กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ภัยคุกคามสิทธิ์

cybersecurity-4

ภายใต้หน้ากากที่ห่อหุ้มชุดกฎหมาย ‘เศรษฐกิจดิจิตอล’ รวม 10 ฉบับ ดูราวกับว่ารัฐบาลชุดรัฐประหารจะมุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ทันต่อการขับเคลื่อนของโลกสมัยใหม่ ทว่าเนื้อในที่สอดไส้อยู่ในชุดกฎหมายนี้ กลับเน้นหนักไปในด้านความมั่นคงที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง โดยเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนได้ด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงของชาติ

ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นับจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลได้ผ่านร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลที่ถูกเสนอขึ้นมาอย่างเร่งรัดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ส่งผลให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจเกิดข้อกังวลว่า การออกกฎหมายอย่างไม่ชอบมาพากลเช่นนี้จะยิ่งก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวมากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากประชาชนทั่วไปมีโอกาสถูกลิดรอน ละเมิด หรือกระทั่งคุกคามสิทธิส่วนบุคคลได้ทุกเมื่อ

เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เมื่อนโยบายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงในโลกไซเบอร์ กับความมั่นคงของรัฐ กำลังเดินสวนทางกับความมั่นคงในชีวิตของประชาชนที่มีโอกาสถูกสอดแนมโดยไม่รู้ตัว

 

cybersecurity-6

+ ทำเพื่อเศรษฐกิจดิจิตอลจริงหรือ?

ภายหลังที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ทุกอย่างเป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ต้องการเร่งผลักดันประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิตอลให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็น เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ใคร

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลจำนวน 8 ฉบับ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. อย่างรวบรัดตัดตอน ได้แก่

  1. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
  2. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
  3. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
  4. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  5. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
  6. ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  7. ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
  8. ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับที่มีความเกี่ยวข้องและได้ผ่านความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งสิ้นเป็น 10 ฉบับ

ท่ามกลางความงุนงงสับสนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ผุดขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์ใดกันแน่ เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับชุดกฎหมายดังกล่าวว่า ร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิตอล อาจมิได้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมหรือพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างที่กล่าวอ้าง หากแต่เป็นกฎหมายที่สนองต่อภารกิจของหน่วยงานความมั่นคงเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายที่รอการพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ อีกอย่างน้อย 3 ฉบับ รวมแล้วเรียกว่า ‘ชุดกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ 10+3’ ซึ่งภาคประชาชนต้องเฝ้าจับตามอง

ต่อมาเครือข่ายพลเมืองเน็ตได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้และรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้คัดค้านชุดกฎหมายดังกล่าวผ่านทาง change.org เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขอให้ทบทวนและระงับร่างกฎหมายทั้ง 13 ฉบับที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สื่อ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเหล่านี้อย่างละเอียด

ข้อสังเกตประการสำคัญของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่า ชุดกฎหมายเหล่านี้ถูกเสนออย่างเร่งรีบ กระทั่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ยังไม่เคยเห็นร่างมาก่อน ทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่ามีกระบวนการพิจารณาที่ละเอียดรอบคอบเพียงพอหรือไม่

ที่สำคัญในร่างกฎหมายดังกล่าวมีอย่างน้อย 5 ฉบับ ที่เปิดช่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจได้อย่างกว้างขวางเกินขอบเขต มีการอนุญาตให้ตรวจค้น ยึด อายัด ขอเข้าถึง และดักรับข้อมูลได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอหมายศาล ซึ่งถือเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน

เครือข่ายพลเมืองเน็ต ยังระบุด้วยว่า ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจน อีกทั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านสิทธิ ที่เห็นชัดที่สุดคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ตัดการรับประกันกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามา 2 ตำแหน่ง

“แม้ว่ารัฐควรมีอำนาจจัดการกับอาชญากรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น แต่อำนาจที่มากเกินไปอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล” อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าว

เช่นเดียวกับความเห็นของคณะทำงานโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ให้ข้อสรุปว่า เมื่อดูเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายทั้งหมด ประกอบกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการสื่อสารบนโลกออนไลน์อื่นๆ จึงไม่อาจเรียกร่างกฎหมายชุดนี้ว่า ‘ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล’ แต่สมควรเรียกว่า ‘ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิตอล’

 

cybersecurity-5

+ ยับยั้ง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ เสี่ยงละเมิดสิทธิรุนแรง

ขณะที่ภาคประชาชนได้แสดงความกังวลต่อประเด็นการออกกฎหมายละเมิดสิทธิจนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทางด้านสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้มีการจัดวงเสวนาในหัวข้อ ‘พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ เสี่ยงละเมิด?’ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีข้อสังเกตหลายประการว่ากฎหมายชุดนี้ไม่น่าไว้วางใจ

สฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง ให้ทัศนะว่า ชุดกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์จะส่งผลกระทบต่อคนไทยทุกคน ทั้งประชาชนโดยทั่วไปและภาคธุรกิจเอกชน เนื่องจากอาจถูกล้วงข้อมูลและความลับขององค์กรโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

“หัวใจของกฎหมายชุดนี้คือ ถ้ารัฐบาลต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิตอลจริง รัฐก็ต้องให้ความคุ้มครองด้านข้อมูลข่าวสาร สร้างระบบที่มีเสถียรภาพและความปลอดภัย รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องไม่ถูกดักฟังหรือเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการเองก็ไม่ต้องการให้ข้อมูลของลูกค้าตกอยู่ในอันตรายโดยไม่มีเหตุอันควร”

นอกจากนี้ รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างโปร่งใส สร้างมาตรฐานความปลอดภัยของระบบ และต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างรัฐกับเอกชน

อย่างไรก็ตาม สฤณี กล่าวว่า แม้ขณะนี้รัฐได้ส่งสัญญาณว่าจะรับฟังเสียงทักท้วงของประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข แต่ภาคประชาชนยังคงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและไม่อาจนิ่งนอนใจได้

สฤณียกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศสหรัฐว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐเองก็มีความพยายามที่จะออกกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์โดยใช้ข้ออ้างจากเหตุการณ์ 9/11 จนกระทั่งมีการแฉข้อมูลว่ารัฐบาลสหรัฐได้มีการสอดแนมและดักฟังข้อมูลอย่างลับๆ ทำให้ประชาชนออกมากดดัน จนในที่สุดกฎหมายหลายฉบับก็ถูกถอดไป โดยนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐออกมายืนยันว่าหากกฎหมายใดที่ระบุถึงตัวบุคคลก็จำเป็นต้องถอดออก เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยไซเบอร์

“ร่างกฎหมายของไทยมีปัญหาเรื่องการให้นิยามว่าอะไรคือภัยคุกคาม อะไรคือความมั่นคง โดยให้นิยามที่กว้างมาก อีกทั้งไม่มีบทลงโทษต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่นำข้อมูลมาเปิดเผย”

สฤณี กล่าวอีกว่า ปัญหาของร่างกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ยังรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ โดยมีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่หน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งสามารถหารายได้ได้เองโดยไม่ต้องส่งให้รัฐ

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ภาคประชาชนเห็นว่ารัฐควรต้องชะลอร่างกฎหมายนี้ออกไปจนกว่าจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน

 

cybersecurity-1

+ สื่อผวากฎหมายลายพรางคุกคามเสรีภาพ

ผลพวงจากร่างกฎหมายชุดนี้ไม่เพียงกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไป แต่ยังมีผลต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยเช่นกัน

ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนอย่างมาก เนื่องจากสามารถตีความคำว่าความมั่นคงได้อย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าผู้ออกกฎหมายมีเจตนารมณ์เช่นใดกันแน่

“ความมั่นคงในโลกปัจจุบันไม่ใช่แบบเดิมๆ อีกแล้ว ไม่ใช่แค่มีกองทัพหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่แข็งแกร่ง เพราะถ้าปัจจัยอย่างอื่นไม่มีความมั่นคง ประเทศชาติก็ย่อมไม่มั่นคงด้วย”

ก่อเขต ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากรัฐบาลยังเดินหน้าออกกฎหมายชุดนี้ต่อไป อาจก่อให้เกิดการเผชิญหน้าได้

เช่นเดียวกับ จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ผู้ที่มีอำนาจใช้กฎหมายนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาลชุด คสช. แต่ยังมีผลไปถึงรัฐบาลชุดต่อๆ ไป

จักร์กฤษ กล่าวว่า แม้ในภาพรวมจะเรียกชุดกฎหมายนี้ว่ากฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดเนื้อหากลับมีความโน้มเอียงไปที่เรื่องความมั่นคงและการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ขณะเดียวกันก็ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลด้วยอำนาจพิเศษ

“การให้อำนาจเจ้าหน้าที่เช่นนี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์ปกติกลายเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และมีความกังวลว่าเป็นกฎหมายเผด็จการหรือไม่”

จักร์กฤษ กล่าวอีกว่า แม้ขณะนี้รัฐจะแสดงท่าทีว่าจะนำไปพิจารณาแก้ไข แต่ในทางปฏิบัติจริงยากที่จะแก้ไขได้ เพราะเมื่ออยู่ในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประชาชนจะไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้

 

cybersecurity-2

+ สนช. อ้างทบทวนแก้ไขได้

ทางด้าน สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะหัวหน้าทีมผู้ร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิตอล กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของภาคประชาชนและสื่อมวลชนที่จะให้มีการทบทวนแก้ไข หากกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ

“เห็นด้วยว่าควรมีการปรับปรุงแก้ไข แต่สิ่งที่ดิฉันเห็นต่างก็คือ ไม่เห็นด้วยถ้าจะมีถอนทั้งหมด” สุรางคณา กล่าว

สุรางคณา กล่าวว่า เหตุที่ต้องเสนอกฎหมายในสมัยรัฐบาลชุดนี้เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการออกกฎหมายของไทยมีความล่าช้ามาก ซึ่งภายหลังเกิดการปฏิวัติแล้วรัฐบาลเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ และทุกอย่างกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือและกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ

“เราจำเป็นต้องรื้อกลไกใหม่เพื่อความปลอดภัย ที่ผ่านมาเราเผชิญกับปัญหานี้มาตลอด เพียงแต่ประชาชนอาจมองไม่เห็น ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องใช้ความกล้า ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้”

 

ณ เวลานี้ชุดกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ภายใต้รัฐบาลชุดรัฐประหารยังคงเป็นข้อกังวลและเกิดข้อถกเถียงมากมายว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานความมั่นคงมากเกินไปหรือไม่ แทนที่จะเป็นการมุ่งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจยุคดิจิตอลดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

หากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ประชาชนทุกคนย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะตามมาได้

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า