อายุ 15 ก็หาเงินได้ มีสปอตไลท์เป็นของตัวเอง เมื่อวงการบันเทิงคือพื้นที่ถูกกฎหมายของแรงงานเด็ก

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แวดวงดนตรีแดนโสมได้ผลัดกันปล่อยหมัดฮุกจนสะเทือนพื้นที่วงการเพลง โดยมีดาวรุ่งแนวหน้าเป็นศิลปินหญิงหลายกลุ่มที่มีศักยภาพในระดับที่กินกันไม่ลง

ความน่าตื่นเต้นในการแข่งกัน ‘ทุบชาร์ต’ ปลุกสีสันให้กับเหล่าแฟนคลับและผู้หลงใหลในเพลง K-Pop สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่การประชันผลงาน แต่ยังเป็นโอกาสในการเปิดตัวศิลปินหน้าใหม่จำนวนมาก โดยที่พวกเขาเหล่านั้นมาพร้อมกับทักษะรอบด้านและช่วงวัยที่สดใหม่กว่าวงที่เปิดตัวเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

อายุเฉลี่ยที่น้อยลง คือสัญญะบางอย่างที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเพลงเกาหลีใต้ ทว่ากลับไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในวงการบันเทิงทั่วโลก ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมบันเทิงคือพื้นที่หนึ่งซึ่งบรรจุศิลปินเด็กไว้เป็นจำนวนมากในหลากหลายสาขา และเป็นพื้นที่ต่อยอดไปสู่รากฐานอันมั่นคงของพวกเขา

ตอนอายุ 15 ปี ใครหลายคนอาจกำลังค้นหาตัวเองเพื่อขีดเส้นทางไปสู่อนาคต แต่กับเด็กๆ ในวงการบันเทิง ตอนอายุ 15 ปี อาจเป็นช่วงวัยที่ประสบความสำเร็จในชีวิตไปแล้วด้วยการ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ 

ยิ่งไปกว่านั้น หากทางเลือกในวงการบันเทิงจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพที่แข็งแรงไปพร้อมๆ กับการได้ค่าตอบแทนที่สะสมเป็นต้นทุน การก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ก็ยิ่งเป็นเส้นทางที่คุ้มค่ากว่าเดิม

ศักราชใหม่ของเด็กสาวในวงการ K-Pop

กระแสหนึ่งที่ถูกจุดขึ้นในโซเชียลมีเดียในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา คือการเปิดตัวกลุ่มเด็กฝึกหญิง (trainee) ของบริษัท วายจีเอ็นเตอร์เทนเมนต์ (YG Entertainment) ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมบันเทิงจากประเทศเกาหลีใต้ โดยใช้ชื่อว่า ‘BABY MONSTER’ มีสมาชิกทั้งหมด 7 คน (ดูวิดีโอ YG NEXT MOVEMENT)

แม้วิดีโอเปิดตัว BABY MONSTER จะไม่ระบุข้อมูลอื่นใดนอกจากภาพเคลื่อนไหวซึ่งเป็นการฝึกซ้อมการแสดง แต่ข่าวสารในแวดวงผู้เสพสื่อบันเทิงประเทศไทยก็ทำให้ทราบว่า หนึ่งในสมาชิกของ BABY MONSTER คือ แคนนี่ (ไม่ระบุชื่อจริง) เด็กฝึกชาวไทยมีอายุเพียง 13 ปี (เกิดปี 2009) โดยข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันผ่านอินสตาแกรมของ เดชาวัต พรเดชาพิพัฒ นักร้องผู้เข้าประกวดในรายการ The Star Idol (รายการไทย) ผู้เป็นพี่ชายของแคนนี่

แคนนี่ เด็กฝึกชาวไทย หนึ่งในสมาชิกของ BABY MONSTER

การเปิดตัวเด็กฝึกซึ่งเป็นว่าที่ศิลปินหญิงกลุ่มใหม่ของค่ายวายจี ถือเป็นการวางไพ่ตายในกระดานแข่งของอุตสาหกรรมเพลงเกาหลีใต้ (K-Pop) ท่ามกลางกระแสร้อนแรงของเหล่าศิลปินหญิงจำนวนมากที่พากันคว้ารางวัลบนเวทีเพลงในปี 2022 

ความเก่งกาจของศิลปินน้องใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมาสร้างปรากฏการณ์ทางดนตรีครั้งสำคัญไว้อย่างมากมาย หากแต่คำว่า ‘น้องใหม่’ นั้นไม่ได้หมายถึงเพียงอายุวงที่น้อยกว่า แต่ยังหมายถึงอายุของศิลปินในวงการ K-Pop ที่เด็กลงเรื่อยๆ

แคนนี่-ว่าที่ศิลปินที่มีอายุเพียง 13 ปี กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลี ทั้งชื่นชมในความสามารถของเด็กหญิงที่ถูกเลือกให้อยู่ในทีมที่พร้อมเดบิวต์เป็นศิลปินตัวจริง ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่าเด็กสาวซึ่งอายุยังไม่ถึง 15 ปี ถือว่าเด็กเกินไปหรือไม่ที่จะก้าวเข้าสู่วงการอย่างเต็มตัว

ประเด็นเรื่องอายุที่น้อยลงของศิลปินเกาหลีไม่ได้เพิ่งถูกพูดถึงเป็นครั้งแรก เพราะในช่วงปลายปี 2021-2022 ก็มีกลุ่มศิลปินที่เปิดตัวโดยที่สมาชิกวงมีอายุไม่ถึง 15 ปี อาทิ อีซอ วงไอฟ์ (IVE) และ ฮเยอิน วงนิวจีนส์ (NewJeans) ซึ่งทั้งคู่เดบิวต์เป็นศิลปินขณะที่อายุเพียง 14 ปีเท่านั้น แต่ความสำเร็จทางดนตรีที่เกิดขึ้นกับทั้งสองก็นับเป็นข้อพิสูจน์ว่า อายุที่ยังน้อยไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด

ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์ย่อมเป็นหลักฐานที่เพียงพอจะยินยอมให้เด็กๆ เหล่านี้สามารถยืนอยู่ในสนามแข่งเดียวกับศิลปินรุ่นพี่ และข้อตกลงนี้ก็ถูกยอมรับในวงการ K-Pop มาอย่างยาวนาน เพราะแม้แต่ศิลปินชื่อดังที่เปิดตัวในช่วงปี 2007-2008 อย่าง แทมิน วงชายนี (SHINee) โซฮี วงวันเดอร์เกิลส์ (Wonder Girls) ไปจนถึงสมาชิกวงคาร่า (KARA) อย่าง จียอง ต่างก็เดบิวต์ในขณะที่อายุไม่ถึง 15 ปีเช่นกัน

ความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรม K-Pop กอปรกับการฝึกฝนอย่างหนักหน่วงเพื่อแข่งขันกับคู่ต่อสู้จำนวนมาก ทำให้ความเป็นมืออาชีพของเหล่าศิลปินถูกชูขึ้นเหนือข้อถกเถียงเรื่องอายุและช่วงวัย เมื่อข้อได้เปรียบของผู้ที่อายุน้อยกว่าก็คือร่างกายและพลังงานที่เหลือล้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กจะถูกป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สื่อบันเทิงคือพื้นที่ ‘ขาย’ ความสามารถ

ไม่ใช่เพียงแค่เกาหลีใต้ อุตสาหกรรมบันเทิงทั่วโลกต่างปรากฏภาพของเด็กอยู่ในทุกแพลตฟอร์มภายใต้บทบาทที่ถูกจัดวางไว้โดยเฉพาะ นักร้อง-นักแสดงเด็ก เหยียบย่างเข้าสู่วงการได้ด้วยวิธีการที่ไม่ต่างจากการคัดเลือกผู้ใหญ่ และสามารถเฉิดฉายสู่สายตาประชาชนได้ทัดเทียมกับผู้ใหญ่

ในประเทศใกล้เคียงกันอย่างญี่ปุ่นซึ่งโด่งดังด้านการผลิตไอดอลสู่อุตสาหกรรมเพลง ‘AKB48’ คือกลุ่มไอดอลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย รายได้และความสำเร็จอันมหาศาลของ AKB48 ทำให้มีการผลัดเปลี่ยนรุ่นเพื่อรับสมาชิกใหม่มาเข้าร่วมอยู่ตลอด ซึ่งปัจจุบันอยู่ในรุ่นที่ 17 โดยสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดคือ โนโซมิ ฮาตาเกยามะ (Hatakeyama Nozomi) เดบิวต์ขณะอายุ 14 ปี เช่นกันกับ ‘วงน้องสาว’ ซึ่งอยู่ภายใต้เครือของตระกูลไอดอล 48 ทั้งในญี่ปุ่นและประเทศแถบเอเชีย ก็มีสมาชิกวงที่อายุเพียง 10 ปีต้นๆ อยู่อีกหลายคน

โนโซมิ ฮาตาเกยามะ (Hatakeyama Nozomi)

สำหรับแวดวงภาพยนตร์อเมริกา (Hollywood) นักแสดงจำนวนมากเริ่มเข้าวงการตั้งแต่อายุยังน้อย และใช้เวลาภายใต้วงล้อมของสื่อบันเทิงเพื่อพัฒนาทักษะการแสดง รวมถึงเก็บเกี่ยวชื่อเสียงไปสู่การเป็นนักแสดงชื่อดังในวัยผู้ใหญ่ อย่าง แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliffe) รูเพิร์ต กรินต์ (Rupert Grint) และ เอมม่า วอตสัน (Emma Watson) 3 นักแสดงนำจากภาพยนตร์ภาคต่อชื่อดังอย่าง แฮร์รี่ พอร์ตเตอร์ (Harry Potter) ที่เริ่มงานในฐานะนักแสดงเด็ก และโลดแล่นอยู่ในบทบาทนี้เป็นเวลาถึง 10 ปี (ตั้งแต่ภาคศิลาอาถรรพ์ ปี 2001 จนถึงภาคเครื่องรางยมทูต ปี 2011) พร้อมกับตัวละครแฮร์รี่ พอตเตอร์, รอน วิสลีย์ และเฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ ที่เติบโตขึ้นตามวัยของนักแสดง

แฮร์รี่ พอร์ตเตอร์ (Harry Potter)

เช่นเดียวกันกับแวดวงภาพยนตร์ของประเทศอินเดีย (Bollywood) ซึ่งทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก นักแสดงจำนวนมากแจ้งเกิดในฐานะนักแสดงเด็ก และสร้างมูลค่าทางอุตสาหกรรมให้กับประเทศอินเดีย ซึ่งนักแสดงเด็กที่มีค่าตัวสูงที่สุดในปี 2022 คือ ซาร่า อรชุน (Sara Arjun) ดาราภาพยนตร์และโฆษณาวัย 17 ปี โดยเธอมีค่าตัวอยู่ที่ประมาณ 4,900 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 162,000 บาท) และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเธอกลายเป็นนักแสดงผู้ใหญ่เต็มตัว

ซาร่า อรชุน (Sara Arjun)

ความสำเร็จของผู้เยาว์ในวงการบันเทิง นอกเหนือจากชื่อเสียงที่ได้รับจากผู้ชมแล้วยังพ่วงมาด้วยค่าตอบแทนเป็นเงินก้อนโต อันเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ให้ดำเนินต่อไปได้ และเมื่อเงื่อนไขสำคัญของอุตสาหกรรมคือการดำเนินกิจกรรมภายใต้ทุน นั่นแปลว่าเด็กๆ ในวงการบันเทิงก็จะถูกนับเป็น ‘แรงงาน’ ในภาคการผลิตภายใต้วงจรนี้เช่นกัน 

เมื่อพูดถึงแรงงานเด็ก (child labor) ภาพที่ปรากฏขึ้นในความคิดหรือแม้แต่ใน Google มักเป็นภาพของเด็กที่ใช้กำลังกายของตนเพื่อประกอบกิจกรรมบางอย่างอันนำมาซึ่งรายได้ โดยเคลือบด้วยฟิลเตอร์ที่ทำให้รับรู้ได้ทันทีว่าเป็นสิ่งที่ ‘ไม่สมควรเกิดขึ้น’ แต่กับแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิงกลับแตกต่างออกไป

ที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเพราะสิ่งที่เผยแพร่ถูกครอบไว้ด้วยองค์ประกอบของความบันเทิง ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้สึกและประสบการณ์เชิงบวกให้กับผู้ชม แต่อีกส่วนหนึ่งคือการยอมรับในศักยภาพของเด็กๆ เหล่านี้ที่สามารถถูกนำมาใช้เพื่อสร้างรายได้และชื่อเสียงอันเกิดประโยชน์ต่ออนาคตของพวกเขาเอง

เมื่อแรงงานเด็กถูกกฎหมาย ภายใต้อุตสาหกรรมความบันเทิง

การเรียกขานเยาวชนในอุตสาหกรรมบันเทิงว่าแรงงานเด็ก จำเป็นต้องทำความเข้าใจพื้นฐานสำคัญว่า เด็กและเยาวชนมิใช่ผู้ที่ถูกอนุญาตให้ขายแรงงานแลกเงินได้ตามอำเภอใจ 

ข้อตกลงในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้รัฐต้องคุ้มครองเด็กจากการทำงานที่อันตรายหรือส่งผลเสียต่อการศึกษา สุขภาพ และพัฒนาการ ขณะเดียวกัน อนุสัญญาฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้จ้างงานได้ (Convention concerning Minimum Age for admission to Employment) ค.ศ. 1973 ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ก็ระบุว่าห้ามมิให้รัฐสมาชิกจ้างงานแก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 15 ปี

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้ออนุโลมสำหรับการจ้างงานอันนำมาซึ่งการพัฒนาทักษะของเด็ก การจ้างงานที่ไม่กระทบสุขภาพและพัฒนาการ รวมถึงการเข้าร่วมในการแสดงทางศิลปะ ให้สามารถจ้างงานผู้มีอายุในช่วง 13-15 ปีได้ ภายใต้ข้อตกลงเฉพาะของสัญญาจ้างแต่ละแบบ ซึ่งการจ้างงานเพื่อเข้าร่วมในการแสดงทางศิลปะจะต้องจำกัดชั่วโมงจ้างงาน และผู้ถูกจ้างจะได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ตามช่วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น

เมื่อพิจารณาจากข้ออนุโลมดังกล่าว จึงพอสรุปได้ว่า การจ้างแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิงนั้นทำได้ เพียงแต่ต้องกำหนดชั่วโมงทำงานและช่วงเวลาทำงานไม่ให้กระทบกับสุขภาพและการเรียน

ข้อปฏิบัตินี้ถูกบังคับใช้อย่างชัดเจนในกฎหมายคุ้มครองเด็กของญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กล่าวคือ แม้เด็กจะประกอบอาชีพตามกฎหมายแล้ว แต่ยังสามารถไปโรงเรียนเพื่อเข้ารับการศึกษาได้ตามปกติ รวมถึงเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหลังเวลา 22.00 น. และต้องเวลาทำงานต้องไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง ส่วนในสหรัฐอเมริกามีการบังคับใช้กฎหมายสำหรับเด็กในวงการบันเทิง (Child Entertainment Laws) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ ซึ่งจะกำหนดข้อควบคุมและใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิงตามข้อตกลงของแต่ละรัฐ โดยอิงหลักการตามข้อตกลงในอนุสัญญาฯ เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้อนุสัญญานี้จะถูกบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1976 พร้อมระบุว่ารัฐต้องกำหนดบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืนอย่างชัดเจน เพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิและใช้แรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมาย แต่ในแง่ปฏิบัติยังคงมีปัญหา เพราะเหตุการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิงกลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อสื่อบันเทิงเริ่มได้รับความนิยม

ในปี 2003 ILO เผยแพร่รายงาน ‘Child performers working in the entertainment industry around the world : an analysis of the problems faced’ ที่พบว่าความยืดหยุ่นของอนุสัญญาว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้จ้างงานได้ คือช่องโหว่ที่ทำให้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิงต้องเผชิญปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ เพราะงานที่พวกเขาทำไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในลักษณะของงานอันตราย รวมทั้งเด็กเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกบีบบังคับให้เข้าสู่ระบบแรงงานเพราะความยากจนเช่นเดียวการค้าแรงงานเด็กโดยทั่วไป

การศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเติบโตของสื่อวิทยุโทรทัศน์ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ทราบถึงค่านิยมการผลักดันเด็กเข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อ และส่วนหนึ่งของรายได้จำนวนมหาศาลที่หมุนเวียนอยู่ในระบบก็มาจากแรงงานของดาราเด็กเช่นกัน แต่สิ่งที่นักแสดงเด็กต้องเจอ คือการไม่ได้รับเวลาพักผ่อน การขาดสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับในฐานะแรงงาน ขาดความคุ้มครองทางสังคมในขณะประกอบอาชีพ รวมถึงการถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมในการจ้างงาน

แม้รายงานฉบับนี้จะเก็บบันทึกข้อมูลที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว แต่ปัญหาลักษณะดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นกับเด็กในวงการบันเทิงปัจจุบัน ดังในรายงานเมื่อปี 2022 ของ Child Rights and You (CRY) องค์กรพิทักษ์สิทธิเด็กประเทศอินเดีย พบว่าเด็กที่ทำงานในวงการบันเทิงของอินเดียถูกใช้แรงงานเกินชั่วโมงที่กำหนดในพระราชบัญญัติแรงงานเด็กและวัยรุ่นของอินเดีย (CALPRA) ดาราเด็กจำนวนมากต้องทำงาน 12-13 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลาถึง 6 วันต่อสัปดาห์

ข้อมูลยังระบุอีกว่า การทำงานหนักไปพร้อมๆ กับการเรียน ส่งผลเสียต่อสุขภาพและพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด บ่อยครั้งที่เด็กเหล่านี้ต้องขาดเรียนหรือพักการเรียนกลางคันเพื่อไปทำงาน ขณะเดียวกันก็มีเด็กจำนวนมากที่ถูกครอบครัวผลักดันให้เข้าสู่วงการบันเทิงโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ปรารถนา

เหตุการณ์ลักษณะนี้ยังเคยถูกพูดถึงในการเรียกร้องของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (Creative Workers Union Thailand: CUT) เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เพื่อขอความคุ้มครองต่อแรงงานเด็กไทยในกองถ่าย โดยระบุว่าหลายต่อหลายครั้งที่นักแสดงเด็กไม่ได้รับค่าตอบแทนที่พึงได้รับตามข้อตกลง ต้องมีชั่วโมงทำงานเท่ากับผู้ใหญ่แต่ไม่มีเวลาพักที่ชัดเจน ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก รวมถึงถูกผู้ปกครอง ‘ดัน’ ให้เข้าวงการโดยไม่เต็มใจ

สหภาพฯ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิของเด็กที่ชัดเจน กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันดูคลุมเครือและล้าสมัย ไม่ละเอียดพอที่จะนำไปบังคับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

“ทุกครั้งที่มีการใช้แรงงานเด็ก ประเด็นเรื่องสิทธิเด็ก มาตรฐานเวลาทำงาน สภาพแวดล้อมและความปลอดภัย จึงผูกติดอยู่กับระดับมนุษยธรรมของจิตใจผู้อำนวยการสร้างและทีมงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”

เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องการใช้แรงงานเด็กของกระทรวงแรงงาน จะพบข้อกำหนดเรื่องอายุขั้นต่ำในการทำงาน ช่วงเวลาที่อนุญาตให้ทำงาน และข้อตกลงที่นายจ้างต้องปฏิบัติเพื่อรักษาสิทธิของแรงงานเด็กเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมลักษณะงานของกลุ่มแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิง จนกลายเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้เยาว์ 

หากมองในภาพรวม จะพบว่าการละเมิดสิทธิแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิงมักมาในรูปของการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กซึ่งมีอำนาจจำกัด และลดทอนผลประโยชน์ที่พึงได้รับให้น้อยลง หรือพูดให้ง่ายก็คือ ลงทุนเท่าผู้ใหญ่ แต่ได้รับผลตอบแทนเท่ากำลังของเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างจำนวนหนึ่งของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเด็กในวงการบันเทิงเท่านั้น

ถ้าผู้ชมคือลูกค้าของโรงงาน ก็จำเป็นต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อย่างรอบคอบ

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของบทความ ข้อกังขาเรื่องการทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงของเด็กอายุน้อยได้ถูกพิสูจน์จากเหล่าศิลปินจำนวนมากแล้วว่าไม่ได้เป็นปัญหาเสมอไป แต่เมื่อมองผ่านปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้นในเบื้องหลัง ความกังวลที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เพียงแค่ ‘ศิลปินคนนั้นเริ่มงานด้วยอายุเท่าไหร่’ แต่กลายเป็น ‘เรากำลังสนับสนุนการใช้แรงงานเด็กอยู่หรือเปล่า’ 

เหตุผลด้านความรู้สึกที่ทำให้ใครหลายคนอยากผลักดันเหล่าเยาวชนที่ประกอบอาชีพนักร้อง-นักแสดงให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มักมาจากความประทับใจที่เกิดขึ้นผ่านการซึมซับความสามารถที่ถูกนำเสนอสู่ผู้ชม จนอยากสนับสนุนให้เขาเหล่านั้นได้เฉิดฉายอยู่ในวงการต่อไปอย่างมั่นคง 

ถึงอย่างนั้น กระแสสังคมที่เปลี่ยนไปเพราะเกิดความตระหนักต่อปัญหาการละเมิดสิทธิต่างๆ มากขึ้น ก็ทำให้หลายคนต้องกลับมาตั้งคำถามต่อสิ่งที่เคยชื่นชอบว่ามันถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ และเราควรใช้วิจารณญาณเพียงใดในการซัพพอร์ตเหล่าเยาวชนที่ทำงานผ่านจอแก้ว

“ไอดอลไม่ได้เด็กลงหรอก พวกเราต่างหากที่แก่ขึ้น ถึงได้เห็นเด็กเกิดปี 2007 2009 แล้วตกใจ” 

“ถ้าจะให้พูด มันก็อยู่ที่ความนิยมด้วย ค่ายเป็นนายทุนก็ต้องลงทุนกับอะไรที่ทำยอดได้นานๆ อยู่แล้ว ถ้าเดบิวต์ช้าไปก็ขายไม่ได้นานอีก ก็ต้องเดตอนเด็กนี่แหละ แต่เรื่องแรงงานเด็กก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจนะ”

“เมื่อก่อนเดบิวต์กันมาตั้งแต่อายุยังน้อย แถมคอนเซปแรงอีก แต่ติ่งไม่ตามด่าเพราะตอนนั้นส่วนใหญ่ยังเด็กกว่าเขา พอมาตอนนี้ ศิลปินทำคอนเซปซอฟต์ขนาดไหนก็ด่าว่าใช้แรงงานเด็ก ทั้งที่มันก็เหมือนกับเมื่อก่อนเป๊ะๆ”

“เราไม่มีทางรู้ว่าอะไรจริง จนกว่าศิลปินจะออกมาพูดและมีพื้นที่ให้เค้าพูด ที่คนระวังเยอะขึ้นมันดีกว่ามากๆ การมี awareness ไม่ใช่เพื่อขัดขวางไม่ให้เด็กทำในสิ่งที่รัก แต่มันคือการป้องกันไม่ให้เด็กๆ รู้สึกแย่ในแบบที่ศิลปินรุ่นก่อนเคยรู้สึก”

นี่คือความคิดเห็นบางส่วนบน Twitter ต่อกรณีของแคนนี่ และอาจหมายรวมถึงกรณีของศิลปินอายุน้อยคนอื่นๆ ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิง

แม้บางครั้งการถกเถียงเพื่อหาคำตอบร่วมกันจะสุดโต่งจนน่าปวดหัว แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมก็มักมีจุดเริ่มต้นมาจากการฉุกคิดและตั้งคำถามย้อนกลับ อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

คำตอบที่แท้จริงว่าควรทำอย่างไรต่อการสนับสนุนนักร้อง-นักแสดงเด็ก คงไม่อาจระบุได้อย่างตายตัว เช่นเดียวกับเบื้องลึกเบื้องหลังของวงการบันเทิงที่อาจไม่ถูกนำเสนอสู่สาธารณะอย่างหมดจด ฉะนั้น การตัดสินใจผ่านวิจารณญาณและความสมัครใจของตัวเองจึงเป็นข้อสำคัญที่ผู้ชมทางบ้านพอจะทำได้ เพื่อพาข้อถกเถียงเหล่านี้ไปสู่ความเข้าใจร่วมกันในอนาคต

อ้างอิง


Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า