คำขวัญวันเด็กจากผู้ใหญ่ที่พูดได้แต่ทำไม่ได้

ตลอดระยะเวลาการเข้ามาบริหารประเทศหลังการรัฐประหารของรัฐบาล คสช. ได้ก่อเกิดคำขวัญวันเด็กมากมายตั้งแต่ปี 2558-2562  

ปี 2558 : ความรู้คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต

ปี 2559 : เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต

ปี 2560 : เด็กไทย ใส่ใจการศึกษา พาชาติมั่นคง

ปี 2561 : รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี

และปีล่าสุด

ปี 2562 : เด็กเยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ

เมื่อลองทวนความจำดูแล้วก็ต้องยอมรับว่าคำขวัญของนายกรัฐมนตรีผู้มีความสามารถด้านการประพันธ์ มีความสั้นกระชับกินใจทุกปี อาจมีคำซ้ำกันบ้างแต่นั่นก็มาจากเทคนิคการเน้นน้ำเพื่อให้เกิดการจดจำ ท่านอยากให้เด็กไทยเติบโตเป็นคนเก่งคนดีของสังคม

ว่าแต่สิ่งที่ท่านประพันธ์เป็นคำขวัญแสนไพเราะนี้ ‘เด็กเยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ’ ท่านทำได้แล้วหรือยัง?

 

“เด็กเยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ

การเลือกตั้งในปีนี้ที่ (อาจ) จะเกิดขึ้น หลังจากหายมานานกว่า 7 ปี และนับเป็นโอกาสของเหล่าคนรุ่นใหม่กว่า 5 ล้านคนกับการเลือกตั้ง ‘ครั้งแรก’ ซึ่งเสียงของกลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนมากพอที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ตามข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานจำนวนประชากรทั่วประเทศของเดือนธันวาคม 2560 ว่ามีจำนวน 66,188,503 คน และตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 95 ได้กำหนดไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีอายุ 18 ปีในวันเลือกตั้ง

หากพิจารณาจำนวนประชากร ปี 2560 พบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52,457,576 คน ผู้ที่เพิ่งมีอายุ 18 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 836,459 คน ในระหว่างที่ คสช.ควบคุมอำนาจการปกครองปี 2557 – 2560 มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเลือกตั้ง จำนวน 3,688,118 คน โดยจำแนกในแต่ละปีเป็น ปี 2560 จำนวน 836,459 คน, ปี 2559 จำนวน 894,011 คน, ปี 2558 จำนวน 968,202 คน, และปี 2557 จำนวน 989,446 คน

และถ้าหากนับรวมตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. แบบทางการครั้งสุดท้าย เมื่อปี 2554 จะพบว่าผู้ที่มีอายุ 18 ปี ที่มีสิทธิเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2555 – 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,616,261 คน

‘คาดการณ์’ ผลการเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 17-18 กันยายน 2561 นิด้าโพลชี้ให้เห็นผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 1,251 คน ผลปรากฏว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ครองอันดับ 1 กว่าร้อยละ 29.66 ตามมาด้วยอันดับ 2 ร้อยละ 17.51 คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อันดับ 3 ร้อยละ 13.83 คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และอันดับ 4 ร้อยละ 10.71 คือนาย อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

 

ในทางกลับกัน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ทางสถานีโทรทัศน์ ONE ช่อง 31 ในเครือบริษัทเเกรมมี่ ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้ตั้งคำถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่หาก “สมมติว่า ‘บิ๊กตู่’ ลงเล่นการเมือง” โดยผลสำรวจดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจร่วมเเสดงความคิดเห็นกว่า 350,000 คน ผลปรากฏว่า มีผู้เลือกพลเอกประยุทธ์เพียงร้อยละ 12 เท่านั้น และอีกร้อยละ 88 ต่างไม่เห็นด้วย

 

เสียงจากคนอยากเลือกตั้งครั้งแรก กับ ‘ความคาดหวัง’ ในครั้งนี้

นายวทัญญู  สุริยันต์ อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกว่า

“รู้สึกตื่นเต้นมากกับการเลือกตั้งครั้งแรกที่จะเกิดขึ้น และหากการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว อยากให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ เช่น การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกคน ไม่ใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ การเเสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน หรือการวิจารณ์ผลงานของรัฐบาล มีการสร้างระบบสวัสดิการที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม เช่น เรื่องระบบประกันสุขภาพ พัฒนาในเรื่องของสินค้าทางการเกษตรให้เพิ่มขึ้น เพิ่มการลงทุนในประเทศผ่านนโยบายต่างๆ ของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้น้อยลง พัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกระดับอย่างเท่าเทียม และอยากให้ผู้นำพร้อมที่จะเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ พัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน”

นายชิษณุพงศ์  ศรีวรรณชัย อายุ 20 ปี นักศึกษา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า

“สิ่งที่คาดหวังจากการเลือกตั้งในครั้งนี้คือการที่เราจะมีรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ผ่านการประเมินการลงคะแนนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเป็นการเเสดงถึงการคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถเพียงพอและได้รับการไว้วางใจพอสมควรจากประชาชนว่ารัฐบาลชุดนั้นมีความสามารถที่จะปฏิบัติงานตามความคาดหวังของประชาชนได้ ซึ่งต่างจากรัฐบาลที่ได้มาจากการยึดอำนาจ และบริหารตามนโยบายของตนเองเพียงอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจกับเสียงของประชาชนเท่าที่ควร”

นายณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์ อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า

“สิ่งที่คาดหวังในช่วงใกล้เลือกตั้ง คือการที่รัฐบาลคสช. ไม่ใช้อำนาจในการหาเสียง หรือออกกติกาที่เอื้อให้กลุ่มที่สนับสนุนตัวเอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่เเทรกแซงการทำกิจกรรมทางการเมือง องค์กรอิสระทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ถูกครอบงำหรือเป็นเครื่องมือของ คสช. ในเกมการเมือง แต่ก็ยังคาดหวังอยู่ว่าหลังจากเลือกตั้งจะมีอะไรดีขึ้น อย่างน้อยก็อยากได้ระบบรัฐสภาแบบที่เป็นปกติ ที่มีการถ่วงดุลอำนาจ มีการตั้งกระทู้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้โปร่งใสและมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าทุกวันนี้”

นางสาวมาลาตี  นิเซะ  อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แสดงความคิดเห็นว่า

“ในฐานะที่เป็นคนรุ่นที่จะได้เลือกตั้งครั้งแรก อยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความยุติธรรม ได้ผู้นำที่มีประสิทธิภาพ มีศักยภาพ มีความคิดรอบคอบ และที่สำคัญคือ อยากได้ผู้นำที่นำพาให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะถ้าเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนก็ลำบาก ประเทศชาติก็ไม่ไปสู่ความเจริญ”

นายพิทักษ์ สอนจะโปะ อายุ 21 ปี นักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เล่าว่า

“เอาจริงๆ หวังว่าจะได้เลือกตั้งนะ เพราะตอนนี้เลื่อนมาบ่อยมากๆ ถ้าเกิดการเลือกตั้งขึ้นจริงก็อยากให้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใส เป็นไปตามกฎกติกา มีความเป็นธรรมกับทุกพรรค ไม่มีการกีดขวางพรรคใดๆ พอการเลือกตั้งจบก็อยากให้พรรคที่ได้รับเลือกเข้าไป ทำงานโดยที่ไม่มีความขัดเเย้ง เพราะทุกคนยอมรับผลที่ว่าเราเลือกพรรคนั้นๆ เข้ามาเเล้ว ”

นายวัชระพล สุวรรณมาลี อายุ 25 ปี ผู้ประสานงานโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็กจังหวัดนครพนม กล่าวว่า

“อยากได้ผู้แทนที่เป็นคนท้องถิ่นเป็นคนรากหญ้า เพราะคนที่เติบโตมาจากคนจน จะทราบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนรากหญ้า ว่าเป็นอยู่อย่างไร ลำบากอย่างไร อยากให้มองเรื่องของทางสังคม เรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุ การดูเเลผู้ป่วย เน้นเรื่องการบริการของรัฐ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน”

นายจักรเพชร  โพธิสาร อายุ 24 ปี นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บอกว่า

“ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายเพราะรู้อยู่เเล้วว่าคงใช้เวลาอีกกว่าชั่วอายุคนประเทศไทยถึงจะหลุดพ้นจากระบอบทหารได้ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจริงๆ คงเป็นในรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้อย่างน้อยก็หวังว่าพรรคใดก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งขอให้ไม่ใช่พรรคที่มีนโยบายสนับสนุนระบอบเผด็จการ แค่นี้ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นเราค่อยมาดูว่าพรรคนั้นๆ จะดำเนินการพัฒนาประเทศไปในทิศทางใด ถึงแม้ว่าพรรคนั้นๆ จะบริหารดีหรือไม่ดีอย่างไรก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ยังคงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นที่ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิจารณ์ได้อย่างชัดเจน และมีสิทธิมีเสียง สามารถแสดงความคิดเห็นได้”

 

เด็กเยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ

ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของ ‘จิตอาสา’ หรือจิตสำนึกสาธารณะว่า คือ การตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน หรือการคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน

 

“คนทำงานต้องได้เงิน” คสช. อาสาเพิ่มเงินกับคนทำงาน

หรือจะพูดให้ตรงไปตรงมา เรากำลังจะพูดถึงกฏหมายขึ้นเงินเดือนที่ผู้ใหญ่ใน คสช. อาสาช่วยข้าราชการแบบดื้อๆ ดื้อยังไงนั้นดูได้จากตลอดสี่ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า หลังการรัฐประหารภายใต้การบริหารงานของ คสช. ถือว่าการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีกฎหมายขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการไปแล้วอย่างน้อย 12 ฉบับ ทำให้งบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี  2557 จำนวน 605,868 ล้านบาท จนถึงล่าสุดปี 2562 วงเงินเพิ่มขึ้นเป็น 1,060,869 ล้านบาท บวกลบคูณหารเสร็จสรรพแล้วนั้น งบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐสูงขึ้นถึง 400,000 ล้านบาท สวนทางกับข้อมูลจากธนาคารโลกที่ได้ประเมินประสิทธิภาพของรัฐบาลและความสามารถของราชการไทยในปี 2557 อยู่ที่ 65.38 ส่วนปี 2560 อยู่ที่ 66.83 เพิ่มเพียง 1.45 จากคะแนนเต็ม 100 เท่านั้น แถมผลการจัดอันดับประสิทธิภาพของรัฐบาลและความโปร่งใสกลับไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด

การขึ้นเงินเดือนครั้งใหญ่นี้ครอบคลุมข้าราชการหลายสาขา เช่น ตำรวจ ทหาร ครู ข้าราชการพลเรือน  ซึ่งการปรับขึ้นเงินเดือนนั้นเพื่อแก้ปัญหาค่าครองชีพให้สมดุลกับสภาพเศรษฐกิจ และนอกจากข้าราชการหลายสาขาที่กล่าวไว้ข้างบน ยังมีการออกกฎหมายขึ้นเงินเดือนให้องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการ เพื่อสร้างฝนให้ตกทั่วฟ้า คำถามที่ตามมานั้นคือฝนที่ตกลงมาทั่วถึงเพียงท้องฟ้าข้าราชการเท่านั้นหรือ? เพราะในขณะเดียวกันข้อเรียกร้องเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานกลับไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล

จริงอยู่ว่าการปรับค่าครองชีพของกลุ่มแรงงานกับข้าราชการค่อนข้างใกล้เคียงกัน คือเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน แต่ฐานรายได้ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานกับข้าราชการยังแตกต่างกันมาก ขณะที่ข้าราชการระดับสูงเงินเดือนหลักแสนได้เงินเพิ่มอีกหลักหมื่นบาท แต่กลุ่มผู้ใช้เเรงงานได้เงินเพิ่มอย่างมากก็เพียงเก้าร้อยบาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัวอีกสองคน อันเป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ต้องการให้ค่าจ้างขั้นต่ำเหมาะสมกับความจำเป็นของลูกจ้างและครอบครัว

ความจริงที่ว่าการขึ้นเงินเดือนของเหล่าข้าราชการ มองได้ทั้งมิติของการแก้ไขความไม่สมดุลของสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ และยังเห็นได้ถึงมิติของความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการและแรงงานไทย เช่นนั้นแล้วคำกล่าวของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่ว่าต้องการให้ฝนตกทั่วฟ้า คำว่าฟ้าในที่นี้เราคงต้องมาตีความหมายกันใหม่เสียแล้ว

รางวัลของคนทำงานหนัก

 iLaw รายงานถึงการขึ้นเงินเดือนศาลและองค์กรอิสระ ว่า หากมองแต่เพียงผิวเผินจะพบเป็นการปรับขึ้นเงินเดือนตามปกติเช่นเดียวกับระบบราชการส่วนอื่นๆ ที่ได้ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้ แต่หากสำรวจดูบทบาทของศาลและองค์กรอิสระจะพบว่า สถาบันตรวจสอบอำนาจรัฐเหล่านี้กำลังทำหน้าที่เป็นกลไกที่สำคัญที่ คสช. ใช้เพื่อรับรองอำนาจของตัวเอง เช่น กรณีศาลปกครองสูงสุดสั่งไม่รับคำฟ้องของภาคประชาชนที่ยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและการจัดการขยะ ซึ่งเป็นการทำลายหลักการคุ้มครองประชาชนในการควบคุมพื้นที่ในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมโดยไม่กระทบต่อชุมชน แต่ศาลกลับชี้ว่า คำสั่งดังกล่าวออกโดยอำนาจรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ถือว่า ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด ศาลปกครองไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ กรณีดังกล่าวถูกมองว่าบทบาทของศาลคือการรับรองอำนาจของ คสช. ซึ่งนั่นก็ไม่แปลกเพราะนี่ไม่ใช่เพียงกรณีเดียว  

องค์กรอิสระเหล่านี้ก็ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบกรณีทุจริตของบุคคลในรัฐบาล คสช. เช่น กรณีนาฬิกาข้อมือและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ในเอกสารชี้แจงทรัพย์สินหรือกรณีภรรยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ที่ถือหุ้นมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสุดท้ายแล้วการที่ คสช. และ สนช. มีความพยายามในการผลักดันกฎหมายเพื่อให้สิทธิประโยชน์กับศาลและองค์กรอิสระ จึงหลีกเลี่ยงข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้ยาก และทางองค์กรอิสระเองก็ยังคงปฏิบัติย้อนแย้งกับคำว่า ‘อิสระ’ ที่พ่วงหลังชื่อของตนอยู่

 

เด็กเยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ

หลังจากคำขวัญวันเด็กที่ถูกมอบจากนายกรัฐมนตรีในวันเด็กปีนี้ กับใจความสุดท้ายกล่าวว่า “ร่วมพัฒนาชาติ” คำขวัญที่ส่งมอบให้เด็กทั้งประเทศด้วยความมุ่งหมายอยากให้เด็กตระหนักถึงความเจริญของชาติบ้านเมือง ไม่นานนัก เด็กๆ ทั้งประเทศก็ต้องให้คำขวัญกลับไปสู่ผู้ใหญ่ทั้งหลายผ่านทาง #ทวงคืนวันสอบ ที่กำลังร้อนแรงจากเหตุการณ์เลื่อนเลือกตั้ง เหตุการณ์นี้พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานเรียนอยู่ ชั้น ม.6 คงทราบดีแต่สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตาม เราจะมาสรุปให้ฟังว่าเยาวชนของชาติพวกเขากำลังเผชิญกับอะไรต่อการพัฒนาชาติในแบบของผู้ใหญ่ คสช.

ในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนชั้น ม.6 จะต้องสอบหลายสนาม ทั้ง GAT PAT, O-NET, 9 วิชาสามัญ และบางคนต้องสอบวิชาเฉพาะด้วย โดยการสอบแต่ละอย่างถูกกำหนดไว้เป็นช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ของเดือน ก.พ.-มี.ค. ต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ GAT PAT คือสนามสอบแรก ซึ่งเดิมทีจะสอบในวันที่ 23-26 ก.พ. 62 แต่ต่อมามีข่าวว่า 24 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันเลือกตั้ง ทำให้การสอบ GAT PAT ต้องถูกเลื่อนให้เร็วขึ้น 1 สัปดาห์ กลายเป็นวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ ผลที่ตามมา คือโรงเรียนจำเป็นต้องเลื่อนวันสอบปลายภาคให้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นแปลว่าเด็กๆ ชั้น ม.6 จะเหลือเวลาเรียนและเวลาเตรียมตัวสอบน้อยลง เมื่อมีข่าวว่าการเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไป 1 เดือน จากวันที่ 24 ก.พ. เป็นวันที่ 24 มี.ค. เด็กๆ ชั้น ม.6 จึงเรียกร้องขอวันสอบคืน เพื่อที่จะได้มีเวลาเตรียมตัวนานขึ้นอย่างน้อย 7 วัน เป็นที่มาของ #ทวงคืนวันสอบ และแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ change.org ที่มีผู้ลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 18,000 คน และมีทีท่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ

 

เสียงของเด็กที่ผู้ใหญ่เรียกว่า ‘อนาคตของชาติ’

 

 

 

 

 

 

ในขณะที่เสียงของเด็กๆ ได้บอกเล่าความกดดันและตั้งคำถามต่อวันสอบที่ถูกเลื่อนให้เร็วขึ้นผ่านทางทวิตเตอร์กันระงม เสียงของผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ชี้ชะตาของพวกเขาก็ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกัน นั่นคือรองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย วิษณุ เครืองาม  ที่ได้ออกมาบอกว่า “แม้จะสามารถย้ายวันสอบ GAT/PAT กลับไปได้ แต่ต้องรอความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งของ กกต. เสียก่อน วันสอบของนักเรียนจึงจะได้ความชัดเจนตามมา ดังนั้น ในขณะนี้ นักเรียนอาจจะต้อง ‘ทำใจ’ ว่ายังยึดวันสอบตามเดิมที่ประกาศไปแล้ว”

และก่อนหน้านี้ นายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ทวีตผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว @prayutofficial ว่า

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

voicetv.co.th

thairath.co.th

ilaw.or.th

royin.go.th

change.org

Author

ชนม์นิภา เชื้อดวงผุย
นักศึกษาฝึกงานสายเลือดอีสานผู้แบกสังขารไปเรียนไกลถึงเมืองเหนือ เรียนเอกหนังสือพิมพ์ โทการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ สนใจสิ่งแวดล้อม มีเพื่อนสนิทเป็นหมอนและที่นอนนุ่มๆ

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า