การประท้วงชิลี: ความตายของรัฐธรรมนูญเผด็จการ ก้าวแรกของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เริ่มต้นจากการประท้วงเมื่อ 18 ตุลาคม จากการขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดิน สู่ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ความไม่เท่าเทียม การมีส่วนร่วมทางการเมือง มีประชาชนถูกจับกุม บาดเจ็บ และเสียชีวิต จนท้ายที่สุด ปมของทุกปัญหากำลังมุ่งสู่ปลายทางที่ ‘การแก้ไขรัฐธรรมนูญ’

รัฐธรรมนูญชิลีปัจจุบันคือฉบับปี 1980 ในสมัยของ ออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ที่ปกครองประเทศระหว่างปี 1973-1990 โดยมีความพยายามปลุกปั้นเศรษฐกิจของประเทศตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ แต่ความล้มเหลวที่สะสมมาตั้งแต่ยุคเผด็จการทำให้ประเทศประสบปัญหาเรื้อรังยาวนาน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สวัสดิการ บำนาญ และสิทธิด้านต่างๆ ของประชาชน

การชุมนุมยืดเยื้อหลายสัปดาห์ มีการโจมตีสถานที่สำคัญ ทำให้สุ่มเสี่ยงว่ากองทัพจะเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง หลังจากพยายามปฏิเสธแนวทางนี้มา ที่สุดแล้ว เซบาสเตียน ปินเญรา (Sebastian Pinera) ประธานาธิบดีชิลี ต้องยอมประนีประนอมกับข้อเสนอของผู้ชุมนุม โดยเชิญผู้นำทางการเมืองจากพรรคต่างๆ มาหาทางออกร่วมกัน

หลังการพูดคุยในสภาฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน จึงมีความตกลงร่วมกันว่า รัฐบาลชิลีจะตอบรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ

ในครั้งนั้น วุฒิสมาชิก และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แฮรัลโด มูนโญซ (Heraldo Munoz) กล่าวไว้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการตายแล้ว”

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากการชุมนุมผ่านไป 8 สัปดาห์ รัฐสภาชิลีผ่านมติให้ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2020

แผนการนี้ผ่านสภาผู้แทนฯ เมื่อวันพุธ และหนึ่งวันต่อมาก็ผ่านการอนุมัติของวุฒิสภา นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องโควตาและสิทธิของผู้หญิง ชนพื้นเมือง ให้สามารถร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ถูกตีตกไปโดยกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา

จากการอนุมัติแผนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ การทำประชามติจะเกิดขึ้นในวันที่ 26 เมษายน 2020 โดยมีคำถามสำคัญ 2 ข้อ คือ 1. ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ 2. ถ้าใช่ ใครจะเป็นคนที่จะมาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดหรือไม่

และเมื่อผ่านขั้นตอนนี้ จึงเริ่มการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะเปิดให้ทำประชามติรองรับรัฐธรรมนูญฉบับนั้นอีกครั้งหนึ่ง

ข้อมูลจาก Aljazeera ระบุว่า จากการลงคะแนนเสียงแบบไม่มีผลผูกมัดของประชาชนกว่า 2 ล้านคน ซึ่งจัดในเขตเทศบาล 225 จาก 345 พื้นที่ โดยผลในขั้นต้นพบว่า ประชาชน 92.4 เปอร์เซ็นต์ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่ 73.1 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนทั้งหมด

วุฒิสมาชิกอัลวาโร เอลิซัลเด (Alvaro Elizalde) ประธานพรรคสังคมนิยมชิลี บอกว่า สมาชิกของพรรคกำลังทำงานเพื่อโน้มน้าวชาวชิลีให้เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง

“ในทางนี้ มันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐธรรมนูญจะถูกร่างในยุคประชาธิปไตย ในกระบวนการมีส่วนร่วม ผ่านการลงคะแนนเสียงข้างมาก”

ขณะที่วุฒิสมาชิกอิซาเบล อาเยนเด (Isabel Allende) บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende) กล่าวว่า จะยื่นขอเสนอเรื่องโควตาของผู้หญิงและชนพื้นเมืองให้มีสิทธิในการร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ด้วย

“เราเชื่อว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศนี้เป็นผลมาจากการขาดการเป็นผู้แทน มันไม่ดีพอ ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมและถูกรับฟัง”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
reuters.com
theguardian.com
pri.org
aljazeera.com

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า