ภาพประกอบ: Nola Nolee
ประหลาดใจไม่น้อย เมื่อเห็นคนใช้คำว่า ‘พระหน้าตัวเมีย’ กับพระบางรูปที่ซุกตัวซ่อนอยู่ในกำบังของฝูงมหาชน เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องถูกจับ โดยมีการใช้คำว่า ‘พระแมนๆ’ กับพระอีกบางรูปที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกันด้วย
ที่จริงแล้วในสังคมไทย การยกย่องคนว่า ‘แมน’ กับการเหยียดหยามคนว่า ‘หน้าตัวเมีย’ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเลยนะครับ เราแทบจะพบคนที่พูดแบบนี้ได้ด้วยอาการหน้าตาเฉยได้แทบทุกวัน
ความ ‘แมน’ เป็นเรื่องที่ถูกยกย่องว่าสูงส่ง เพราะความ ‘แมน’ เป็นเรื่องที่มาพร้อมกับคำว่า ‘ลูกผู้ชาย’ หรือแม้กระทั่ง ‘ใจนักเลง’ คือมีนัยแฝงถึงความกล้าหาญบางอย่างอยู่ในนั้น แม้บางครั้งจะล้ำเส้นไปเป็นความกล้าบ้าบิ่นมุทะลุไปบ้าง ก็ยังถือว่าไม่เป็นไร
ในขณะที่ความ ‘หน้าตัวเมีย’ นั้น แม้ถ้อยคำจะเป็นการ ‘ด่าเพศหญิง’ โดยตรง คือบอกว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้นมีความเป็นหญิงอยู่ในตัว ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับความ ‘แมน’ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครคิดว่าการด่าโดยใช้วลีนี้เป็นเรื่องน่าละอายของคนด่า ส่วนใหญ่รู้สึกว่า การถูกด่าว่าหน้าตัวเมียนั้นน่าอายกว่าการปล่อยคำนี้ออกจากปากตัวเอง
ความแมนกับความหน้าตัวเมีย จึงเป็น ‘วาทกรรม’ ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนไม่น้อยเลยนะครับ ว่าสังคมไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา-โดยเฉพาะสังคมสมัยใหม่นี้, เป็นสังคมที่ยกย่องเชิดชูความเป็นชายมากแค่ไหน และเหยียดหยามความเป็นหญิงมากแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าในช่วงสักทศวรรษที่แล้ว แนวคิดเรื่องสังคมชายเป็นใหญ่นั้นถูก ‘สลาย’ ลงไปไม่น้อยนะครับ เราเป็นสังคมที่ ‘เริ่ม’ ยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีคนทำงานในด้านเพศจำนวนมากที่เหน็ดเหนื่อยสร้างความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้มาเป็นเวลานาน จน ‘เริ่ม’ เกิดแสงแห่งความหวังว่า ‘การเมืองเรื่องเพศ’ จะเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากเริ่มเข้าใจ คนเริ่มมองว่าการด่าคนว่า ‘หน้าตัวเมีย’ หรือยกย่องคนว่า ‘แมน’ เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะ ‘ถูกต้องทางการเมือง’ สักเท่าไหร่
ที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ การรณรงค์เรื่องเพศนั้น ทำให้ทุกวันนี้ ‘การเมืองเรื่องเพศ’ ที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมในความหลากหลายทางเพศ ‘ดีขึ้น’ กว่าสมัยก่อนมากนัก คนยอมรับความเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ทรานส์ และอื่นๆได้มากขึ้น แม้จะยังมีการยอมรับอย่างไม่เป็นทางการและการไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการอยู่ก็ตามที แต่โดยทั่วไปแล้วต้องบอกว่าดีขึ้น
ทว่าที่กลับ ‘แย่ลง’ อย่างเห็นได้ชัด ก็คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง ‘เพศดั้งเดิม’ ทั้งสองนี่แหละ
คือเพศหญิงกับเพศชาย!
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ความแมนกับความหน้าตัวเมีย ที่ถูกพูดถึงข้างต้นนี่แหละครับ เพราะมัน ‘ถูก’ นำกลับมาใช้กันอย่างหน้าตาเฉย แถมยังรู้สึก ‘สาแก่ใจทางการเมือง’ กันอีกต่างหาก ที่สำคัญก็คือ เป็นการเอามาใช้กับ ‘พระ’ ที่ถือว่าเป็น ‘สมณเพศ’ คืออยู่ในเพศที่พ้นไปจากความเป็นหญิงเป็นชายแล้ว-เสียด้วย
ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าวิเคราะห์นะครับ ว่าเพราะอะไร สังคมไทยของเราจึง ‘ย้อนกลับ’ ไปหาความดึกดำบรรพ์ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศ โดยเฉพาะย้อนกลับไปหาความสัมพันธ์ของชายกับหญิง ซึ่งต้องบอกว่าเป็น ‘กล่องทางเพศ’ ที่สุดแสนจะเก่าแก่ คือคนสมัยก่อนเห็นคนเป็นแค่สองกล่องเท่านั้น คือถ้าไม่อยู่กล่องหญิงก็ต้องอยู่กล่องชาย ไม่มีความสามารถจะ ‘เห็น’ คนอยู่ในกล่องอื่นๆได้ โดยยกย่องกว่า ‘ชาย’ นั้นเหนือกว่า ‘หญิง’
เป็นไปได้ไหม ที่ ‘การเมืองเรื่องเพศ’ ในเรื่องการใช้คำทำนองนี้ จะเกี่ยวพันกับการเมืองอย่างเป็นทางการที่เกิดความขัดแย้งยาวนานในสังคมไทยด้วย
ถามเอง, แล้วก็อยากจะตอบเอง-ว่าเป็นไปได้!
ต้องยอมรับกันนะครับ ว่าอาการ ‘เกลียดทักษิณ’ นั้น ทำให้คนจำนวนหนึ่งหันไปสมาทานคนที่สามารถ ‘ขับไล่’ ทักษิณได้ ซึ่งในที่นี้ก็คือกลุ่มคนที่สมาทานลัทธิที่เรียกว่า Militarism หรือ ‘ทหารนิยม’ ที่ไม่ได้นิยมแค่ทหาร แต่ยังมีอะไรอื่นซ่อนอยู่ใน Militarism เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นลัทธิบูชารัฐราชการ แนวคิดแบบอนุรักษนิยม และที่เกี่ยวพันกับเรื่องที่เราคุยกันอยู่-ก็คือลัทธิชายเป็นใหญ่
อย่าลืมว่า Militarism นั้น คือแหล่งสำคัญที่ฟูมฟักลัทธิชายเป็นใหญ่นะครับ เพราะ Militarism นั้นแทบจะทาบเทียบได้ทุกประการกับ Patriarchy (แม้กระทั่งคำว่า Patriotism ที่แปลว่าความรักชาติ ก็ยังมีรากของคำแบบเดียวกันกับชายเป็นใหญ่ นั่นคือต้องรักใน ‘ปิตุภูมิ’ หรือ ‘แผ่นดินพ่อ’ ไม่ใช่ ‘แผ่นดินแม่)
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหารคนล่าสุด ซึ่งอยู่ในฝั่งตรงข้ามทางการเมืองกับผู้ครองอำนาจในปัจจุบันเป็นผู้หญิง ดังนั้น ‘ความเป็นหญิง’ กับ ‘ความเป็นชาย’ จึงถูกนำมาพิจารณาเทียบเคียงเข้าคู่กันไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ แม้จะไม่มีใครพูดออกมาตรงๆ แต่การเปรียบเทียบระหว่างความเป็นหญิงของยุคก่อน กับความเป็นชายของยุคนี้ ก็ ‘ทำงาน’ อยู่เสมอ
เมื่อเกิดกรณีพระที่เชื่อกันว่า ข้างหนึ่งเชียร์พระลัทธิหนึ่ง อีกข้างหนึ่งเชียร์พระอีกลัทธิหนึ่ง จึงน่าสนใจมากที่เกิดการใช้ ‘มาตรวัดทางเพศ’ มาวัด ‘ความดีความชั่ว’ ของพระ โดยนำ ‘ความแมน’ ไปประกบติดอยู่กับคุณธรรมความดีความกล้าหาญ และนำความ ‘หน้าตัวเมีย’ ไปประกอบร่างเข้ากับความชั่วช้าบิดเบือนหลักธรรมและความขี้ขลาดตาขาว
ที่จริงแล้ว ถ้าความทรงจำไม่สั้นกันเกินไป เราจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็น ‘พระแมนๆ’ หรือ ‘พระหน้าตัวเมีย’ ต่างก็เคยใช้ ‘มวลมหาประชาชน’ เป็นเกราะกำบังกันมาแล้วทั้งนั้น ดังนั้น หากเราจะถกเถียงกันเพื่อให้เกิด ‘ประโยชน์’ อย่างแท้จริงต่อสังคมนี้ ก็น่าจะถกเถียงกันว่า-พระรูปไหนมีความประพฤติอย่างไร มีแนวคิดอย่างไร แนวคิดเหล่านั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เสื่อมเสียต่อหลักธรรมหรือไม่ มีการหลอกลวงมวลมหาประชาชนแบบไหนหรือไม่ แอบอ้างหลักธรรมหรือไม่ หรือหากมีผู้เลื่อมใสศรัทธาในแนวคิดใหม่มาก จะแยกตัวไปเป็นลัทธิใหม่ได้ไหม แยกอย่างไร และจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรระหว่างคนที่มีความคิดความเชื่อแตกต่างกัน, ไม่ใช่ถกเถียงกันว่า โอ๊ย! ดูสิ พระรูปนั้นหน้าตัวเมีย พระรูปนี้แมนกว่า ซึ่งไม่ได้นำไปสู่อะไร นอกจากความสะใจที่ได้เปรียบเปรยลึกลงไปในทางการเมือง
แต่กระนั้น วาทกรรมแบบนี้ก็มีประโยชน์ ตรงที่ทำให้เราได้เห็น ‘ความจริง’ บางอย่างในสังคมการเมืองไทย,
ว่ามันยังย่ำเท้าอยู่กับการเมืองเรื่องเพศในสมัยไหน!