เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศคิวบา ซึ่งนับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ในรอบหลายศตวรรษของดินแดนแห่งนี้ ชาวคิวบาจำนวนหลายพันคนต่างออกมาเข้าร่วมการประท้วงบนท้องถนน ตั้งแต่เมืองฮาวานาไปจนถึงเมืองซานติอาโก ผู้ประท้วงตะโกนเพรียกหา ‘เสรีภาพ’ และ ‘เผด็จการจงพินาศ’ รวมถึงมีการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมิเกล ดิอาซ-กาเนล (Miguel Díaz-Canel) ลาออกจากตำแหน่ง
การประท้วงครั้งใหญ่นี้ เป็นผลพวงมาจากวิกฤติเศรษฐกิจอันย่ำแย่ที่สุดของคิวบาในรอบหลายศตวรรษ อีกทั้งคิวบายังประสบกับปัญหาจำนวนผู้ติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้น ประชาชนจึงออกมาแสดงความไม่พอใจต่อมาตรการจำกัดควบคุมเสรีภาพของประชาชน
การบริหารจัดการและการรับมือกับโรคระบาดของรัฐบาล รวมถึงภาวะการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
ก่อนหน้านี้วันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีการลงเสียงสนับสนุนมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้สหรัฐยุติการคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจต่อคิวบา โดยมีเสียงสนับสนุนถึง 184 เสียง มี 3 ประเทศที่งดออกเสียง ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย และยูเครน มีเพียงสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลเท่านั้นที่ออกเสียงคัดค้าน
“เรากำลังประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากจริงๆ” มิแรนดา ลาซารา (Miranda Lazara) ครูสอนเต้นรำวัย 53 ปี ผู้เข้าร่วมกับผู้ประท้วงหลายพันคนที่เดินขบวนไปทั่วฮาวานา กล่าว “เราต้องเปลี่ยนทั้งระบบ”
ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง กล่าวว่า พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงบนท้องถนนหลังจากได้รับข้อมูลข่าวสารจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญนับตั้งแต่มีการเปิดให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในมือถือเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการเชื่อมต่อจะไม่ค่อยเสถียรนักก็ตาม
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า พบเห็นกองกำลังรักษาความมั่นคง พร้อมกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ลงมือจับกุมผู้ประท้วงประมาณ 24 คน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้สเปรย์พริกไทยฉีดพ่นใส่และทุบตีผู้ประท้วง รวมถึงช่างภาพที่ทำงานให้กับสำนักข่าวเอพีก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายด้วยเช่นเดียวกัน
ในพื้นที่หนึ่งของเมืองฮาวานา ผู้ประท้วงได้แสดงความคับแค้นใจด้วยการพลิกรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จอดไว้คันหนึ่ง และขว้างปาก้อนหินใส่ นอกจากนี้ สำนักข่าวบีบีซียังรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ประท้วงบางส่วนได้ทำการปล้นสะดม (looting) ร้านค้าของรัฐที่ตั้งราคาสินค้าเป็นสกุลเงินต่างประเทศ สำหรับชาวคิวบาหลายๆ คน ร้านค้าเหล่านี้เป็นหนทางเดียวที่พวกเขาสามารถเข้าถึงและจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน แต่ในความเป็นจริง ราคาสินค้าในร้านค้าเหล่านี้กลับมีราคาสูงมากจนอาจไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้
หากกล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงออกของประเทศคิวบา รัฐบาลยังมีการจำกัดการต่อต้านของประชาชนอยู่ แม้จะมีการประท้วงเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่การประท้วงครั้งนี้กลับแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ไมเคิล บุสตามันเต (Michael Bustamante) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกาจากมหาวิทยาลัยนานาชาติฟลอริดา ได้ให้ความเห็นว่า การประท้วงครั้งนี้เป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2537 และเป็นการประท้วงที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เมืองหลวงเท่านั้น แต่มีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ
ประเทศคิวบา ประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการคว่ำบาตรของสหรัฐ รวมถึงการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่อย่างโควิด-19 ที่เข้ามาตอกย้ำซ้ำเติม ทำให้คิวบาต้องยุติการเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยในปีที่แล้วเศรษฐกิจของคิวบาหดตัวถึง 10.9 เปอร์เซ็นต์ และหดตัว 2 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนมิถุนายน 2564 ทำให้ชาวคิวบาต้องเผชิญกับปัญหาเงินสดตึงตัว (cash crunch) เกิดสภาวะขาดแคลนสินค้า ชาวคิวบาจำนวนมากต้องเข้าคิวรอเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อจับจ่ายสินค้าขั้นพื้นฐาน
แม้คิวบาได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุเดลตา (Delta) ทำให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น หน่วยงานด้านสุขภาพ รายงานว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดในคิวบาราว 6,923 ราย และมีผู้เสียชีวิต 47 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2564) ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้โรงพยาบาลในเขตพื้นที่สีแดงที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดต้องรองรับผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ในขณะนี้คิวบามียอดผู้ติดเชื้อสะสมจำนวนทั้งสิ้น 238,491 ราย และมีผู้เสียชีวิตถึง 1,537 ราย ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
อ้างอิง
- Cuba protests: Arrests after thousands rally against government
- Cuba sees biggest protests for decades as pandemic adds to woes
- Reuters : COVID-19 tracker
- UN General Assembly calls for US to end Cuba embargo for 29th consecutive year
- U.S. votes against U.N. resolution condemning embargo on Cuba