เจ็บแค้นเคืองโกรธโทษฉันไย…ทำไมจึงต้องแกล้งกัน

ภาพประกอบ: Shhhh

 

พวกที่ชอบหาเรื่องที่โรงเรียนบอกเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าหากทำตามที่พวกนั้นต้องการ จะเลิกทำร้ายและทำให้เธออับอาย พวกนั้นก็ไม่เคยหยุด กลับทำให้เด็กคนอื่นๆ เข้ามาร่วมขบวนการนี้เพิ่มขึ้น และยังติดสินบนต่างๆ ให้เด็กคนอื่นโกหกลูมิกกิต่างๆ นานา เช่น คำโกหกว่าวิชาพละวันรุ่งขึ้นถูกยกเลิก หรือครูใหญ่ขอให้ลูมิกกิไปพบที่ห้อง ช่วงเวลาที่อับอายทำให้ลูมิกกิรู้ว่าเธอได้ตกหลุมพรางของพวกนั้นและมันก็ฝังแน่นอยู่ในใจเธอ

ตอนหนึ่งจากวรรณกรรมเยาวชนฟินแลนด์เรื่อง ขาวราวหิมะ
เขียนโดย ซัลล่า ซิมุกกา

 

ขณะที่แปลหนังสือเล่มนี้ มีคำถามชุดหนึ่งผุดขึ้นมาวนเวียนในหัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า อันเนื่องมาจากตัวละครเอกของวรรณกรรมเรื่องนี้ คือ ลูมิกกิ ถูกเพื่อนที่โรงเรียนรุมกลั่นแกล้งอย่างหนักหนาสาหัส ชนิดที่ถ้าตำรวจจับได้ก็คงถูกตั้งข้อหาพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนไปแล้ว คำถามที่ว่านั้นคือ เจ้าเด็กที่รุมกระทำย่ำยีนางเอกยิ่งกว่าพจมานในบ้านทรายทองนั้น ใจทมิฬหินชาติ โหดร้าย และป่าเถื่อน เหมือนที่แสดงออกมากับลูมิกกิจริงๆ หรือไม่? แล้วที่บางคนบอกว่าการกลั่นแกล้งกันอาจเป็นเหมือนพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติกันในสังคมโรงเรียนจากรุ่นสู่รุ่นนั้นจริงหรือไม่? และอันที่จริงแล้ว การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนมีที่มาจากอะไรบ้าง?

แค่ไหนเรียกว่ากลั่นแกล้ง (bully)?

แดน โอล์เวาส์ (Dan Olweus) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Bergen ในนอร์เวย์ได้อธิบายปรากฏการณ์การกลั่นแกล้งไว้ว่ามีองค์ประกอบสามประการ ได้แก่

  1. พฤติกรรมที่เป็นแบบแผนและเกิดซ้ำๆ ระหว่างเด็กคนหนึ่งกับเด็กอีกคน
  2. มีภาวะที่เด็กคนหนึ่งอ่อนแอกว่าเด็กอีกคน หรือมีการใช้ความรุนแรงระหว่างเด็กสองคนโดยคนหนึ่งเป็นผู้กระทำอีกคนเป็นผู้ถูกกระทำ
  3. มีเจตนาทำร้ายในทางใดทางหนึ่ง

ส่วนรูปแบบการกลั่นแกล้งก็มีหลากหลายทั้งที่เราเคยพบเจอและไม่คุ้นเคย เช่น

  1. การกลั่นแกล้งให้อับอายโดยการปฏิบัติ ดังเช่นเหตุการณ์ที่ลูมิกกิประสบอยู่ โดยทำให้ลูมิกกิตกอยู่ในฐานะตัวตลกของเพื่อนๆ หรือครูซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในบริบทสังคมโรงเรียน
  2. การล้อด้วยชื่อหรือฉายาต่างๆ ในต่างประเทศการล้อชื่อพ่อแม่ซ้ำๆ ก็ถือเป็นการกลั่นแกล้งเช่นกัน แต่ด้วยบริบทวัฒนธรรมไทย เรามักตอบสนองสิ่งเหล่านี้ด้วยเสียงหัวเราะหรือรอยยิ้ม จึงอาจทำให้รู้สึกว่าการกลั่นแกล้งลักษณะนี้ไม่ส่งผลรุนแรงมากมายจนกลายเป็นความเคยชินในที่สุด
  3. การเพิกเฉยหรือตั้งใจทำให้กลายเป็นอากาศธาตุที่มองไม่เห็น
  4. การแกล้งขโมยหรือทำลายข้าวของ
  5. การทำร้ายร่างกายอีกฝ่าย

นอกจากนี้ ปัจจุบันการกลั่นแกล้งได้ย้ายไปเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ตามมนุษย์ผู้ใช้ แม้รูปแบบจะเปลี่ยนไป แต่องค์ประกอบ เจตนา และวิธีการยังคงเหมือนเดิมตามข้างต้น ซ้ำร้ายในบางกรณีกลับเกิดวิธีการและผลจากการกลั่นแกล้งที่รุนแรงและรวดเร็วกว่าหลายเท่านัก

หากสนใจเรื่องนี้เพิ่มเติม ขอแนะนำ

  • สันติ-วีณา ภาพยนตร์ไทยเมื่อ 60 กว่าปีก่อน เล่าเรื่องเด็กชายตาบอดและเด็กสาวผู้พยายามดูแลเด็กชายคนนั้นท่ามกลางความไม่เห็นดีเห็นงามของผู้คนรอบตัวเธอ ภาพยนตร์ฉายให้เห็นการกลั่นแกล้งอย่างเป็นแบบแผนชัดเจนดี เมื่อได้ดูแล้วอาจฉุกใจว่า 60 กว่าปีที่ผ่านมา การกลั่นแกล้งลักษณะนี้ยังอยู่คู่กับสังคมไทยหรือไม่? อย่างไร?
  • หากสนใจบริบทสังคมอเมริกัน ขอแนะนำ 13 Reasons Why ซีรีส์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กสาวที่ถูกกลั่นแกล้ง จนต้องจบชีวิตตัวเองในที่สุด

เท่าที่เล่ามา หลายคนอาจเริ่มรู้สึกว่าเจ้าเด็กคนที่แกล้งนี่ทำไมช่างใจไม้ไส้ระกำทำกับคนอื่นได้ถึงเพียงนี้ ก่อนสงสัยถึงข้อนั้น ขอให้ทำความเข้าใจโดยชัดเจนก่อนว่า การที่เด็กๆ ทำตัวไม่น่ารักกับเพื่อน หรือใจร้ายไปบ้างในบางครั้ง เช่น ตะโกนว่ากัน ผลักกันไปมา หรือแกล้งกันในห้องเรียนเป็นครั้งคราว หากไม่เกิดขึ้นซ้ำจนมีเหยื่อที่ชัดเจนแล้ว การกระทำดังกล่าวอาจเป็นเพียงภาวะชั่วคราว หรือเป็นผลจากการไม่อาจควบคุมอารมณ์และร่างกายของตนเองไว้ก็เป็นได้

และจริงๆ แล้วเด็กขาโจ๋ชอบแกล้งเพื่อนนั้นเป็นคนใจร้ายไร้หัวใจจริงหรือไม่? จากการศึกษาวิจัยในแถบสแกนดิเนเวีย อังกฤษ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ พบว่า ความรุนแรงเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่อายุน้อยๆ ในกลุ่มเด็กที่มีลักษณะเฉพาะตัวบางอย่าง โดยเฉพาะเด็กที่ได้แกล้งเด็กคนอื่นๆ มาตั้งแต่อายุยังน้อย คนที่เจ็บปวดจากการถูกกลั่นแกล้งในแต่ละครั้งนั้นแน่นอนว่าคือเหยื่อ แต่เด็กที่แกล้งก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจที่จะหล่อหลอมเขาในระยะยาว และมีแนวโน้มจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คนที่เติบโตมากับการกลั่นแกล้งผู้อื่นนั้นมักประสบปัญหาในชีวิต ทั้งในเรื่องการทำงาน ความสัมพันธ์ และสุขภาพจิตโดยรวม อาจส่งผลให้กลายเป็นผู้ที่ก่ออาชญากรรมในอนาคต เป็นผู้ทำร้ายครอบครัวของตัวเอง และสร้างครอบครัวที่กลายเป็นนักกลั่นแกล้งขึ้นมาเป็นวัฏจักรต่อไปไม่สิ้นสุด

หัวจิตหัวใจทำด้วยอะไรกัน?

ในหัวใจเด็กที่กลั่นแกล้งผู้อื่นนั้น มักมีความหวาดระแวงและประกอบไปด้วยอคติอันเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้อื่น (ถึงจุดนี้แล้วอย่าเพิ่งว่าเด็กนะคะ ปัญหานี้ซับซ้อนกว่าที่เรามองเห็นมากค่ะ) ซึ่งทำให้เด็กเหล่านี้มองว่าผู้อื่นเป็นภัยแก่ตัวจึงต้องจัดการไม่ให้ภัยมาถึงตัวเสียก่อน ทั้งๆ ที่ภัยเหล่านั้นอาจไม่มีอยู่จริง ส่งผลให้เด็กเหล่านี้มองว่าพฤติกรรมรุนแรงที่ตัวเองปฏิบัติต่อผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งไม่ผิด นอกจากนี้ ผู้ที่กลั่นแกล้งผู้อื่นยังขาดทักษะในการทำความเข้าใจและเข้าหาผู้อื่น (prosocial behavior) เมื่อไม่สามารถเข้าใจผู้อื่นได้ เด็กเหล่านี้จึงปฏิเสธความรู้สึกของผู้อื่นในที่สุด (social blindness)

อนึ่ง เด็กเหล่านี้มองไม่เห็นว่าผู้อื่นมองว่าตนเป็นคนแบบไหน เพราะเด็กขี้แกล้งเหล่านี้มองตัวเองด้วยแว่นเชิงบวกมากๆ เขาจึงมองไม่เห็นความรู้สึกของคนอื่นๆ ไม่เหลือพื้นที่ให้กับการยับยั้งควบคุมพฤติกรรมตนเอง และมองไม่เห็นผลจากการกระทำของตัวเอง ซึ่งกลไกนี้ทำให้เขาไม่สามารถหยุดแกล้งผู้อื่นได้เสียที เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น เขาจะมองหาการยอมรับจากเพื่อนที่มีลักษณะพฤติกรรมคล้ายกันจนเป็นพวกเดียวกัน และเด็กที่มีหัวใจแบบนี้ก็ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่อาจเป็นผลจากหลากหลายบริบทในชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน และสังคมใกล้ตัวเด็ก

ดังนั้น หากเรามองเรื่องพฤติกรรมกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นเป็นแบบแผนแล้ว เราคงจะมองเฉพาะเด็กที่เป็นผู้กลั่นแกล้งอย่างเดียวไม่ได้ หากแต่ต้องมองทั้งกระบวนการเป็นเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกัน ในงานวิจัยเรื่องเครือข่ายเพื่อนและการกลั่นแกล้งในโรงเรียน จาก Scandinavian Journal of Psychology ซึ่งศึกษาจากเด็กในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 จำนาน 459 คน พบว่า ในบริบทการกลั่นแกล้งในโรงเรียนนั้น เด็กๆ จะมีบทบาทแตกต่างกันออกไป แน่นอนว่ามีเหยื่อและผู้กลั่นแกล้ง แต่ก็ยังมีมือขวา (ผู้ช่วยแกล้ง) กองเชียร์ (ยุให้แกล้ง), อัศวินม้าขาว (คอยปกป้องเหยื่อ) และไทยมุง (ไม่ยุ่งมุ่งมามุง) เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นอัศวินและไทยมุง ส่วนเด็กผู้ชายมักสมัครข้างกองเชียร์มากกว่าเด็กผู้หญิง

ทั้งนี้ งานวิจัยในยุคหลังๆ ก็เริ่มมองเห็นแล้วว่าการกลั่นแกล้งนั้นไม่ได้เป็นบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว หากแต่เป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ที่คนคนนั้นมีต่อคนอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อมหนึ่งมากกว่า ในที่สุดแล้ว แม้กระทั่งเหยื่อกับผู้ที่กลั่นแกล้ง ก็จะสร้างความสัมพันธ์เฉพาะขึ้นมา โดยกระตุ้นและตอบสนองพฤติกรรมกันไปมาจนกลายเป็นเหมือนว่า ทั้งสองกำลังเต้นรำรับส่งกันอยู่กลางฟลอร์โดยไม่รู้ตัว เช่น เหยื่ออาจรู้สึกขาดเมื่อไม่ได้โดนแกล้ง ความสัมพันธ์นี้อาจก่อกำเนิดจากปฏิสัมพันธ์ที่กล่าวมา เพราะทั้งสองต้องการมีสังคม แต่อาจไม่มีคนอื่นๆ รอบตัวเหลือพอจะให้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมด้วยแล้ว

เด็กเกิดมาร้ายใช่ไหม?

ไม่ใช่!

พวกเขาไม่ได้เกิดมาร้าย แต่พ่อแม่มักเริ่มร้ายกับเขาก่อน เมื่อเกิดการใช้ความรุนแรงในบ้าน ทั้งทางวาจาและพฤติกรรม เด็กๆ ย่อมซึมซับเอาพฤติกรรมเหล่านี้มาเก็บไว้เป็นพิมพ์เขียวสำหรับก่อสร้างตนเอง (อย่าลืมว่าในวัยเด็กนั้นโลกทั้งใบก็มีแต่พ่อแม่นี่แหละเป็นฐาน) และเมื่อพฤติกรรมลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ จนกลายเป็นความปกติแล้ว เด็กๆ ก็อาจใช้ความรุนแรงหรือการกลั่นแกล้งเป็นบรรทัดฐานสำหรับความสัมพันธ์อื่นๆ ที่เขาจะสร้างขึ้นในอนาคต

เด็กๆ ที่เป็นนักแกล้งตัวยงมักถูกพ่อแม่ทำโทษด้วยวิธีรุนแรงมาก่อน แน่นอนว่าพ่อแม่คงไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจะร้ายกับลูกตั้งแต่เด็กหรอก ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อลูกเริ่มไม่เชื่อฟังและไม่ทำตาม (noncompliance) เมื่อลูกไม่ยอมทำตาม การบอกจากพ่อแม่ที่ตอนแรกอาจเป็นคำขอร้องดีๆ ด้วยซ้ำ จึงเริ่มเพิ่มปฏิกิริยารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่คำสั่ง การตะโกนว่ากล่าว การข่มขู่ (ถ้าไม่ทำจะโดน… ลองเติมคำในช่องว่างดู) ไปจนถึงการทุบตีเพื่อทำโทษตามอารมณ์ (coersion parenting model)

ลองมองกระบวนการนี้เหมือนการโยนลูกบอลไปให้อีกคนแต่กลับกระแทกผนังทุกครั้งไป เพราะอีกคนไม่ยอมรอรับ จนมันเด้งด้วยแรงกระแทกกลับมาหาคนโยน เป็นแบบนี้วนไปเรื่อยๆ เมื่อไม่มีคนรับบอลสักที คนโยนบอลย่อมทนพิษบาดแผลไม่ไหว การระเบิดอารมณ์ก็เกิดขึ้น จนกลายเป็นการทำโทษ และหลายครั้งการทำโทษเหล่านั้นก็เป็นการทำโทษที่ไม่จริงจังเหมือนคำพูดที่ออกมา นี่จึงทำให้เด็กรู้สึกว่าการทำดื้อแพ่งต่อคำสั่งพ่อแม่เป็นเรื่องทำได้ และรู้สึกว่าการกระทำของตนสามารถควบคุมพ่อแม่ไว้สำเร็จ คือสามารถทำให้พ่อแม่เต้น องค์ลง โมโหโวยวาย ตะโกนด่าได้ (หรือเด็กอาจมองว่าเขา ‘เอาพ่อแม่อยู่’ ด้วยวิธีการดื้อแพ่งนี้เอง)

แต่ผลพวงอันน่ากังวลยิ่งกว่า คือ เด็กจะเริ่มไม่ไว้ใจพ่อแม่ตัวเองในฐานะที่เคยเป็นโลกทั้งใบของเขามาตลอด เขาจะเริ่มหวาดระแวง และใช้การมองโลกแบบนี้มองผู้อื่นรอบๆ ด้วยดังที่อธิบายไว้ตอนต้นว่าเด็กๆ เหล่านี้มักมีอาการหวาดระแวงและมองโลกทั้งใบเป็นศัตรูกับตัวเอง จนเมื่อลูกไปโรงเรียน หากครูยังใช้วิธีการลักษณะเดียวกันกับนักเรียน วงจรความรุนแรงเหล่านี้ก็จะยังเกิดขึ้นวนเวียนต่อไปไม่จบสิ้น จนในที่สุดด้วยความไม่ตั้งใจ เราได้ก็สร้าง ‘bully’ ออกมารุ่นแล้วรุ่นเล่า และปลายทางของเรื่องราวนั้นมักจบลงด้วยเรื่องน่าเศร้าที่ดูจะเลวร้ายลงทุกครั้งจนเราจำต้องชาชินไปเรื่อยๆ เสมอมา


อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://www.psychologytoday.com/articles/199509/big-bad-bully
Salmivalli, C., Huttunen, A., & Lagerspetz, K. M. (1997). Peer networks and bullying in schools. Scandinavian journal of psychology, 38 (4), 305-312.

 

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า