‘เจ้าถิ่น’ แห่งเชอร์โนบิล

a-dog chernobyl

 

เหตุการณ์การระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ประเทศยูเครน เมื่อปี 1986 ถือเป็นอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก กัมมันตภาพรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาฟุ้งกระจายไปเป็นวงกว้างกินบริเวณกว่า 1,000 ตารางไมล์ ทำให้เมืองพริเพียต ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถูกทิ้งให้กลายเป็นเมืองร้างที่ปราศจากการอยู่อาศัยของมนุษย์

เวลาผ่านไปกว่า 28 ปี สภาพแวดล้อมในเมืองพริเพียตและป่าไม่โดยรอบเอื้ออำนวยให้สัตว์หลากหลายชนิดเข้ายึดครองพื้นที่ แต่ด้วยพลังงานจากสารกัมมันตภาพรังสีที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 20,000 ปี กว่าที่จะกลับสู่สภาพปกติ ทำให้สัตว์ต่างๆ เหล่านี้ต้องปรับสภาพร่างกายของตนเองเพื่อให้อยู่รอดได้ต่อไป

ดร. ทิโมธี มูสโซ นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาธ์แคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มทำการลงสำรวจ ‘ห้องแล็บทางธรรมชาติ’ ขนาดใหญ่บริเวณโดยรอบของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสีตั้งแต่ปี 1999 เขาเล่าว่า ด้วยปริมาณของรังสีที่ยังหลงเหลืออยู่ในบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้า ทำให้สิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว แสดงอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาให้เห็น

 

timthumb chernobyl

 

บรรดาสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ทิโมธีได้สำรวจและเก็บข้อมูล เช่น นกหลากหลายสายพันธุ์, แมลงเล็กๆ, แมงมุม, หนู ฯลฯ เขาพบว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและพันธุกรรมที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ บนโลก

จากการสำรวจตัวอย่างของนกต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ทิโมธีพบว่าจงอยปากของนกเหล่านี้มีความผิดปกติไป ต่างกับนกสายพันธุ์เดียวกันที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสี และนอกจากนี้เมื่อเขาศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทิโมธีพบว่าในร่างกายของนกบางสายพันธุ์ มีการสร้างสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องร่างกายในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งสารเหล่านี้ลดความเสี่ยงของการที่สารพันธุกรรมของนกจะถูกทำลาย ซึ่งอาจจะทำให้ร่างกายของนกเหล่านี้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้

กระบวนการในระดับการทำงานของร่างกายเช่นนี้เองที่ทิโมธีเรียกว่าเป็น ‘กระบวนการคัดเลือกอย่างไม่ตามธรรมชาติ’ (unnatural selection) ซึ่งเกิดจากการต้องปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีสารกัมมันตภาพรังสี และนั่นอาจทำให้เกิดการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่อไปได้ในอนาคต

นอกจากในเชอร์โนบิลแล้ว หลังจากเกิดอุบัติเหตุกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ทิโมธีได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจสิ่งแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงโดยรอบพื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มเก็บข้อมูลไปไม่กี่ครั้ง แต่เท่าที่เขาได้เห็น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ฟุกุชิมะมีความคล้ายกับที่เชอร์โนบิลเป็นอย่างมาก

ซึ่งหากมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกัมมันตภาพรังสีของทั้งสองแห่งเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน นั่นอาจทำให้เราสามารถยืนยันสมมุติฐานได้อย่างชัดเจนว่า สารกัมมันตภาพรังสีต่างๆ นี้เองที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบและการเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายของสัตว์เหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

 

bird

 

****************************************

ที่มา : huffingtonpost.com / nytimes.com

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า