ทางลูกรังของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘5 ขั้นตอน 4 คูหา’

การจัดตั้งรัฐบาลใหม่นำโดยพรรคเพื่อไทยดูท่าไม่ค่อยราบรื่นอย่างที่คิด หลังจากการงัดข้อของพรรคร่วมรัฐบาลในการต่อรองจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้เสร็จสิ้นก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ และหากการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่สะดุดไปเสียก่อน ประเทศไทยจะมีรัฐบาลชุดใหม่อย่างเร็วที่สุดในเดือนกันยายนนี้ 

ในระหว่างที่ฝุ่นยังคงตลบ เหล่านักกิจกรรมทางการเมืองได้รวมตัวกันในนาม ‘กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ’ นำโดย iLaw พร้อมด้วยองค์กรภาคประชาชนอีกจำนวนมาก อันเนื่องมาจาก MOU การร่วมรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ที่ลงนามเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีมติร่วมกันว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วาระแรกจะมีการพิจารณาเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญและตั้งสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หากการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วง จะทำให้อย่างน้อยในช่วงปลายปีนี้ต้องมีการทำประชามติ ครั้งที่ 1 เกิดขึ้น 

ภาคประชาชนเร่งล่ารายชื่อเสนอ ‘คำถามประชามติ’

ข้อกังวลของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า หากเกิดการทำประชามติภายในสิ้นปีนี้ ประชาชนอาจไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่า ‘คำถามประชามติ’ ที่จะให้ประชาชนกากบาทเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้นคืออะไร เพราะอาจมีแนวโน้มเหมือนกับคำถามพ่วงในการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีความกำกวมจนประชาชนทั่วไปยากจะเข้าใจ ดังนั้น ทางกลุ่มจึงออกมาเคลื่อนไหวเพื่อการติดกระดุมเม็ดแรกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ถูกต้อง โดยเริ่มจากการตั้งคำถามประชามติที่ชัดเจนเสียก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญในลำดับแรก รวมไปถึงที่มาของ สสร. ที่เน้นย้ำว่าต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้นทางกลุ่มยังไม่มีการเสนอใดๆ 

แคมเปญ ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%’ จึงถูกชูขึ้นเพื่อเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเสนอทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรี อันเป็นบันไดขั้นแรกสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ตามกลไกพระราชบัญญัติประชามติ 2564 ที่ต้องการรายชื่ออย่างน้อย 50,000 รายชื่อ เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติทำประชามติโดยใช้ ‘คำถามที่ประชาชนกำหนดเอง’ ทันทีที่รัฐบาลใหม่ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยจัดตั้งสำเร็จ

‘5 ขั้นตอน 4 คูหา’ เส้นทางลูกรังกำเนิดรัฐธรรมนูญใหม่ 

แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เต็มไปด้วยกลไกซับซ้อน โดยมุ่งหวังให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้อย่างง่ายดาย หากต้องการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ประชาชนจะต้องเดินทางผ่าน ‘ทางลูกรัง’ ใน 5 ขั้นตอน และ 4 คูหาลงคะแนน 

นายนันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) หนึ่งในภาคีกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ว่า การทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นจะต้องผ่าน ‘5 ขั้นตอน 4 คูหา’ ที่ประกอบไปด้วย

  1. (คูหาที่ 1) ประชามติ ครั้งที่ 1 เพื่อเสนอว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งสามารถกระทำได้ผ่าน 3 วิธีการคือ 
    • รัฐสภามีมติเห็นชอบ 
    • ครม. มีมติเห็นชอบ 
    • ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ
  2. รัฐสภามีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยเพิ่มเนื้อหาของกระบวนการได้มาซึ่ง สสร. ภายใต้การพิจารณาของ สส. และ สว. ในรัฐสภา 3 วาระ
  3. (คูหาที่ 2) ประชามติ ครั้งที่ 2 รับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 
  4. (คูหาที่ 3) เลือกตั้ง สสร. จากการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 กำหนดที่มาของ สสร. จากการเลือกตั้ง ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  5. (คูหาที่ 4) ประชามติครั้งสุดท้าย รับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทั้งนี้ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้ประเมินระยะเวลาของกระบวนการทั้งหมดว่า อาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปี นับตั้งแต่การทำประชามติในครั้งแรกจนถึงการรับรองร่างรัฐธรรมนูญแบบ 5 ขั้นตอน 4 คูหา ดังไทม์ไลน์ต่อไปนี้

  1. ประชามติ ครั้งที่ 1: ปลายปี 2566
  2. รัฐสภาแก้ไข ม.256 ผ่าน 3 วาระ: ภายในครึ่งปี 2567
  3. ประชามติ ครั้งที่ 2: กลางปี 2567
  4. เลือกตั้ง สสร.: ปลายปี 2567 
  5. ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ: สิงหาคม 2568

จากกระบวนการดังกล่าวพอจะทำให้เห็นภาพและกรอบระยะเวลา ซึ่งในความเป็นจริงอาจใช้เวลามากกว่าที่เห็นก็เป็นได้ และในระหว่างนั้น อาจมีการปัดตกข้อเสนอของประชาชนก็ได้เช่นกัน 

ภายใต้สภาวะฝุ่นตลบทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงทุกๆ 24 ชั่วโมง อาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะความกระตือรือร้นของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังมีความมุ่งมั่นเหมือนในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ 

ขณะที่การเจรจาต่อรองทางการเมืองอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเพียงแค่การแก้ไขมาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ สว. อย่างเดียวก็ได้ จนมองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ไม่ต้องแก้ไขต่อ ทั้งที่ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากรัฐธรรมนูญอาบยาพิษของคณะรัฐประหาร ตั้งแต่ที่มาและเนื้อหา พร้อมกลไลที่ซับซ้อนซ่อนกล จนทำให้ไม่สามารถแก้ไขหรือเขียนใหม่ทั้งฉบับได้อย่างง่ายดาย

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า