ไม่ว่าชอบหรือชัง วันแรกของเดือนมกราคมปี 2019 ชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) นักการเมืองขวาจัด สส. ตั้งแต่ปี 1991 จากพรรคสังคมเสรีนิยม (Social Liberal Party: PSL) วัย 63 จะกลายเป็นประธานาธิบดีคนล่าสุดของบราซิลอย่างเป็นทางการ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลคะแนนว่า เขาเอาชนะคู่แข่งอย่าง เฟอร์นันโด ฮัดดาด (Fernando Haddad) ตัวแทนจากพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย (Workers’ Party: PT) ไปด้วยสัดส่วนคะแนน 55.2 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 44.8 เปอร์เซ็นต์
ถัดจากวันเลือกตั้ง 28 ตุลาคม (2018) สำนักข่าวต่างประเทศ AFP เผยแพร่ภาพคืนแห่งการกุมชัย ปรากฏเป็นกลุ่มผู้คนในนครรีโอเดจาเนโร พวกเขาและเธอสวมชุดสีเหลืองเขียวอันคุ้นตา โบกธงชาติที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปแผนที่กลุ่มดาวขนาดต่างๆ กลางวงกลมนั้นแถบขาวพาดผ่าน และมีข้อความเขียนด้วยตัวอักษรโรมันพิมพ์ใหญ่สีเขียว ‘ORDEM E PROGRESSO’ แปลไทยได้ว่า เป็นระเบียบและก้าวหน้า
ภาพเดียวกัน บนฟ้ามืดไกลออกไป ดอกไม้เพลิงแฉกวาบสว่างไสว เฉลิมฉลองให้แก่ผู้นำคนใหม่ที่ได้รับมอบนามว่าเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งเขตร้อน เป็นเจ้าของคำพูดอื้อฉาวเผ็ดร้อนที่สร้างเสียงวิพากษ์กระเพื่อมกว้างฉาวโฉ่ ทั้งการให้ความเห็นดูถูกเพศหญิง คนผิวสี และเหยียดชนชั้น ยกตัวอย่าง ในปี 2003 โบลโซนาโรพูดถึงนักการเมืองหญิงคนหนึ่งว่า “ไม่คุ้มที่จะข่มขืน”
ปี 2011 เขาให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งว่า ยอมให้ลูกชายเสียชีวิตในอุบัติเหตุดีกว่าเป็นเกย์ นอกจากนี้ยังแสดงความชื่นชมรัฐบาลเผด็จการทหารที่เคยปกครองประเทศชนิดออกนอกหน้า โดยปี 2016 เขาระบุว่าอุทิศคะแนนโหวตเพื่อถอดถอนอดีตประธานาธิบดีหญิง ดิลมา รุสเซฟฟ์ (Dilma Rousseff) ออกจากตำแหน่ง ให้แก่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยทรมานนักโทษ อันเป็นสถานที่ซึ่งเธอเคยถูกจับกุมในฐานะนักโทษการเมือง
คำถามแรกๆ ที่เราเอ่ยกับ ผศ.ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ “มันเกิดอะไรขึ้น!” ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นเรื่องน่าตกใจหรือเปล่า และสามารถพูดได้ไหมว่า อนุรักษนิยมขวาจัดกลับมาครองใจคนยุคนี้อย่างเป็นทางการ รวมไปถึงมีเรื่องไหนเทียบเคียงกับความเป็นไปใน ‘บ้านเรา’ ได้บ้าง เพราะนโยบายหลักที่โบลโซนาโรใช้หาเสียงนั้นแสนคุ้น – การปราบปรามทุจริต!
อาจารย์เชาวฤทธิ์ยิ้มเป็นเชิงให้เราใจเย็นลงก่อน เขาถามกลับแบบมิได้มีเจตนาหาเรื่องว่า ที่บอกน่าตกใจน่ะ สำหรับใครบ้าง เอาละ… และก่อนเข้าสู่ประโยคถัดไป WAY ขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านร่วม sit in เพื่อฟังเลคเชอร์แบบ exclusive ใน class เกี่ยวกับการเมืองฝ่ายขวาเฉดเข้มๆ ที่ประเทศบราซิล จากนักวิชาการหนุ่มผู้มีความถนัดเรื่องลาตินอเมริกามากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย
สรุปว่าเราควรวางท่าทีอย่างไรกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้
อย่างที่คุณเกริ่นกับผมว่า หลายๆ คนตกใจ ผมจึงต้องถามก่อน คำว่าหลายๆ คนนี่หมายถึงใครบ้าง เพราะถ้าเราบอกว่าต้องเคารพเสียงการเลือกตั้ง เราก็ต้องเคารพเสียงของประชาชน คนที่ผิดหวังอาจมีแนวความคิดแบบลิเบอรัล สายเสรีนิยมหรือหัวก้าวหน้าย่อมรู้สึกไม่แฮปปี้ เพราะนโยบายของ ชาอีร์ โบลโซนาโร บอกเลยว่าเป็นอนุรักษนิยม แต่เราต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน นั่นคือประชามติที่เกิดขึ้นในสังคมบราซิล
ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ?
ประชามติที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สภาพตอนนี้ที่เกิดขึ้นทำให้รู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของบราซิลต้องการอะไร พวกเขาต้องการเลือกนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันน้อย ถามว่าทำไมเป็นเช่นนั้น
ในสมัยที่พรรคแรงงานขึ้นมา คือตั้งแต่ปี 2002-2016 ประกอบด้วยประธานาธิบดีที่เราค่อนข้างรู้จักกันดีคือ ลูลา (Luiz Inácio Lula da Silva) ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2003-2010 แล้วต่อด้วย ดิลมา รุสเซฟฟ์ ปี 2011-2016 จริงๆ ต้องอยู่ถึง 2018 แต่ถูกฟ้องร้องเสียก่อนในปี 2016 และมีรองประธานาธิบดีอีกคนคือ เตเมอร์ (Michel Miguel Elias Temer Lulia) ขึ้นมารักษาการ บราซิลในช่วงนี้มีประโยคที่ว่า “From boom to bust” จากสูงสุดจนกระทั่งล้มเหลว
Boom คืออะไร ในช่วงที่ลูลาขึ้นมาใหม่ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเศรษฐกิจบราซิลเจริญเติบโตอย่างมาก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ตนเป็นผู้ส่งออกหลัก เช่น ถั่วเหลืองหรือเนื้อวัวตากแห้ง บราซิลเป็นผู้ส่งออกเบอร์หนึ่งของโลก จากดีมานด์ของตลาดโลกที่ต้องการสินค้าเหล่านี้เพิ่มสูง บวกกับความต้องการอาหารของจีนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ อเมริกาเองก็เช่นกัน เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารที่สำคัญ
บราซิลในช่วงของลูลาถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่พุ่งแรงมาก เราอาจเคยได้ยินคำว่า BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ คือกลุ่มประเทศที่ผลัดออกมาจาก G8
แต่หลังจากนั้น ปลายปี 2009-2010 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก จากกรณีของอเมริกาคือ วิกฤติซับไพรม์ พอเศรษฐกิจโลกถดถอย ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกอาหารและประเทศอุตสาหกรรมก็ถดถอยตาม เศรษฐกิจของบราซิลก็เริ่มแย่ลง คนจึงเริ่มไม่พอใจ ตามมาด้วยกระแสการคอร์รัปชันเกี่ยวกับบริษัทน้ำมันของบราซิลชื่อ Petrobras เหมือน ปตท. ของบ้านเรา เป็นรัฐวิสาหกิจที่เข้าไปลงทุนในหลายประเทศในลาตินอเมริกา
มีการจ่ายเงินแก่นักการเมืองทั้งในบราซิลเองและในลาตินอเมริกาเพื่อให้ได้รับสัมปทาน ผลพวงที่ตามมาคือ นักการเมือง ไม่เฉพาะในบราซิล แต่ไล่ไปถึงอดีตประธานาธิบดีของเปรู หรือโคลอมเบีย ต่างก็ได้รับสินบาทสินบนด้วย ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายนักการเมืองที่มีความพัวพันเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งพวกเขาเรียกกันว่า Operation Car Wash เป็นชื่อที่อัยการสูงสุดจุดประกายขึ้นเพื่อกวาดล้างนักการเมือง ส่งผลให้รุสเซฟฟ์กระเด็นจากตำแหน่งประธานาธิบดี ลูลาติดคุก
เมื่อคนเบื่อ เบื่อคอร์รัปชัน เบื่อนักการเมืองพรรคแรงงาน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยดังที่ผมกล่าว คนเคยชื่นชอบก็เลยไม่ชอบ คนที่เคยได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เติบโตก็เริ่มไม่ชอบ มองว่าพวกนี้ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ฉะนั้น ชาอีร์ โบลโซนาโร นักการเมืองโนเนมที่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในลิสต์ Operation Car Wash เลยชูประเด็นว่าตนเป็นคนดี ใจซื่อ มือสะอาด ปราศจากคอร์รัปชัน อันนี้คือจุดขาย
สื่อมวลชนบอกว่า นี่คือรัฐบาลของอีลีท เมื่อก่อนชนชั้นสูงเคยชอบลูลาจากพรรคแรงงานมาก่อนหรือเปล่า
ไม่ได้ชอบครับ แต่ประเด็นคือเสียงของคนจน เสียงของคนที่เปลี่ยน เหมือนกับประเทศไทย คือคนชั้นกลางที่อาจเคยเป็นคนชั้นกลางระดับล่าง พอขยับตัวสูงขึ้น มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ก็มีความเป็นคอนเซอร์เวทีฟมากขึ้น และมองว่าฉันไม่อยากให้คนชั้นกลางข้างล่างขึ้นมาเท่าฉัน รวมไปถึงปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและคอร์รัปชัน
อาจารย์จากญี่ปุ่นท่านหนึ่งเคยพูดว่า ปัญหาเรื่องคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่น่ากลัว แต่ที่น่ากลัวกว่าคือการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการกล่าวโทษผู้อื่น ฉันเป็นคนดีกว่า ฉันต้องขึ้นแทน อันนี้คุ้นๆ กับบ้านเราใช่ไหม การเมืองลาตินอเมริกาก็เหมือนกัน คนเลยเลือกโบลโซนาโร
ยิ่งพอลูลาโดนขังเนื่องจากปัญหาคอร์รัปชัน (ยังไม่ได้ต่อสู้กันในศาล) สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สามสัปดาห์ก่อนเลือกตั้งครั้งแรก พรรคแรงงานต้องเปลี่ยนคน ให้ฮัดดาดมาลงชิงประธานาธิบดีแทน ความป็อปปูลาร์ยังไม่มี ประกอบกับโบลโซนาโรได้คะแนนตรงถูกแทงเมื่อเดือนกันยายน เป็นการตอกย้ำว่าอาชญากรรมสูงจริงๆ ขนาดผู้ท้าชิงประธานาธิบดียังถูกแทง ทำให้พวกอีลีทชี้ชัดไปที่ตัวโบลโซลนาโร
จำนวนอีลีทในบราซิลมีเยอะไหม เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร
ไม่เยอะ
“สำคัญกว่าคือคนที่เบื่อเรื่องอาชญากรรม ไม่เอาคอร์รัปชัน หรือคนที่ต้องการย้อนกลับไปในสังคมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่วุ่นวาย ไม่มีเสียงโหวกเหวกจากคนชั้นล่าง พวกนี้มีพลัง เพราะเขาเบื่อช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2002-2016 ภายใต้พรรคแรงงาน ฉันต้องการอะไรที่เปลี่ยนแปลง อย่างอเมริกา เราก็ไม่คิดว่าทรัมป์จะมา ซึ่งมันก็มีเสียงคนที่บอกว่าต้องการย้อนกลับไป Make America Great Again”
บราซิลก็เหมือนกัน คนต้องการกลับไปสู่ความมีเสถียรภาพ มีความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจอีกครั้ง แม้มีเสียงต่อต้านก็ตาม ย้อนกลับไปในสมัยของลูลา หรือฝ่ายซ้าย มันลิเบอรัลเกินไป คนต้องการหวนสู่สังคมที่เป็นคอนเซอร์เวทีฟ โดยเฉพาะที่อิงกับศาสนาแบบคริสเตียน ปัญหาอาชญากรรมในบราซิลเองก็สูง คนจนซึ่งได้รับการอุ้มชูในสมัยลูลานั้น พวกคอนเซอร์เวทีฟ พวกอีลีทมองว่ากเฬวราก ไม่ต้องการให้คนเหล่านี้มีเสียง
ถามว่าคนจนในบราซิลอยู่ที่ไหน ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง เพราะ 85 เปอร์เซ็นต์ ของคนที่นั่นอยู่ในเมือง นี่เป็นลักษณะเฉพาะของภูมิภาคในลาตินอเมริกา คือมีความเป็นเมืองสูงมาก แต่คนจนเยอะมาก เราจึงเห็นสลัมเยอะ เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง City of God ที่เป็นสลัมค้ายาเสพติด คนพวกนี้คือคนที่รัฐบาลไม่จัดการ ซ้ำยังให้ความช่วยเหลือ เช่น ให้คนจนมีสวัสดิการที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้คนบราซิลหันไปเลือกโบลโซนาโร
อย่างไรก็ตาม ผมเน้นว่าทั้งหมดเป็นค่านิยมที่ต้องยอมรับ ถ้าไม่ดี เราก็ไม่เลือกซ้ำในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่เหมือนบ้านเรา ฉันไม่ชอบก็เดินขบวนประท้วงขัดขวางการเลือกตั้ง
อยากชวนคุยถึงเรื่องที่คนสนับสนุนลูลาหรือพรรคแรงงานบอกว่า ข้อหาคอร์รัปชันต่างๆ เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง เท็จจริงเป็นอย่างไร
Operation Car Wash โดนนักการเมืองเกือบทุกคนในบราซิล ฉะนั้น จึงถือเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองด้วย ลูลาโดนข้อหาได้รับอพาร์ตเมนต์จากพวกนักธุรกิจ ส่วนรุสเซฟฟ์คือไม่แถลงนโยบายทางการเงินของรัฐบาลที่โปร่งใส มันคือปัญหาที่ใช้ช่องว่างทางกฎหมายเล่นงาน ลูลานี่ยังไม่ตัดสินพิพากษาถึงขั้นฎีกา แต่โดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว เตเมอร์ซึ่งขึ้นเป็นประธานาธิบดีรักษาการ นั่นก็โดนเรื่องคอร์รัปชัน คือโดนทุกคนในบราซิล
ดังนั้นการที่โบลโซนาโรไม่โดน เลยกลายเป็นจุดขาวในกระดาษดำ คือจุดนี้แหละที่น่าจะเป็นแสงสว่างให้ได้ เป็นนักการเมืองโนเนม ถามว่าเป็นเรื่องคอร์รัปชันเพียวๆ ไหม มันก็มีส่วน มีเหตุมีผล แต่ประเด็นทางการเมืองคือเรื่องที่จะมาบล็อคลูลาเป็นหลัก
การเมืองเป็นเรื่องเทาๆ นะครับ เราต้องเข้าใจมัน ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร ถามว่าการเมืองบ้านเรามืดมนกว่าหรือเปล่า คือยังไงของเขาก็ยังมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสันติวิธี แต่บ้านเรา จริงๆ ทหารต้องไม่ยุ่ง รัฐประหารไม่ใช่หน้าที่ ตรงนี้คือความมืดมนของเราที่ชัดกว่าเยอะมาก ทหารพูดเองว่าไม่รับประกันเรื่องการทำรัฐประหาร
กระบวนการตัดสินของศาลที่พูดถึงก็น่าสนใจ
มีขบวนการที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์เหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงขาลงของพรรคแรงงานก็คือ ทั้งรัฐสภา ทั้งศาล รวมหัวกันเพื่อการล้มพรรคแรงงาน ฉะนั้น การจับลูลาเข้าคุก มันคือการกีดกันไม่ให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งในคราวต่อไป ซึ่งผมว่ามันคุ้นๆ เมื่อหันกลับมาดูบ้านเรา
หมายความว่าขบวนการตุลาการภิวัฒน์อยู่ในขั้วการเมืองฝ่ายขวา?
ใช่ครับ ยกตัวอย่างรองประธานาธิบดีที่ขึ้นมารักษาการหลังรุสเซฟฟ์ อันนี้ก็เป็นฝ่ายขวา คือทุกคนรวมหัวกันที่จะล้มพรรคแรงงานหมดเลย เป็นการเมืองที่ค่อนข้างชัดเจนว่าคนเหล่านี้เบื่อสิ่งที่ผ่านๆ มา แต่อย่าลืมว่าการเมืองมันมีไซเคิลของมัน ผมว่าแม้กระทั่งทักษิณเอง ถึงไม่โดนรัฐประหารก็เป็นขาลงอยู่แล้ว
นโยบายประชานิยมทางด้านเศรษฐกิจ คือนโยบายที่เน้นการซัพพอร์ตคนจน เช่น ให้สวัสดิการ ให้การศึกษา ต้องเอาเงินเข้าไปจ่าย แต่กลับไม่เน้นการเก็บภาษี หรือเก็บภาษีไม่ได้ ในขณะที่การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เงินหาย การคลังแย่ สินค้าส่งออกทางด้านการเกษตรราคาตก เอาเงินไปทุ่มกับการทำโอลิมปิก ฟุตบอลโลกค่อนข้างเยอะ ทำให้เกิดความเสื่อมของนโยบายประชานิยม
ตัว ชาอีร์ โบลโซนาโร มีอะไรที่น่าพูดถึง
เป็นอดีตนายทหารที่ชื่นชอบระบอบเผด็จการ พูดว่าระบอบเผด็จการทหารที่เริ่มขึ้นในบราซิลปี 1964 เป็นการจุดประกายให้แก่ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา เป็นบราซิลเลียนโมเดล และข้อผิดพลาดของเผด็จการทหารในสายตาโบลโซนาโรมีอย่างเดียว คือไม่ฆ่า แต่ใช้การทรมาน ถ้าฆ่าเลย ทุกอย่างก็จบ แค่ทรมานมันทำให้ฝั่งตรงข้ามกลับมามีปากเสียงได้อีก
ลูลาเองก็เคยถูกเผด็จการทหารทรมาน โบลโซนาโรชื่นชอบเผด็จการทหาร และบอกว่าช่วงปี 1964-1980 ไม่ใช่สิ่งผิด เพราะสังคมต้องการความสงบ ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝั่งเสรีนิยมเตือนว่า นั่นคือบทเรียนที่ควรจดจำ ทำไมไม่จำ คงเหมือนบ้านเรา พอมีประเด็นอื่นขึ้นมากลบ ทุกคนก็ลืม อย่างพฤษภา 35 คนก็จำไปช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นพอรัฐประหารปี 49 คนก็ลืม กลายเป็นชอบเผด็จการทหาร อยากกลับไปยุคสฤษดิ์
เรื่องที่สอง โบลโซนาโรมีลักษณะเป็นอนุรักษนิยม คอนเซอร์เวทีฟมากๆ เช่น ไม่ชอบเกย์ ไม่ชอบ LGBT ไม่ยอมรับการทำแท้ง ซึ่งประเทศในลาตินอเมริกาเป็นประเทศที่ค่อนข้างก้าวหน้า อย่างอาร์เจนตินา อนุญาตให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่บราซิลบอกว่าฉันจะไม่… แถมเขายังเหยียดผิว ซึ่งมันตลก เพราะที่นั่นมีพวกผิวสีอยู่เยอะมาก
ยกตัวอย่างที่เขาพูดว่า ถ้าฉันไม่สบาย คงไม่ให้หมอผิวสีรักษาฉันหรอก เพราะไม่เชื่อมั่นในความสามารถของพวกเขา
โบลโซนาโรเป็นคนเหยียดเพศ เขาแต่งงานสามครั้ง มีลูกทั้งหมดสี่คน และลูกคนสุดท้องเป็นผู้หญิง เขาบอกว่าการที่ได้ลูกผู้หญิงเพราะตนมีลูกในช่วงที่อ่อนแอ หรือเคยพูดถึงนักการเมืองหญิงคนหนึ่งว่า ฉันไม่ข่มขืนคุณหรอก เพราะไม่มีค่าพอสำหรับฉัน อันนี้เห็นได้ชัดว่าเหยียดเพศ
ดังนั้นกลุ่มผู้หญิงบราซิลต่อต้านเขามาก ไม่เอา เพราะไม่ชอบในความเหยียดเพศอย่างนี้ นี่คือลักษณะของโบลโซนาโร นี่คือเรื่องของ personality เรื่องของทัศนคติ
แล้วนโยบายเศรษฐกิจล่ะ เขาเป็นยังไง นโยบายเศรษฐกิจของโบลโซนาโรสวิงไปสวิงมา เดิมเราเคยคิดว่าเขาเป็นพวกที่ให้การซัพพอร์ตเศรษฐกิจแบบ neoliberalism ก็คือเสรีนิยมใหม่ อย่างเลือกตั้งเขาพูดว่า จะให้ Petrobras ขายหุ้นให้ประชาชน แต่แล้วพอได้รับการเลือกก็พูดใหม่… ไม่แล้ว Petrobras เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของรัฐบาล ฉะนั้น รัฐบาลควรถือไว้
อีกประการสำคัญ ผมมองว่านโยบายนี้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เขาจะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาปารีส ในเรื่องของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะควบรวมกระทรวงต่างๆ เพื่อทำให้ธุรกิจเดินได้เร็วขึ้น เช่น กระทรวงสิ่งแวดล้อมกับกระทรวงการเกษตรจะรวมกัน อันนี้สำคัญยังไง อย่าลืมสิครับว่าบราซิลเป็นประเทศที่มีป่าแอมะซอน เป็นประเทศที่ถือว่าปล่อยออกซิเจนสู่บรรยากาศโลกมาก เป็นปอดของโลก
การควบรวมสองกระทรวงนี้เข้าด้วยกัน หมายความว่าคุณให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าธุรกิจ เสียงสำคัญที่ทำให้โบลโซนาโรได้รับการเลือกตั้งคือพวกเจ้าของที่ดิน พวกนักธุรกิจการเกษตรเขาชอบ พูดง่ายๆ คือฉันจะได้เข้าไปเปิดป่าแอมะซอน เพื่อทำไร่ถั่วเหลือง
อีกอย่างที่เพิ่งประกาศคือยกเลิกกระทรวงแรงงาน พูดง่ายๆ คือไม่ช่วยเหลือคนจน ไม่สนใจ ชื่อมันไปพ้องกับพรรคแรงงานด้วย ยกเลิกซะ
โบลโซนาโรที่จะรับตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม มีแนวโน้มดำเนินนโยบายตามนี้เลย พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ นโยบายแบบนี้เจ้าสัวบ้านเราคงชอบ คงรวยขึ้นมากมายมหาศาล แต่พวกเกษตรกรหรือภาคแรงงานคงแย่พอสมควร อย่างที่บอกว่าอาชญากรรมในบราซิลสูงมากจริงๆ เพราะพอเศรษฐกิจตก คนจนก็เพิ่มมากขึ้น คนจนที่เคยได้รับการอุ้มชูในสมัยลูลาก็ถูกตัดสวัสดิการ
สิ่งสำคัญคือคนพวกนี้อาศัยอยู่ในเมือง ไม่มีพื้นที่ทำการเกษตร เพราะตกอยู่ในมือนายทุนขนาดใหญ่ แล้วเขาต้องทำอาชีพอะไรก็ได้เพื่อหาเงิน จึงสุ่มเสี่ยงต่องานไม่ถูกกฎหมาย แน่นอน พวกอีลีท ชนชั้นกลางก็ไม่ชอบ
พูดได้ไหมว่า เป็นประชานิยมฝ่ายขวา
ถ้าถามว่าโบลโซนาโรเป็นประชานิยมไหม ก็เป็น เป็นขวาประชานิยม แต่อย่าลืมว่าประชานิยม ไม่ใช่แนวคิดทางการเมืองหลัก ผมเรียกว่าเป็นแนวคิดทางการเมืองประเภทปลาดูด คือมันจะไปดูดกับแนวคิดทางการเมืองหลักอีกที อย่างโบลโซนาโรเป็นอนุรักษนิยมหรือขวา ก็เป็นขวาแบบประชานิยม ลูลาเป็นซ้าย socialism ก็เป็นซ้ายแบบประชานิยม
ประชานิยมสามารถไปเกาะกับอย่างอื่นได้ ไม่ว่าซ้ายหรือขวาก็เป็นประชานิยมได้ โดยหลักคือ หนึ่ง-คุณต้องมีนโยบายที่ดึงดูดใจประชาชน สอง-ผู้นำต้องมี charisma ในการพูดแล้วทำให้ประชาชนเชื่อ อย่างโบลโซนาโรพูดจาแข็งขัน ดุดัน โดนใจคนที่ชอบ และสาม-ไม่ว่าเป็นฝ่ายซ้ายหรือขวา หลังจากเข้าไปมีอำนาจจะพยายามบายพาส ก้าวข้ามสถาบันทางการเมืองที่เป็นการตรวจสอบ เพราะอ้างว่าฉันมาจากเสียงสวรรค์ของประชาชน แม้ว่าเรื่องนั้นหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย
ยกตัวอย่าง บอกว่าจะอนุญาตให้ประชาชนถือปืนได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเอาไปแก้ปัญหาอาชญากรรมให้ประชาชนที่สุจริต ซึ่งคำว่าสุจริตมันหมายถึงใครล่ะ? ทุกคนก็ต้องบอกว่าตนเองสุจริตทั้งนั้นถูกไหม นี่คือความสุ่มเสี่ยง เหมือนในสมัยของทักษิณ ที่เขาบอกว่าถึงแม้ฉันจะมีปัญหาเรื่องซุกหุ้น แต่อย่าเอาศาลรัฐธรรมนูญแค่ไม่กี่คนมาตัดสินเสียงจากสวรรค์จากประชาชนที่เลือกฉันมา
อย่างที่กล่าว โบลโซนาโรเองเป็นขวาชาตินิยมและประชานิยม จะเรียกว่าเป็น National Populism ก็ได้ เขาบอกว่าต้องคืนอัตลักษณ์ความเป็นบราซิล โดยเฉพาะเรื่องศาสนาที่ต้องยึดโยงเอาไว้ อะไรที่ไม่ตรงกับศาสนาก็ทำไม่ได้ ถามว่านโยบายประชานิยมผิดไหม มันจะผิดก็ต่อเมื่อพยายามก้าวข้ามผ่านสถาบันทางการเมืองที่คอยตรวจสอบ ทำให้ฝ่ายตุลาการอ่อนลง อันนี้เป็นข้อเสีย
แต่ถามว่าประชานิยมเกิดขึ้นได้เพราะอะไร สิ่งสำคัญคือสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจหรือการเมือง ดังนั้น ถ้าใครมีนโยบายที่โดนใจเสียงส่วนใหญ่ แล้วตอบโจทย์กับสถานการณ์ในขณะนั้น… ก็ชนะ ประชานิยมคือปฏิกิริยาที่ตอบสนองกับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ยกตัวอย่างสภาพการใช้ชีวิต คนจนนั่งรถเมล์ ขึ้นราคาทีโดนประท้วง แต่คนรวยในบราซิลใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นแท็กซี่ นี่คือความแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน
ภาพลักษณ์เหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ เหยียดคนจน เหล่านี้คนที่เลือกไม่สนใจเลยหรือ
ไม่สน… จริงอยู่ว่า ผู้หญิงส่วนมากเลือกฮัดดาด แต่อย่าลืม วิธีคิดแบบที่โบลโซนาโรแสดงคือลักษณะของความเป็นชายที่เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว คนต้องการผู้นำแบบนั้น เหมือนทำไมคนถึงชอบสฤษดิ์ เพราะมีลักษณะของความเป็นผู้นำที่รับผิดชอบอยู่คนเดียว โบลโซนาโรถูกเปรียบเทียบกับสามคน อย่างแรกเป็น Trump of Tropical สอง-เป็น ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ และที่ร้ายกว่านั้นคือเป็น ฮิตเลอร์
ถามว่าผู้นำเหล่านี้ขึ้นมาได้ยังไง ก็เพราะปัญหาตอนนั้น สังคมต้องการได้คนแบบนี้ ประเภทดุเดือด กล้าทำจริง ฉันไม่สนอะไรทั้งนั้น สนใจแค่ผลลัพธ์ แต่ไม่สนใจกระบวนการว่ามันจะเกิดอะไรบ้าง ซึ่งก็ไม่แปลก ในลาตินอเมริกาเองก็เกิดขึ้นบ่อยๆ
สมมติผมเห็นนายเอ. มาขโมยของผม ผมไปบอกตำรวจ แต่ตำรวจไม่มีปัญญาจัดการ ผมก็จ้างใครก็ได้ไปซ้อมนายเอ. เรียกว่าไม่สนใจทำนองคลองธรรมทางกฎหมายหรือศีลธรรม ฉันต้องการผลลัพธ์ที่มันสิ้นสุด กำจัดนายเอ.ออกไปจากสายตาของฉันให้ได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น คนชอบโบลโซนาโร คนถึงได้ยอมมองว่าเผด็จการก็ไม่เห็นเป็นไร
อีกข้อคือ สังคมบราซิลคือสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้ชายน่าจะเลือกโบลโซนาโรเยอะ แต่ผมยังไม่เห็นแผนภาพที่แยกออกมาว่าตกลงคนกลุ่มไหนเลือกใคร เป็นสัดส่วนเท่าไร เพราะข้อมูลยังไม่ค่อยมี ซึ่งแตกต่างจากอเมริกา ที่จำแนกว่าอายุเท่าไร เลือกใคร ชายและหญิงเลือกใคร แต่เท่าที่เห็น มีแผนภาพอันหนึ่งที่ชี้ว่า เขตคนจนในตะวันออกเฉียงเหนือเลือกฮัดดาด และที่เหลือเลือกโบลโซนาโร
ประเทศไทยก็มีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร เคยชนะการเลือกตั้ง คล้ายๆ กับลูลาจากพรรคแรงงาน ไล่มาจนฝ่ายขวาอนุรักษนิยมกลับมามีอำนาจ อาจารย์คิดว่าตรงนี้มีนัยสำคัญอะไรให้น่าใคร่ครวญ
มันคล้าย เพราะนี่คือตัวอย่างของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้นักการเมืองสายประชานิยมขึ้นมาได้ เพราะตอบโจทย์ โดยบอกว่าฉันมีนโยบาย for the people ซึ่งหมายถึงคนส่วนใหญ่ คนที่ถูกเพิกเฉย คนที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ หรือคนที่ประสบปัญหาสะสมมานาน ประชาชนจึงหันไปเลือกนักการเมืองสายนี้
แล้วถามว่าเป็นเรื่องปกติที่อยากให้เกิดไหม ผมจะไม่ตอบว่าไม่อยากให้เกิด แต่จะตอบว่าคงดีกว่าถ้าเราทำฟังก์ชั่นของการบริหารให้มีประสิทธิภาพ เช่น สามารถจัดการปัญหาอาชญากรรม มีนโยบายที่สร้างความเท่าเทียมกันให้คน มันจะทำให้นักการเมืองที่มีนโยบายประชานิยมเกิดขึ้นน้อยลง ประชานิยมไม่ผิด ขณะเดียวกันก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเห็น เพราะอย่างที่บอก ประชานิยมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าสังคมมีปัญหาสะสมในเรื่องความเหลื่อมล้ำ
ต่างกันที่ฝ่ายขวาบ้านเราเป็นเสียงส่วนน้อย ล้มเลือกตั้ง?
บ้านเรามีปรากฏการณ์อะไรบางอย่าง มีขนบธรรมเนียมทางสถาบันบางอย่าง ที่พวกอีลีทใช้กล่าวอ้าง ใช้โจมตีผู้อื่น แต่ในบราซิลหรือลาตินอเมริกา พวกอีลีทไม่สามารถนำสถาบันนั้นมากล่าวอ้างได้ ตรงนี้คือข้อแตกต่างที่ทำให้ประเทศไทยเป็นยูนีค แม้อีลีทมีอยู่น้อย แต่สามารถกล่าวอ้างหรือโหน และเกี่ยวติด เพราะมีกฎหมายปกป้องอยู่ นี่คือข้อแตกต่างที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญพอสมควร ต่อการทำให้พวกเขามีพาวเวอร์มาก
ทำไมคนเบื่อความเป็นเสรีนิยม โหยหาเผด็จการ เทรนด์ของโลกแบบนี้น่ากลัวไหม หรือว่าเป็นวิวัฒนาการปกติ
มันมีปัจจัยหลายๆ อย่าง เรื่องของเสรีนิยมใหม่ เป็นหลักคิดที่ว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจนะ ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้เกิดการไหลของทุน สมมุติผมมาลงทุนที่นี่ ได้กำไรปุ๊บผมก็ถอนทุนออก อย่างที่ทรัมป์บอกว่าอเมริกาต้องกลับมาใหญ่อีกที ไม่อย่างนั้นประเทศอื่นเข้ามาลงทุน และทำให้ไม่มีการจ้างงานคนอเมริกัน
วิธีการคือทั้งบราซิลและอเมริกาใช้นโยบายกีดกันแรงงาน เป็นชาตินิยม หรืออย่างนโยบายของฝรั่งเศส ที่กีดกันการอพยพของคน มองว่าเป็นพวกกเฬวรากมาแย่งงาน มันคือการย้อนกลับเหมือนที่โบลโซนาโรบอกว่าย้อนกลับไปหาความยิ่งใหญ่ของบราซิล บราซิลต้องก้าวผงาดขึ้นมามีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตได้อีกครั้ง ผมคิดว่ามันเป็นปฏิกิริยาโต้กลับ ทั้งนี้การโต้ไปโต้มาไม่ใช่เรื่องแปลก
สมมุติว่าคุณเป็นเผด็จการ เป็น nationalism ไปเรื่อยๆ อย่างบ้านเราสี่ปีแล้ว คือนโยบายแบบลุงจะไม่สามารถอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ได้ ยิ่งปัจจุบันข้อมูลข่าวสารไหลเต็มไปหมด ปรากฏการณ์คืนนกหวีด อันนี้เห็นได้ชัด ผมคิดว่าเป็นปฏิกิริยาที่มีต่อปัญหาเฉพาะหน้า มนุษย์เรามีความ greedy ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เราไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตนเองได้ เรารู้สึกชอบ ไม่ชอบ ต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ตลอด
มีการวิจัยว่า เมื่ออายุมากขึ้น คนจะเป็นคอนเซอร์เวทีฟมากขึ้น อีกอย่างคือ สมมุติผมเคยเป็นเด็กบ้านนอก เข้ามาชุบตัวในกรุงเทพฯ ขยับสถานะทางสังคม เข้าใกล้อำนาจมากขึ้น ความเป็นคอนเซอร์เวทีฟของผมก็จะมากขึ้น อีก 20 ปี ผมอาจพูดว่าลุงตู่ดีมาก แต่อย่าลืมว่าพอคนเราอายุมากขึ้น ย่อมมีคนรุ่นใหม่ๆ ทยอยกันเข้ามา เป็นปรากฏการณ์ที่คอยช่วยบาลานซ์
ทางออกคือ เราควรทำให้บันไดทางสังคมมันมีความชันน้อยลง หรือความเหลื่อมล้ำน้อยลง อย่างในสังคมสแกนดิเนเวีย พอเราเห็นว่าสเต็ปของบันไดลดลง ถึงแม้เขาจะมีสถาบันเหมือนบ้านเรา แต่ไม่เกิดการอ้าง สวีเดน เดนมาร์ก มีสถาบันหมดเลย แต่ไม่เกิดการกล่าวอ้าง เพราะความเหลื่อมล้ำทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองมีน้อย
อย่างตัวโบลโซนาโรเอง มีภาคประชาสังคมที่เป็นคนรุ่นใหม่สนับสนุนด้วย ทำไมคนรุ่นที่เติบโตมากับโลกสมัยใหม่ ถึงชอบความเป็นอนุรักษนิยม ถามทั้งในบราซิลและไทย
ประเด็นคือคนรุ่นใหม่ๆ บางคนไม่เคยเห็นภาพความเป็นเผด็จการของทหาร ไม่เคยเจอสภาพการประท้วง อย่างผมทันพฤษภา 35 ผมจำได้ และผมเลือกจำ อีกบางคนเกิดทัน แต่เขาไม่เลือกที่จะจำ อย่าลืมอีกอย่างคือแบบเรียน บ้านเราเรื่อง 6 ตุลา นี่แทบจะเบลอมาก นักศึกษารุ่นผม บางคนเฉยๆ กับการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์ จึงไม่โหยหา
“ทำไมคนที่เชียร์เผด็จการอย่างโบลโซนาโรถึงได้รับการชื่นชมจากคนรุ่นใหม่บางกลุ่ม ก็เพราะว่าเขารู้สึกว่าโบลโซนาโรตอบปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน และข้ออื่นๆ ที่ต้องการได้ ดูเป็นแง่บวกดี ทว่าไม่ได้มองในแง่ความเป็นเผด็จการ ไม่ได้จำหรือไม่ได้เห็นภาพเผด็จการ ฉะนั้น พวกเขาเหล่านี้ไม่มีประสบการณ์ ไม่ได้แชร์ความรู้สึกร่วมกับคนที่เคยเจ็บปวด”
สำหรับเมืองไทย องค์ประกอบทางการเมืองมันซับซ้อนและพร่ามัวกว่าด้วยหรือเปล่า
บางอย่างถูกกล่อมเกลาและปลูกฝังอยู่ในสังคมไทยตลอดเวลา คุณต้องเคารพธงชาติทุก 8 โมงเช้าและ 6 โมงเย็น ถูกไหม นี่คือกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม มันทำให้ก้อนมัวๆ เหล่านี้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน ความจริงสำนึกรับผิดชอบของทหารต้องอยู่ที่ประชาชน
และด้วยกฎหมายที่รุนแรง ทำให้เราท้าทายไม่ได้ คิดต่างไม่ได้ ต้องคิดเหมือนกันเป็นกรอบ ศาสนาพุทธนี่แหละตัวดี พูดเรื่องบุญ บาป กรรมดี กรรมชั่ว คุณเกิดมาในชาตินี้เป็นเท่านี้ คุณไม่ควรท้าทายอะไรนะ เพราะชาติที่แล้วคุณทำอย่างนั้นไว้แล้ว เป็นผลจากชาติที่แล้ว ศาสนาพุทธมีความเป็นคอนเซอร์เวทีฟ และเป็นตัวสกัดไม่ให้คุณคิดหรือก้าวออกไป ให้ยอมรับในกรรม ทำดีอย่าหวังผล ต่างจากโปรเตสแตนท์ที่มีความเป็นมนุษยนิยมกว่ามาก
ทหารเป็น elitism ทหารมีสิทธิ์ก้าวเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้เพราะอ้างความชอบธรรมเรื่องการปกป้อง รวมไปถึงศาสนา ทั้งหมดคือสถาบันหลักๆ ที่คอยกล่อมเกลาและกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ
หากคนกำลังเบื่อหน่ายอำนาจนิยมหรือชาตินิยมแบบพลเอกประยุทธ์แล้ว พรรคการเมืองที่ก้าวหน้าควรเสนอตัวเลือกแบบไหน
อันแรกคือคุณต้องหนักแน่นและมีหลักการที่ดีเรื่องประชาธิปไตยก่อน สอง-คุณต้องสนับสนุนเรื่องความแตกต่าง ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องคิดเหมือนกัน สาม-คือรัฐสวัสดิการ อันนี้คือสามประเด็นที่การเมืองรุ่นใหม่ควรมี เพราะประชานิยมก็ไม่ยอมรับความแตกต่าง คือมองว่าฉันคือประชาชน ถ้าคุณไม่ใช่ฉัน คุณคือคู่ต่อสู้ คนที่แตกต่างคือศัตรู แต่การเมืองรุ่นใหม่ต้องยอมรับความแตกต่าง
“สำหรับผมนะ ความเห็นต่างคือความสร้างสรรค์ ความแตกต่างคือความหลากหลาย ความหลากหลายคือความงดงาม ถ้าเราไม่คิดต่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือความดักดาน ความเห็นต่างคือหนทางของการพัฒนา ลักษณะเช่นนี้คนที่เป็นคอนเซอร์เวทีฟจะไม่ชอบ ฉันไม่ต้องการความต่าง ฉันมีระเบียบวินัยที่ฉันต้องยึดถือ มีกฎ กติกา พูดตรงๆ สิ่งเหล่านี้มนุษย์เป็นคนสร้าง และย่อมเปลี่ยนแปลงได้”
โบลโซนาโรเป็นอดีตทหาร ทหารให้เชื่อระเบียบวินัย ถูกไหม ห้ามต่าง แม้สิ่งที่ต่างจะถูกต้องก็ตาม คุณต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา เขาสั่งให้ไปตาย คุณต้องตาย นี่คือแนวคิดทหาร ห้ามเถียง ห้ามต่าง เพราะเขารู้สึกว่าเวลารบ ผู้บังคับบัญชาสั่งให้คุณทำอะไร ถึงแม้คุณอยากบ่น คุณก็ต้องทำ นี่คือแนวความคิดของเขา
เราพอจะเห็นธรรมชาติของฝ่ายขวาบ้านเราชัดเจนพอสมควร เช่น มีการล้อมปราบคนกลางเมือง ของบราซิลน่ากลัวแบบนั้นไหม
เผด็จการทหารในยุคก่อนนั้นใช่เลย จับคน อุ้มหาย ทำเหมือนๆ กัน รัฐบาลสฤษดิ์เป็นยังไง รัฐบาลเขาก็เป็นอย่างนั้น อุ้มหาย ลักพาตัว ทรมาน รัฐบาลเขาทำหมด แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึงคือ ในลาตินอเมริกามีกระบวนการสืบค้นความจริง จำคุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหรือทรมานประชาชน ประเทศที่มีความก้าวหน้ามากคือ อาร์เจนตินา ชิลี ส่วนบราซิลมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง
ประธานาธิบดีถูกขังคุกตลอดชีวิต จำเรื่องของปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ได้ไหม นั่นก็โดนเหมือนกัน แต่บ้านเราไม่มีความก้าวหน้าแบบนี้ บ้านเรามีอะไร เราน่าจะพอรู้ความเหี้ยมโหดของรัฐบาลสฤษดิ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนเขาตาย ลองไปดูสิครับ สฤษดิ์ได้อะไร… วันหยุดราชการ
แสดงว่ากระบวนการสอบสวนและมีการเอาคนผิดมารับโทษ ทำให้สังคมมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้น?
ทุกคนจะเริ่มรู้สึกว่า ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่ไม่มีการเลือกตั้งมันไม่ดี และเผด็จการทหารที่ขึ้นมาควบคุมอำนาจ มันไม่เวิร์ค ถึงแม้ปัจจุบันโบลโซนาโรจะเป็นอดีตทหาร แต่ก็มาจากการเลือกตั้ง ถึงแม้นโยบายของเขาแสดงให้เห็นว่าชอบเผด็จการทหารในอดีต แต่ตัวเขาก็ไม่ได้เอาปืนมาจี้ เขาได้รับฉันทามติจากประชาชน
ด้วยกติกาของประชาธิปไตย ทำให้ความน่ากลัวต่างๆ อยู่ภายใต้การคอนโทรลของคน คุณต้องรับผิดชอบต่อเสียงประชาชน ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ ถ้าคุณบ้าบอคอแตก ละเมิดสิทธิมนุษยชน ประชาชนก็จะลุกขึ้นมา เดี๋ยวคุณก็โดนเอง แต่เผด็จการมันไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร มันเอาปืนจ่อ อันนี้คือข้อแตกต่างระหว่างเผด็จการกับการเลือกตั้ง การเลือกตั้งคือ ballot คือการลงคะแนนเสียง ส่วนอีกอันคือ bullet เอาปืนจ่อ มึงไม่ชอบกูเหรอ กูก็โป้ง อย่างไหนอิสระมากกว่ากันล่ะ
อยากให้ฝากถึงกองเชียร์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยากให้ท่านอยู่นานๆ ไม่ต้องเลือกตั้ง
ลุงตู่ใช้ภาษีเรา โดยไม่ขอฉันทามติจากเราเลย มันมีมอตโต้ของประชาธิปไตยในอเมริกา No Taxation without Representation คือฉันจะไม่ยอมจ่ายภาษี ถ้าฉันไม่มีตัวแทนในรัฐสภา อันนี้เป็นมอตโต้ที่ทำให้อเมริกาประกาศเป็นอิสระจากอังกฤษ ในปี 1776 เพราะคนบอกว่าจะไม่ยอมจ่ายภาษีให้อังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคม เพราะเขาไม่มีตัวแทนนั่งอยู่ในลอนดอนเลย
นี่เหมือนกันเลย ลุงตู่ไม่ใช่ตัวแทนของฉัน แต่เอาปืนมาจ่อฉัน แล้วก็มานั่งกินภาษีของฉันตั้งสี่ปีกว่า (หัวเราะ)