะดูเป็นผู้เล่นทางภูมิรัฐศาสตร์รายใหญ่ที่มีบทบาทสูงต่อกัมพูชา จากบทบาทการเป็นเจ้าหนี้ที่ครองสัดส่วนกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ จากหนี้ต่างประเทศทั้งหมดประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนหลักในเงินทุนความช่วยเหลือ (foreign aid) ด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งถนน โรงเรียน สนามกีฬา อ่างเก็บน้ำ หรือแม้แต่ฐานทัพเรือ และสถานที่ท่องเที่ยว แต่ในทางปฏิบัตินั้น กัมพูชาก็ยังพยายามมองหาแหล่งทุนจากผู้เล่นอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย ซึ่งก็คือ ญี่ปุ่น เพื่อนำมาคานอำนาจกับจีน โดยสิ่งที่สะท้อนถึงไหวพริบด้านยุทธศาสตร์การต่างประเทศของกัมพูชาช่วงที่ผ่านมาคือ การนำความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อจีนมาเป็นเครื่องมือต่อรองไม่ให้ทั้งสหรัฐอเมริกา และ EU นำมาตรการทางการทูตมาใช้กดดันกัมพูชามากจนเกินไป 

ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ว่า ถึงแม้รัฐบาล โจ ไบเดน (Joe Biden) จะแสดงความไม่พึงพอใจต่อการจัดเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสในกัมพูชา ปี 2023 นี้ แต่สิ่งที่รัฐบาลไบเดนกระทำเพื่อกดดันนั้น ก็เป็นเพียงมาตรการสถานเบา เช่น การแบนวีซ่าของบุคคลในรัฐบาลกัมพูชา และการระงับโครงการความช่วยเหลือระหว่างประเทศบางโครงการ ซึ่งไม่ได้สร้างผลกระทบที่รุนแรงใดๆ ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาแม้แต่น้อย จุดนี้สะท้อนว่ารัฐบาลของไบเดนตระหนักดีถึงผลกระทบที่อาจตามมา หากใช้มาตรการกดดันที่สร้างความเสียหายรุนแรงต่อกัมพูชา ซึ่งรังแต่จะสร้างแรงผลักดันให้กัมพูชาเอนเอียงไปหาจีนมากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับกรณีของ EU ที่เคยเพิกถอนสิทธิ EBA ของกัมพูชาไปเมื่อปี 2020 แต่ไม่กี่เดือนให้หลังจากนั้น อังกฤษก็เสนอสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System of Preference: GSP) ให้แก่สินค้ากัมพูชาเพื่อทดแทนสิทธิที่ EU เพิกถอนออกไป 

จุดยืนกัมพูชาบนเวทีโลก

จุดเด่นของนโยบายต่างประเทศกัมพูชาอีกข้อหนึ่ง คือ กัมพูชาทราบมาตลอดว่าในตลาดการค้าอาวุธสงครามของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีรัสเซียเป็นเจ้าตลาด ครองมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังพยายามเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในลาว ทำให้เมื่อครั้งที่รัสเซียประกาศปฏิบัติการทางทหารในยูเครน กัมพูชาจึงร่วมขบวนกับสหรัฐอเมริกาในการประณามรัสเซียผ่านเวทีสหประชาชาติ อีกทั้งยังเสนอแผนให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ยูเครน ด้วยการจัดโครงการฝึกฝนการเก็บกู้กับระเบิด (deminers training) ให้แก่ยูเครน โดยได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น 

จะเห็นว่ากัมพูชานั้นมีรูปแบบการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ค่อนข้างอิสระ และสามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์ที่มีต่อมหาอำนาจหลายประเทศให้สอดคล้องกับผลประโยชน์แห่งชาติของตนได้เป็นอย่างดี

โดยสรุปแล้ว ภูมิทัศน์การต่างประเทศของกัมพูชาอาจจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันภายใต้การบริหารของฮุน มาเนต เพราะสัญญาณที่สื่อออกมาจากทั้งฮุน เซน และ ฮุน มาเนต ต่างก็มีนัยยะถึงเสถียรภาพและความต่อเนื่องในการปกครอง ฉะนั้น สิ่งที่น่าจับตามองหลังจากนี้อยู่ที่ว่า ฮุน มาเนต จะได้รับอิสระในการกำหนดและออกแบบนโยบายต่างประเทศจากฮุน เซน มากน้อยเพียงใด หากสามารถกำหนดแนวทางของตนเองได้ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ก็น่าสนใจว่า ฮุน มาเนต จะบริหารจัดการความสัมพันธ์ที่กัมพูชามีต่อประเทศมหาอำนาจแตกต่างไปจากผู้เป็นบิดาอย่างไร เพราะระบบและรูปแบบโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ฮุน เซน เคยวางเอาไว้ มีผลต่อทิศทางและจุดยืนของกัมพูชาบนเวทีโลกมาก

โดยเฉพาะในกรณีที่ฮุน มาเนต เลือกจะปรับฟื้นสัมพันธ์กับ EU หรือสหรัฐอเมริกา จะออกแบบวิธีการอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบต่อสมดุลความสัมพันธ์ที่มีต่อจีนช่วงที่ผ่านมา เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แนวทางของกัมพูชาประกอบด้วยการพึ่งพาทางเศรษฐกิจและการทหารจากจีน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังพึ่งพาการช่วยเหลือจากมหาอำนาจอื่นๆ ในขั้วของสหรัฐอเมริกา เช่น ญี่ปุ่น และอังกฤษด้วย พร้อมๆ ไปกับการแสดงบทบาทเชิงรุกบนเวทีสหประชาชาติ อย่างการส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม (humanitarian assistance) ไปยังต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเกมที่ซับซ้อนพอสมควรในการที่จะนำไปปรับแก้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแผนในภาพใหญ่ ระหว่างปรับความสัมพันธ์กับขั้วของสหรัฐอเมริกาใหม่ทั้งหมด หรือเพียงแค่ดำเนินการปรับแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ เพื่อเจรจาขอลดหย่อนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจลง

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ต้องพึงพิจารณาไม่แพ้กันเลย คือ ความสัมพันธ์ที่กัมพูชามีต่อไทยจะออกมาในรูปแบบใด ยิ่งในช่วงที่ผ่านมากัมพูชามีประเด็นพิพาททางการทูตกับไทยหลายข้อ โดยกรณีล่าสุดที่กลับมาเป็นประเด็นคือ การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยใกล้ๆ เกาะกง ที่ถูกประเมินไว้ว่าเป็นแหล่งปิโตรเลียมสำคัญ มูลค่ามากกว่า 5,000,000 ล้านบาท ซึ่งรอการขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่ อาจจะกลายเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบให้ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทยเข้าสู่ภาวะคุกรุ่นอีกครั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า ‘ตระกูลฮุน’ จะนำความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อ ‘ตระกูลชินวัตร’ มาใช้เป็นองค์ประกอบร่วมกับการเจรจาในครั้งถัดๆ ไปหรือไม่

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า