ภาพประกอบ: Shhhh
จากบทความตอนที่แล้ว มีคำตอบของคำถามร้อยล้านจากพ่อแม่ว่า จะส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนฟินแลนด์ได้ไหม คราวนี้จึงขอแบ่งปันคำตอบหนักอกโดยนักการศึกษาฟินแลนด์ จากการเสวนาเรื่องการศึกษาไทยและฟินแลนด์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ร่วมจัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ และบริษัทอักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด ช่วงสายๆ ของวันที่ 31 มีนาคม 2560
ช่วงแรก บทสนทนาวนเวียนอยู่กับการศึกษาเพื่ออนาคต เทคโนโลยีกับการศึกษา การจัดการชั้นเรียนใหญ่ๆ แน่นอนว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจทั้งสิ้น แต่เรากลับมาสะดุดใจกับคำถามสำคัญจาก ดร.ดำรง อดุลยฤทธิกุล คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าภาพหลักของงานนี้ที่ว่า
หากนักการศึกษาชื่อดังของฟินแลนด์ทั้งสามคน ได้แก่
คุณปาสิ ซอลห์เบิร์ก นักเขียน Finnish Lessons 2.0
คุณเอลิเซ ตาร์ไวเน็น ที่ปรึกษาด้าน Global Operations จาก Educluster, Finland
และครูตีน่า เมาส์เต ผู้เชี่ยวชาญหลักด้านการฝึกอบรมครูจาก Educluster, Finland
จะต้องให้คำแนะนำกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
(ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนเอาการเสียด้วย)
คุณจะมอบคำแนะนำใดบ้าง
เริ่มต้นคลายข้อข้องใจจากคำตอบของคุณปาสิ ดังนี้
“จากประสบการณ์ที่ผมได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาแล้วหลายประเทศ เช่น สวีเดน มัลตา และจากหลากหลายประเทศ รวมกับประสบการณ์กว่า 10 ปีที่ทำงานด้านนี้ ไม่ว่าสิ่งที่ผมกำลังจะแนะนำนั้นจะเป็นสิ่งใดก็ตาม ผมต้องเข้าใจบริบทของประเทศนั้นๆ ก่อน ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ สิ่งที่ผมเองเขียนไว้ซ้ำ ๆ ในหนังสือ (Finnish Lessons 2.0) คือ อย่ารีบร้อน การปฏิรูปเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถทำอย่างเร่งรีบได้ และไม่ว่าสิ่งที่คุณกำลังจะทำอยู่คืออะไรก็ตาม ในช่วงที่คุณกำลังอยู่ในตำแหน่งนั้น คุณจะไม่มีวันทำมันสำเร็จในระยะเวลาสั้นๆ หรอก เพราะสิ่งสำคัญที่เราต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่สามารถทำได้เพียงชั่วข้ามคืน ในฐานะที่คุณจะต้องเป็นผู้นำนโยบายด้านการศึกษา คุณลองทำงานด้วยมุมมองที่ว่าคุณได้เริ่มต้นอะไรบางอย่างเอาไว้ และเมื่อหมดวาระของคุณ คนใหม่ๆ ก็จะมองเห็นคล้ายๆ คุณ และพร้อมสานงานของคุณต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแบบเคาะพิมพ์ออกมา แต่หลักใหญ่ใจความต้องเป็นไปในทางเดียวกัน
เหมือนกับที่ฟินแลนด์ เราทำสิ่งนี้ (การปฏิรูปการศึกษา) มาตั้งแต่ปี 1970 แล้ว ผ่านรัฐบาลมากว่า 20 ชุด และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาแล้วกว่า 30 คน [1] พวกเขาไม่เคยเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการศึกษาไปมากนัก อย่างสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ยกตัวอย่างระบบของสวีเดนก็ได้ ระบบของสวีเดนแทบจะเหมือนเส้นซิกแซก พอหมดสมัยหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงที่ตามมาก็แทบจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ 180 องศา สิ่งนี้ไม่ได้เกิดในฟินแลนด์เลย ดังนั้น ข้อแรกคือ คิดให้หนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ คิดหนักๆ ถึงสิ่งที่คุณจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ถึงเรื่องทิศทางการเป็นผู้นำนโยบายต่างๆ
“สิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ ทั้งคณะทำงานนั้นทำงานหนักมากเพื่อทำให้คนเข้าใจว่ารัฐกำลังทำอะไรอยู่ อย่างเรื่องไทยแลนด์ 4.0 นี่ คุณมีกรอบความคิดอันยอดเยี่ยมแล้ว แต่ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนนะครับ ถ้าไม่มีวิสัยทัศน์แล้ว มันจะไม่พาคุณไปไหนแน่นอน
“และก่อนเวลาของผมกับท่านรัฐมนตรีจะหมด ผมขอฝากไว้เรื่องหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการศึกษาฟินแลนด์ ซึ่งคือ สิทธิที่เด็กจะได้เป็นเด็ก ผมจะบอกท่านว่า ผมเดินทางมารอบโลก รวมทั้งเมืองไทยด้วย เด็กๆ ต้องตื่นแต่เช้าไปโรงเรียน ต้องใช้เวลามากมายเหลือเกินที่โรงเรียน ต้องทำการบ้านหนักมาก ต้องนั่งอยู่บนเก้าอี้ทีละนานๆ ซึ่งนานกว่าแต่ก่อนมากๆ นี่ไม่ถูกต้อง มันขัดกับหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กพึงมี (หัวเราะ)
“นี่เป็นสิ่งที่เราทำในฟินแลนด์ เรามอบสิทธิให้เด็กๆ และเราควรเคารพสิทธินั้นใช่ไหมครับ เด็กๆ ทุกคนมีสิทธิที่จะเล่น น่าจะมีการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของพวกเรา ของคุณ ของผมที่จะปกป้องดูแลสิทธิของเด็กๆ และทุกครั้งเมื่อคุณคิดถึงนโยบายการศึกษาว่ามันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเด็กๆ และมอบพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เป็นเด็กอยู่หรือไม่ ต้องได้เล่นทั้งในและนอกโรงเรียน ถ้ายังมีข้อสงสัยอยู่ ลองเดินทางให้ช้าลง นี่เป็นวิธีที่จะทำให้คุณสามารถพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น คุณต้องทำให้เด็กๆ ของคุณเรียนรู้ได้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ที่คุณจะได้ยินจากเพื่อนผมจากฟินแลนด์อีกสองคนนั้น เราทำสำเร็จได้เพราะหลักการเหล่านี้ เราเชื่อใจ และเคารพเด็กๆ รุ่นใหม่ของเรา ขอบคุณเวลาของท่านมากครับ ผมมีเพื่อนอีกสองคนตรงนี้ที่จะให้คำแนะนำกับท่านต่อครับ”
ตามติดมาด้วยคำตอบของคุณเอลิเซ
“ขอบคุณ ดร.ปาสิ ค่ะ สำหรับข้อแนะนำนั้น ดิฉันขอเสนอแบบนี้ค่ะ หากจะเริ่มนำนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาปฏิบัติจริงนั้น ขอเสนอให้เริ่มจากการ pilot หรือโครงการนำร่อง ลองเลือกองค์กร มหาวิทยาลัย สถาบันต่างๆ ที่จะสามารถมาเป็นฐานของการนำร่อง รวบรวมหน่วยงานต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบัน เก็บข้อมูลและหลักฐานโดยละเอียด รวบรวมไอเดียเพื่อเตรียมการนำร่อง จากนั้นจัดการข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาจากการนำร่อง เพื่อคัดกรองไอเดียที่ทำได้ดีหรือทำไม่ได้
สำหรับดิฉัน หลายครั้งเมื่อเราจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม เราต้องลงมือทำอย่างรวดเร็ว แต่มันควรเริ่มจากสเกลเล็กๆ ก่อน เริ่มจากก้าวเล็กๆ ก่อน เพื่อจะตรวจสอบดูว่ามีสิ่งใดที่เราพอจะทำได้บ้าง เพราะเราจะรอการเปลี่ยนแปลงให้มาจากบนลงล่างอย่างเดียว หรือรอให้ร่วงหล่นลงมาจากฟ้าไม่ได้ และระหว่างที่ทดลองโครงการนำร่องนั้น จะต้องสร้างสะพานอันแข็งแรงระหว่างผู้ออกนโยบายและผู้ที่ทำงานอยู่ด้านล่าง ต้องมีไดอะล็อกการสื่อสารแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารกันอยู่เสมอ [2]
และข้อเสนอจากครูตีน่า
“ข้อหนึ่งที่สำคัญมากๆ เมื่อพูดถึงการศึกษาและระบบการศึกษาทั้งในระดับประเทศและระดับโลกนั้น ต้องถามว่าเราอยากสอนเด็กให้เป็นอย่างไร เอาใหม่ หรืออยากให้เด็กได้เรียนรู้อะไรบ้าง คำถามสำคัญข้อนี้เราต้องถามตัวเองอยู่ตลอด ทั้งในหลักสูตรแกนกลางที่เขียนขึ้น หลักสูตรในสถาบันการศึกษา อย่างในฟินแลนด์ หลักสูตรแกนกลางเป็นแกนหลักของการทำงานทั้งส่วนครู ผู้จัดการศึกษา และท้องถิ่น รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย หลักสูตรแกนกลางนี้เป็นส่วนสร้างความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างทุกๆ ภาคส่วนที่ต้องทำงานร่วมกันว่าเราอยากเห็นคนรุ่นต่อๆ ไปของเราเป็นแบบไหน
สำหรับประเทศไทย ก็ให้ไปถามตนเองว่าอยากได้คนรุ่นใหม่แบบไหน อยากให้เขาเรียนรู้แบบไหน ข้อมูลเหล่านี้ต้องระบุไว้ให้ชัดเจนในหลักสูตรแกนกลาง และทำไปพร้อมกับการตั้งคำถามกับตัวเองว่าโรงเรียนนั้นกำลังเตรียมให้นักเรียนพร้อมทำข้อสอบ หรือพร้อมใช้ชีวิต และไม่ว่าคุณจะตอบคำถามนี้ว่าอะไรหรือเห็นว่าข้อใดสำคัญกว่ากัน ก็ขอให้กระบวนการเรียนรู้เป็นไปตามคำตอบที่คุณได้ให้ไว้
ส่วนสุดท้าย ผู้เขียนขอตอบบ้าง ด้วยในงานไม่ทันได้ตอบ
“ขอเสนอว่าแผนการออกแบบโครงการนำร่องวิธีการศึกษาแบบฟินแลนด์และแบบอื่นๆ ควรผสมผสานให้เหมาะกับบริบทไทยในจังหวัดหรืออำเภอใดอำเภอหนึ่ง ที่เสนอแบบนี้ เพราะมองว่าการศึกษาประกอบไปด้วยบ้าน โรงเรียน นักเรียน ดังนั้นหากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้ จังหวัดขนาดกะทัดรัด อาจเป็นพื้นที่ทดลองที่เหมาะสม ในการเตรียมความพร้อมของทั้งสามภาคส่วนได้
ขอเสนอให้มีการฝึกอบรมครู พ่อแม่ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น พร้อมๆ กัน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันก่อน โดยทิศทางของการเรียนรู้ของเด็กๆ นั้นควรถูกกำหนดโดยบุคคลเหล่านี้ เพราะเขาคือเจ้าของพื้นที่ และเด็กๆ คือทรัพยากรอันสำคัญยิ่งของพวกเขา ส่วนสำคัญคือการสร้างความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมก่อนว่า เราจะปฏิรูปเรื่องนี้ไปทำไม ผลที่จะได้คืออะไร แล้วมันสำคัญอย่างไรที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ถ้าเริ่มก้าวเล็กๆ ตรงนี้ได้ ก้าวต่อๆ ไปก็ไม่ท้าทายเกินความสามารถแน่ๆ ขอให้มันได้เกิดขึ้นก่อน และลึกๆ เชื่อว่ามันได้เกิดขึ้นบ้างแล้วในสเกลเล็กๆ และถ้าเป็นแบบนั้นจริงจิ๊กซอว์เล็กๆ ทั้งหลายคงต้องหันหน้าคุยกันเพื่อให้กลายเป็นภาพที่ใหญ่ขึ้นในที่สุด”
อีกส่วนสำคัญของการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงคือ การถกเถียงแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ ไม่มองว่าปัญหาเป็นเรื่องน่าอับอายหากแต่ปัญหาเป็นเรื่องต้องช่วยกันแก้ไข
หมายเหตุ:
[1] ตั้งแต่ พ.ศ. 2487 จวบจนปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 73 ปี ประเทศไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาแล้วทั้งหมด 52 คน เฉลี่ยอยู่ในวาระคนละปีครึ่งโดยประมาณ
[2] จากการสังเกตการณ์ส่วนตัว เมื่อคุณเอลิเซเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรด้านการศึกษาต่างๆ ที่เข้ามาขอให้จัดการอบรมบุคลากรให้นั้น เธอมักจะเสนอว่าให้นำทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติงานเข้าอบรมพร้อมกัน เพราะความเข้าใจที่ตรงกันเป็นเงื่อนไขแรกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จได้