อกหัก แฟนทิ้ง ผัวตาย ตกงาน สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ฯลฯ
สารพัดสถานการณ์อันเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นกับใครสักคนบนโลกใบใหญ่ จนทำให้ต้องเก็บความผิดหวัง ความเศร้า เครียด กดดัน เคว้งคว้าง เอาไว้ในใจ สะสมขึ้นมาจนค่อยๆ ก่อตัวเป็นภูเขาสูงหนักอึ้ง และเกิดเป็นความรู้สึกจมดิ่ง ไม่มีใครเข้าใจ มืดแปดด้าน เอาแต่ตั้งคำถามว่าทำไม ทำไม ทำไมชีวิตมันช่างห่วยเช่นนี้
ย้อนไป 4-5 ปีก่อน สถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยอาจไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจมากนัก โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องไกลตัวและเข้าใจยาก แต่วันนี้ หากคุณสำรวจวงโคจรรอบชีวิตตัวเอง คุณจะพบกับเพื่อน เพื่อนของเพื่อน ญาติมิตร คนรู้จักห่างๆ หรือใครสักคนรอบตัวคุณกำลังเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบาก โรคนี้ขยับใกล้ชิดเราเข้ามาทุกที
ปี 2018 ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และมีเพียง 1 ใน 10 ที่สามารถเข้าถึงบริการการรักษา
‘Deconstruct Depression มองโรคซึมเศร้าในมุมใหม่’ วงเสวนาที่ชวนเปิดพื้นที่สำรวจทางเลือกอื่นๆ ในการรักษาโรคซึมเศร้า ช่วยเปิดตาให้เรามองกว้างขึ้น ชวนกันมาทำความเข้าใจทางเลือกใหม่ในการรักษา รองรับในความเป็นปัจเจกของมนุษย์มากขึ้น วงเสวนาถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ณ วัชรสิทธา โดยมี เอก-สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาผู้เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาภายใต้ชื่อว่า Knowing Mind บริการมิตรสหายผู้มีปัญหาด้านจิตใจมาเกือบ 3 ปี เป็นวิทยากรหลักประจำวงเสวนา
“หลายๆ ครั้งเรามักจะมีคำตอบสำเร็จรูปให้กับทุกปัญหา ไม่เว้นแม้แต่เรื่องโรคซึมเศร้าที่มีสาเหตุจากหลายมิติ หากคำว่าโรคซึมเศร้าเป็นคำที่เราใช้เรียกแทนความทุกข์ ปัจจุบันเราใช้การกิน ‘ยา’ เป็นคำตอบของการรักษาโรคซึมเศร้า จนเราหลงลืมต้นตอที่มาที่ไปของความทุกข์ที่เกิดขึ้น” สมภพชวนเปิดประเด็น
จุดมุ่งหมายของวงเสวนาในครั้งนี้คือการพาไปถอดรื้อมายาคติโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจชวนให้รู้สึกสับสน มึนงง และเกิดความสงสัย หากเราไม่ได้พูดถึงปรากฏการณ์ของโรคซึมเศร้าในเชิงการแพทย์หรือสารเคมีในสมอง แล้วมันคืออะไร?
ประวัติศาสตร์ซึมเศร้า
“โรคซึมเศร้าถือว่าเป็นโรคที่มีอายุน้อย เนื่องจากเพิ่งมีเกณฑ์วินิจฉัยอย่างเป็นระบบระเบียบได้ไม่นาน ประมาณ 40 ปีที่แล้ว” สมภพอธิบายถึงประวัติศาสตร์ของโรคซึมเศร้า
นอกจากระยะเวลาที่บ่งบอกว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคเก่าแก่ ยังมีอีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่น่ากังวล นั่นคือวิธีการวินิจฉัยที่ ‘แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย’
เมื่อพูดถึงการวินิจฉัยว่าใครป่วยไม่ป่วย เราจำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานสมการในการเกิดโรคก่อน “ในการ detect ว่าใครจะเป็นโรคหรือไม่ เรามักดูกันที่ ‘อาการ’ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ แพทย์จะสำรวจและนำอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมากองรวมกัน แล้วเคาะออกมาเป็นข้อสรุป เพื่อกำหนดว่าอาการแบบไหนเข้าข่ายการเจ็บป่วยเป็นโรคซึมเศร้าบ้าง”
DSM (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) คือ หลักเกณฑ์ 9 ประการทางการแพทย์ที่ใช้ประเมินอาการพื้นฐานในการเกิดโรคซึมเศร้า
- เศร้า ท้อแท้ ซึมตลอดวัน เบื่อไม่อยากทำอะไร ในระดับที่ไม่มีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรกได้
- ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง เฉยชา ว่างเปล่า หมดความสนใจกับสิ่งที่เคยชอบทำ อยากอยู่เฉยๆ ไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น
- ไม่อยากอาหารหรืออยากกินมาก และมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัวมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 1 เดือน
- หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ นอนมากหรือนอนน้อยเกินไป
- เชื่องช้า ไม่มีสมาธิทำอะไร ตัดสินใจไม่ได้ ความจำถดถอย
- ไม่นิ่ง รู้สึกกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข หรือเคลื่อนไหวช้าลงจนผิดปกติ
- อ่อนเพลีย เหนื่อย ไม่มีแรง
- ตำหนิตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า รู้สึกผิดต่อสิ่งที่ทำมากมายเกินแบบไม่มีเหตุมีผล
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย พยายามจะฆ่าตัวตาย ไม่อยากอยู่ต่อ
ผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า จะต้องมีอาการตามข้อ 1 หรือ 2 อย่างรุนแรง นานติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ร่วมกับอาการในข้อ 3-9 อย่างน้อย 5 อาการ
คำถามคือ ใครเป็นผู้กำหนดเส้นแบ่งในการบอกว่าใคร ‘เป็น’ หรือ ‘ไม่เป็น’ โรคซึมเศร้า
หากคุณสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือแค่คุณเครียดจากกองงานตรงหน้า คุณสำรวจตัวเองแล้วพบว่ามีอาการทั้งหมดดังกล่าว นั่นแปลว่าคุณกำลังเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ หรือถ้าคุณมีอาการเพียง 3 ใน 9 อย่างนี้ คุณเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไหม ใครเป็นคนอนุญาตให้เราเศร้านานแค่ 2 สัปดาห์?
แน่นอนว่า DSM คือแบบประเมินที่มีประโยชน์ เพราะช่วยตรวจสอบว่าใครป่วยหรือไม่ป่วย แต่ถ้าคำวินิจฉัยทางการแพทย์นั้นละทิ้งการพิจารณาบริบทบางอย่างไป อาจทำให้ผลลัพธ์กลับหัวกลับหาง
สมภพยกตัวอย่าง ในกรณีต่างประเทศมีการแบ่งโรคซึมเศร้าเป็นระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับอ่อน ระดับปานกลาง และระดับรุนแรง
“ในเมืองนอก ถ้าคุณถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าในระดับอ่อน-ปานกลาง คุณรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา คุณเพียงไปหาคนคุย ไปออกกำลังกาย ไปทำกิจกรรม ไปเจอนักจิตบำบัด หาทางจัดการปัญหาผ่านการ consult หรือวิธีอื่นๆ สอดคล้องกับงานวิจัยที่บอกว่ายาจะทำงานได้ผลดีกว่ากับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในระดับรุนแรง”
หนทางสู่การจัดการกับความเศร้า
ไม่ปฏิเสธว่า ในทางการแพทย์โรคซึมเศร้าเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ในทัศนะของสมภพ จุดมุ่งหมายของเกณฑ์ DSM จึงโฟกัสไปยังลักษณะอาการที่แสดงออกมา โดยขาดการพิจารณาถึงแหล่งที่มา ต้นตอ และสาเหตุของอาการที่แท้จริง
การบำบัดเยียวยาโรคซึมเศร้าทางการแพทย์ในประเทศไทย กว่าร้อยละ 99 จึงกลายเป็นเรื่องของการจ่ายยา ไม่ว่าคุณจะป่วยในระดับไหนก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาในประเทศไทยมีจำนวนน้อยและกระจุกตัว
ผลลัพธ์และความเป็นไปได้จึงแบ่งออกได้เป็น 3 ทาง คือ หนึ่ง-เมื่อผู้ป่วยได้รับยาแล้วดีขึ้น สอง-เมื่อผู้ป่วยได้รับยาแล้วดีขึ้น แต่ก็กลับมาเป็นอีก สาม-เมื่อผู้ป่วยได้รับยา แต่อาการไม่ดีขึ้นเลย
“ที่เป็นแบบนี้ เพราะโรคในทางจิตเวช เราไม่มีเครื่องมือตรวจวัดอาการที่แม่นยำเหมือนโรคทางกาย โรคซึมเศร้าในทางจิตเวชจึงเปรียบเสมือน common cold หรือ ‘การเป็นหวัด’ อาการของโรคหวัดมาได้จากหลายสาเหตุ เช่น พักผ่อนไม่พอ ตากฝน ติดเชื้อไวรัส เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้ามีที่ปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดโรค เช่น เกิดจากความสัมพันธ์ที่พัง เครียดจากงาน โรคเดียวกันแต่สาเหตุต่างกัน” สมภพบอก
ในเมื่อมุมมองทางการแพทย์ โรคซึมเศร้าตั้งบนอยู่สมมุติฐาน ‘จิตเป็นกาย’ วิธีการรักษาจึงหวังผลทำให้อาการผิดปกตินั้น ‘ดีขึ้น’ โดยใช้วิธีกินยา แต่การสรุปเหมารวมสาเหตุของโรคเป็นหนึ่งเดียวเช่นนี้ อาจเป็นปัญหาได้ในอนาคต
“ถ้าคุณคุยกับนักจิตวิทยา นักจิตวิทยาอาจจะบอกว่าสาเหตุของโรคซึมเศร้าคือเรื่องจากปมบาดแผลในชีวิตวัยเด็ก
“ถ้าเราปักธงเชื่อว่าโรคเกิดจากสารเคมีโดยละทิ้งเรื่องจิตใจ เราก็จะกินยาตามหมอสั่งเพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกัน ถ้าเราเชื่อว่ามันมาจากจิตใจ เราก็จะละทิ้งเรื่องร่างกาย เราจะเอาเปลี่ยนแต่วิธีคิด และบอกให้ทุกคนคิดบวก หรือถ้าเราเชื่อว่ามันเกิดจากสิ่งแวดล้อมข้างนอก เราก็จะตั้งหน้าตั้งตาเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนสถานที่ทำงาน ย้ายบ้าน เปลี่ยนคนรักไปเรื่อยๆ”
เพราะไม่มีหนทางไหน แก้ไขได้ดีที่สุด มีแต่หนทางที่เหมาะกับแต่ละบุคคลและแต่ละสถานการณ์ สมภพจึงมองว่า ยิ่งเราพิจารณามองเห็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้ามากเท่าไร จะยิ่งทำให้เรามองเห็นโอกาสในการรับมือกับโรคได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมองให้ทั่วถึงและรอบด้าน ทั่วทั้งระบบนิเวศ Biopsychosocial (ร่างกาย จิตใจ และสังคม)
ยาต้านเศร้า คือ ที่พึ่งทางใจ
ในปี 2018 วารสารการแพทย์ The Lancet ได้เผยแพร่งานวิจัยที่นำทีมโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวถึงข้อถกเถียงอันยาวนานเกี่ยวกับยารักษาอาการซึมเศร้า ว่ายาเหล่านี้ทำงานได้จริงหรือไม่ โดยผลการศึกษาข้อมูลจากการทดลอง 522 ครั้ง มีผู้ร่วมทดสอบถึง 116,477 คน พบว่า ยารักษาอาการซึมเศร้า ที่ใช้กันทั่วไปจำนวน 21 ชนิด ล้วนมีประสิทธิภาพในการลดอาการซึมเศร้าเฉียบพลันได้ดีกว่ายาหลอก (placebo)
แอนเดรีย ซิปริอานี (Andrea Cipriani) หัวหน้าทีมวิจัย ยืนยันว่า “การใช้ยารักษาอาการซึมเศร้าควรถูกพิจารณาควบคู่ไปกับวิธีรักษาชนิดอื่นๆ เช่น การบำบัดทางจิตวิทยา” แสดงให้เห็นว่ายารักษาอาการซึมเศร้าไม่ใช่ตัวเลือกอันดับแรกในการรักษา เพราะแพทย์จะต้องประเมินตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคนที่แตกต่างกัน
สมภพจึงเปรียบเทียบว่า บางครั้งยารักษาอาการซึมเศร้าเป็นเสมือนน้ำมนต์ ถ้าพูดในเชิงวิทยาศาสตร์ น้ำมนต์อาจจะไม่ได้มีสารออกฤทธิ์ใดๆ ที่เข้าไปทำปฏิกิริยากับร่างกายแล้วทำให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่ที่เรากลับรู้สึกดีเป็นเพราะความเชื่อส่วนตัว
แสดงให้เห็นว่า ‘ผลลัพธ์จากการให้ยา’ ไม่เท่ากับ ‘ประสิทธิภาพของยา’ กล่าวคือ เมื่อคุณป่วย คุณกินยาแล้วรู้ดีขึ้น ถือเป็นการตอบสนองที่ไม่จำเป็นต้องมาจากตัวยาทั้งหมดเสียทีเดียว ผลสัมฤทธิ์สุดท้ายของยาต้านเศร้าอาจได้ประสิทธิผลประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ อีก 25 เปอร์เซ็นต์ คือการดีขึ้นเองตามธรรมชาติ และอีก 50 เปอร์เซ็นต์ คือการตอบสนองทางใจจากการได้รับยา
เมื่อรู้ความต้องการ อาจช่วยถอนรากความเศร้าได้
อีกมุมมองหนึ่ง สมภพชวนตั้งคำถามต่อว่า “ทำไมในผู้ป่วยบางคนที่ได้รับยาต้านซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีอาการวนมาเหมือนเดิม” ความไม่คงที่ดังกล่าวเป็นเพราะสุดท้ายแล้วเขายังไม่ได้เข้าไปจัดการแก้ปัญหาที่เป็นจุดตั้งต้นของโรคหรือเปล่า
“วันนี้ผมว่าเราอาจจะต้องแยกคำว่า ‘อาการดีขึ้น’ กับ ‘แก้ปัญหา’ ออกจากกันก่อน เวลาคุณไปหาหมอ หมออาจจะถามว่าคุณอาการดีขึ้นหรือยัง แต่ไม่ได้ถามว่าที่คุณทะเลาะกับพ่อเป็นอย่างไร ที่คุณเครียดเรื่องงานคลี่คลายหรือยัง
“สมมุติฐานสำหรับผมคนที่เป็นโรคซึมเศร้าคือคนที่สูญเสียอะไรบางอย่าง เขาคือคนที่มีชีวิตไม่เป็นแบบที่ตัวเองต้องการ และไม่สามารถจัดการความต้องการนั้นได้” สมภพบอก
สอดคล้องกับทฤษฎีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่อธิบายเรื่องปมความขัดแย้งในจิตใจ โดยเห็นว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากความรู้สึกสูญเสียทั้งในเชิงรูปธรรมกับนามธรรม ทางรูปธรรมอาจหมายถึงการเลิกกับแฟน สูญเสียคนรัก งาน เพื่อน หรือโดนหลอก นามธรรมคือการที่เขารู้สึกสูญเสียตัวตนหรือคุณค่าบางอย่างในตัวเองไป ซึ่งความรู้สึกในมิตินามธรรมเป็นสิ่งที่จัดการและทำความเข้าใจได้ยากกว่า
สมภพอธิบายต่อว่า โครงสร้างพื้นฐานของการเกิดความรู้สึกของมนุษย์คือความต้องการที่มาจาก 3 ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ ซึ่งความต้องการเหล่านี้ หากเราไม่เข้าใจและจัดการได้ไม่ดีพอ สุดท้ายมันจะปรากฏออกมาเป็นอาการต่างๆ เหมือนลักษณะ 9 อย่างที่ทางการแพทย์ใช้ประเมินในการเกิดโรคซึมเศร้า
ดังนั้น ถ้าเราสวมแว่นตาแห่งการแก้ไขปัญหาจ้องมองไปที่ทางออก เราจะพบว่า การกินยาต้านซึมเศร้า อาจเป็นเพียงการแก้ไขอาการทางภายนอกของผู้ป่วยเท่านั้น เพราะลึกๆ แล้ว ความต้องการภายในจิตใจและจิตวิญญาณยังคงอยู่และยังไม่ถูกจัดการ เช่น คุณเครียด คุณป่วย เพราะคุณทำงานที่ไม่ได้ตอบความต้องการในจิตใจของคุณ คุณอยากทำงานที่ทำให้ตัวเองมีคุณค่า คุณไปพบหมอ หมอบอกว่าคุณเข้าข่ายโรคซึมเศร้า คุณได้รับยาแล้วอาการดีขึ้น คุณไม่เครียดแล้ว แต่ความต้องการของคุณไม่ได้ถูกแก้ไข
“ถ้าเราอยากเข้าใจโรค จุดแรกที่เราควรกระโดดลงไปทำความเข้าใจและจัดการกับมันคือ ความต้องการภายในที่แท้จริง” สมภพบอก
“ในทางการแพทย์ ถ้าคุณมีอาการครบตามเกณฑ์ 9 ข้อ คุณอาจเป็นโรคซึมเศร้า แต่ในความเห็นของผม สุดท้ายแล้วคุณอาจจะเป็นคนที่มีปัญหา มีความทุกข์ เพราะความต้องการของคุณยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่านั้น หน้าที่ของผมคือตั้งรับและคอยรับ ‘ฟัง’ ช่วยแงะปัญหาและแกะรอยดูว่าอันที่จริงแล้วมิตรสหายที่เดินเข้ามาพร้อมความหนักอึ้งในจิตใจมีความต้องการอย่างไร และทำให้เห็นรากของปัญหาทางจิตใจอย่างแท้จริง” สมภพทิ้งท้ายไว้
ขอบคุณภาพจาก: วัชรสิทธา • vajrasiddha |
สนับสนุนโดย