เวทีความคิดในงานสัมมนาวิชาการ ‘ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: รัฐ สื่อ สังคม และระบบกฎหมาย’ ในวันที่ 29 สิงหาคม 2566 จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วยหลากหลายหัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจ และท้าทายต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะคำถามถึงนิยามของ ‘สันติวิธี’ และ ‘ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง’ ที่ยังมีเส้นแบ่งอันพร่าเลือน
สันติวิธีในทางปฏิบัติ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง ‘สันติวิธีในทางปฏิบัติ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง’ ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความหมายของคำว่า ‘สันติวิธี’ ที่ในประเทศไทยยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความหมายแบบสากล เพราะเส้นแบ่งระหว่างสันติวิธีกับการให้น้ำหนักความรุนแรงของแต่ละคนไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ การชุมนุมโดยไร้ความรุนแรงของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาถึงจุดที่ไม่ได้รับความสนใจ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการยกระดับความเคลื่อนไหว อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกกระทำจากรัฐ กระตุ้นให้ประชาชนตอบโต้ ซึ่งคำอธิบายของแกนนำกล่าวว่า “สิ่งที่ประชาชนตอบโต้รัฐ เทียบไม่ได้กับความรุนแรงที่รัฐทำกับประชาชน” “สิ่งที่ประชาชนตอบโต้รัฐ เทียบไม่ได้กับความรุนแรงที่รัฐทำกับประชาชน”
เกิดการตั้งคำถามตามมาว่า ทำไม Nonviolent Action จึงไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผล ซึ่งรัฐค่อนข้างประสบความสำเร็จในการสร้างความชอบธรรมจากการใช้ความรุนแรง
รศ.ดร.บุญเลิศ อธิบายว่าเป็นเพราะ “รัฐปราบปรามอย่างชาญฉลาดมากขึ้น ขบวนการเคลื่อนไหวจึงมีแนวโน้มที่จะสำเร็จน้อยลง”
นอกจากนี้ รศ.ดร.บุญเลิศ ยังกล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของขบวนการ กล่าวคือ ต้องมีการระดมผู้เข้าร่วมให้มากและหลากหลาย เปลี่ยนความภักดีของผู้ที่เคยค้ำยันระบอบเก่า ใช้แทคติกที่หลากหลายขึ้น ไม่ใช่แค่การชุมนุม และต้องมีวินัยและความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญหน้ากับการปราบปราม
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.บุญเลิศ ได้สรุปว่า การต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรง มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการเคลื่อนไหวที่ใช้ความรุนแรง หรือมีความรุนแรงร่วมด้วย อีกทั้งการเคลื่อนไหวแนวทางไม่ใช้ความรุนแรง หรือการต่อต้านอย่างอารยะจะไม่สร้างบาดแผลสังคมให้ร้าวลึกมากไปกว่าเดิม
เสนอความเห็น
อาจารย์ ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความเห็นและตั้งคำถามต่อการนำเสนองานวิจัยชิ้นนี้ว่า การใช้คำว่า ‘สันติวิธี’ ในทางปฏิบัติ เป็นเพียงหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการเคลื่อนไหวหรือไม่ ที่มองว่าปฏิบัติการของขบวนการเคลื่อนไหวถ้ายึดอยู่ในแนวทางของการไม่ใช้ความรุนแรงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า
ในงานชิ้นนี้มองว่ากระบวนการเคลื่อนไหวที่ตั้งต้นด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง แล้วไต่เส้นสันติวิธีเพื่อยกระดับความเคลื่อนไหว แต่ถ้าดูจากปรากฏการณ์ที่ผ่านมาที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา จริงอยู่ว่าไม่มีกระบวนการไหนที่เริ่มจากการใช้ความรุนแรง แต่จะเรียกว่าเป็นขบวนการสันติวิธีหรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับว่ามีการจัดตั้งที่มีผู้เข้าร่วมมุ่งมั่นกับแนวทางไม่ใช้ความรุนแรง และต้องไม่ตอบโต้กับรัฐที่ใช้ความรุนแรง
อ.ดร.เบญจรัตน์ ระบุด้วยว่า ขบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดตั้งแบบมุ่งมั่นขนาดนั้น รวมถึงมีบริบทที่หลากหลายเป็นอย่างมาก เช่น ในบางช่วงมีการเคลื่อนไหวโดยไม่มีแกนนำ การเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดทิศทางของขบวนการอย่างชัดเจนว่าจะต้องเป็นกระบวนการที่ไม่ใช้ความรุนแรงตั้งแต่ต้น
ความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐในสังคมไทย: แบบแผน วิธีคิด และการให้ความชอบธรรม (พ.ศ. 2548-2566)
งานวิจัย ‘ความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐในสังคมไทย: แบบแผน วิธีคิด และการให้ความชอบธรรม (พ.ศ. 2548-2566)’ ชิ้นนี้ของ รองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นจากการตั้งคำถามถึงแบบแผนความรุนแรงของรัฐ ในความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติ ตั้งแต่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถึงความขัดแย้งในปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) มีลักษณะอย่างไร และอะไรคือวิธีคิดของผู้กำหนดนโยบายรัฐในห้วงเวลาที่เผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางการเมือง
“ความรุนแรงโดยรัฐครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” รศ.ดร.ประจักษ์ ให้ข้อสังเกตทั้งในแง่ของสถิติผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ซึ่งมีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เนื่องจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ขณะนั้นใช้กองทัพทหารเป็นกำลังหลักในการควบคุมการชุมนุม
งานวิจัยนำเสนอปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงโดยรัฐในประเทศไทย ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ลักษณะของระบอบการเมืองในขณะนั้น และมุมมองของรัฐต่อผู้ชุมนุม นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยรอง คือ ‘อารมณ์’ หรือทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมโดยตรง แต่ยังไม่ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกับวิธีคิดของผู้กำหนดนโยบายรัฐในการใช้ความรุนแรง
รศ.ดร.ประจักษ์ ได้สรุปไว้ว่ารัฐที่ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามนับว่ามีความบกพร่องต่อระบอบประชาธิปไตย และเป็นรัฐกึ่งเผด็จการ ทั้งนี้ การมีนโยบายปราบปรามโดยใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่แล้วจะเป็นรัฐบาลที่มีความเกี่ยวพันกันกับกองทัพ เช่น รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เสนอความเห็น
รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้มุมมองว่า คำอธิบายที่ว่ารัฐที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม เพราะเป็นรัฐกึ่งเผด็จการ อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่เป็นที่วิธีคิดแบบรัฐทหาร ที่ถูกครอบงำโดยอุดมการณ์ชาตินิยม และการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะกำหนดว่าใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู
นอกจากนี้อีกคำที่ค่อนข้างตรงคือ ‘รัฐเสนานุภาพ’ ที่มองอำนาจของทหารในเชิงระบบที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน ซึ่งในบางช่วงเวลาอาจใช้อำนาจอยู่เบื้องหลัง กดดัน บังคับทิศทางรัฐบาลพลเรือน หรือในบางช่วงเวลาอาจมาในรูปแบบของการยึดอำนาจ ก่อนจะส่งต่อให้รัฐบาลพลเรือน รวมถึงบางช่วงเวลาที่ทหารขึ้นมาเป็นผู้ปกครองและใช้อำนาจกดปราบประชาชนด้วยตนเอง
การรายงานข่าวการประท้วง: บทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง
การนำเสนองานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ‘การรายงานข่าวการประท้วง: บทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง’ ให้ความสำคัญกับการตั้งคำถาม 2 ข้อด้วยกัน คือ แนวทางการรายงานข่าวการชุมนุมที่อาจสร้างความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรง และแนวทางที่จะลดเชื่อนไขในการใช้ความรุนแรง และอีกคำถามคือปัจจัยที่มีผลต่อการรายงานการชุมนุมคืออะไร
ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวว่า บทบาทของสื่อมวลชนขึ้นอยู่กับลักษณะของการชุมนุม ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างบทบาทของสื่อที่รายงานเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ม็อบพันธมิตร ม็อบ กปปส. กับการรายงานการชุมนุมของนปช. และคณะราษฎร 2563
ทั้งนี้ การรายงานของสื่อในการชุมนุมเหตุการณ์พฤษภา-พันธมิตร-กปปส. สื่อแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ‘สื่อต้องต่อสู้กับเผด็จการ และต้องอยู่ข้างประชาชน’ สื่อกระแสหลักสร้างอำนาจต่อรองให้ผู้ชุมนุม เป็นส่วนหนึ่งในการลดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ขณะที่การชุมนุมของ นปช. และคณะราษฎร 2563 สื่อพยายามเน้นย้ำว่า ‘สื่อต้องเป็นกลาง’ โดยนำเสนอว่ามีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้อง จึงต้องฟังเสียงทุกฝ่าย และอำนาจต่อรองของผู้ชุมนุมมักมาจากการรายงานของสื่อออนไลน์ สื่อขนาดเล็ก และสื่อพลเมือง มากกว่าสื่อกระแสหลัก
“สื่อมวลชนมักอ้างเรื่องเสรีภาพสื่อ ซึ่งสิทธิการชุมนุมก็เป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอยู่บนฐานคิดเดียวกัน ถ้าทำความเข้าใจตรงนี้ได้จะได้มองเห็นภาพการชุมนุมในรูปแบบอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป และต้องพยายามชี้ให้เห็นเจตจำนงของผู้ชุมนุมด้วย”
อย่างไรก็ตาม สื่อหลักยังคงมีการรายงานตามขนบ แต่การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ภายใต้การพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้การรายงานข่าวการชุมุมทางการเมืองค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไป
เสนอความเห็น
วศินี พบูประภาพ ได้ให้ความเห็นในฐานะสื่อ ซึ่งเห็นว่าสื่อมวลชนกระแสหลักมักจะรายงานในสิ่งที่เป็นสถาบันเป็นหลัก จะแสวงหาความเป็นสถาบัน รายงานจากแกนนำการชุมนุม ซึ่งเป็นการรายงานตามขนบเดิม
การเกิดขึ้นของสื่อพลเมือง ยังเป็นที่ถกเถียงว่า เขาเหล่านี้เป็น ‘สื่อ’ หรือ ‘พลเมือง’ กันแน่ อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของสื่อพลเมือง ก็ทำให้สื่อหลักตั้งคำถามว่าตัวเองทำหน้าที่สื่อได้ดีพอหรือยัง ฉะนั้นเมื่อเกิดประเด็นที่สื่อหลักไม่กล้ารายงาน แต่ถูกนำเสนอผ่านสื่อพลเมือง ก็ผลักดันไปสู่การนำเสนอของสื่อออนไลน์ กระทั่งสร้างแรงกดดันให้สื่อหลักต้องนำเสนอตาม
รองศาสตราจารย์ รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า สื่อไม่ทำหน้าที่อย่างจริงจัง โดยปัจจัยที่ทำให้สื่อไม่สามารถนำเสนออย่างตรงไปตรงมาได้ คือ เป้าหมายของสื่อที่ต้องคำนึงถึงแหล่งทุนและรายได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องกติกาของแพลตฟอร์มปัจจุบันที่ต้องคำนึงถึงความรวดเร็วในการนำเสนอ จึงทำให้ไปไม่ถึงรากของปัญหา ความพยายามในการนำเสนอข่าวด้วยความรวดเร็วส่งผลไปถึงเนื้อหาของสื่อที่ไม่สามารถลงลึกได้ และผิดพลาดได้ง่าย
นอกจากนี้ รัฐยังพยายามสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงผ่านการแถลงข่าว อาศัยการแถลงข่าวตลอดเวลา สื่อมวลชนเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำข่าวแถลงของภาครัฐได้ เหมือนกับเป็นการยื้อแย่งทรัพยากรสื่อมวลชนในการทำข่าว จนเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของรัฐได้
วิสามัญมรณะ ปฏิบัติการของระบบกฎหมาย และการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ
ปมประเด็นหลักของงานวิจัยเรื่อง ‘วิสามัญมรณะ ปฏิบัติการของระบบกฎหมาย และการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ’ ของ รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มจากมุมมองที่ว่า งานศึกษาหรือความสนใจต่อความรุนแรงของรัฐชนิดที่ทำให้บุคคลถึงแก่ความตาย มักให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ขนาดใหญ่ มีความเกี่ยวพันกับปมขัดแย้งทางการเมือง หรือนโยบายสำคัญของรัฐบาล แต่งานวิจัยชิ้นนี้ให้ความสำคัญกับการตายของสามัญชนที่เกี่ยวพันกับรัฐ แต่เป็นความตายของสามัญชนในห้วงเวลาของชีวิตประจำวัน ไม่มีความเกี่ยวโยงกับนโยบายการเมืองโดยตรง อีกนัยหนึ่งชวนให้พิจารณาถึงการตายที่แฝงอยู่ในสถานการณ์ที่อยู่ในสภาวะอันเป็นปกติ
รศ.สมชาย กล่าวว่า ‘ความตายที่เงียบงัน’ ทำให้เห็นรูปร่างหน้าตาของรัฐไทยได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เพราะเกิดในสภาวะปกติ ไม่เกี่ยวพันกับนโยบายโดยตรงในช่วงจังหวะเวลานั้นๆ และไม่มีการสูญเสียที่เป็นขนานใหญ่ ทั้งหมดดำเนินไปภายใต้ ‘กระบวนการอันเป็นปกติ’ การตายในลักษณะนี้เป็นการตายที่เงียบงัน ไม่มีการรวบรวม ไม่มีการจำแนก ไม่มีการรำลึก และไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นปัญหา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผู้สูญเสียต้องลุกขึ้นมาต่อสู้
“คนที่สูญเสีย ทำให้เขาตัดสินใจว่าต้องลุกขึ้นสู้ ซึ่งการสู้ของเขาเป็นการสู้ตามกระบวนการของรัฐ”
ปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ คือ มีโครงสร้างที่สนับสนุนและเอื้อให้ความรุนแรงของรัฐกระทำต่อประชาชนในสภาวการณ์ปกติได้
เสนอความเห็น
ศาสตรจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงงานวิจัยของ รศ.สมชาย ที่ทำให้ได้เห็นอำนาจที่คลุมครอบสังคมไทยเอาไว้ คณะเดียวกันก็เห็นการต่อสู้อย่างสุดหัวใจกับอำนาจนั้นเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดคือแรงปรารถนาของความต้องการความเป็นธรรม
ความเจ็บปวดของคนที่สูญเสียผู้เป็นที่รัก อันกลายมาเป็นแรงผลักดันให้ลุกขึ้นสู้กับความไม่เป็นธรรม มีเพียง ‘ความเป็นธรรม’ ที่เป็นเป็นธรรมจริงๆ จะเป็นสิ่งเยียวยาความรู้สึกปวดร้าวของการสูญเสียที่เกิดขึ้น
ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวอีกด้วยว่า ในงานวิจัยชิ้นนี้เลือกหยิบยกการต่อสู้ของคนธรรมดากับการคลุมครอบของอำนาจ และยังแสดงให้เห็นอีกว่าเรายังพอมีหวังกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใต้การคลุมครอบของอำนาจที่หนักหน่วง