22 พฤษภาคม 2566 เวลา 16.30 น. ณ ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมแกนนำพรรคการเมือง รวม 8 พรรค แถลงข่าวการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล
พรรคการเมืองที่เข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในครั้งนี้ ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ รวมทั้งสิ้น 8 พรรคการเมือง รวมจำนวน ส.ส. 313 คน
เนื้อหาของ MOU จัดทำขึ้นเพื่อให้ทั้ง 8 พรรค สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยบันทึกข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาล มีดังนี้
- ฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้ง
- ผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยไม่บังคับให้แก่ผู้ที่คิดว่าขัดแย้งกับศาสนาของตนเอง
- ผลักดันการปฏิรูประบบราชการให้มีความทันสมัย ยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชน
- เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ แต่ยังคงมีการเกณฑ์ทหารเมื่ออยู่ในช่วงสงคราม
- ผลักดันกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ผลักดันการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
- แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ทำรัฐให้โปร่งใส
- เพิ่มรายได้ประชาชน สร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม
- ยกเลิกการพักใบอนุญาตที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ ผลักดันและสนับสนุน SME
- ยกเลิกการผูกขาดในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสุรา โดยพรรคประชาชาติของสงวนสิทธิในการให้ความเห็น
- จัดการปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างประชาชนกับรัฐ ทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
- จัดการปัญหาค่าไฟฟ้า สร้างความมั่นคงทางพลังงาน
- จัดการงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีจัดการงบประมาณฐานศูนย์
- สร้างบำนาญประชาชน จากเด็กแรกเกิดถึงผู้สูงวัย
- จัดการปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน
- นำกัญชากลับไปสู่บัญชียาเสพติดให้โทษ
- ส่งเสริมเกษตร ปศุสัตว์ปลอดภัย รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร
- แก้ไขกฎหมายประมง พัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
- ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพ ให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม
- ยกระดับการเข้าถึงระบบสาธารณสุข
- ปฏิรูประบบการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ
- จัดการปัญหาฝุ่นพิษ โดยใช้กลไกระหว่างประเทศเข้ามาแก้ปัญหา
- ฟื้นฟูบทบาทของไทยในอาเซียนผ่านนโยบายต่างประเทศ สร้างสมดุลระหว่างประเทศไทยกับประเทศมหาอำนาจ
ทั้งนี้ ทุกพรรคเห็นพ้องกัน และพร้อมทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยทุกพรรคมีสิทธิสนับสนุนกฎหมายอื่นๆ เพิ่มเติม แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับบันทึกข้อตกลงฉบับนี้
จากนั้นตัวแทนจากทั้ง 8 พรรคการเมือง จึงได้ทำการลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว
เมื่อถูกถามถึงกรณีที่วาระการแก้ ม.112 ไม่อยู่ในบันทึกข้อตกลง พิธายืนยันว่า พรรคก้าวไกลยังคงภารกิจในการแก้ ม.112 เช่นเดิม โดยไม่กังวลว่าการยื่นแก้ ม.112 จะกระทบต่อเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
ส่วนกรณีข่าวลือที่จะมีการยุบพรรคพลังประชารัฐ และจะมาร่วมกับพรรคเพื่อไทย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง พร้อมย้ำว่าต่อให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นจริง ก็ไม่มีทางที่พรรคเพื่อไทยจะร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐ อีกทั้งยืนยันทิ้งท้ายว่า จะสนับสนุนพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล