ข้อมูลผู้ติดเชื้อทั้งหมดในประเทศจีน สามารถแบ่งอาการได้ดังนี้
81 เปอร์เซ็นต์ อาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย
14 เปอร์เซ็นต์ มีอาการ รู้ตัว ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล
5 เปอร์เซ็นต์ อาการหนัก รักษาใน ICU
จากตัวเลขดังกล่าว ผู้ติดเชื้อ 3 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิต ช่วงวัยส่วนใหญ่ที่เสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
ผู้สูงวัยคือกลุ่มเสี่ยง
2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตคือผู้ที่มีโรคประจำตัว เหตุที่ทำให้เสียชีวิตเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ 1. การมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน มะเร็ง หรือมีการกินยากดภูมิคุ้มกัน 2. การเกิดโรคแทรกซ้อนที่ปอดหรือปอดอักเสบทำให้ขาดออกซิเจนและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อัตราการตายสูงถึง 14.8 เปอร์เซ็นต์
ในเคสของประเทศจีน จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีที่ติด COVID-19 ทั้งหมดไม่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตเลยแม้แต่เคสเดียว ไม่ว่าจะเป็นเคสเด็กทารก 3 อาทิตย์ หรือ 8 อาทิตย์ ล้วนหายจากไวรัสตัวนี้โดยไม่มีอาการมาก เด็กที่อายุระหว่าง 11-20 ปี มีจำนวนต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่ควรหลีกเลี่ยงการติดเชื้อให้ได้มากที่สุดคือ กลุ่มผู้สูงวัย
ขาขึ้นของการระบาด ขาลงของชีวิต
ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของคนสูงวัยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มอายุนี้มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 รวมถึงการมีโรคประจำตัวต่างๆ แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเหตุผลทางสังคม
ผู้สูงวัยมักจะอาศัยอยู่ในสถานพยาบาล บ้านพักคนชรา และอาศัยอยู่กับครอบครัว ซึ่งล้วนแต่เป็นสถานการณ์ที่แออัด จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ในหลายสังคม ผู้สูงวัยมีแนวโน้มยากจน พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นในการดูแลรักษาตัวเอง ดูเหมือนว่าความชราและความยากจนคือสิ่งท้าทายระบบสาธารณสุข
สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย กำลังอยู่ใน ‘ระยะขาขึ้น’ ข้อมูลการติดเชื้อ ณ วันที่ 19 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ เพิ่ม 60 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 272 ราย ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว มาจากการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมาก เช่น เคสสนามมวย มีการคำนวณตามสมการการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 คาดว่า ผู้ติดเชื้อในสนามมวยมีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 100 คน ซึ่งกระจายไปตามที่ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เคสนี้น่าจะแพร่ไปในวงกว้างยิ่งกว่าอาจุมม่าแทกูของเกาหลีใต้
ผลข้างเคียงของการระบาด
ผลข้างเคียงของการระบาด คือบุคลากรทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ และโรงพยาบาล ต้องรับมือกับการระบาด แต่ผู้สูงอายุมักจะเป็นกลุ่มที่ต้องไปโรงพยาบาล ในภาวะปกติผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเจ็บป่วยสูงที่สุด ข้อมูลในปี พ.ศ. 2558 อัตราการเจ็บป่วย 46,357 ต่อแสนประชากร หรือเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
สิ่งที่ชวนให้กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ก็คือ คนชราที่เป็นโรคหัวใจที่อาศัยในเมืองที่กำลังมีโรคระบาดรุนแรง ย่อมมีแนวโน้มที่จะได้รับการรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะระบบสาธารณสุขและการแพทย์ ไม่สามารถรองรับได้ตามมาตรฐานในภาวะปกติ
คำถามที่ตามมาก็คือ คนชราที่มีนัดตรวจสุขภาพกับหมอในช่วงการระบาด พวกเขาควรไปไหม ซึ่งอาจจะต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงของการได้รับการติดเชื้อไวรัสกับประโยชน์ของการพบแพทย์ ช่วงนี้พวกเขาอาจพิจารณาเพียงแค่อยู่บ้าน ดังนั้นมันเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่แท้จริง การให้บริการทางการแพทย์ทางไกลก็เป็นสิ่งที่หลายประเทศเริ่มดำเนินการ แต่สิ่งเหล่านี้ก็อาจยังเป็นเรื่องยากสำหรับผู้อาวุโสในการเข้าถึง
ข้อแนะนำสำหรับผู้สูงวัยในการระบาด
มีข้อแนะนำแก่ผู้สูงวัยในช่วงเวลาของการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่จำเป็นต่อการที่ผู้สูงวัยจะต้องดูแลตัวเอง รวมถึงลูกหลานที่ดูแลผู้สูงวัยในครอบครัว
- สำหรับคนที่ใกล้ชิดผู้สูงวัย หากมีไข้ ไอ ต้องไม่เข้าไปคลุกคลีกับผู้สูงวัย โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน เพราะอาจจะติดมาจากโรงเรียน
- ป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยในช่วงการระบาด เพราะโรงพยาบาลอาจจะแน่นมาก
- หากต้องรับประทานยาต่อเนื่องและหยุดไม่ได้ ควรจะขอแพทย์เพิ่มเวลานัดให้ยาวขึ้น เช่น 3 เดือน รับยามาล่วงหน้า เก็บให้ถูกต้อง โดยเฉพาะยาฉีด กินยาให้สม่ำเสมอ
- หากต้องไปฉีดยา ให้ลองหาโรงพยาบาล สถานบริการใกล้บ้านที่ไม่ค่อยยุ่งมาก ไปสอบถามว่ามาฉีดยาได้ไหม
- งดรับประทานอาหารที่อาจจะทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย
- ห้ามล้ม!!!! จากข้อมูล ทุกวันมีผู้สูงอายุล้มจนต้องเข้าโรงพยาบาล ถึง 140 คน/วัน
- ทุกวันก่อนออกจากบ้าน ให้ท่านยิ้มให้ดูหน่อย ยิ้มหวานสุดชึวิต หากพบมุมปากเบี้ยว หรือ ยกแขนขาไม่มีแรง ให้นึกถึงหลอดเลือดในสมองตีบ ไปโรงพยาบาลให้ทันใน 4 ชั่วโมง มีโอกาสหายดี เดินได้
- งดไปกินสุกี้ ชาบู หมูกระทะ เพราะน้ำจิ้ม น้ำซุปอาจมีเกลือ/ผงชูรสมาก หากท่านเป็นโรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง อาจจะเกิดการคั่งของน้ำ แล้วหอบเหนื่อยได้ ควรให้ชั่งน้ำหนักทุกวัน หากน้ำหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็ววันละ 1 กิโลกรัม ให้ระวังน้ำมากเกิน
- ตรวจสอบการได้รับวัคซีน ผู้สูงวัยควรจะได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในเดือนเมษายนนี้ สามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้ารับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน
- อย่าไปเชื่อ fake news เช่น ออกไปยืนตากแดดจะฆ่าไวรัส, เครื่องรางของขลังป้องกันเชื้อได้, อมน้ำส้มสายชูในลำคอ 4 นาที ฯลฯ
- การสร้างระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ไม่ได้เหมาะกับคนวัยทำงานเท่านั้น แต่เหมาะกับคนทุกวัยรวมถึงผู้สูงอายุด้วย
- หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านเว้นแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น ซื้ออาหารร้านใกล้บ้าน หรือนัดพบแพทย์ที่จำเป็นจริงๆ และหลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนจำนวนมาก
- เมื่อกลับบ้าน หรืออยู่บ้าน ควรล้างมือด้วยสบู่สม่ำเสมออย่างน้อย 20 วินาที
สนับสนุนโดย