ชาร์ลี เธม: รัฐประหารเมียนมา สะเทือนวิกฤติศรัทธาอาเซียน

การรัฐประหารครั้งล่าสุดในเมียนมา ได้ก่อให้เกิดความหายนะต่อชีวิตชาวเมียนมา ตลอดจนสถานะปัจจุบันของอาเซียนที่เข้าขั้นวิกฤติ ท่ามกลางความโหดร้ายที่ยังดำเนินต่อไปในเมียนมา อาเซียนกำลังถูกวิพากษณ์วิจารณ์จากเหยื่อของการรัฐประหารและประชาคมโลกจากความนิ่งเฉยต่อชะตากรรมของชาวเมียนมาและประชาธิปไตย 

ดังที่ถูกสะท้อนออกมาในภาพของธงอาเซียนที่ถูกนำมาเผาและเหยียบย่ำลงบนพื้น สถานการณ์นี้นำเรามาสู่การพูดคุยกับ ชาร์ลี เธม (Charlie Thame) นักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองไปข้างหน้าแล้วพบว่า อาเซียนกำลังเดินถอยหลัง

การรัฐประหารที่เมียนมา นอกจากสาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว มีสาเหตุจากด้านเศรษฐกิจเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ อย่างไร

นี่คือสิ่งที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับการรัฐประหารครั้งนี้ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจแบบที่เราเห็นในไทย เช่น การแข่งขันกันของ elite (ชนชั้นนำ) ในการควบคุมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่พบเหตุผลแบบนี้ในการรัฐประหารของเมียนมา 

ถ้าหากเรามองรัฐธรรมนูญปี 2010 การเลือกตั้งปี 2015 และการกลับมามีอำนาจอีกครั้งของบรรดากลุ่มคนในพรรค NLD (National League for Democracy – พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ที่ได้รับความมั่งคั่งอย่างน่ารังเกียจผ่านสายสัมพันธ์กับกองทัพ เราก็จะเห็นว่าในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา เหมือนจะมีข้อตกลงอย่างลับๆ ที่ทำให้กองทัพและบรรดาผู้ที่มั่งคั่งจากความสัมพันธ์กับกองทัพนั่งอยู่เบื้องหลังอย่างลอยตัว และสะสมความมั่งคั่งจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น ขณะที่ให้พรรค NLD ดูแลเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เป็นไปอย่างจำกัด นี่คือสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์ภายนอก รวมถึงผมเองประหลาดใจอย่างมากเมื่อเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้น

แม้ว่าคนจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วว่าจะนำไปสู่การรัฐประหาร แต่ยังไงก็แล้วแต่การรัฐประหารก็น่าจะขัดกับผลประโยชน์ของกองทัพอยู่ดี เมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ทุกคนจึงประหลาดใจ เพราะหากมองในมิติด้านเศรษฐกิจ ก็ดูเหมือนว่าทหารกำลังทำร้ายตัวเองอยู่

นี่คือสิ่งที่เตือนเราว่า เราไม่ควรคิดแบบมาร์กซิสต์โดยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด เพราะเหตุผลทางอุดมการณ์และแรงจูงใจส่วนตัวน่าจะใช้อธิบายได้ดีกว่า อย่างเช่นความปรารถนาของ นายพลมินอ่องหล่าย (Min Aung Hlaing) ในการเป็นผู้นำประเทศ ทั้งในฐานะประธานาธิบดีหรือตำแหน่งอันทรงเกียรติอื่นที่ค่อยๆ ถูกพรากไปโดยพรรค NLD และเขาย่อมรู้ดีว่าอำนาจของเขากำลังจะหมดลง เพราะกำลังจะเกษียณอายุราชการ ถ้าเขาไม่ทำรัฐประหารตอนนี้ ก็จะไม่มีโอกาสได้ทำอีกแล้ว ดังนั้นผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องของแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของความทะเยอทะยานส่วนบุคคลมากกว่า 

จากภาพธงอาเซียนที่ถูกเผาและถูกเหยียบ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากในโซเชียลมีเดียเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภาพเหตุการณ์นี้มีความหมายอย่างไรในแง่การเป็นสถาบันของภูมิภาคนี้

สิ่งหนึ่งที่สำคัญของเรื่องนี้คือ อาการวิกฤติพหุภาคีนิยม ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมากถ้าเราคิดถึงความท้าทายที่เราเผชิญร่วมกัน รวมถึงความท้าทายอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ประมาณกว่า 50 ปีที่ผ่านมา นอกจากที่เรามีสถาบันใหญ่ต่างๆ ของโลก เช่น UN และสถาบันเกี่ยวกับการจัดระเบียบการเงินโลกอย่าง Bretton Woods เราก็ยังมีองค์กรที่เล็กกว่า ยืดหยุ่นกว่า และเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันโดยสมัครใจ เช่น อาเซียน และอีกหลายๆ องค์กร ซึ่งองค์กรเล็กๆ เหล่านี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อหนุนเสริมองค์กรใหญ่เหล่านั้น ไม่ใช่ไปแทนที่ 

องค์กรเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ดังที่ถูกสะท้อนออกมาในวาทกรรมสันติภาพ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน แต่แทนที่จะทำให้องค์กรอย่าง UN เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อย่างการยกเลิกสิทธิวีโต้ของประเทศสมาชิก 5 ประเทศ (P5) และให้ความสำคัญกับสมัชชาสามัญ (The General Assembly) องค์กรเหล่านี้กลับถูกทำให้อ่อนแอและไม่มีประสิทธิภาพโดยมหาอำนาจที่ใช้อำนาจครอบงำ (hegemony) ดังนั้น แทนที่เราจะเห็น UN ที่มีความเข้มแข็ง เพราะได้รับความคาดหวังจากประชาคมโลกให้มีหน้าที่ในการนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในเมียนมาหลังจากเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา เรากลับเห็นว่ากลุ่ม P5 แข็งทื่อ ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ มีเพียงแถลงการณ์ที่คนเมียนมาพากันหัวเราะเยาะ

ดังนั้น UN กำลังเผชิญกับวิกฤติความชอบธรรม และอาเซียนก็ถูกผลักเข้าสู่วิกฤตินี้ โดยที่อาเซียนเองก็ไม่ได้มีความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตินี้ การโยนความรับผิดชอบกันไปมาจาก UN ไปอาเซียน จากจีนไปสหรัฐอเมริกา และการที่ผู้คนเรียกร้อง R2P (ความรับผิดชอบในการปกป้อง) ถือเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับคนเมียนมาที่ถูกทำร้ายโดย มินอ่องหล่าย ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา และพวกเขาก็กำลังเรียกร้องความช่วยเหลือจากภายนอก ทั้งที่เราเคยเห็นการแทรกแซงของอเมริกาในอิรัก ลิเบีย และซีเรีย มาแล้ว แต่ทำไมถึงไม่เกิดขึ้นกับเมียนมาบ้าง

การโยนความรับผิดชอบกันไปมาเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างมาก แต่สิ่งที่ผมคิดว่าแย่กว่านั้นคือ ไม่เพียงแค่องค์กรเหล่านี้จะไม่ทำอะไรเลย แต่สิ่งที่พวกเขาทำกลับเอื้อประโยชน์ให้ มินอ่องหล่าย เมื่อพิจารณาถึงการประชุมสุดยอดพิเศษเมื่อเดือนเมษายน การไปเยือนกรุงเนปิดอว์ของผู้แทนจากประเทศบรูไน และการเข้าร่วมของ วันนะ หม่อง ลวิน (Wunna Maung Lwin) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ในการประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Lancang Mekong Cooperation) ที่จัดโดยจีน ซึ่งดูเหมือนว่าสถาบันทั้งหมดเหล่านี้จะให้การสนับสนุนระบอบทหารมากกว่าการแสวงหาทางออกของวิกฤติ 

ดังนั้นอาเซียนและสถาบันเหล่านี้กำลังเผชิญกับวิกฤติความชอบธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังที่สะท้อนให้เห็นในภาพของธงที่ถูกเผา ซึ่งยากที่จะเห็นว่าอาเซียนและสถาบันเหล่านี้จะสามารถฟื้นตัวกลับมาจากวิกฤตินี้ได้ เรากำลังเห็นผู้คนในเมียนมาพูดถึงการออกจากอาเซียน และบางทีเราอาจจะได้เห็น Mynamar-exit ก็เป็นได้

การที่เราไม่เห็นปฏิบัติการร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนใดๆ ในการช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การปกป้องชีวิตของผู้คน และการฟื้นฟูประชาธิปไตย อาจเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจ เพราะถ้ามองประวัติศาสตร์ อาเซียนก็ไม่เคยทำเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเราจะมองบทบาทอาเซียนกับเหตุการณ์ในเมียนมาผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงวิพากษ์ อาจารย์คิดว่าตอนนี้มีอะไรที่ถูกเปิดโปงเกี่ยวกับอาเซียนบ้าง

มีสองสามประเด็น คือ ประการแรก ระบบผู้นำแบบหมุนเวียนของอาเซียนนั้นเป็นอุปสรรค ซึ่งปี 2021 บรูไนเป็นเลขาธิการอาเซียน แต่ประเทศอื่นๆ ยังมองว่าประเทศนี้ไม่มีน้ำหนักทางการทูต หนังสือพิมพ์ Jakata Post เสนอข่าวความไม่พอใจของอินโดนีเซียต่อบรูไน โดยกล่าวหาบรูไนว่าใช้อำนาจเกินขอบเขตในการพบปะกับ มินอ่องหล่าย อีกทั้งยังไม่มีการตกลงร่วมกันว่าให้มีตัวแทนพิเศษในการจัดการเรื่องนี้ 

ประการที่สอง เราควรระมัดระวังเกี่ยวกับข้อตกลงเรื่อง ‘การไม่แทรกแซงกัน’ (non-interference) ของอาเซียน นี่เป็นเวทมนตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ซึ่ง ลี โจนส์ (Lee Jones) โต้เถียงว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งของความเสแสร้ง เพราะที่ผ่านมารัฐต่างๆ ในอาเซียนได้เข้าแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การแทรกแซงเพื่อต่อต้านกองกำลังคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น และในติมอร์ตะวันออก 

ประเด็นคือ อาเซียนมีไว้สำหรับปกป้องระเบียบทางสังคมโดยเฉพาะ มิได้มีไว้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย และระเบียบทางสังคมดังกล่าวเป็นระบอบของพวกข้าราชการทหารชั้นสูง (military bureaucratic elites) ในหลายประเทศของอาเซียน 

ประการที่สาม คือ ผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่จำนวนมากและของหลายประเทศถูกเปิดโปงอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจของเวียดนามที่เกี่ยวข้องกับกองทัพตะมะดอว์ (Tatmadaw) ในกรณีธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์ MyTel บทบาทของสิงคโปร์ในฐานะแหล่งเงินของเมียนมา และการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติของไทยในเมียนมา เช่น ก๊าซธรรมชาติ ข้อกังวลเหล่านี้สำคัญกว่าวาทกรรมเรื่องความเป็นหนึ่งของอาเซียน เพราะสำหรับวาทกรรมเรื่องความเป็นหนึ่งนั้น การรวมกันของอาเซียนเกิดขึ้นน้อยมาก ยกเว้นในเชิงการขยายอำนาจและความร่วมมือเพื่อขยายตลาด ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนจึงมีเท่านี้

ในหนังสือเล่มล่าสุดของอาจารย์ที่ชื่อ The Economic Corridors Paradigm as Extractivism สรุปว่าระเบียงเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเครื่องมือสำหรับการขูดรีดและทำให้การต่อสู้ทางชนชั้นรุนแรงขึ้น ภายใต้มุมมองนี้ อาจารย์จัดวางเมียนมาและบทบาทของอาเซียนไว้อย่างไร

หนึ่งในประเด็นที่ผมยกขึ้นมาในบทความนั้นคือ ระเบียงทางเศรษฐกิจเหล่านี้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างโลกและภูมิภาค เช่น ข้อตกลงระหว่างรัฐชาติ ภูมิภาค และตลาดโลก ซึ่งอาเซียนแทบไม่มีบทบาทในเรื่องนี้ บทบาทหลักจะอยู่ที่อนุภูมิภาค GMS (อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง) มากกว่า ผู้มีบทบาทสำคัญในนี้คือ จีน ญี่ปุ่น และไทย ที่มียุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACEMCS) ที่ คสช. รื้อฟื้นขึ้นมาอย่างเงียบๆ ภายใต้แผนแม่บทปี 2019 บทความนี้จึงเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามประเทศนี้กับเมียนมา

เนื่องจากเมียนมามีชายแดนติดกับจีน จีนจึงมีผลประโยชน์ในประเทศนี้มาอย่างยาวนาน เริ่มจากสนใจในทรัพยากรธรรมชาติ และมีความสนใจมากขึ้นจากผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ในการเข้าถึงมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งดำเนินการผ่าน CMEC (ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา) ญี่ปุ่นเข้าไปมีบทบาทหลังการเลือกตั้งปี 2010 ซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงด้านความช่วยเหลือและการพัฒนาจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา ส่วนไทยเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่ามีผลประโยชน์ในทรัพยากร เช่น ป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจการเกษตร นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และเพิ่มมากขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ผ่านยุทธศาสตร์ ACEMCS

สิ่งที่น่าสนใจจากมุมมองเกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจเหล่านี้ ในฐานะแนวทางในการควบรวมเมียนมาเข้ากับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีและระดับอนุภูมิภาค นั่นก็คือ ทั้งสามประเทศนี้ประเมินความสัมพันธ์กับเมียนมาใหม่อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขเวลาที่เปลี่ยนไป เช่น จะอยู่ข้างกองทัพ หรืออยู่ข้างประชาชน จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อฝ่ายประชาชนชนะ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์จีน-เมียนมาจะได้รับผลกระทบเป็นพิเศษจากเรื่องนี้ 

ขณะที่ญี่ปุ่นและไทยจะสามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบได้ดีกว่าจีน แต่ก็ยังประสบปัญหาอยู่ ผลกำไรและภูมิศาสตร์การเมืองเป็นข้อกังวลหลักของประเทศเหล่านี้ ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับประชาชนเป็นเรื่องรอง

นับตั้งแต่การสิ้นสุดลงของสงครามอินโดจีน กระบวนการทำให้เป็นภูมิภาค (regionalization) ในอาเซียน ถูกมองว่าเป็นสโมสรของชนชั้นนำที่เน้นการค้าแบบกีดกันประชาชนออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดความวุ่นวายภายในประเทศ ทำไมอาจารย์คิดว่าชนชั้นนำของประเทศในอาเซียนไม่ค่อยกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งที่ความขัดแย้งนั้นไปขัดขวางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือเป็นเพราะว่าพวกเขายังได้ผลประโยชน์จากความขัดแย้ง

ผมว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในประเทศนะ แต่สนใจแค่เรื่องที่เกี่ยวกับประเทศของตัวเองเท่านั้น สิ่งนี้ดึงดูดความสนใจจากผู้นำเก่าแก่ของอาเซียน ทั้งไทย อินโดนีเชีย และสิงคโปร์ แต่ประเทศเหล่านี้ล้วนหายไป เพราะมัวแต่ยุ่งเรื่องการเมืองภายในประเทศตนเอง

การพูดคุยต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างประชาคมที่เน้นประชาชน เป็นคำสัญญาที่ไร้สาระของ The Eminent Persons Group เมื่อมีการร่างกฎบัตรปี 2007 พวกเขารู้ว่าองค์กรแบบนี้ขาดความชอบธรรมและไม่เคยก้าวข้ามปัญหานี้ได้

แอนดรูว์ เฮอร์เรล (Andrew Hurrell) มองว่า บางคนเข้าใจว่าภูมิภาคนิยมเป็น “ความพยายามที่จะควบคุมทางการเมือง เมื่อเผชิญกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้น” และสำหรับบางคนเข้าใจว่าเป็น “เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตซ้ำรูปแบบการปกครองตามระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ หรือทำหน้าที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านโลกาภิวัตน์ และเป็นพื้นที่ในการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติและบรรทัดฐานทางเลือก” มีความเข้าใจแบบอื่นใดอีกไหมที่จะนำมาอธิบายความเป็นภูมิภาคนิยมของอาเซียนได้

ภูมิภาคนิยม (Regionalism) จะต้องถูกสร้างขึ้นผ่านกระบวนการทำให้เป็นภูมิภาค (regionalization) และมักรวมถึงกระบวนการทางการเมือง เช่น การประชุมสุดยอดผู้นำ หรือกระบวนการทางเศรษฐกิจ เช่น AEC แต่สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญคือ เราต้องเน้นย้ำเกี่ยวกับแนวทางแบบทางเลือกในการทำให้เป็นภูมิภาคในอาเซียน เช่น ความเชื่อมโยงกันแบบข้ามชาติระหว่างภาคประชาสังคม ที่ได้รับการส่งเสริมผ่านฟอรั่มของประชาชนอาเซียน (The ASEAN Peoples’ Forum) และพันธมิตรชานม (The Milk Tea Alliance) และถ้าหากมองในกรณีของเมียนมา นี่ถือเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่ได้เห็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชน ตั้งแต่การเดินประท้วงและการเฝ้าระวังในไทย ไปจนถึงการเดินขบวนประท้วงของชาวอินโดนีเชียที่ต่อต้านการไปเยือนของ มินอ่องหล่าย ในการประชุมสุดยอดพิเศษเมื่อเดือนพฤษภาคม

การเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำโดยคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะเจเนอเรชั่น Z และผู้หญิง ซึ่งถือเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่สำหรับอนาคตของภูมิภาคนี้ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือ ต้องจำไว้ว่าในการทำให้เป็นภูมิภาค การทำให้เป็นโลกาภิวัตน์ และแนวคิดของภูมิภาคนี้ ผู้นำรัฐต่างๆ ในอาเซียนไม่ได้ผูกขาดไว้ทั้งหมดอย่างที่พวกเขาพยายามจะทำ

การต่อสู้ของชาวเมียนมาสามารถจุดชนวนให้เกิดขบวนการประชาธิปไตยในระดับภูมิภาคได้หรือไม่

ได้อย่างแน่นอน สิ่งที่เราเห็นคือ การใช้กำลังเข้าข่มเหงของผู้ปกครองและการโต้กลับของประชาชน นี่คือวิภาษวิธี เป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ผู้นำรัฐต่างๆ ในอาเซียนพยายามปกปิดเรื่องนี้ คิดดูว่าถ้าชาวเมียนมาทำสำเร็จ โดมิโน่จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน

บางทีนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในภูมิภาคนี้ในการจัดตั้งสหภาพหรือพรรคการเมือง เพื่อทำอะไรได้มากกว่าเพียงการแสดงการสนับสนุนบนโซเชียลมีเดียหรือไม่ 

โซเชียลมีเดียเป็นดาบสองคม มันเชื่อมโยงผู้คนได้ แต่ก็มีข้อบกพร่อง เช่น การ clicktivism ช่วยให้คุณแสดงความไม่พอใจทางออนไลน์ได้โดยไม่ต้องทำงานให้องค์กรหรือขบวนการเคลื่อนไหว สิ่งที่ท้าทายคือ การใช้สิ่งนี้เป็นก้าวแรกในการรวมตัวกันท่ามกลางความหลากหลาย ส่วนจะทำอย่างไรนั้น ผมไม่มีคำตอบ ผมหวังว่าคนอื่นจะมีคำตอบนะ

อะไรเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสร้างความเป็นภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะให้ความสำคัญต่อประชาชนเป็นอันดับแรก

การถูกจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมตัวกัน และเสรีภาพอื่นๆ ภายใต้ข้อจำกัดของโควิด-19 นี่คืออุปสรรคแรก อุปสรรคที่สอง คือ มีปฏิบัติการภายในหมู่ชนชั้นปกครองในการขัดขวางการเติบโตของพลังทางสังคมและพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าที่จะเข้าไปมีอิทธิพลในสถาบันของรัฐ ซึ่งเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี ดังเช่นที่พบเห็นในไทยคือ รัฐยอมให้เป็นประชาธิปไตยได้ โดยเป็นประชาธิปไตยแบบเปลือกนอก เพื่อให้ประชาคมโลกยอมรับ แต่ชนชั้นนำที่ควบคุมรัฐเหล่านั้นจะไม่ยอมสูญเสียการควบคุมรัฐอย่างแน่นอน

มองปฏิกิริยาของรัฐบาลไทยต่อการรัฐประหารในเมียนมาอย่างไร

การเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับกองทัพมีความน่าสนใจ เพราะอย่างที่เรารู้ คือ มินอ่องหล่าย เคยอยู่ภายใต้ปีกของ พลเอกเปรม และเราก็รู้ดีว่ากองทัพทั้งสองมีความใกล้ชิดกัน สิ่งที่ผมสนใจมากที่สุดไม่ใช่สิ่งที่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการโดยรัฐ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชายแดนไทย ผมไม่แน่ใจว่าเป็นชายแดนจุดใด แต่ภายหลังการรัฐประหารที่เมียนมาไม่นาน ชายแดนไทยแห่งหนึ่งมีการขึ้นประกาศจับนักกิจกรรมทางการเมืองของเมียนมา สิ่งนี้บ่งบอกว่ามีการสื่อสารกันระหว่างกองทัพอยู่

นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ เสนอภายหลังการรัฐประหารในเมียนมาว่า ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปอาเซียน เพราะกฎและบทบาทที่เคยตั้งไว้เริ่มแรกนั้นทำไม่ได้จริง อาจารย์คิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

ผมคิดว่าน่าสนใจที่มีคนตั้งใจที่จะผลักดันทางเลือกอื่นให้อาเซียน แต่ผมยังคงสงสัยว่าสิ่งเหล่านั้นจะไปได้ไกลแค่ไหน ในแง่ที่ว่าอาเซียนจะปฏิรูปอย่างไรนั้น สิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นผ่านรัฐสมาชิกเอง คุณคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากไทยมีรัฐบาลที่ก้าวหน้ามากกว่านี้ มันก็อาจจะสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอย่าง ฮุนเซ็น (Hun Sen) และประเทศอย่างสิงคโปร์และเมียนมาอยู่ ผมคิดว่าอาเซียนคงจะไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้นัก 

English edition: Charlie Thame: Myanmar, The Coup, ASEAN, and the Crisis of Multilateralism

อ่านประกอบ: The Economic Corridors Paradigm as Extractivism. ชาร์ลี เธม (Charlie Thame, 2021)

โอมาร์ หนุนอนันต์
นักศึกษาสาขาการเมืองระหว่างประเทศผู้สนใจในความคิด อุดมการณ์ และอำนาจการครอบงำที่อยู่ในสิ่งสามัญรอบตัว หลงใหลในภาษาและการสื่อสาร ที่มักซ่อนเร้นความจริงบางอย่างที่มนุษย์ผู้ใช้ภาษาไม่เคยควบคุมมันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า