นวัตกรรมภาษาของฉันจะช่วยเธอเอง

ภาพประกอบ: Shhhh

 

สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อก้องโลกคนหนึ่งเคยเล่าว่า วัยเด็กของเขาไม่น่าจดจำเอาเสียเลย เขาโดนเพื่อนล้อ และเจ้าหน้าที่ที่โรงเรียนก็มักคิดว่าเขาเป็นแค่เด็กขี้เกียจคนหนึ่ง เพราะเขาอ่านเขียนได้ช้ากว่าเพื่อนๆ วัยเดียวกัน เขาแบกปมปัญหานี้เอาไว้จนกระทั่งถึงวัยทำงาน เรื่อยมาจนล่วงเข้าสู่อายุ 60 ปี เขาเพิ่งได้รับการวินิฉัยว่าเป็นโรค ‘ดิสเล็กเซีย’ (Dyslexia) หรือโรคภาวะบกพร่องทางการอ่าน เขาเรียกการค้นพบครั้งนี้ว่า

“จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของปริศนาที่เขาได้เก็บงำไว้กับตัวเองมาเป็นเวลาแสนนาน”

ดิสเล็กเซียกับระดับ IQ คือคนละเรื่องกัน

ดิสเล็กเซีย ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เป็นภาวะที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงบ่อยนักในสังคมไทย อันที่จริงประชากรโลกร้อยละ 3-7 ก็มีอาการแบบนี้ ถือเป็นโรคหนึ่งในกลุ่มความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities: LD) โดยประกอบไปด้วยสามกลุ่มได้แก่

  • กลุ่มที่มีปัญหาในการอ่าน (Dyslexia)
  • กลุ่มที่มีปัญหาในการเขียน (Dysgraphia)
  • กลุ่มที่มีปัญหาในการคำนวณ (Dyscalculia)

สาเหตุของความบกพร่องในการเรียนรู้ต่างๆ นั้น เชื่อกันว่ามาจากทั้งกรรมพันธุ์และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด ทำให้เซลล์สมองผิดปกติ หรือการรับสารเคมี อาทิ สารตะกั่วที่สะสมในร่างกายเป็นจำนวนมากผ่านอากาศและอาหาร หรือเกิดจากเคยเป็นโรคติดเชื้อหรือเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับสมองอย่างรุนแรงมาก่อน

ดังนั้น ดิสเล็กเซียจึงเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนการประมวลผลภาษาและภาพ ทำให้ผู้ที่เป็นอาจมีปัญหาในการสะกดคำ การมองเห็น และทักษะการอ่านต่างๆ

สำหรับเด็กวัยเรียนอาจสามารถสังเกตได้จาก

  • อ่านไม่ออกผสมคำไม่ได้ หรืออ่านช้า และมีความลำบากในการอ่าน
  • ใช้วิธีการอ่านโดยการเดาจากตัวอักษรแรก เช่น บาท อาจอ่านเป็น บท
  • การอ่านตัวอักษรกลับกันเช่น การสับสนระหว่าง d กับ b
  • การสะกดคำสลับกันเช่น กรน เป็น นรก
  • การสลับพยัญชนะกับวรรณยุกต์
  • ไม่สามารถผันเสียงวรรณยุกต์ได้
  • มีปัญหาการจดจำคำต่างๆ โดยเฉพาะหากเป็นคำยาวๆ ด้วยแล้วอาการจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น
  • อ่านจับใจความไม่ได้

แน่นอนว่าการช่วยเหลือและการทำความเข้าใจโรคนี้โดยครอบครัว เพื่อน และโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้คนที่มีภาวะเหล่านี้อยู่ในสังคมได้ แม้โรค LD ต่างๆ จะไม่มีทางหายขาด แต่สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ โดยการเปลี่ยนวิธีการเรียนใหม่ ให้เด็กมีเวลาในการอ่านเขียนมากขึ้น หากมีปัญหาด้านการอ่าน อาจใช้การฟังควบคู่กันไป

อาทิ หากใช้ iphone อยู่ลองเข้าไปใช้งานการอ่านออกเสียงข้อความตามที่เราเลือกดูค่ะ Setting>General>Accessibility>Speech เพื่อเข้าไปเลือกโหมด Speak Selection ซึ่งจะสามารถช่วยอ่านข้อความที่เราเลือกออกเสียงได้ โดยสามารถกำหนดความเร็วในการอ่านได้อีกด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น คำแนะนำและเครื่องมือเหล่านี้อาจยังดูไม่เป็นรูปธรรมสักเท่าใด ลองมาสำรวจนวัตกรรมทางภาษาเพื่อการพัฒนาและช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางการอ่านกันค่ะ

ภาษาเรียบง่ายเพื่อทุกคน

เริ่มจากภาษา plain language หรือภาษาที่เรียบง่ายกว่าปกติ The United Nations Convention of the Rights of Persons with Disabilities หรือ CRPD กฎบัตรว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ระบุว่า ภาษา plain language หรือภาษาเรียบง่าย ถือเป็นภาษาหนึ่งที่ต้องมีใช้ในการสื่อสาร

เพื่อให้เห็นภาพ ขอขยายความให้เห็นภาพว่าภาษานี้จะถูกเขียนขึ้นโดยการใช้โครงสร้างประโยคกระชับ ไม่ซับซ้อน ไม่ใช้ศัพท์แสงวิชาการหรือคำสแลงเลย หากเป็นภาษาอังกฤษก็จะไม่เน้นการใช้ประโยคความรวมความซ้อนให้วุ่นวาย นอกจากนี้จะต้องถูกจัดวางด้วยฟอนท์ที่อ่านง่าย เช่น ฟอนท์ OpenDyslexic (www.dyslexic.org) ซึ่งถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้กับผู้ที่มีภาวะดิสเล็กเซียโดยเฉพาะ

 

แปล: ฉันไม่ได้เดือดร้อนที่เป็นดิสเล็กเซียหรอก ฉันอยู่กับมัน ฉันจัดการมันได้ ฉันเจ็บปวดกับความ ‘ขลาดรู้’ ของคนที่คิดว่ารู้ดีว่าฉันสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง

 

สหรัฐอเมริกาเองก็มีการใช้บันทึกภายในที่ถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาเรียบง่ายตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ในปี 1998 ต่อมาในปี 2004 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นเพื่อปรับปรุงภาษาบนเว็บไซต์รัฐบาลเพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ด้วยภาษาเรียบง่าย และปี 2010 รัฐบาลโอบามาได้ออกพระราชบัญญัติภาษาเรียบง่าย หรือ ‘Plain Writing Act’ เพื่อบังคับให้องค์กรรัฐต้องมีการใช้ภาษานี้ด้วย (สามารถทำความรู้จักภาษานี้เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ plainlanguage.gov ซึ่งได้ให้ข้อมูลการจัดทำเว็บไซต์เป็นภาษาเรียบง่ายเอาไว้)

รัฐบาลฟินแลนด์ก็มีการจัดทำสื่อมากมายภายใต้ชื่อ Selkokieli หรือแปลตรงๆ ว่า ‘ภาษาที่ชัดเจน’ โดยให้บริการผ่านข่าว บนหน้าเว็บไซต์ ข่าววิทยุ ทุกๆ วัน (https://yle.fi/uutiset/osasto/selkouutiset/) โดยปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบภาษาและวิธีการอ่านข่าวให้มีจังหวะช้าลง

นอกจากนี้วงการวรรณกรรมฟินแลนด์ยังมีนักเขียนภาษานี้อยู่จำนวนไม่น้อย ส่วนกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมจะทำงานร่วมกับสหภาพคนพิการ ในการฝึกอบรมกับผู้ที่ต้องการทำงานเขียนหรือแปลภาษาเพื่อคนกลุ่มนี้ ซึ่งรวมถึงผู้อพยพที่กำลังเริ่มเรียนภาษาฟินแลนด์ พวกเขาจะสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้เพื่อฝึกฝนภาษาฟินแลนด์ได้เช่นกัน

ตัวอย่างวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง แดงดุจเลือด เขียนโดย ซัลลา สิมุกกา (Salla Simukka) ที่ได้รับการเรียบเรียงขึ้นใหม่เป็นภาษาเรียบง่ายโดย ฮันนา แมนนิกเกอะลาห์ติ (Hanna Männikkölahti) ซัลลาเล่าให้ฟังว่า ที่ฟินแลนด์ก็ไม่ได้แปลหนังสือทุกเล่มให้เป็นภาษาเรียบง่ายหรอก หากเล่มไหนได้รับความนิยมมากหน่อยก็จะมีคนหยิบขึ้นมาแปล สังเกตว่าสำนักพิมพ์ที่พิมพ์เล่มต้นฉบับนั้นคือ Tammi (ตัมมี่) แต่ฉบับภาษาง่ายจะจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Avain (อะไวน์) ซึ่งแปลว่ากุญแจ ในภาษาฟินแลนด์ และมีสัญลักษณ์ selko ที่แปลว่า ‘ชัดเจน’ พิมพ์อยู่บนหน้าปก

ในส่วนของหนังสือเรียนนั้น สำนักพิมพ์เก่าแก่ (ที่มีอายุอานามเก่าแก่กว่าประเทศฟินแลนด์เสียอีก) อย่าง Otava Publishing ก็มีการจัดทำหนังสือเรียนเพื่อเด็กๆ กลุ่มนี้โดยจะมีเนื้อหาแบบเดียวกับหนังสือเรียนในหมวดเดียวกัน แต่มีการใช้ฟอนท์ และการจัดวางโครงสร้างหนังสือที่อ่านง่ายกว่า หากมองเผินๆ อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือหนังสือเรียนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการอ่าน ทั้งนี้ Otava ให้คำอธิบายว่า หากจะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ในห้องได้ด้วยเครื่องมือบางอย่าง เครื่องมือนั้นก็ไม่ควรสร้างความพิเศษให้เด็กเหล่านี้

ตัวอย่างหน้าปกหนังสือแบบฝึกหัดวิชาภาษาอังกฤษระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เล่มที่เลข 3 พื้นหลังสีฟ้าเป็นเล่มสำหรับนักเรียนทั่วไป เล่มที่เลข 3 พื้นหลังสีเหลืองสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้

ตัวอย่างเปรียบเทียบหนังสือแบบฝึกหัดในช่วงชั้นเดียวกัน จะเห็นว่าหน้าปกแทบจะไม่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ส่วนภายในนั้นโครงสร้างและเลขเรียกแบบฝึกหัดจะเหมือนกัน เพียงแต่เลขหน้าจะต่างกันเนื่องจากหนังสือกลุ่มนี้จะมีการวางโครงสร้างหน้าหนังสือที่หลวมกว่าหนังสือเรียนทั่วไป สังเกตว่ากิจกรรมที่ทำหลายแบบจะมีการฟังควบคู่ไปกับการอ่าน (กิจกรรม 15a และ 15b รวมถึงกิจกรรมที่ช่วยหัดเขียนทีละขั้นตอนอีกด้วยอย่างกิจกรรม 17)

เพื่อนคนหนึ่งของฉันซึ่งตอนนี้มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับตัวแทนกระทรวงจากประเทศหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สำหรับเธอ ดิสเล็กเซียเป็นเพียงอาการที่อาจสร้างความลำบากในการทำงานบ้าง แต่ด้วยการฝึกฝน พัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กับความเข้าใจและความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ตลอดจนเครื่องมือต่างๆ ที่โรงเรียนและรัฐจัดหามาให้ เธอก็มองไม่เห็นว่ามันจะเป็นอุปสรรคหนักหนาอะไรในการใช้ชีวิตหรือการทำหน้าที่ระดับประเทศของเธอ

“ถ้ากลัวสะกดผิด ก็ขอให้ผู้ช่วยตรวจตัวสะกดให้อีกรอบ ไม่เห็นจะซับซ้อนอะไรเลย”

สังคมมีน้ำใจ…เห็นจะเป็นสังคมที่พาทุกๆ คนเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน ด้วยวิธีอันแตกต่างกันไปตามความต้องการของคนคน นั้น โดยไม่ต้องทำให้ผู้คนเหล่านั้นต้องรู้สึกบกพร่องหรือพิการ

จะรอคอยการเปลี่ยนแปลงและเฝ้าดูการมาถึงกุญแจดอกใหม่ที่จะช่วยไขประตูแบบต่างๆ ตามความต้องการของผู้คนอันหลากหลายในสังคมนี้ด้วยใจจดจ่อ


อ้างอิงข้อมูลจาก:
med.mahidol.ac.th
prachatai.com
mamaexpert.com
braille-cet.in.th
understood.org
digikirja.otava.fi

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า