เลื่อน ไม่เลื่อน เลื่อน ไม่เลื่อน เลือกตั้งฉบับเสี่ยงทาย ที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะออกอะไร

ใกล้ข้ามไปสู่ศักราชใหม่ ใครต่อใครต่างหาสถานที่เคาท์ดาวน์นับถอยหลังส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การเคาท์ดาวน์ไปกับเข็มนาฬิกานั้นเป็นไปอย่างซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา จากเข็มนาทีสู่วินาที จาก 10 9 8 … จนถึง 0 เสียงเฮดังขึ้นพร้อมกับพลุไฟสว่างไสวทั่วท้องฟ้า ผู้คนเต้นรำ ดื่มด่ำกับค่ำคืน การนับถอยหลังสู่วันใหม่ทำหน้าที่ได้เสร็จสมบูรณ์ ทว่าการเคาท์ดาวน์สำหรับอีกเรื่องกลับเป็นสิ่งยุ่งยากและซับซ้อน

เรากำลังพูดถึง ‘การเลือกตั้ง’ ที่เจอโรคเลื่อนครั้งแล้วครั้งเล่าราวกับนาฬิกาทรายนั้นใช้เม็ดทรายจากทั้งซาฮาร่า ต่อไปนี้คือจำนวนครั้งของการเลื่อนเลือกตั้งที่ปล่อยให้ใครต่อใครเคาท์ดาวน์เก้อ

เลื่อนตามรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำทิ้ง

9 กุมภาพันธ์ 2558 หลังการหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แถลงข่าวว่า ไทยจะมีการเลือกตั้งปลายปี 2558 หรือเต็มที่ก็ต้นปี 2559 ทว่า 7 เดือนต่อมาแผนการที่ว่าก็ต้องถูกพับ อันเนื่องมาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นั้น สปช. มีมติไม่เห็นชอบกับร่างดังกล่าวด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 งดออกเสียง 7 เป็นอันว่าต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกำหนดวันเลือกตั้งและการร่างรัฐธรรมนูญ

สมการ 6+4+8+5 เท่ากับเลื่อนเหมือนเดิม

หน้าที่การร่างรัฐธรรมถูกเปลี่ยนมือจากนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาเป็น นายมีชัย ฤชุพันธุ์

28 กันยายน 2558 พลเอกประยุทธ์ กล่าวระหว่างหารือทวิภาคีกับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติว่า จะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560

6 ตุลาคม 2558 เริ่มประชุมนัดแรกเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 พร้อมทั้งมีการกำหนดสูตรโรดแม็ปเลือกตั้งเป็น 6+4+8+5 ซึ่งหมายถึงใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน จากนั้นร่างกฎหมายลูก 8 เดือน และอีก 5 เดือนสำหรับจัดการเลือกตั้ง

26 มกราคม 2559 พลเอกประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนหลังถูกถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร “ผมยืนยันว่ากรกฎาคม 2560 ต้องมีเลือกตั้ง ถ้าไม่มีเลือกตั้ง ก็ไปสู้กันเอาเอง” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์สื่อ

10 สิงหาคม 2559 หลังรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีคนเดิมกลับพูดในโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า “กกต. จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน ซึ่งก็คือช่วงปลายปี 2560 อันยังคงเป็นไปตามโรดแม็ปที่วางไว้”

แต่อย่างที่ทราบกันดี ไม่ว่าจะกลางปี หรือปลายปี 2560 การเลือกตั้งก็ไม่เกิดขึ้น

เหตุการณ์สวรรคต

6 มกราคม 2560 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “บัดนี้เกิดกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ทุกอย่างเลื่อนไป และจนถึงวันนี้ยังไม่มีพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมา เราจึงนับไม่ถูก ตอบไม่ถูก”

สงครามโลกไม่เกิด การเลือกตั้งก็ไม่เห็นจะมี

6 เมษายน 2560 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ และจากสมการโรดแม็ปการเลือกตั้งเพิ่งไปได้เกือบครึ่งทางคือ 6+4 ที่เหลือคือ 8+5 หมายถึงใช้เวลา 8 เดือนนับจากนี้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ และอีก 5 เดือนเพื่อจัดการเลือกตั้ง

21 เมษายน 2560 เมื่อสื่อมวลชนถามว่าการเลือกตั้งช้าสุดจะเกิดขึ้นเมื่อใด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ตอบว่า “ถ้านับดูจะเป็นปลายปี 2561 หากไม่เกิดสงครามโลกเสียก่อนนะ”

10 ตุลาคม 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวหลังจากประชุม ครม. ว่า “ประมาณเดือนมิถุนายน 2561 ก็จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้ง”

เลือกตั้งหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

19 มิถุนายน 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า รัฐบาล คสช. กำลังเตรียมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบวันเวลาชัดเจนเกี่ยวกับวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยของในหลวงรัชกาลที่ 10

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

14 มกราคม 2561 นายมีชัย ฤชุพันธ์ กล่าวกับมติชนสุดสัปดาห์ว่า “ตราบใดที่กฎหมายยังไม่ออกมา จะเริ่มนับวันเลือกตั้งวันไหน ก็ยังตอบไม่ได้ โดยประมาณน่าจะอยู่ในปลายปี 2561 หรืออย่างช้าเลื่อนไป 2 เดือน น่าจะราวไตรมาสแรกของปี 2562”

13 กันยายน 2561 หลังมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. แล้ว พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การเลือกตั้งจะเริ่มนับ 150 วัน นับจากนี้ ดังนั้น กรอบเวลาของวันจัดเลือกตั้งจะอยู่ระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2561 ไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 โดยขณะนี้ กกต. ยังยึดตุ๊กตาที่จะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

สอดคล้องกับคำยืนยันของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายวิษณุเครืองาม ที่ออกมาพูดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เช่นกัน

11 ธันวาคม 2561 ปี่กลองการเมืองเริ่มประโคมขึ้น เมื่อ คสช. ปลดล็อคคำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง เป็นอันว่าพรรคต่างๆ เริ่มขยับตัวอย่างเป็นทางการ สัญญาณการเลือกตั้งน่าจะแน่ชัดแล้ว แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอนนั้นจริงแท้กว่า

29 ธันวาคม 2561 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ออกมาให้สัมภาษณ์หลังจากมีกระแสข่าวเลื่อนการเลือกตั้งว่า จริงๆ แล้ววันเลือกตั้งยังไม่ได้กำหนด แล้วจะเลื่อนได้อย่างไร เพราะวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่สำนักงาน กกต. มีความพร้อมจัดการเลือกตั้ง แต่การกำหนดวันเลือกตั้งนั้นเป็นดุลยพินิจของ กกต. ที่จะต้องพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ

โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

1 มกราคม 2562 มีประกาศจากสํานักพระราชวัง เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562

ในวันเดียวกันนี้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เขียนข้อความบนเฟซบุ๊คของตนว่า ไม่ควรจัดการเลือกตั้งก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะการเลือกตั้งจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยก และไม่สามัคคีปรองดองกัน อีกทั้งกฎเกณฑ์กติกาในการเลือกตั้งก็ยังไม่เป็นธรรมประชาธิปไตยเหมาะสมกับประเทศ

2 มกราคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคืองานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งเป็นงานสำคัญสำหรับคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลสามารถดำเนินการคู่ขนานไปได้ทั้งการเลือกตั้งและพระราชพิธี ส่วนการเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ กกต. ตนไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทุกอย่างยังยืนยันไปตามโรดแม็ป หลังจาก พ.ร.ป.เลือกตั้งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ก็ต้องนับต่อจากนี้ไปอีก 150 วัน จะต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้มีการกำหนดไว้ขั้นต้นว่า เลือกตั้งเร็วที่สุดควรจะเป็นวันใด เบื้องต้นได้กำหนดเอาไว้ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลก็ไม่ได้มุ่งหวังที่จะยื้อการเลือกตั้งออกไป ส่วนจะทำได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ กกต. เป็นหลัก ขณะที่พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซึ่งเดิมคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันนี้ก็ยังไม่สามารถออกได้แต่อย่างใด แต่ย้ำว่าจะประกาศใช้ในสัปดาห์นี้ เพราะหากล่าช้าจะไปกระทบกับกิจกรรมอื่นที่จะต้องดำเนินไปสู่การเลือกตั้ง

อ้างอิง

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า