Can we do more?: ผ่าทางตันสงครามอิสราเอล-ฮามาส เมื่อเสียงร้องของพลเมืองเน็ตไร้ความหมาย พลังออนไลน์ถูกเมิน

ณ ราฟาห์ จุดผ่านแดนทางตอนใต้สุดของฉนวนกาซา ประตูของผู้ลี้ภัยสงครามอิสราเอล-ฮามาส สู่ประเทศอียิปต์ ชาวปาเลสไตน์กว่า 1.2 ล้านคน จำต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์คับแคบและร้อนระอุกลางทะเลทราย จากคำสั่งอพยพหลังการโต้กลับจากอิสราเอลในช่วงเดือนตุลาคมเมื่อปีกลาย

ในคืนวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2024 ชีวิตของชาวปาเลสไตน์บางส่วนถูกพรากไป จากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลอย่างกะทันหัน การทำลายล้างครั้งนี้คร่าชีวิตพลเรือน 45 คน ซึ่งรวมถึงผู้หญิง คนชรา และเด็ก 23 คน การทำลายล้างของขีปนาวุธทิ้งไว้เพียงซากปรักหักพังและความหวาดผวาที่ปกคลุมทางตะวันตกของราฟาห์ 

 “มันไม่มีสถานที่ปลอดภัยในฉนวนกาซา ความสยดสยองนี้ต้องจบลง”

แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ

วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงนี้ได้ประจักษ์ชัดต่อสายตาชาวโลก ดังที่ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกมายอมรับต่อที่ประชุมรัฐสภาอิสราเอลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “ความผิดพลาดที่น่าเศร้า”

ในขณะที่ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง ณ จุดผ่านแดนราฟาห์ แต่ในขณะเดียวกันการเรียกร้องเพื่อสันติภาพและความยุติธรรมก็ได้เกิดขึ้น ณ โลกอินเทอร์เน็ตอันไร้พรมแดน

All Eyes On Rafah ปรากฏการณ์เรียกร้องมนุษยธรรมออนไลน์

ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ สัญญาณแห่งความหวังได้ปรากฏทางออนไลน์ เพียงชั่วข้ามคืน เทมเพลตภาพที่สร้างโดย AI เป็นรูปมุมสูงของทะเลทรายที่มีเต็นท์ผู้ลี้ภัยเรียงกัน เป็นวลี ‘All Eyes On Rafah’ ได้ปรากฏขึ้นบน Instagram โดยมีผู้รีโพสต์ซ้ำมากกว่า 48 ล้านครั้ง 

การตระหนักรู้ทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นนี้เกิดขึ้นจากการรวมพลังในการรีโพสต์ของชาวเน็ต ดารา นักแสดง และคนดังระดับโลกที่ต่างพร้อมใจกันเป็นกระบอกเสียงเพื่อเน้นย้ำถึงความเลวร้ายของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้บริสุทธิ์ในราฟาห์ กระแสบนโลกออนไลน์ได้ดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

ในขณะที่ประชาคมโลกกำลังจดจ้อง คำถามที่สำคัญคือ คลื่นขบวนการเคลื่อนไหวออนไลน์นี้จะแปรเปลี่ยนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้จริงหรือไม่ 

แม้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่กระจายข่าวออกไปเป็นวงกว้าง จะดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกให้หันมามองชะตากรรมของผู้บริสุทธิ์ที่ถูกพรากชีวิตไปในราฟาห์ แต่ความขัดแย้งระหว่างชาติที่ซับซ้อนและหยั่งรากลึกนี้ทำให้เกิดคำถามว่า แฮชแท็กและรีโพสต์สามารถโน้มน้าวการตัดสินใจทางการเมืองและนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงครั้งนี้ได้หรือไม่

All eyes on Rafah เครื่องมือดิจิทัลที่ทรงอานุภาพ แต่อาจไม่เพียงพอ

ในยุคดิจิทัล แพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความตระหนักรู้และระดมการสนับสนุนสำหรับปัญหาที่สำคัญ แคมเปญ All Eyes On Rafah เป็นข้อพิสูจน์ถึงเรื่องนี้ เนื่องจากได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และเน้นย้ำถึงสถานการณ์เลวร้ายในราฟาห์ ความสามารถของโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ข้อมูลอย่างรวดเร็วมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรม ด้วยความตั้งใจของเหล่าคนดัง นักเคลื่อนไหว และชาวเน็ต ทำให้ในชั่วข้ามคืนผู้คนนับล้านทั่วโลกได้รับรู้ถึงชะตากรรมอันน่าเศร้าของชาวราฟาห์

ผลกระทบของแคมเปญออนไลน์ไม่ได้จำกัดเพียงการสร้างความตระหนักรู้ แต่ยังนำไปสู่การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย มีการบริจาคหลั่งไหลเข้ามาจากทั่วโลก เพื่อมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่ครอบครัวที่สูญเสียที่พักอาศัยและไร้ซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิต ในสภาวะการณ์เช่นนี้การสนับสนุนทางการเงินย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตอบสนองความขาดแคลนปัจจัยต่างๆ เช่น เวชภัณฑ์ อาหาร และที่พักพิงในสภาวะวิกฤต

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในการส่งความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไปยังปลายเหตุ แต่ข้อจำกัดของการเคลื่อนไหวทางออนไลน์ก็ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในการแก้ไขที่ต้นตอของวิกฤตการณ์

กระแสสนับสนุนล้นหลาม แต่เหตุใดวิกฤตการณ์จึงยังไม่คลี่คลาย?

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Slacktivism’ อันหมายถึง การที่บุคคลมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองโดยใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อย เช่น การแชร์โพสต์หรือการกดไลก์ โดยไม่คิดจะดำเนินการใดๆ ที่มากกว่านี้ มักจะส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมเพียงผิวเผิน แม้ว่าคนหลายล้านคนอาจรีโพสต์หรือแฮชแท็กซ้ำๆ แต่มีคนเพียงไม่กี่หยิบมือเท่านั้นที่จะลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยการกระทำที่เป็นรูปธรรมมากกว่า เช่น การเป็นอาสาสมัคร การเข้าร่วมประท้วง หรือการบริจาค

การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ไม่ว่าจะแพร่หลายเพียงใด สุดท้ายมักจะล้มเหลวในการดำเนินการทางการเมืองหรือเพื่อมนุษยธรรมที่จับต้องได้ การสนับสนุนออนไลน์จำนวนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแทบไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายหรือการแทรกแซงทางการทูตที่จำเป็นเพื่อแก้ไขต้นตอของความขัดแย้ง 

พลังแห่งการแชร์ อาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

ศาสตราจารย์เซเนป ตูเฟคซี (Zeynep Tufekci) แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ให้เหตุผลว่า แม้โซเชียลมีเดียจะสามารถเผยแพร่การรับรู้และระดมผู้คนได้อย่างรวดเร็วก็จริง แต่ขาดโครงสร้างองค์กรและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการทางการเมืองที่ยั่งยืน ตูเฟคซีตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบดั้งเดิมมีความสัมพันธ์กับความมุ่งมั่นในระยะยาวมากกว่า ทั้งการจัดตั้งแบบซึ่งหน้า (face-to-face) และการวางแผนเชิงกลยุทธ์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ อันเป็นสิ่งที่ไม่มีในการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ กล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์นั้นควรเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างสภาวการณ์ที่จะนำไปสู่การเคลื่อนไหวรูปแบบดั้งเดิม มิใช่วิธีการหลักที่ควรยึดถือในการเรียกร้อง

ข้อจำกัดที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางออนไลน์คือ ข้อจำกัดทางกายภาพ แม้ว่าแคมเปญดิจิทัลจะนำมาสู่การระดมแรงสนับสนุนและระดมทุนได้จริง แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งปฏิบัติการทางทหารหรือปกป้องพลเรือนได้ สถานการณ์ในราฟาห์จึงจำเป็นต้องมีการแทรกแซงทางกายภาพและการประสานงานจากองค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลต่างๆ เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงที่ยั่งยืน

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เยฟเจนี โมโรซอฟ (Evgeny Morozov) ได้แสดงความเห็นต่อการเคลื่อนไหวอาหรับสปริง (Arab Springs) ที่ล้มเหลวเมื่อทศวรรษก่อนไว้ว่า การพึ่งพาการเคลื่อนไหวทางดิจิทัลเป็นหลัก อาจสร้างความเข้าใจผิดๆ ต่อระดับความสำเร็จในการเรียกร้องทางการเมือง ที่อาจนำไปสู่การลดจำนวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและสร้างผลลัพธ์ได้ดีกว่า เพราะผู้คนบนโลกออนไลน์มักทึกทักเอาเองว่า การกดแชร์หรือการรีโพสต์เพียงพอแล้วสำหรับการเรียกร้องทางการเมืองในยุคดิจิทัล โมโรซอฟจึงร้องขอให้ชาวเน็ตวางหน้าจอโทรศัพท์ลงและเพิ่มความพยายามขึ้นอีกสักนิด

ในทำนองเดียวกัน Malcolm Gladwell (มัลคอล์ม แกลดเวลล์) นักเขียนชื่อดังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวต้องเตรียมใจที่จะรับความเสี่ยงนั้น นี่เองเป็นสิ่งที่มักขาดหายไปในการมีส่วนร่วมทางออนไลน์

เช่นเดียวกับในกรณีราฟาห์ การเคลื่อนไหวจำเป็นต้องมีแนวทางที่หลากหลาย ก้าวพ้นจากพรมแดนดิจิทัลและกลับมาสู่โลกกายภาพ แต่ในประเด็นความขัดแย้งในรัฐที่เรามิได้สังกัดอยู่หรือมิได้เกี่ยวพันโดยตรง เราจะต่อสู้อย่างไร?

(Photo: Wafa News Agency)

เหตุใดอิสราเอลจึงไม่ใส่ใจเสียงร้องของเรา

แม้จะมีเสียงเรียกร้องเรือนล้านบนโซเชียลมีเดีย แต่ผู้กำหนดนโยบายของอิสราเอลก็คงไม่สะทกสะท้านกับเสียงของปัจเจกชนที่มิใช่พลเมืองในสังกัดตน เพราะความสลับซับซ้อนของการตัดสินใจในการเมืองระหว่างประเทศนั้นมีมากกว่าการทำตามเสียงส่วนใหญ่ในสังคมโลก

การตัดสินใจของรัฐในสภาวะสงครามเช่นนี้ขึ้นอยู่ปัจจัยหลายประการ เช่น ข้อกังวลด้านความมั่นคง การคงไว้ซึ่งชาติพันธมิตร และอำนาจอธิปไตยของชาติ การตัดสินใจของอิสราเอลในสงครามครั้งนี้จึงอยู่บนฐานของการคิดคำนวณเชิงกลยุทธ์และการพิจารณาทางภูมิรัฐศาสตร์ ความจริงที่เราควรตระหนักคือ อิสราเอลไม่มีทางจะแยแสต่อการประท้วงบนโลกออนไลน์ในทางตรง ดังนั้นกิจกรรมออนไลน์ที่ฉาบฉวยจึงไม่อาจนำไปสู่คำสั่งหยุดยิงได้

การเคลื่อนไหวในโลกเสมือนควบคู่กับโลกจริง

ในระบบการเมืองระหว่างประเทศ รัฐคือผู้มีบทบาทหลัก แม้ว่าตัวแสดงที่ไม่ใช่ภาครัฐ เช่น องค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศ (International Non-Governmental Organization: INGO) และองค์การภาคประชาสังคม (International Civil Society Organization: ICSO) จะมีบทบาทสำคัญในโลกสมัยใหม่ ด้วยการทำงานขององค์การเหล่านี้ การระดมทุนและการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงครามล้วนเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่อย่างไรก็ตามอำนาจสูงสุดเหนือดินแดนและสิทธิ์ออกเสียงในกลไกระหว่างประเทศอันจะไปสู่กระบวนการสันติภาพนั้น ยังขึ้นอยู่กับรัฐชาติอย่างไม่อาจพรากไปได้ ดังนั้นแม้ว่าตัวแสดงอื่นๆ จะมีบทบาทมากเท่าไรก็ตาม แต่หน้าที่ในการแก้ไขต้นตอของวิกฤตต่างๆ ยังคงเป็นพันธกิจร่วมกันของสมาชิกของประชาคมโลกอย่างรัฐชาติ

“รัฐมีความรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและศีลธรรม เพื่อป้องกันความโหดร้ายและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

คำแถลงของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นย้ำถึงหน้าที่ของรัฐชาติ โดยเรียกร้องให้รัฐต่างๆ ดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันการโจมตีทางทหารเพิ่มเติม และขอให้มีการหยุดยิงถาวร คำกระตุ้นการตัดสินใจนี้สะท้อนให้เห็นความเข้าใจถึงสภาพจริงว่า การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและสร้างผลกระทบได้นั้นจำเป็นต้องมีการแทรกแซงจากรัฐ การเรียกร้องออนไลน์และแคมเปญบนโซเชียลมีเดียแม้จะมีความสำคัญ แต่ก็จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างแรงกดดันทางการเมืองให้รัฐบาลต่างๆ ยืนหยัดและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เคยได้ให้สัตยาบันไว้

แถลงการณ์ข้างต้นตอกย้ำความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่รัฐเป็นตัวแสดงที่มีอิทธิพลสำคัญ (state-dominated) ยังคงเป็นรากฐานสำคัญในระเบียบโลก

เพื่อให้เสียงของพวกเรามีอิทธิพลต่อประชาคมระหว่างประเทศ เราต้องสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาลของเราเอง การเรียกร้องจึงจำเป็นต้องไปไกลมากกว่าแค่ช่องทางออนไลน์ โดยต้องใช้ความพยายามอย่างเป็นระบบในการมีส่วนร่วมกับตัวแทนทางการเมืองไปจนถึงการชุมนุมในที่สาธารณะ และใช้กลไกประชาธิปไตยทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีกระแสเรียกร้องจากสาธารณชนให้รัฐหันกลับไปมองวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่กำลังพยายามเมินเฉย 

แนวทางสองประการที่ควบคู่กันไป โดยรวมการเคลื่อนไหวออนไลน์เข้ากับแรงกดดันทางการเมืองที่จับต้องได้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง แนวทางนี้จะช่วยให้แน่ใจว่าความพยายามของเราได้รับการยกระดับจากความคับข้องใจส่วนบุคคลไปสู่ความสำคัญระดับชาติ โดยบังคับให้ผู้นำของเราเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ

Bedouins in a camp in South Hebron Hills. Palestine 2011.
(Photo: peoplesdispatch.org)

แล้วรัฐของเราจะทำตามไหม?

เราในฐานะพลเมืองของรัฐมีสิทธิ์โน้มน้าวกดดันให้รัฐบาลของตนใช้กฎหมายและกลไกระหว่างประเทศเพื่อการแทรกแซงด้านมนุษยธรรมแทนเราที่เป็นเพียงปัจเจกชนผู้ไร้สิทธิ์เสียงในประชาคมโลก

เนื่องจากเราได้มอบอำนาจให้กับรัฐบาลในกิจการระหว่างประเทศผ่านสัญญาประชาคมไปหมดแล้ว หากเราเห็นว่าวิกฤตด้านมนุษยธรรมเป็นประเด็นสำคัญที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน เราจำต้องเรียกร้องให้รัฐของเราดำเนินการอย่างเต็มที่ในเวทีโลก ผ่านการรวมเสียงของเราให้กลายเป็นเสียงที่ทรงพลังมากพอที่จะทำให้รัฐแยแสต่อสิ่งที่เรากำลังเรียกร้อง เพื่อผลักดันให้รัฐนำความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ไปสู่การปฏิบัติจริงในกลไกระหว่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ในแง่นี้อาจมีผู้เห็นแย้งได้ว่า ลำพังกลไกระหว่างประเทศอาจยังไม่เพียงพอ เพราะเป็นกลไกที่อ่อนแอ ไม่มีอำนาจสั่งการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประเด็นนี้คือหนึ่งในข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะอำนาจอธิปไตยสูงสุดนั้นเป็นของรัฐชาติ แต่ที่สุดแล้วมันก็เป็นเพียงกลไกเดียวที่เรามี ณ ขณะนี้

ท้ายที่สุดแล้ว การหยุดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ไม่อาจเพิกเฉยได้นั้นจำต้องอาศัยความมุ่งมั่นต่อความรับผิดชอบร่วมกันของเราในการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และป้องกันความทุกข์ทรมาน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา เราเน้นย้ำถึงความจำเป็นทางศีลธรรมแบบมนุษยนิยมเพื่อทำลายความเพิกเฉยอันมาจากความหวาดกลัวอิสลามที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับมวลมนุษยชาติ เพราะหากมนุษย์ไร้ศีลธรรมที่นำไปสู่การปรานีต่อกัน คงไม่มีชีวิตมนุษย์ผู้ใดปลอดภัยอีกแล้ว

Author

ไตรรัตน์ พุทธรักษา
ซ้ายตกขอบไร้สังกัด ผู้เป็นมิตรกับแมวจรทั่วโลก เสพติดอาหารเลิศรส ดนตรี ภาพยนตร์ และ ศิลปะ ฝันอยากเปลี่ยนโลกก่อนที่จะโดนโลกเปลี่ยน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า