หากอุปมาการต่อสู้กับโควิด-19 เป็นดั่งสงครามที่แต่ละรัฐจำเป็นต้องเก็บข้อมูล วางแผนออกแบบยุทธศาสตร์ ปลุกขวัญกำลังใจพลเมืองและบุคลากรให้เข้าใจและพร้อมในแต่ละปฏิบัติการ อัตราความสำเร็จในศึกครั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
การสื่อสารเป็นข้อต่อสำคัญที่จะเชื่อมผู้คนต่างสถานที่ ต่างเงื่อนไข และต่างข้อจำกัด เข้าไว้ด้วยกัน การสื่อสารที่ดีย่อมทำให้จอมทัพอย่างรัฐ สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมในทุกตำแหน่งแห่งที่ของคนในสังคม อย่างไรก็ดี ในสงครามโควิดของรัฐไทย การสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพดูจะเป็นสิ่งที่ขาดหายไปอย่างชัดเจน
รัฐไทยมีปัญหาการสื่อสารในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับกุนซือแม่ทัพ ไปจนถึงพลเรือนและบุคลากรด่านหน้าผู้ต้องเผชิญภยันตรายในสนามจริง การมีปัญหาในทุกระดับเช่นนี้สะท้อนชัดว่า นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาในระดับปัจเจกเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในเชิงระบบ หรือหากกล่าวให้ชัด มันเป็นปัญหาในระดับ ‘ระบบราชการ’ ที่บังคับบัญชาด้วย ‘ความกลัว’
ราชการไทยกับปัญหาการทำงานของสื่อ
แน่นอน เราอาจเปรียบการจัดการวิกฤติโควิด-19 กับการทำสงครามได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้นำที่จะรับมือกับวิกฤตินี้ได้ดีที่สุดคือทหาร การที่รัฐบาลไทยมีผู้นำเป็นทหาร มีวิสัยทัศน์แบบทหาร และปกครองออกคำสั่งแบบทหาร เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนข้อเสนอนี้ได้ดีที่สุด
หากจำกัดแค่ในแง่การสื่อสาร งานศึกษาชื่อ ‘ทุกข์ยากจากการสื่อสาร: ความป่วยไข้ของข้อมูลท่ามกลางวิกฤติ COVID-19’ ก็ชี้ชัดว่า การบริหารราชการแบบทหารส่งผลให้การสื่อสารมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่เผยแพร่และตรวจสอบความถูกต้องในข้อมูลข่าวสาร
พยานปากสำคัญคือ อธึกกิต แสวงสุข (นามปากกา ‘ใบตองแห้ง’) สื่อมวลชน คอลัมนิสต์ ผู้ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด
“การสื่อสารช่วงแรกเหมือนยังสับสน มีลักษณะหย่อนยาน แต่พอเป็นเรื่องก็ตื่นตูม คำสั่งของผู้ว่าฯ กทม. ที่คนวิจารณ์มากก็คือทำไมคุณไม่เตรียม ไม่มีการออกมาตรการรองรับให้คนอยู่ในกรุงเทพฯ การกักตัวการอะไรต่างๆ ก็คือสุดท้ายมันกระจายพรวดออกไปทุกจังหวัด กรมควบคุมโรคต้องไปตามสอบสวนโรคเอาเองกับ อสม. กับฝ่ายปกครอง ไปไล่ตามว่าใครขึ้นรถบัสคันไหน ใครขึ้นรถเมล์คันไหน ใครไปรถตู้อะไร ใครไปติดเชื้อตรงไหน ไปแวะตรงไหน สอบไทม์ไลน์กันเต็มไปหมด”
จากปากคำของอธึกกิต ยังสะท้อนอีกว่า ในการต่อสู้กับโรคที่จำเป็นต้องพึ่งพาความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์อย่างมาก แต่การบริหารราชการแบบทหารกลับเป็นการใช้ความกลัวเข้าจัดการ มากกว่าจะใช้หลักฐานที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์
“มันมีร่องรอยหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่า หมอเสนอให้ผ่อนคลายมากกว่าที่เห็นด้วยซ้ำ ทางสาธารณสุขอาจจะเสนอให้ผ่อนคลายมากกว่าที่เป็นด้วยซ้ำ แต่ทางรัฐเองโดย สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) โดยนายกรัฐมนตรี กลับใช้มาตรการที่เข้มงวดกว่า แล้วถ้าพูดถึงสื่อประชาสัมพันธ์ มันก็เป็นสื่อที่มุ่งสร้างความกลัว โดยเฉพาะรอบแรกมุ่งสร้างความกลัวให้คนกลัวมากๆ จะได้ไม่ต้องออกจากบ้าน”
การใช้ความกลัวเป็นกลไกบริหาร ยังเห็นได้จากการออกมาตรการซึ่งไม่สนใจสภาพชีวิตของประชาชน แต่เน้นไปที่การกำจัดศัตรูโดยไม่สนวิธีการ
“กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำให้คนเดือดร้อนมากก็คือมาตรการของรัฐบาล กลายเป็นมาตรการที่เรียกว่าระเบิดภูเขาเผากระท่อม เพื่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ คือเอาทุกอย่าง สูญเสียเท่าไหร่ไม่ว่า บางคนเขาก็เปรียบว่าเหมือนการทำสงครามแบบทหาร เขาจะยึดเมืองเผาเมืองให้ได้ตามเป้าหมาย คือเสียเท่าไหร่ก็ต้องเสีย เพื่อจะยึดเมืองยุทธศาสตร์ให้ได้ แต่การทำโควิดให้เป็นศูนย์มันไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น
“สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่า การใช้อำนาจมันเกินกว่าเหตุไปเยอะ ทำให้คนเดือดร้อนเกินกว่าเหตุ แล้วทำให้เศรษฐกิจย่อยยับไปตั้งแต่รอบแรก”
หากพิจารณาจากข้อสังเกตของอธึกกิต นอกจากประเด็นเรื่องการปกครองด้วยความกลัวโดยไม่สนใจใยดีชีวิตของประชาชนแล้ว ยังเผยให้เห็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ นั่นคือ ปัญหาการไม่เปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ โดยจะอาศัยแต่ ‘การออกคำสั่ง’ จากตัวแทนรัฐอยู่ถ่ายเดียว
ปัญหาข้างต้นเป็นต้นตอของปัญหาความสับสนในข้อมูลข่าวสารที่ก่อตัวและทับถม จนทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือข้อมูลที่สื่อนำเสนอ ซึ่งสะท้อนชัดในคำตอบของ ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
“ผมเคยบอกกับที่ประชุม ศบค. ไปว่า ทำไมประเทศนี้จึงมีปัญหาเรื่องสับสนกับข้อมูลข่าวสาร ประชาชนก็โทษสื่อว่า ทำไมเรารายงานไม่ตรง เราก็บอกว่า เอามาจากข้อมูลของรัฐที่เขาบอกมา เช้ามีคนบอกอย่างหนึ่ง บ่ายมีคนพูดอีกอย่างหนึ่ง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พอคนพูดไม่ตรงกันเช้าและบ่าย สื่อก็ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงตามนั้น แต่มันกลายเป็นความสับสนของสังคม
“ผมจึงเสนอว่า ทำไมประเทศนี้ไม่มีเว็บไซต์กลางเว็บไซต์หนึ่งที่ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์โควิดเราอยู่ตรงไหน วัคซีนซื้อมาเท่าไหร่ จ่ายใครบ้าง ใครต้องได้ ใครไม่ได้ จังหวัดไหนได้ จังหวัดไหนไม่ได้ ประชาชนไม่ต้องมีคำถาม ไม่ต้องมีปัญหาบนโซเชียลมีเดีย ใครอยากรู้ข้อมูลก็เข้าเว็บไซต์ จบ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นปัญหาสำคัญในช่วงโควิดที่สื่อสะท้อนถึงหน่วยงานรัฐว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ปัจจุบันมันต้องแข็งแรงมากขึ้น เพราะถ้าเข้าถึงไม่ได้ ประชาชนก็เกิดความสับสน”
กระนั้น ด้วยท่าทีของภาครัฐที่วางตัวเป็นอุปสรรคในการทำงานของสื่อ อาจทำให้อนุมานได้ว่า รัฐไม่ได้มองสื่อเป็นหน่วยทางสังคมที่ตนจำเป็นต้องร่วมมือประสานงานด้วย หรือหากมองในแง่ร้ายที่สุด รัฐยังอาจมองสื่อเป็น ‘ศัตรู’ ที่จำเป็นต้องได้รับการควบคุมอย่างหนัก
ในกรณีดังกล่าว รัฐมักกล่าวถึงเรื่อง ‘ข่าวปลอม’ และการควบคุม ‘ความกลัว’ เป็นข้ออ้างความชอบธรรม ณฐา พงษ์ศาศวัต บรรณาธิการข่าวคุณภาพชีวิต PPTV สะท้อนสภาวะการทำงานในลักษณะนี้ได้ชัดเจนที่สุด
“โรคระบาดทำให้เราทำงานยากมากขึ้น แต่ที่ยากที่สุดคือเราลงพื้นที่ไม่ได้ มันเสี่ยงมากที่จะติดเชื้อกลับมา กระทรวงสาธารณสุขเองเมื่อพบว่ามีผู้สื่อข่าวติดเชื้อ เขาก็จะประกาศทันทีว่าไม่ต้องมาแล้ว ใช้ ZOOM อย่างเดียว ฟังจาก Facebook Live อย่างเดียว ซึ่งเราต้องส่งคำถามไปก่อน ไม่มีการโต้ตอบสองทาง
“การส่งคำถามไปก่อนมันก็ทำให้เห็นว่า เขาจะอ่านคำถามหรือไม่อ่านก็ได้ หรือบอกว่าไม่มีคำถามอะไร ทั้งที่จริงๆ แล้วถามไปหลายข้อ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหา ไม่ได้ข้อมูลตามที่เราต้องการ ยิ่งวิกฤติเท่าไหร่ภาครัฐยิ่งลดการสื่อสาร เพราะเชื่อว่าประชาชนจะได้ลดความตื่นกลัว เวลาที่รัฐถูกโจมตีมากๆ เขาก็เลยใช้วิธีลดการสื่อสาร
“สิ่งที่รัฐบาลต้องการไม่ใช่การจัดการกับข่าวปลอม (fake news) แต่ต้องการปิดกั้นการแสดงออกของสื่อมากกว่า”
ราชการไทยกับปัญหาการสื่อสารต่อประชาชน/บุคลากร
การไม่ปิดกั้นหรือวางตัวเป็นคู่ขัดแย้ง เพื่อสนับสนุนให้สื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่และเข้าถึงข้อมูลได้ เป็นความจำเป็นที่รัฐจะต้องทำ เพราะหากพิจารณาจากคำสัมภาษณ์ในงานศึกษา ‘“ล้ม-ลุก-คลุก-คลาน” โควิด-19 กับสังคมไทย บันทึกวิกฤติและประสบการณ์ของกลุ่มเปราะบางในการรับมือไวรัสโคโรน่า’ ของ บุษบงก์ วิเศษพลชัย จะเห็นว่า การที่รัฐเลือกปฏิบัติตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรจะเป็น ได้ส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งไม่เชื่อถือข้อมูลที่มาจากภาครัฐเสียแล้ว
“ผมบอกตรงๆ เดี๋ยวนี้ผมไม่ค่อยได้ดูข้อมูลของรัฐบาล ผมไม่ค่อยอยากจะเชื่อถือ … มันขัดแย้งกันเยอะครับ”
ข้อสังเกตของบุษบงก์ต่อพฤติกรรมที่ประชาชนไม่เชื่อถือและไม่สนใจการสื่อสารที่มาจากภาครัฐ คือการที่ข่าวสารไม่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของพวกเขา
ข้อบกพร่องในการสื่อสารต่อประชาชนของภาครัฐยังสามารถสืบสาวไปถึงการออกคำสั่งโดยไม่สนใจผู้เป็นเป้าของคำสั่ง ดังที่ ‘รายงานประมวลผลการศึกษากลุ่มเป้าหมายบุคลากรด้านการควบคุมโรคและงานเชิงรุก’ ของ วิวัฒน์ วนรังสิกุล ชี้ให้เห็นปัญหาความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างผู้ประกอบการโรงงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ หลังจากที่ภาครัฐมีสั่งให้มีมาตรการสร้างสถานกักกันผู้ติดเชื้อในโรงงาน ผู้ประกอบการก็เกิดความรู้สึกเหนื่อยตั้งแต่ต้น เพราะคำสั่งนั้นกำหนดเวลาบังคับเร่งด่วนมาก ทั้งยังส่งเจ้าหน้ารัฐเข้ากดดันให้จัดระบบให้เสร็จภายในเวลาจำกัด ทั้งที่วิธีการยังขาดความชัดเจน เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำแนะนำขั้นตอนการทำสถานที่กักกันผู้ติดเชื้อในโรงงาน หรือในบางกรณีแม้จะมีหลายหน่วยงานเข้ามาให้คำแนะนำจริง แต่ก็เป็นการเข้าประกบพร้อมกันจากหลายหน่วยงาน โดยแต่ละหน่วยงานก็มีคำแนะนำการจัดการในแบบของตัวเอง ทำให้การสื่อสารสับสน ประชาชนเกิดความเครียด เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อเจ้าหน้าที่คนไหนหรือหน่วยงานใดเป็นหลัก
สภาวะดังกล่าวเป็นสิ่งที่งานศึกษาหัวข้อ ‘มิติทับซ้อนของความเป็นพลเมืองทางชีววิทยาและเศรษฐกิจจากนโยบายและมาตรการของรัฐราชการไทยเพื่อแก้ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)’ ของ นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ เรียกว่า ‘รอยแยกของการควบคุมชีวิตประชาชน’ (Fracture of Population Surveillance)
นฤพนธ์อธิบายว่า รอยแยกของการควบคุมชีวิตประชาชน เป็นสถานการณ์ที่ “กลไกของรัฐราชการไทยในการควบคุมชีวิตประชาชนที่อยู่ในนโยบายและมาตรการควบคุมป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ไม่สามารถดำรงอยู่อย่างแนบสนิทกับวิถีชีวิตของประชาชนได้” โดยเรายังสามารถพบเห็นความไม่ลงรอยนี้ในการทำงานขององค์กรต่างๆ อยู่เสมอ
ลักษณะของการที่หน่วยงานรัฐแต่ละหน่วยงานมีการสื่อสารและคำสั่งที่ไม่สอดคล้องกัน หรือ ‘สั่งใครสั่งมัน’ สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งแยกของหน่วยราชการภายใต้โครงสร้างระบบราชการของไทยที่มีการแบ่งหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้น ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
กล่าวอย่างง่าย ผู้ที่รู้เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ เป็นอย่างดีในระดับผู้บริหาร ไม่สามารถสื่อสารมาตรการเหล่านั้นให้กับเจ้าหน้าที่หน้างานได้ หรือแม้จะสื่อสารได้ แต่มาตรการกลับมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้มีปัญหาการปฏิบัติงานไม่สอดคล้องกับแนวนโยบาย และปัญหาความสับสนของผู้ปฏิบัติงานจนไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายได้
บทสรุป
หากต้องสรุปรวบยอดปัญหาการสื่อสารในสถานการณ์โควิดของรัฐราชการทหารไทยให้อยู่ในประโยคเดียว คงไม่มีคำกล่าวใดเหมาะสมไปกว่าคำที่ว่า “ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดประการเดียวของการสื่อสาร คือการเชื่อภาพลวงที่ว่ามันมีการสื่อสารแล้ว”*
ปัญหาการสื่อสารที่เกิดขึ้น สะท้อนว่ารัฐราชการไทยมีอาการทึกทักเอาเองว่าทุกคนจะเข้าใจและปฏิบัติตามคำสั่งของตน การทึกทักเอาเองนี้เป็นสิ่งที่ทำให้สังคมไทยในช่วงโรคระบาดเกิดปัญหาในทุกระดับของห่วงโซ่การสื่อสาร ราวกับว่าโควิด-19 มีผลข้างเคียงทำให้ระบบประสาทด้านการสื่อสารของรัฐบกพร่อง
อย่างไรก็ดี หากเรามองว่าโควิด-19 เป็นตัวแปรที่เปิดปากแผลและกระชากให้เห็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในแต่ละระดับโครงสร้าง ก็ฟ้องชัดเจนว่ารัฐราชการทหารไทยไม่เคยมองว่าตนมีปัญหาด้านการสื่อสาร เมื่อไม่มองว่ามีปัญหาจึงไม่จำเป็นต้องปรับปรุงหรือพัฒนาระบบให้ดีขึ้น แต่นี่ก็เป็นเพียงข้อสรุปแบบการมองโลกในแง่ดี
หากเราใช้ข้อสรุปแบบมองโลกในแง่ร้ายกว่านั้น รัฐราชการทหารไทยอาจไม่เคยมองว่าตนมีความจำเป็นต้องสื่อสาร เปิดเผย หรือสร้างความเข้าใจ กับอะไรหรือใครเลย ในฐานะที่ตนเป็นผู้มีอำนาจปกครอง และประชาชนเป็นเพียงผู้อยู่ใต้การปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ
*หมายเหตุ: แปลจากประโยคภาษาอังกฤษ “The single biggest problem with communication is the illusion that it has taken place.” ว่ากันว่าเป็นคำกล่าวของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) แต่เว็บไซต์ quoteinvestigator.com ชี้ว่า วิลเลียม เอช ไวต์ (William H. Whyte) น่าจะเป็นผู้สมควรได้ชื่อว่าพูดถ้อยคำนี้มากกว่า
อ้างอิง
ชัชชล อัจนากิตติ. ประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์และการใส่ใจดูแลท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. มิติทับซ้อนของความเป็นพลเมืองทางชีววิทยาและเศรษฐกิจจากนโยบายและมาตรการของรัฐราชการไทยเพื่อแก้ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
บุษบงก์ วิเศษพลชัย. “ล้ม-ลุก-คลุก-คลาน” โควิด-19 กับสังคมไทย บันทึกวิกฤติและประสบการณ์ของกลุ่มเปราะบางในการรับมือไวรัสโคโรน่า. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
ภูภุช กนิษฐชาต, อภิสิทธิ์ เรือนมูล และ อธิคม คุณาวุฒิ. ทุกข์ยากจากการสื่อสาร: ความป่วยไข้ของข้อมูลท่ามกลางวิกฤติ COVID-19. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
วิวัฒน์ วนรังสิกุล. รายงานประมวลผลการศึกษากลุ่มเป้าหมายบุคลากรด้านการควบคุมโรคและงานเชิงรุก. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.