หลังกระแสต่อต้าน ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์’ เริ่มสร่างซา ประชาชนชาวไทยก็กลับมาใช้ชีวิตกันอย่างเป็นปกติสุขกันต่อไป ไม่แตกต่างอะไรกับเมื่อครั้งที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีผลบังคับใช้ไปเมื่อกลางปี 2560 เราออกมาเรียกร้องกันพอหอมปากหอมคอแล้วก็แยกย้ายกันไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
จะว่าไปแล้วผลกระทบที่เกิดกับประชาชนคนทั่วไป พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์นั้นเทียบไม่ติดกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เน้นการตรวจสอบ ‘เนื้อหา’ ไม่ว่าจะมาจากสำนักข่าวหรือคนทั่วไปก็ตาม โดยเฉพาะข้อความบิดเบือนหรือภาพตัดต่อล้อเลียนที่อาจก่อความเสียหายให้กับบุคคลอื่น
ในขณะที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ เน้นที่การควบคุมดูแล ‘ระบบ’ อันหมายถึงการที่แฮคเกอร์มุ่งเข้ามาเจาะระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค พูดง่ายๆ ว่าเจาะเข้ามาแล้วจะทำให้ชาวบ้านชาวช่องเขาเดือดร้อน ทางการสามารถเข้าไปจัดการได้ทันที
จินตนาการถึง ‘ผู้ก่อการร้าย’ ในโลกภาพยนตร์ที่เปลี่ยนโฉมไปมากจากหนุ่มล่ำดำถึก ถือปืนอาก้าหน้าตาเป็นผู้ร้ายทุกกระเบียดนิ้ว มาสู่หนุ่มเนิร์ดขาวตี๋ หน้าตาไม่มีพิษมีภัย ใช้โน้ตบุ๊คเป็นอาวุธเจาะระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง ป่วนการจราจร ตัดไฟชาวบ้าน ปล่อยสัญญาณถ่ายทอดสดปลอมๆ ทำให้คนในประเทศเข้าใจผิดจนเกิดจลาจล นั่นแหละ คือเป้าหมายที่ พ.ร.บ. นี้ตั้งใจจะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น
ที่สำคัญ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังเป็นฉบับแก้ไขที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคธุรกิจไอทีเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างด้วย จนนำมาสู่การเพิ่มศาลเข้ามาเป็นตัวถ่วงดุล จาก พ.ร.บ. เดิมที่ให้อำนาจรัฐเต็มที่ในทุกกรณี แต่ทำไมเราถึงยังเกลียดและกลัว พ.ร.บ. ฉบับนี้กันอยู่ แม้กระทั่งสมาพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชียยังแสดงความกังวล?
เหตุผลสำคัญคงหนีไม่พ้น ‘ซิงเกิลเกตเวย์’ ที่เคยเป็นข่าวว่าภาครัฐอยากมุบมิบจับเอามารวมใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่สุดท้ายก็ตกไป หลายคนจึงจับตาว่ามันจะกลับมาใน พ.ร.บ. ฉบับนี้หรือไม่ ยิ่งเห็นรายชื่อกรรมาธิการมีตำรวจและทหารมากถึง 7 คนก็ยิ่งกังวลเข้าไปใหญ่
ในเมื่อเคยมุบมิบแอบทำมาก่อนก็คงต้องยอมรับผลจากการกระทำของตัวเองว่าทำให้ประชาชนหวาดระแวงเป็นธรรมดา
พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ นอกจากเป็นเครื่องมือในการป้องกันภัยไซเบอร์แล้ว ยังเป็นเครื่องมือหยั่งเสียงประชาชนได้เป็นอย่างดีว่ายังคงมั่นใจในรัฐบาลของตัวเองไหม เพราะ พ.ร.บ. ลักษณะคล้ายๆ กันนี้ในต่างประเทศก็มีเหมือนกัน แต่หากภาครัฐโปร่งใสและทำความเข้าใจกับประชาชนได้เป็นอย่างดีปัญหาแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เช่นในยุโรปที่ประชาชนมั่นใจว่าภาครัฐเน้นการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะกฎหมาย GDPR (General Data Protection Regulation) ที่มีผลบังคับใช้ในปีที่แล้ว
แต่หากเราจะดูจากฝั่งประเทศจีนก็อาจเห็นภาพที่ตรงกันข้าม เพราะในประเทศที่เทคโนโลยีกำลังเบ่งบานพร้อมประกาศเป็นผู้นำยุค 5G ชาวจีนดูจะยินดีปรีดาที่ภาครัฐเข้ามาจับตาดูพลเมืองทุกย่างก้าวเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น… จริงหรือ?
ปี 2561 ถือเป็นปีทองของจีนในการประกาศความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีต่างๆ บริษัทชั้นนำอย่างหัวเว่ยเป็นผู้ถือสิทธิบัตร 5G สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ ที่พาเหรดกันโชว์ความก้าวหน้าในด้านเอไอ บิ๊กดาต้า ไอโอที รถยนต์ไร้คนขับ โดรน ฯลฯ
ด้วยจำนวนผู้ใช้มหาศาลนับพันล้านคน ศูนย์ข้อมูลของบริษัทยักษ์ใหญ่เช่นเทนเซนต์เจ้าของแอพฯ ชื่อดังอย่างวีแชท จึงมีข้อมูลมากมหาศาลที่เอามาใช้ประโยชน์ด้านการพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ได้ เช่นสามารถบอกได้ว่าในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าจะมีคนใช้รถไฟฟ้าในเมืองเป็นจำนวนมหาศาลเพราะเห็นได้จากผู้ใช้แอพฯ ที่กำลังจะกลับบ้านพร้อมๆ กัน หรือดูเส้นทางการเดินทางในตอนเช้าและเย็นก็ทำให้เห็นได้ว่าคนจากโซนไหน นิยมไปทำงานในบริเวณไหน ถ้าเห็นแบบนี้แล้วก็ทำให้กระทรวงเคหะฯ วางแผนสร้างที่พักอาศัยได้ตรงใจประชาชนมากขึ้น
นี่ยังไม่นับโครงข่ายไอโอทีหรือ Internet of Things ในเมืองใหญ่ที่มีเซนเซอร์มากมายนับล้านตัวรวมไปถึงกล้องวงจรปิดที่ทุกวันนี้ไม่ได้แค่บันทึกภาพ แต่เทคโนโลยีของจีนก้าวหน้าไปถึงการใช้อิมเมจโปรเซสซิ่ง จับภาพหน้าคนแล้วระบุตัวได้ว่าเป็นใคร หากเป็นอาชญากรก็แจ้งเตือนตำรวจที่อยู่ใกล้ๆ ได้ทันที
แต่ยังไม่จบแค่นั้น ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าคนที่เห็นในกล้องเป็นใคร ทำไมไม่ติดตามเขาหน่อยล่ะว่ามี “พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์” บ้างหรือไม่ เช่น ไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลาย แซงคิว พ่นสีตามกำแพง สูบบุหรี่ในที่ห้าม ฯลฯ อย่ากระนั้นเลย… เรามาตัดคะแนนคนไม่ดีกันเถอะ ชาวเมืองหรงเฉิงที่ทดลองใช้ระบบนี้จึงมีคะแนนติดตัวมาคนละ 1,000 แต้ม ซึ่งพร้อมจะโดนตัดหากทำอะไรไม่ถูกต้องแล้วระบบตรวจจับได้
ระบบยังให้คะแนนกับคนทำดีด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะช่วยคนตาบอดข้ามถนน ช่วยดับไฟให้เพื่อนบ้าน ฯลฯ ก็มีคะแนนตอบแทนให้ โดยผลของการทำความดีก็คือเราจะได้สิทธิพิเศษในการสมัครงานราชการ ลูกก็อาจได้พิจารณาให้เข้าเรียนในโรงเรียนชั้นนำ ฯลฯ
แต่หากถูกตัดคะแนนมากเกินไปก็อาจถูกแบนจากการซื้อตั๋วเครื่องบิน ซึ่งปีที่แล้วมีคนถูกแบนไปแล้วกว่า 6 ล้านคน หมดสิทธิจองโรงแรมหรูๆ หลายแห่งที่ร่วมโครงการกับภาครัฐ สมัครงานราชการไม่ได้ แม้กระทั่งเลี้ยงหมาแมวไม่ได้หากในระบบถูกบันทึกว่าเคยปล่อยสัตว์เลี้ยงไปรบกวนเพื่อนบ้าน
จะเป็นอย่างไรหากระบบนี้ถูกใช้ในเมืองไทย? จินตนาการได้ไม่ยากว่าหน้าฟีดของโซเชียลมีเดียทุกเจ้าคงเต็มไปด้วยเสียงก่นด่า เราคงเห็นการล่าชื่อเป็นแสนๆ ใน change.org ตามด้วยแฮชแท็กมากมายตามสูตรสำเร็จ แต่คนจีนคิดอย่างไร?
แต่ผลสำรวจบอกว่าชาวเน็ต 80 เปอร์เซ็นต์ พอใจกับระบบนี้
มิไยว่านักวิเคราะห์ทั่วโลกมองเห็นตรงกันว่าระบบนี้จะเป็นการบังคับ ควบคุม และจำกัดเสรีภาพของคนที่เห็นต่างจากรัฐ และเป็นเครื่องมือของพรรคคอมมิวนิสต์ในการควบคุมประชาชน แต่เกิดอะไรขึ้นกับชาวจีนในยุคที่เทคโนโลยีเบ่งบานกลับชอบการถูกควบคุมและตีกรอบความคิดเช่นนี้หรือ?
บางครั้งคำตอบของชาวจีนอาจขึ้นอยู่กับบางสิ่งที่เป็นรูปธรรม เพราะนับตั้งแต่ระบบสอดส่องข้อมูลถูกนำมาใช้ การตรวจจับคอร์รัปชันก็ทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก มีเจ้าหน้าที่ถูกจับกุมไปกว่า 1 ล้านคนรวมถึงนายพลทหารชั้นสูงสุด ฟาง เฟิงฮุย ที่ถูกยึดทรัพย์และตัดสินจำคุกตลอดชีวิตไปเมื่อเดือนที่แล้ว
สิทธิเสรีภาพกับการควบคุมด้วยเทคโนโลยี เคยเป็นเส้นขนานที่ไม่น่าจะมีวันมาบรรจบกันได้ แต่ดูเหมือนจีนจะพลิกแพลงทำได้ด้วยการนำเอา ‘คอร์รัปชัน’ มาใส่เป็นผลลัพธ์ของสมการ
ส่วนบ้านเรา มันคงเป็นเส้นขนาน 3 เส้นที่ไม่มีวันบรรจบกันต่อไป ด้วยสมการของเราที่ซับซ้อนเกินกว่าชาวโลกจะเข้าใจ