ที่ผ่านมา เคยมีนักรัฐศาสตร์ตะวันตกที่ศึกษาเรื่องการเมืองไทยอย่าง เดวิด วิลสัน (David Wilson) Politics in Thailand (1962) ได้ให้ข้อสรุปจากการศึกษาการเมืองไทยว่า การเมืองไทยมีลักษณะเฉพาะโดดเด่น (uniqueness) ที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับสังคมอื่นได้ ซึ่งผู้รู้บางท่านเปรยๆ ว่า ไม่รู้ว่าเขียนด้วยความจริงใจหรือประชดก็ไม่ทราบ!
จากคำกล่าวของวิลสัน ทำให้นักวิชาการไทยปีกหนึ่งเห็นว่า น่าจะกลายเป็นการเปิดศักราชของการกล่าวอ้างแบบนี้ในหมู่นักวิชาการไทยอีกปีกหนึ่ง นั่นคือ เป็นที่มาของการกล่าวอ้างลักษณะเฉพาะตัวของ ‘ความเป็นไทย’ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่า ระหว่างฝรั่งกับไทย ใครเสนอความคิดนี้ก่อนกัน เพราะในช่วงเวลาเดียวกันกับที่หนังสือของวิลสันออกมา นักวิชาการไทยก็เสนอความคิดนี้ออกมาเช่นเดียวกัน ไม่แน่ใจว่าจะเป็น ‘พระองค์วรรณฯ’ หรือเปล่า!
การกล่าวถึงปัญหาของบ้านเมืองใดว่ามันอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่มันเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมนั้น เช่น รถในเมืองไทยไม่จอดให้คนข้ามทางม้าลาย คนฝรั่งอย่างอเมริกัน อังกฤษ เยอรมนี คงมองว่าเป็นปัญหาร้ายแรง แต่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกเฉยๆ ไม่เห็นเป็นปัญหาคอขาดบาดตาย และถ้าช่วยกันยืนยันต่อไปว่า การไม่จอดรถทางม้าลายเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย (หรืออีกหลายสังคม) ก็แปลว่า ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน เราก็คงต้องเป็นแบบนี้ไปจนชั่วฟ้าดินสลาย
แต่ถ้าคิดอีกแง่หนึ่ง ซึ่งก็เป็นวิธีคิดของฝรั่งอีกนั่นแหละ นั่นคือ ความคิดแบบ ‘Unilinear’ ซึ่งเชื่อว่าประวัติศาสตร์มนุษยชาติมีพัฒนาการหรือวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงในลักษณะของความก้าวหน้า (progress) ไม่ว่าจะเป็นในทางสังคมวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง และเศรษฐกิจ โดยในที่สุดทุกสังคมจะมีแบบแผนในทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองในลักษณะเดียวกันหรือร่วมกันต่อเป้าหมายเดียวกัน ในขณะที่ความเชื่อในลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละสังคมจะขัดแย้งกับแนวความคิดในแบบ ‘Unilinear’ เพราะสังคมบางสังคมหรือแต่ละสังคม ไม่จำเป็นจะต้องดำเนินไปบนเส้นทางเดียวกันทั้งหมด
ในทางการเมืองการปกครอง มุมมองในแบบ ‘Unilinear’ ปรากฏให้เห็นในงานของ ฟรานซิส ฟุกุยาม่า (Francis Fukuyama) The End of History and the Last Man (1992)ที่เขาได้สะท้อนไว้อย่างชัดเจน นั่นคือ ทุกวันนี้ “…มีความเห็นพ้องต้องกันอย่างน่าทึ่งเกี่ยวกับความชอบธรรมของเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) ในฐานะที่เป็นระบบของการปกครองที่ได้เกิดขึ้นไปทั่วทั้งโลกตลอดช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ ด้วยเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) มีชัยเหนืออุดมการณ์คู่แข่งอย่าง เช่น ระบอบพระมหากษัตริย์ที่สืบสายโลหิต, ฟาสซิสม์ และล่าสุดก็คือ คอมมิวนิสม์….เสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) อาจจะสถาปนา ‘จุดหมายปลายทางของวิวัฒนาการของอุดมการณ์ของมนุษยชาติ’ และเป็นรูปแบบสุดท้ายของการปกครองของมนุษย์’ และได้มาพาให้มาถึง ‘จุดสุดยอดของประวัติศาสตร์’ (the end of history)”
ดังนั้น ถ้าพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของไทยภายใต้กรอบความคิด ‘Unilinear’ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย พ.ศ. 2475 ย่อมเข้าข่ายการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาการความก้าวหน้า นั่นคือ การสิ้นสุดของระบอบโบราณอย่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งจะ ‘เสรี’ แค่ไหนใน พ.ศ. 2475 ในกรณีของไทย ก็ต้องพิจารณาจากเกณฑ์ของความเป็น ‘เสรีประชาธิปไตย’ ซึ่งก็ยังมีเกณฑ์ในลักษณะที่เป็นเกณฑ์พื้นฐาน (basic) และเกณฑ์ในลักษณะที่ก้าวหน้า (advance)
และแน่นอนว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองของทั้งสองประเทศ จะพบกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เรียกได้ว่าเป็นอาการ ‘การแกว่งไปแกว่งมา’ หรือ ‘เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา’ (momentum) ซึ่งปรากฏการณ์ที่ว่านี้ ถ้าวินิจฉัย (diagnose) ภายใต้กรอบแนวคิดแบบ ‘Unilinear’ ที่เชื่อในแบบแผนพัฒนาการความก้าวหน้า (progress) ก็อาจจะลงความเห็นได้ว่าเป็นอาการถดถอย (regress) หรือ ‘ถอยหลังเข้าคลอง’ เป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์และไม่ควรจะเกิดขึ้น
แต่ถ้าพิจารณาจากกรอบแนวคิดแบบ ‘ลักษณะเฉพาะ’ ก็จะพบว่าเป็นวิธีการปกติในการแก้ปัญหาในการเมืองไทย เหมือนกับที่คนไทยรู้วิธีดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วยวิธีการแบบ ‘ไทยๆ’ เช่น การที่รถไม่จอดให้คนข้ามทางม้าลายไม่ใช่ปัญหา คนที่คิดว่าเป็นปัญหาคือ ‘ตัวปัญหา’ เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ทั้งคนข้ามและคนขับต่างก็ดำเนินชีวิตตาม ‘บรรทัดฐานแบบไทยๆ’ ได้อยู่แล้ว
ผู้เขียนไม่ปฏิเสธคำอธิบายภายใต้กรอบ ‘Unilinear’ ที่ขับเคลื่อนสังคมการเมืองโดยทั่วไปในประวัติศาสตร์ มาจนถึงสังคมสมัยใหม่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม-โลกาภิวัตน์ ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็ไม่เห็นว่า อาการแกว่งไปมาเป็นลักษณะเฉพาะ เพราะถ้าพิจารณาประวัติศาสตร์การเมืองในที่ต่างๆ ให้ดี จะพบว่า ทุกสังคมการเมืองเคยอยู่ในอาการแกว่งแบบนี้ แต่ความรุนแรงของการแกว่งอาจจะเกี่ยวขึ้นอยู่กับลักษณะหรือเงื่อนไขเฉพาะของสังคมนั้นได้
‘ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์’ ของการเมืองไทย แสดงให้เห็นถึงการแกว่งตัวไปมาระหว่างสิ่งที่อาจเรียกว่า ‘เผด็จการกับประชาธิปไตย’ เพราะวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่บนฐานที่ฝักฝ่ายการเมือง (political factions) แต่ละฝ่ายต่างเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งครอบครองหรือพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองที่เกินขอบเขตของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยตามความเข้าใจของแต่ละฝ่าย จนก่อให้เกิดวิกฤตการเมืองครั้งสำคัญและรุนแรงในแต่ละช่วงหรือรอบเวลาตลอด 80 กว่าปีมานี้
วิกฤตสำคัญแต่ละครั้งอุบัติขึ้นจากและลงเอยในลักษณะของแรงเหวี่ยงอย่างสุดโต่ง (extreme momentum) ไปสู่ขั้วอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนคนเดียว กลุ่มคนหรือมหาชน ซึ่งเห็นได้จากวาทกรรมในการต่อสู้ทางการเมืองที่สะท้อนวนเวียนอยู่ท่ามกลางวาทกรรมดังต่อไปนี้ นั่นคือ ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์, ความเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร, เผด็จการรัฐสภา, ประชาธิปไตยที่เกินขอบเขต, ประชาธิปไตยแบบไทยๆ, การคืนพระราชอำนาจ, ความไม่เป็นประชาธิปไตยของตุลาการภิวัฒน์, อำมาตยาธิปไตย, ประชาธิปไตยปวงประชามหาชน, มวลประชามหาชน ฯลฯ
ในการแก้ปัญหาการแกว่งนี้ คงต้องอาศัยประสบการณ์ความรู้ของต่างประเทศที่ผ่านวิกฤตนี้มา โดยเราควรตั้งคำถามว่า 1. อะไรคือสาเหตุของแรงเหวี่ยงอย่างสุดโต่งที่เกิดขึ้นในวิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมา? และ 2. อะไรคือ ความพอดี (moderation) ของขอบเขตการใช้อำนาจอันชอบธรรมระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ? ชุมนุมแล้วก็ต้องมีแนวโน้มจะตีกัน หรือมีการลอบทำร้ายกัน และคำตอบก็วนเวียนกันอยู่แค่มือที่สามกับมือที่มองไม่เห็น !
มีไม่กี่ประเทศในโลกหรอก ที่เวลามีเทศกาลเฉลิมฉลอง จะต้องมีสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงอย่างเมืองไทย แก้เท่าไรก็ไม่เห็นจะลดลง…ตกลงมันเกี่ยวกับรัฐประหารและการไม่จอดให้คนข้ามตรงทางม้าลายไหมเนี่ย!
******************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ จุดหมายที่ปลายทาง นิตยสาร Way ฉบับ 85, พฤษภาคม 2558)