ระยะเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Collective ฉายภาพความขมขื่นของประชาชนกลุ่มหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุเพลิงไหม้ แต่ขยายผลสืบเนื่องไปถึงการทุจริตเต็มรูปแบบในรัฐบาลโรมาเนีย ทั้งการคอร์รัปชัน การติดสินบน และการใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงระบบต่างๆ โดยเฉพาะระบบสาธารณสุข
Collective มาจาก Colectiv คือชื่อคลับแห่งหนึ่งในกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย
ย้อนเวลาไปในปี 2015 ในค่ำคืนที่ผู้คนต่างออกมาสังสรรค์และสนุกเพลิดเพลินไปกับแสงสีและโชว์จากวงดนตรีร็อค เกิดเรื่องราวน่าเศร้าที่สร้างความสะเทือนขวัญให้กับคนทั่วประเทศ ประกายไฟเล็กๆ จากเอฟเฟ็คต์บนเวทีในคลับลุกลามอย่างรวดเร็ว จนทำให้เพลิงไหม้โหมไปทั่วบริเวณ
เมื่อไม่มีใครปราบความโหดร้ายของเปลวไฟได้ โศกนาฏกรรมจึงเกิดขึ้น
หลังผ่านพ้นความตาย ความโศกเศร้ายังติดอยู่ในใจของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ ประชาชนทั่วไปและญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ต่างโกรธแค้นและรับไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น นำมาสู่การเรียกหาความรับผิดชอบจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
จากเหตุการณ์นี้ทำให้ค่ำคืนที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน เสียงเพลงและจังหวะดนตรีถูกแทนที่ด้วยเสียงกรีดร้องขอความช่วยเหลือ ชั่วเวลาพริบตาเดียวมีผู้เสียชีวิตทันทีจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากถึง 27 คน บาดเจ็บกว่า 180 คน และมีเหยื่อที่รอดชีวิตกำลังเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตเพิ่มอีกถึง 37 คน
เหตุใดคลับที่มีชื่อเสียงโด่งดังนี้ จึงไม่มีทางหนีไฟและระบบความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน นี่จึงเป็นชนวนนัดแรกที่จุดให้ประชาชนที่ไม่นิ่งดูดาย ออกมาชุมนุมประท้วงกดดันรัฐบาลและส่งเสียงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อทวงถามความจริงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ‘ทำไมคลับที่ไม่ได้มาตรฐานเช่นนี้ถึงเปิดให้บริการได้ โดยไร้การตรวจสอบ?’
ความระอุจากเปลวไฟยังคงคุกรุ่นและไม่เคยดับไป
เมื่อประชาชนกล้าหาญที่จะตั้งคำถามถึงผู้มีอำนาจ ส่งผลให้นักข่าวหลายสำนักมองเห็นความไม่ชอบมาพากลและลงมือขุดคุ้ยถึงต้นตอที่แท้จริง โดยระหว่างการลุกฮือจากการชุมนุม คาตาลิน โตลอนตัน (Catalin Tolontan) นักข่าวและหัวหน้าบรรณาธิการจากหนังสือพิมพ์ Gazeta Sporturilor ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมเหยื่อผู้รอดชีวิตที่นอนรอการรักษาอย่างมีความหวังกว่า 37 คน ในโรงพยาบาล ต่างทยอยเสียชีวิตลงเรื่อยๆ
ซึ่งการเสียชีวิตด้วยเหตุผลอันดำมืด เป็นต้นตอที่ทำให้สิ่งเน่าเหม็นที่ถูกซุกไว้ใต้ซากปรักหักพังของคลับแห่งนี้ถูกขุดขึ้นมา
จากข้อสังเกตดังกล่าวเกิดเป็นชนวนระลอกสอง หลังการสืบสาวจนพบว่าภายในโรงพยาบาลที่เหยื่อผู้รอดชีวิตรอรักษาตัวอยู่นั้น มีขบวนการทุจริตในการจัดซื้อน้ำยาฆ่าเชื้ออยู่เบื้องหลัง
คาตาลิน และทีม ทำงานอย่างหนัก เขานำข้อมูลจากแหล่งข่าวหลายประเภทมาประมวลผล สืบสวนสอบสวน และปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลวิจัยจากสถาบันทางเคมี คำสัมภาษณ์ของนักระบาดวิทยา รวมไปถึงการสืบประวัติของเจ้าของโรงงาน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ
จนพบความจริงที่ว่าน้ำยาฆ่าเชื้อที่โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้นั้นถูกเจือจางลงไปกว่าสิบเท่าและไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เหยื่อที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในคลับทยอยเสียชีวิตลง เนื่องจากแผลติดเชื้อจากการได้รับการรักษา และเครื่องมือที่ไม่สะอาดและปลอดภัย
ทว่าระหว่างการสืบหาความจริง ตัวละครสำคัญอย่างเจ้าของโรงงานก็ต้องมีชะตากรรมอันน่าเศร้า เขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ จนในที่สุดเขาเสียชีวิต หากมองโลกในแง่ร้าย ความสูญเสียอาจไม่ใช่ความบังเอิญ การตายที่เกิดขึ้น ขณะที่เขาตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีทุจริตร้ายแรงระดับประเทศ อาจเป็นความตายที่มีใบสั่งจากผู้มีอำนาจ
เรื่องราวความขมขื่นไม่จบเพียงเท่านั้น ด้านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่พึ่งของประชาชน กลับออกแถลงการณ์อย่างหนักแน่นและมั่นใจว่าน้ำยาฆ่าเชื้อยี่ห้อดังกล่าวมีประสิทธิภาพและผ่านการทดสอบมาตรฐานถึง 95 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อคำกล่าวอ้างขัดกับความจริงที่เกิดขึ้น ประชาชนย่อมมีสิทธิตั้งคำถามเสมอ
หากน้ำยาฆ่าเชื้อมีประสิทธิภาพมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เหยื่อที่นอนรอรักษาตัวในโรงพยาบาลกลับเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวันโดยไม่ทราบสาเหตุ คือเศษซากความผิดพลาดที่เหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ อย่างนั้นหรือ?
เมื่อสถานการณ์เริ่มกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เกิดเป็นแรงกดดันทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีและทิ้งไว้เพียงความจริงที่ว่า อดีตของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เขาเคยเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลมาก่อน และเขาเองอาจเป็นผู้กุมความลับเบื้องหลังขบวนการทุจริตระดับชาตินี้ก็เป็นได้
น้ำยาฆ่าเชื้อที่เจือจาง จุดเริ่มต้นของ Collective
‘จงใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง’ ประโยคเชยๆ ที่มนุษย์มักหยิบยกขึ้นให้กำลังใจกันในวันที่รู้สึกหดหู่ แต่ใครจะรู้ว่านี่อาจเป็นประโยคเดียวกันที่ชาวโรมาเนียอยากได้ยินที่สุด หลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ในคลับ Colectiv
เมื่อรัฐมนตรีคนเก่าลาออก รัฐมนตรีคนใหม่จึงนั่งเก้าอี้แทน
ก่อนได้รับตำแหน่ง รมต.สาธารณสุขคนใหม่ วลาด วอยกูเลสกู (Vlad Voiculescu) เคยเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวประเด็นด้านสุขภาพมาก่อน และการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวางนโยบายระดับประเทศคือความหมายมั่นของเขา
ลืมภาพนักการเมืองยุคเก่าที่ทำงานจากระดับบนลงล่าง หรือเอาแต่รับฟังเสียงของมือขวาตัวเองมากกว่าฟังเสียงประชาชนไปได้เลย ด้วยพื้นเพที่เคยทำงานด้านสุขภาวะมาก่อน ทำให้เขาเข้าใจความเจ็บปวดทั้งหมดที่เกิดขึ้น และเขาทนเห็นการล้มตายของผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากโรงพยาบาลไม่ได้
ดังนั้นจุดประสงค์ของการดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ เขาต้องการสะสางปัญหาและชำระสิ่งโสมมส่งกลิ่นเหม็นเน่าที่ถูกซ่อนไว้เป็นเวลานานนับปีให้ดีขึ้น เริ่มจากความพยายามไล่รื้อและถอนโคนอำนาจการเมืองที่ฝังรากลึกในระบบสาธารณสุข โดยในประเทศโรมาเนียเรามักพบว่าผู้บริหารโรงพยาบาลหลายแห่งมักมีตำแหน่งพ่วงท้ายเป็นนักการเมืองเสมอ การมีผลประโยชน์ทับซ้อนจึงสร้างโอกาสทุจริตหลายอย่างที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขของประเทศ และการคอร์รัปชันของกลุ่มวรรณะมาเฟียก็ส่งผลลัพธ์อันน่าเศร้าแก่ประชาชนให้ต้องเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ
ตลอดระยะเวลาที่เขาปรากฏในภาพยนตร์สารคดี Collective วลาดมีแววตาที่มุ่งมั่นตั้งใจ
ทุกถ้อยคำที่เขากล่าวบนแท่นแถลงต่อหน้าสื่อมวลชน ไม่ใช่คำโกหกที่กล่าวซ้ำจำเจ เขาพูดในสิ่งที่เป็นจริงและเป็นไปได้ แม้จะโดนตราหน้าว่าเป็นนักการเมืองขายชาติ หลังจากการออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตไม่ให้มีการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เนื่องจากโรงพยาบาลในโรมาเนียไม่มีความพร้อมตามหลักปฏิบัติทางการแพทย์ โดยเขาแนะนำให้ส่งตัวผู้ป่วยไปผ่าตัดที่เวียนนา ประเทศออสเตรียแทน ทำให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามดิสเครดิตและกล่าวหาว่าเขาด้วยประโยคที่ว่า “ทำไมปอดของชาวโรมาเนียต้องถูกส่งไปออสเตรีย”
ความตรงไปตรงมาของ Collective ทำให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เข้าฉายในเทศกาลหนังมากมาย ทั้งเทศกาลหนังเวนิส ปี 2019, เทศกาลหนังนานาชาติโตรอนโต ปี 2019 และถูกรับเลือกให้เป็นโปรแกรมหนังดาวเด่นในเทศกาลซันแดนซ์ ปี 2020 ก่อนจะได้รับการฉายอย่างเป็นทางการในโรมาเนีย ในช่วงต้นปี 2020 พร้อมด้วยกระแสตอบรับและชื่นชมอย่างล้นหลาม พร้อมกวาดรางวัลมาแล้วหลายสาขา นั่นคือ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเวที European Film Awards ครั้งที่ 33 และ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม จากสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งชาติในปี 2021
ความกล้าหาญที่จะนำเสนอ ‘ความจริง’ นำพาให้ Collective ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 2021 ทั้งหมด 2 สาขา ได้แก่ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม และภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม
นอกจากการเปิดโปงความฉ้อฉลครั้งมโหฬารของระบบสาธารณสุขและรัฐบาล ที่เดิมพันด้วยชีวิตของประชาชน ท่ามกลางเหตุการณ์ที่ปั่นป่วน สับสน และบรรยากาศกดดัน เรามองเห็นการทำหน้าที่ของ ‘สื่อมวลชน’ ที่มีกระดูกสันหลังไม่สยบยอมต่ออำนาจและไม่กลัวที่จะสืบสาวความจริงอย่างกัดไม่ปล่อย เพื่อประโยชน์สูงสุดและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน
แต่เมื่อยิ่งขุดลึกลงไปในเหล่ามาเฟียที่ขับเคลื่อนประเทศ ก็เจอกับ ‘ตอ’ จนนำมาสู่การข่มขู่ต่อชีวิตและสวัสดิภาพของคนในครอบครัวนักข่าว ความดิบเถื่อนนี้ทำให้ คาตาลิน โตลอนตัน ถึงกับหัวเราะออกมาด้วยความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย
เหตุการณ์ในโรมาเนียเป็นดั่งภาพสะท้อนของความฉ้อฉลในบ้านเราได้เป็นอย่างดี ทั้งการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬารอันพัวพันกับการเมืองอย่างแยกไม่ออก ตัวละครอย่างวลาดที่ตั้งใจเข้ามารื้อระบบ ก็มีแววตาแบบที่เราเคยคุ้น รวมไปถึงบทสรุปของเรื่องราวที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่อาจเปลี่ยนสังคมได้ในเร็ววัน ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาส่งเสียงก็เหมือนจะยังมีจำนวนไม่มากพอ สะท้อนออกมาจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
แต่อย่างน้อยที่สุด คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย หากน้ำยาฆ่าเชื้อที่เจือจางในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ กลายเป็นพลังจุดประกายให้สื่อมวลชนในประเทศไทยสามารถมีพื้นที่ทำงานได้อย่างเข้มข้น กล้าหาญ และตรงไปตรงมา ในยามที่สังคมเข้มข้นไปด้วยอำนาจอันไม่ชอบธรรมของรัฐ
ดังเช่นคำกล่าวของหัวหน้าบรรณาธิการ Gazeta Sporturilor ที่กล่าวไว้ว่า
“เมื่อใดที่สื่อมวลชนก้มหัวให้ผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจนั้นก็จะทำร้ายประชาชน”