ในทางสากล ‘การยุบพรรคการเมือง’ มุ่งรักษาเจตจำนงของประชาชน…ไม่ใช่ทำลาย

เป็นอีกครั้งที่ประเด็นการยุบพรรคการเมือง กลับมาเป็นเรื่องที่ต้องติดตามในยุคหลังรัฐประหาร 2557 ก่อนหน้านี้ได้มีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะมาถึงเพียงไม่กี่สัปดาห์

กรณีล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ จากคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการใช้เงินที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายพรรคการเมือง ม.92 (3) น่าสนใจว่า องค์กรทางการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนพรรคนี้ จะถูกทำให้สูญหายไปอีกพรรคหรือไม่

นับตั้งแต่วิกฤติทางการเมืองหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่และกลางจำนวนไม่น้อยต้องจากไปอย่างรวดเร็ว คำถามถัดมาคือ หลักการพื้นฐานของ ‘การยุบพรรคการเมือง’ นั้นมาจากอะไร หลักการดังกล่าวในทางสากลเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา

ก่อนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 งานศึกษาพรรคการเมืองไทยหลายชิ้น เสนอไปทิศทางเดียวกันว่าสภาพของพรรคการเมืองไทยมีลักษณะอ่อนแอ ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนทั้งชาติได้อย่างแท้จริง จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาไม่มีความต่อเนื่องและเข้มแข็งมากพอที่ผลักดันนโยบายสำคัญเพื่อพัฒนาประเทศ อายุของรัฐบาลระหว่างทศวรรษที่ 2530 จึงสั้นมาก เราอาจสรุปสาเหตุที่มีร่วมกันกว้างๆ ได้ 4 ประการคือ

  1. คณะกรรมการบริหารพรรคมิได้เป็นผู้ตัดสินใจ ดำเนินการอย่างแท้จริง ทำให้องค์กรของพรรคขาดการเชื่อมประสานกับสมาชิกพรรค ขาดการตรวจสอบกลั่นกรอง กรณีนี้จะเห็นการเปลี่ยนขั้วในช่วงลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจกันในแต่ละครั้ง ซึ่งบางกรณีนำมาสู่การลาออกของนายกรัฐมนตรีหรือกระทั่งยุบสภา
  2. การตัดสินใจที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเห็นของสาธารณะของสมาชิกพรรค (Collective Decision Making)
  3. พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของชาติได้อย่างเต็มที่ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับต่างประเทศ (International Party) มีลักษณะเป็นภาพของพรรคการเมืองภูมิภาค จังหวัด หรือ แบ่งแยกเป็นกลุ่มการเมือง
  4. โครงสร้างสถาบันทางการเมืองไม่เอื้อให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เช่น การเปิดโอกาสให้มีการย้ายค่ายเปลี่ยนฝั่ง กรณีนี้เราอาจจะนึกถึง ‘งูเห่า’ (ภาคแรก) ระหว่างนักการเมืองกลุ่มปากน้ำและ คุณสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยเมื่อปี 2540

ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเข้าสู่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 นโยบายของพรรคการเมืองเข้ามามีบทบาทสูงในการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน แสดงให้เห็นผ่านการต่อสู้ของการเมืองแบบ 2 ขั้ว ชัดเจนระหว่างพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่ความเข้มแข็งของโครงสร้างพรรคการเมืองสามารถผลักดันให้ความต้องการของประชาชนสามารถเกิดขึ้นจริง จนพรรคไทยรักไทยสามารถคว้าชัยแบบแลนด์สไลด์ทั้งในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 และ 2547

แต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นผลพวงจากการยึดอำนาจครั้งนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อ้างว่าเป็นการร่างกติกาเพื่อป้องกัน ‘เผด็จการรัฐสภา’ วิธีการหนึ่งคือ การปรับเปลี่ยนกติกาว่าด้วยที่มาขององค์กรอิสระซึ่งแต่เดิมมาจากวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง สู่การเข้ามามีอิทธิพลของวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหา และยังเพิ่มอำนาจให้แก่องค์กรอิสระในการแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติการเมืองสีเสื้อ การป้องกันเผด็จการรัฐสภาจึงมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตีความตัวบททางกฎหมายเพื่อยุบพรรคการเมืองหลายพรรค การอ้างข้อความพจนานุกรมถอดถอนนายกรัฐมนตรี การแทรกแซงแถลงการณ์ร่วมของฝ่ายบริหารกับรัฐบาลต่างประเทศ โดยอาศัย ‘การคาดการณ์’ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุผลสนับสนุนคำวินิจฉัย รวมไปถึงการแทรกแซงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย (ปี 2556) ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กลับได้รับการอนุญาตให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ (ปี 2553) ฯลฯ

ตัวอย่างที่น่าละอายเช่นนี้ ไปปรากฏในตำราที่มีชื่อเสียงของ แซมูเอล อิสซาคารอฟฟ์ (Samuel Issacharoff)  ในปี 2015 เรื่อง Fragile Democracies ซึ่งค้นคว้าบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลก นับตั้งแต่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศออสเตรียจนกระทั่งได้รับการยอมรับจากหลายประเทศในปัจจุบัน

หลายประเทศมีแนวโน้มการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญจึงทำหน้าที่ป้องปรามการละเมิดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่บทบาทศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ป้องปรามการละเมิดสิทธิเสรีภาพงานศึกษาชิ้นนี้กลับยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญไทย ในความเห็นของอิสซาคารอฟฟ์ระบุว่า กรณีนี้ของไทย “ใช้ไม่ได้” เนื่องจากในกรณีของไทย ศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะเอียงข้างกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ซึ่งสนับสนุนคำอธิบายของแรน เฮิร์ทเซล (Ran Hirschl) ที่เสนอว่าเมื่อชนชั้นนำเดิมไม่สามารถควบคุมกลไกรัฐสภาได้ก็จะอาศัยเครื่องมือทางตุลาการเข้าควบคุมเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเรียกว่า “ตุลาการธิปไตย”  (Juristocracy) 

การทำหน้าที่ราวกับปกป้อง ‘ทรราชย์ของเสียงข้างน้อย’ มากกว่าปกป้องสิทธิและอำนาจของประชาชนเช่นนี้ แสดงผ่าน เหตุการณ์แทรกแซงทางการเมืองทั้งการถอดถอนนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและการทำให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ (การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57) ล้อไปกับการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพไทย ที่มีการทำรัฐประหารถึง 2 ครั้งในเวลาเพียง 8 ปี ซึ่งฐานะกองทัพไทยเป็นที่ทราบกันดีว่า มิได้อยู่ในข่ายของหลักการที่ถูกควบคุมโดยพลเรือน (civilian control)

ในงานชิ้นเดียวกันชี้ให้เห็นว่าหลักการยุบพรรคการเมืองของประเทศเยอรมนี ที่มีพื้นฐานจากแนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ต่อสู้เพื่อป้องกันตนเอง (Militant Democracy) ทั้งยังเป็นแม่แบบของบทบัญญัติหลายมาตราในรัฐธรรมนูญไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญที่มาจากเครือข่ายคณะรัฐประหาร คมช. พ.ศ. 2550 และ รัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหาร คสช. พ.ศ. 2560 นั้นได้กลายเป็นแม่แบบในหลายประเทศที่ใช้รูปแบบประชาธิปไตย ซึ่งกำลังเผชิญการคุกคามจากฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย

อิสซาคารอฟฟ์เสนอว่าหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต คำทำนายที่ว่า “ปี 1989 เป็นจุดเริ่มต้นประกาศชัยชนะของเสรีประชาธิปไตย” นั้นไม่จริง หากแต่กลายเป็นการยืนยันว่าระบอบเผด็จการได้กลายพันธุ์เป็นระบอบผสม โดยชนชั้นปกครองหรือกลุ่มเครือข่ายผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ใช้อำนาจผ่านองค์กรทางการเมือง ซึ่งในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ปกป้องคุณค่าประชาธิปไตย ขณะที่กลุ่มประเทศระบอบผสม ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่แทรกแซงสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยจะใช้การยุบพรรคการเมืองเพื่อป้องกันคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย หรือพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยเท่านั้น ได้แก่ การเคารพสิทธิมนุษยชนตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักความรับผิดชอบของรัฐบาล หลักความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครอง หลักความเป็นอิสระของตุลาการ และหลักระบบหลายพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองทั้งหลายต่างมีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม (Preservation of Pluralist Competition)

การยุบพรรคจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการประกันว่าเจตจำนงของประชาชนจะถูกสะท้อนออกมาในพื้นที่ของสถาบันทางการเมือง เพื่อไม่ให้ความขุ่นข้องหมองใจของประชาชนถูกทับเอาไว้ หลักการระบอบประชาธิปไตยที่ต่อสู้เพื่อป้องกันตนเอง (Militant Democracy) จึงถูกนำไปใช้ในหลายประเทศผ่านการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในกรณีของไทยแล้วยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล ทางแพร่งข้างหน้าในกรณีของการวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จะจบลงเช่นเดียวกับที่ แซมูเอล อิสซาคารอฟฟ์ เคยเขียนไว้หรือไม่ หรือจะเป็นบันทึกหน้าใหม่ทางประวัติศาสตร์ไทยแบบที่ไม่มีวันหวนกลับ

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า