สร้างความหวาดกลัว: เครื่องมือใหม่ปิดปากสื่อ?

กลางดึกของคืนวันที่ 27 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศข้อกำหนดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ที่ได้มีการเพิ่มข้อกำหนดที่ 11 เกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวแก่ประชาชนและกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ จะมีความผิดตามมาตรา 9 (3) วงการสื่อสารมวลชนหลายภาคส่วนจึงเกิดความไม่สบายใจและแสดงความเป็นห่วงในการนำเสนอข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อประชาชน แม้ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงก็ตาม

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทาง Dem All (สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย) ได้จัดรายการเสวนาในหัวข้อ ‘สร้างความหวาดกลัว: เครื่องมือใหม่ปิดปากสื่อ?’

ดำเนินรายการโดย ประภาวี เหมทัศน์, เอื้อบุญ จงสมชัย และ โชติรส นาคสุทธิ์ ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ อดีตบรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่น และอดีตคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์มติชน, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดโครงการ iLaw, พีรภัทร์ เกื้อวงศ์ ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ สันติวิธี พรหมบุตร ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวไทย อสมท

เมื่อรัฐยกระดับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขยายขอบเขตอำนาจ

ยิ่งชีพกล่าวในตอนต้นรายการว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่ใช้ในภาวะสงคราม ซึ่งในมาตรา 9 ระบุไว้ว่า “ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้รัฐมีอำนาจออกข้อกำหนดเพิ่มเติมภายใต้มาตรา 9” หากต้องทำความเข้าใจกับข้อกำหนดที่ออกมาในแต่ละครั้ง เราจำเป็นต้องเปรียบเทียบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับแรกมาจนถึงฉบับล่าสุด ซึ่งพบข้อความสำคัญนอกเหนือจากประเด็นการออกนอกเคหสถาน หรือการเปิด-ปิดห้างร้านต่างๆ 

“พอนั่งอ่านดูก็พบว่า มีข้อ 11 ที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวสาร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีมาตรการทำนองนี้ออกมาแค่ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 กับฉบับที่ 27 ล่าสุด โดยฉบับที่ 1 เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า สิ่งที่จะเป็นความผิดก็คือ การทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง แต่ฉบับที่ 27 มีการตัดคำว่า ‘ไม่เป็นความจริง’ ออก เหลือแค่ว่า ห้ามเผยแพร่ข้อความที่ทำให้เป็นประชาชนหวาดกลัว” ยิ่งชีพได้ตั้งข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นถึงการออกข้อกำหนดล่าสุดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

“ถ้าหากเขา (รัฐบาล) รู้สึกว่า ฉบับที่ 1 มันเขียนมาโอเคแล้ว เขาก็คงไม่ต้องแตะเรื่องนี้ แต่การที่เขามีข้อ 11 ออกมาในฉบับที่ 27 แปลว่า เขาไม่แฮปปี้กับมาตรการเรื่องข้อมูลข่าวสารอันเดิมที่มีอยู่ ทีนี้เมื่อดูเทียบกัน 2 ฉบับแล้ว ตรงนี้ก็ชัดเจนว่า เขาตั้งใจตัดคำว่า ‘ไม่เป็นความจริง’ ออกไป ก็แปลว่า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ เอาเป็นว่าถ้าประชาชนเกิดความหวาดกลัว ก็สามารถดำเนินคดีได้” 

ยิ่งชีพแสดงความคิดเห็นว่า การออกข้อกำหนดดังกล่าวอาจจะถูกนำมาใช้กับสื่อบางสำนัก ทางภาครัฐเองคงไม่ได้มุ่งจะจับประชาชนนับพันหรือนับหมื่นคน หรือต้องการปิดปากสื่อขนาดนั้น แต่รัฐอาจต้องการทำให้กฎหมายเข้มข้นขึ้น และเป็นไปได้ว่าภาครัฐเองก็อยากจะใช้เครื่องมือนี้

‘ความเบลอ’ ในการกำหนดขอบเขต ‘ความกลัว’

พีรภัทร์กล่าวถึงการกำหนดขอบเขตข้อกำหนดที่ 11 ที่กว้างจนเกินไปในการพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่เข้าข่ายสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชน และกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

“การกำหนดขอบเขตของตัวข้อกำหนดกว้างในการตีความว่า สิ่งไหนคือข้อมูลที่ทำให้เกิดความกลัว เพราะว่าทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารปัจจุบันที่นำเสนอออกมามันเป็นข้อมูลที่เรารับรู้แล้วเกิดความหวาดกลัวจริงๆ แสดงว่าสถานการณ์ในประเทศมันค่อนข้างจะเลวร้าย ปัญหาคือ มันไม่เสนอไม่ได้ มันเป็น fact ที่เราควรจะรู้ไว้ มันเป็นเรื่องสิทธิของประชาชน”

อีกทั้งยังเสริมต่อจากประโยคข้างต้นว่า มีคีย์เวิร์ดหนึ่งที่กว้างครอบจักรวาล คือ ข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ภาครัฐไม่เคยออกมากำหนดอย่างชัดเจนว่า แบบใดจึงจะเข้าข่ายกระทบ กลายเป็นว่าต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน หากมีใครถูกดำเนินคดีขึ้นมา จะสู้คดีกันอย่างไร 

ที่มา: www.ratchakitcha.soc.go.th

ความจริงปะทะกับกฎหมาย ท้ายที่สุดต้องเลือก ‘ความจริง’

สันติวิธีได้บอกเล่าเรื่องราวต่อจากประเด็นที่ยิ่งชีพได้กล่าวถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าเป็นกฎหมายที่ใช้ในภาวะสงคราม ซึ่งจากประสบการณ์ของเขาเคยเผชิญกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 16 ปีก่อน ช่วงนั้นเองเขาได้ประสบเหตุการณ์คล้ายคลึงกับในปัจจุบัน คือเหตุการณ์ ‘ปิดเมืองยะลา’ รัฐบาลจึงต้องออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บังคับใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยมีข้อกำหนดที่ระบุข้อความในทำนองเดียวกันกับข้อกำหนดที่ 11 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อการรายงานข่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าความกลัวที่มาจากการรายงานข่าวนั้นจะเป็นข้อเท็จจริงก็ตาม

“ตอนนั้นมีความกังวล เพราะข่าว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ขณะนั้นมันสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนอยู่แล้ว แล้วอย่างนี้จะตีความอย่างไร หลังจากมีการพูดคุยในหมู่เพื่อนผู้สื่อข่าวด้วยกัน เราก็ตัดสินใจว่า ในเมื่อข่าวมันคือความจริง การนำเสนอต่างๆ ที่เราทำ มันก็คือข้อเท็จจริงทั้งนั้น เลยตัดสินใจไม่สนใจสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วทำข่าวแบบที่เราทำต่อไป

“การที่เราตัดสินใจเดินหน้าทำข่าวต่อไป ณ ขณะนั้น เพราะเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงจะไม่กล้าดำเนินคดีกับนักข่าวด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเหตุที่เราไปเสนอความจริงแล้วมีคนมาแจ้งความว่าน่ากลัว มันคงเป็นไปไม่ได้ขนาดนั้น ก็เลยตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อ อีกอย่างช่วงนั้นก็ไม่เคยถูกท้วงติงด้วยว่า คุณทำข่าวให้เกิดความหวาดกลัว คุณทำข่าวเกินเลยไป ตอนนั้นก็เลยคิดว่า โอเค ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงไม่ทำตัวเลวร้ายถึงขนาดว่า มาไล่ตามจับกลุ่มนักข่าวด้วยการนำเสนอข่าวที่เป็นความจริง”

เมื่อรัฐเข้าตาจน การบีบสื่อจึงเป็นอีกหนทาง

จากนั้น นิธินันท์ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า “กฎหมายพิลึกๆ แบบนี้ที่ออกมา สะท้อนภาพว่า เมื่อรัฐเข้าตาจน รัฐก็ขู่สื่อ ทำอะไรไม่ได้ก็ขู่สื่อ อย่างที่คุณสันติวิธีพูด คือถ้าเราเป็นคนทำสื่อจริงๆ เรารู้หน้าที่ของเรา เราก็ทำของเรา สมัยก่อนที่ทำข่าวใหม่ๆ เราจะอบรมกันมาแบบนี้ว่า ตายก็ตาย ติดคุกก็ติดคุก เราทำหน้าที่เรา รัฐบาลจะมาข่มขู่คุกคามก็เรื่องของเขา มันเป็นลักษณะนี้จริงๆ”

นิธินันท์แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า ที่ต้องคิดต่อจากนี้คือ เมื่อรัฐบาลอ้างว่าข้อมูลทำให้เกิดความหวาดกลัว เราต้องตั้งคำถามกลับว่า เหตุปัจจัยใดที่ทำให้กลัว ใครกลัว หรือกลัวจริงแค่ไหน

นอกจากนี้ ยังอธิบายเพิ่มเติมในแง่การรับผิดชอบของสื่อมวลชน ผู้ที่เป็นสื่อมวลชนต้องรับผิดชอบเรื่องข้อมูลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสื่อรายใหญ่หรือสื่อรายเล็กก็ตาม เว้นแต่ว่าผู้ที่เรียกว่าตนเองเป็นสื่อ แต่ไม่มีคุณสมบัติของการเป็นนักสื่อสารมวลชน ซึ่งผู้ที่สามารถเรียกตนเองว่าสื่อได้ จะต้องมีความรับผิดชอบตามหลักจริยธรรมในการทำข่าว โดยหลักการคือ ต้องไม่ทำให้สังคมตื่นตระหนก

“โดยหลักการนี้ เราก็ไม่ทำให้สังคมตื่นตระหนกบ้าบอคอแตกอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว คือสิ่งที่รัฐบาลบริหารจัดการได้มั่วมาก ทำให้ประชาชนหวาดกลัวเสียยิ่งกว่า ถ้าในความเห็นส่วนตัว ซึ่งจะบอกน้องๆ นักข่าวว่า ไม่ต้องสนใจ เสนอความจริงไปแล้วก็ยึดหลักกฎหมายนี้ อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย จากนิติศาสตร์ จุฬาฯ เคยพูดไว้ว่า กฎหมายอะไรก็ตามจะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญยังพิทักษ์สิทธิ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพอยู่ เพราะฉะนั้นจะมาห้ามไม่ให้พูดความจริง มันเป็นไปไม่ได้เลย”

ความกลัวของรัฐต่อการเผชิญหน้าความจริง

เอกพล บรรลือ จาก THE STANDARD ขยายความต่อจากนิธินันท์ ในเรื่องของสภาวะความกลัวที่รัฐกำลังเผชิญ สถานการณ์ใดที่นำพาให้รัฐเลือกที่จะใช้วิธีดำเนินการกับสื่อในลักษณะเช่นนี้ เป็นสภาวะความกลัวในรูปแบบใด เป็นความกลัวของรัฐเมื่อสื่อจะนำเสนอความจริง หรือกลัวความจริงที่ถูกนำเสนอออกไปจะสร้างความหวาดกลัวจริงๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วยังไม่สามารถจำกัดความได้ เพราะเมื่อความจริงถูกส่งออกไปแล้ว ล้วนเป็นทั้งประโยชน์ และผลเสียต่อใครก็แล้วแต่ ทว่าหากยังเป็นความจริงอยู่ นี่เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องที่จะคำนึง

นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการดำเนินคดีกับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเฟคนิวส์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง ซึ่งเอกพลมองว่า ประเด็นเฟคนิวส์เป็นความไม่จริงสำหรับมุมมองของรัฐหรือไม่ การดำเนินคดีทำนองนี้มีมากขึ้น เหตุเพราะประชาชนกำลังวิจารณ์และตั้งคำถามต่อรัฐมากขึ้นหรือไม่

“โจทย์ใหญ่อยู่ที่ว่า รัฐก็ต้องคิดในมุมกลับเหมือนกันว่า แม้จะพยายามควบคุมขนาดนี้ พยายามใช้กฎหมายขนาดนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ยังเกิดขึ้นอยู่ในแง่ของประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐ ผมคิดว่ารัฐก็ต้องทบทวน mindset ตรงนี้ด้วยเหมือนกัน”

เอกพลระบุเพิ่มเติมว่า จะมีการประชุมกันของสื่อมวลชน เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าควรนำเสนอข้อมูลในรูปแบบไหน อย่างไร เพื่อทำความเข้าใจและเป็นแนวทาง เนื่องจากที่ผ่านมา มีโอกาสได้เข้าพบคณะกรรมาธิการของสภาที่เป็นคณะกรรมาธิการด้านสื่อมวลชน เพื่อตั้งคำถามกับหน่วยงาน รวมถึงกรอบวิธีคิดว่านิยามศัพท์ หรือคำจำกัดความของสิ่งเหล่านี้คืออะไร สุดท้ายก็ไม่มีคำตอบให้

“อย่างกรณีที่เคยถูกดำเนินคดีกัน เคยสู้กันในชั้นศาล ก็ใช้กฎหมายไปก่อน แล้วไปสู้กันว่าศาลจะให้หรือไม่ให้ ปิดหรือไม่ปิดอยู่ที่ศาลแล้ว ในฐานะที่เราเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหา จะต้องไปแก้ไข แล้วสุดท้ายศาลก็ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญนั้นให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คุ้มครองสื่อ ไม่สามารถที่จะอาศัยอำนาจเหล่านี้มาปิดได้”

เอกพลเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยเจอในฐานะที่ทำสื่อออนไลน์ รวมถึงการเลือกใช้คำในการนำเสนอเหตุการณ์ซึ่งอาจดูอ่อนไหว แต่ถึงกระนั้นก็เป็นการสะท้อนภาพความเป็นจริง

“ในส่วนของสื่อออนไลน์ก็เจอเยอะ เจอหลายแบบ เจอทั้ง IO เจอทั้งวิธีการใช้กฎหมาย เจอทั้งการมากระทุ้ง หรือการมีใครมาบอกว่า คำพวกนี้ดูแล้วมันเป็นคำที่แรงไปไหม อ่อนไหว กระทบต่อสังคม ทำให้คนแตกตื่น อย่างเช่น ‘คนนอนรอความตายอยู่ที่บ้าน’ มันเป็น fact เราไปอยู่ในพื้นที่ เราไปตามดูคนที่ป่วยเป็นโควิด แล้วมันก็เกิดขึ้นจริง ซึ่งผมคิดว่า วิธีการของรัฐตอนนี้มันเป็นวิธีคิดในเชิงการควบคุมมากกว่าที่จะเปิดเผย มันกดกันมากขึ้นในมุมของผม”

การเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อ

นิธินันท์ระบุว่า จากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนสื่อมวลชนและระดับผู้บริหาร รวมถึงน้องๆ ในวงการสื่อ ยังไม่เห็นว่าจะให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากนัก ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะหลายคนต่างก็รับรู้ว่าไม่สามารถทำอะไรได้ และยังคงยึดมั่นที่จะทำหน้าที่ของตนต่อไป ไม่คิดว่าจะกระทบอะไร เนื่องจากเป็นการนำเสนอความจริง 

“สมัยก่อนที่พี่เป็นนักข่าวและเป็นบรรณาธิการข่าว โลกของสื่อมีแค่เราสู้กับรัฐ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสู้สุดชีวิตเพื่อเสรีภาพของสื่อ ถ้ารัฐมาขัดขวางเรา เราสู้เต็มที่ แต่สมัยนี้มันมีเหลือง-แดงเข้ามาด้วย มันมีประชาธิปไตย เผด็จการ รัฐประหาร เพราะฉะนั้นสื่อหลายคน โดยเฉพาะรุ่นแก่ๆ หลายคนที่เขาสนับสนุนแบบนี้ เขาอาจจะยังเชื่ออยู่ เขาสนับสนุนพวกกลุ่มนี้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลเอง เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่เห็นจะต้องไปกลัวอะไรหรือจะต้องมีปัญหาเลย แบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ ตอนแรกที่มีกฎหมายนี้ออกมา คนก็โกรธกัน แต่ก็ไม่เห็นจะต้องกระตือรือร้นหรือต่อสู้อะไรกันมากมาย อันนี้คือคุยกับสื่อระดับผู้บริหาร เขาไม่ค่อยตื่นเต้นหรือตกใจกัน”

ทางด้านพีรภัทร์แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า สื่อมีหน้าที่รายงานข่าว และข่าวก็เป็นเครื่องมือการเตือนภัย เพราะฉะนั้น อะไรที่เป็นการเตือนภัย เรื่องใดที่สังคมต้องรับรู้เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับตัว สื่อจำเป็นต้องทำหน้าที่รายงานข่าวสารเหล่านี้ออกไป

“จากการบริหารสถานการณ์โควิดที่ล้มเหลวของรัฐบาล ถ้ามีสภาวะที่มาปิดกั้นสื่อเข้าไปอีก มันจะทำให้เกิดการ uprising ขึ้นมา จากการที่ประชาชนไม่พอใจ แล้วยิ่งคุณพยายามที่จะปิดกั้นสื่อหลัก สิ่งที่ตามมาก็คือความไม่รู้ของประชาชน เพราะว่าสื่อหลักไม่ได้รายงาน ฉะนั้น การเป็นสื่อหลัก เราเน้นรายงานบนข้อเท็จจริง มีผู้พูด มีสถิติข้อมูลอ้างอิงได้ตลอด มันก็ถือว่าทำให้เราปลอดภัยจากประกาศของ ศบค. ได้ในระดับหนึ่ง เราก็ทำงานต่อไป ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของเราอยู่แล้วที่เราจำเป็นจะต้องเตือนภัยต่อสังคม

“ถามว่าทำให้เกิดความหวาดกลัว หรือทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อรัฐบาลเองหรือเปล่า กลัวในเรื่องเสถียรภาพรัฐหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของวัคซีนที่มีข่าวว่า AstraZeneca ส่งมาไม่ทัน มันก็ทำให้เกิดความหวาดกลัวแล้ว แต่เราก็ต้องรายงาน เพราะมันจะทำให้เกิดกระแสการขับเคลื่อนในเรื่องของการทวงถามเกี่ยวกับสัญญาวัคซีน ให้เขาเปิดสัญญาวัคซีนให้ได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขของคนไทยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47” 

พีรภัทร์เน้นย้ำว่า หากสื่อทำตามหน้าที่ ยึดมั่นในอุดมการณ์ และรักษาผลประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก รัฐก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากในยุคของการสื่อสารไร้พรมแดน ประชาชนจะเป็นผู้ที่คอยช่วยเฝ้าสังเกตการณ์การกระทำต่างๆ ของภาครัฐ

“เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐจัดการคนที่ทำงานอย่างสุจริต เมื่อนั้นประชาชนก็จะไม่ยอม ผมจึงไม่ชอบคำว่า ‘ห้ามนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว’ เพราะผมรู้สึกว่า แล้วขอบเขตการนิยามมันคืออะไร ซึ่งผมมองว่าอะไรก็ตามที่เราทำ เราไม่ได้ทำให้เกิดความหวาดกลัว แต่เราทำเพราะเราต้องเตือนภัยต่อสังคม แม้จะทำให้เกิดความหวาดกลัวก็ตาม แต่ปัญหาคือ ถ้าความหวาดกลัวนั้นมันนำไปสู่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนโยบายให้อะไรๆ มันดีขึ้น ผมก็พร้อมจะทำ”

ท่าทีของภาคประชาชน 

ยิ่งชีพกล่าวว่า ประชาชนนั้นตื่นตัวมาก เนื่องจากพวกเขาไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องของสื่อเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของพวกเขาด้วยเช่นเดียวกัน การออกกฎหมายเช่นนี้ เป็นการพยายามปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร จากที่ประชาชนไม่พอใจการบริหารของรัฐบาลนี้แต่เดิม การกระทำเช่นนี้จึงทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลมากยิ่งขึ้นไปอีก

นิธินันท์ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า สิ่งที่สำคัญต่อประชาชนในตอนนี้คือ การใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด การออกกฎหมายเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่สมควร และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกเลิก นอกจากนี้ ยังแสดงความกังวลในกรณีที่ประชาชนแชร์ข้อมูลข่าวสารออกไป แล้วอาจถูกกล่าวหาได้เช่นกัน

“ตอนนี้ประชาชนตกใจกลัวโควิดอย่างเดียวนะคะ ซึ่งไม่ได้เกิดเพราะสื่อ แต่เกิดเพราะรัฐบาล นโยบายที่กลับไปกลับมา น่าฉงนทุกเรื่องนะคะ ประชาชนกลัวจะตายอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลบริหารงานแย่มากนะคะ จริงๆ กฎหมายอะไรแบบนี้ สมาคมสื่อก็ควรจะออกมาเรียกร้อง เรียกร้องอย่างจริงจังให้ยกเลิกเสีย มันเหลวไหล ไร้สาระ เพราะจุดเริ่มต้นมันมาจากความเหลวไหล ไร้สาระที่จะปกปิดการกระทำของรัฐ

“ปกติแล้วสื่อไม่ได้กลัวอะไรแบบนี้ อย่างที่พูดไป ถ้าหากว่าเรามั่นใจเราทำตามหลักจริยธรรมของสื่อ และเป็นความจริง เราก็ทำ ที่น่ากลัวกว่าและเป็นกังวลแทน คือคนทั่วไป สมมุติว่าแชร์โพสต์ข่าวของสื่อไป จะโดนกล่าวหาด้วยหรือไม่ อันนี้เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง”

photo: Thai News Pix

สถาบันตุลาการต้องสร้างความเชื่อมั่น

ยิ่งชีพหวังว่า สถาบันตุลาการจะดำเนินการโดยยึดหลักของความถูกต้อง อีกทั้งยังเน้นย้ำกับสื่อว่า อย่าเพิ่งเป็นกังวล หากนำเสนอข้อมูลที่เป็นความจริงและมีการอ้างอิงโดยใช้หลักฐาน

“ผมอยากจะเรียนสื่อมวลชนทุกท่านว่า ยังไม่ต้องกังวลว่าจะติดคุกขนาดนั้น ถ้าเราต้องขึ้นศาลจริงๆ แล้วเราพิสูจน์ได้ว่าทั้งหมดทั้งปวงเป็นความจริงโดยมีหลักฐาน เราก็ทำไปตามหน้าที่ของสื่อมวลชนตามปกติ ผมคิดว่าศาลจะต้องหาช่องทางออกให้ แม้ว่าองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายมันจะไม่รัดกุมเพียงพอ แต่ศาลก็อาจจะบอกอย่างอื่น เช่น เป็นความจริงจึงไม่สามารถทำให้ใครหวาดกลัวได้”

การตีความผลกระทบต่อความมั่นคงต่อของรัฐ 

นอกจากท่อนแรกที่มีเนื้อหาห้ามไม่ให้สร้างความหวาดกลัว องค์ประกอบที่สอง ที่ระบุว่า ผู้ใดที่บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร จนกระทบต่อความมั่นคงต่อของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็จะมีความผิด ก็เป็นที่น่ากังวลเช่นเดียวกันสำหรับยิ่งชีพ 

“ถ้าอยู่ดีๆ มันมีการออกมาบอกว่า จะเอาผิดคนที่บิดเบือนข้อมูลข่าวสารให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ข้อกำหนดแบบนี้มันก็รับไม่ได้ บิดเบือนคืออะไร ถ้าคุณจะเอาผิดข้อความเท็จคุณก็เขียนไปเลยว่าคุณเอาผิดสิ่งที่ไม่เป็นความจริง บิดเบือนคือมันยังไม่ถึงกับเท็จ มันอาจจะเป็นอะไรที่จริงบางส่วน หรือจะเป็นการแสดงความคิดเห็น คือการแสดงความคิดเห็นมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เขาอาจจะไปหาว่านี่บิดเบือนหรือเปล่า ก็มันเป็นความคิดเห็นน่ะ ความคิดเห็นมันก็ถูกได้ ผิดได้

“แล้วอะไรคือความมั่นคงของรัฐ อะไรคือศีลธรรมอันดี ท่อนหลังของข้อกำหนดนี้มันน่ากลัวมาก ไม่น้อยไปกว่าท่อนแรกเลย เพียงแต่ว่าท่อนแรกมันชัดเจนมาก”

ยิ่งชีพให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อความดังกล่าวมีตั้งแต่ฉบับแรกแล้วที่มีเนื้อหาว่า ห้ามบิดเบือนที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี อย่างไรก็ตาม ในฉบับที่ 27 กลับมีการเพิ่มคำว่า “กระทบต่อความมั่นคง” เข้ามา นอกจากนี้ยังกล่าวถึงสมัยปี 2557 ที่ คสช. เข้ามายึดอำนาจในช่วงแรกๆ ซึ่งเคยมีการประกาศออกแถลงในเชิงห้ามสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. ซึ่งยิ่งชีพมองว่าโหดร้ายมาก อย่างไรก็ตาม ยิ่งชีพระบุว่า ไม่กี่วันถัดมาก็มีการออกแถลงฉบับที่ 103 มาแก้ฉบับที่ 97 มีเนื้อความว่า จะผิดก็ต่อเมื่อเป็นการวิจารณ์โดยไม่สุจริต ถ้าวิจารณ์โดยสุจริตให้ทำได้ 

ยิ่งชีพกล่าวชื่นชมแถลงการณ์ของสมาคมวิชาชีพสื่อ เนื่องจากมีมุมมองที่ดีหลายประการ และชัดเจนว่าต้องการให้รัฐทบทวนข้อกำหนดนี้ เพื่อจะได้เลิกเป็นศัตรูกับสื่อ อย่างไรก็ตาม ยิ่งชีพให้ความเห็นว่าแถลงการณ์ของสมาคมวิชาชีพสื่อยังเปิดช่องโหว่อยู่ อีกทั้งยังไม่หนักแน่นพอ จึงให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้ 

“แถลงการณ์ขององค์กรสื่ออาจจะยังอ่อนไป ก็คือมันเปิดช่อง มีการเรียกร้องว่าขอให้ทบทวนข้อกำหนดนี้ หรือไม่ต้องทบทวนก็ได้แต่ให้ออกมาอธิบายให้ชัดเจน แต่ผมคิดว่าการที่ออกมาอธิบาย มันยังไม่เพียงพอ มันต้องเปลี่ยนที่ตัวบทด้วย

“ผมคิดว่าองค์กรสื่อก็มีพลังอยู่ ถ้าออกแถลงการณ์ชัดเจน ส่งไปถึงรัฐบาลชัดเจน ว่าต้องการให้ทบทวนแก้ไข ทั้งท่อนแรกและท่อนที่สอง ผมคิดว่ามันก็มีโอกาสที่ข้อกำหนดฉบับต่อไปจะมีมาแก้ไขข้อ 11 นี้” 

ความหวังท่ามกลางสังคมที่สิ้นหวัง 

นิธินันท์ย้ำว่า สื่อต้องทบทวนตนเองอยู่เสมอว่าตนนั้นได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเสนอว่าการเสนอภาพความจริงในด้านที่เป็นความหวังคือสิ่งที่สื่อยังขาด โดยความหวังในที่นี้คือ ความหวังที่มาจากประชาชนด้วยกันเอง ไม่ใช่ของรัฐบาล

“ด้านหนึ่งที่สื่อยังขาดไปคือ ภาพความจริงที่เกิดขึ้นในด้านที่จะให้ความหวังได้ด้วย ถึงแม้รัฐบาลจะดูแลเราไม่ได้ แต่จำนวนผู้ป่วยโควิดที่ไม่ได้อาการหนัก ไม่ได้เสียชีวิต เขามีชีวิตอยู่ยังไง เรามีความหวังที่จะกลับมาอย่างดีได้ แต่ก็ยังเสนอน้อยไป คิดว่าต้องเสนอให้มันบาลานซ์ด้วยเหมือนกัน

“แน่นอนว่าปัญหาทุกข์ยากของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ และต้องเสนอก่อน ศพคนตายเรียงราย ไม่มีข้าวกิน คนอดอยาก รัฐบาลจะช่วยยังไง อันนี้ต้องเสนอ ไม่เสนอไม่ได้ เพราะมันเป็น fact แล้วก็ไม่ได้ทำให้คนกลัว เพราะคนอยู่ด้วยความกลัวอยู่แล้ว แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องให้ความหวัง ไม่ใช่ความหวังจากรัฐบาล แต่เป็นความหวังที่เราทำกันเอง ว่าถ้าเราติดโควิด เราไม่ต้องหวาดกลัวมาก เรายังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ก็ต้องให้แบบนี้เสริมเข้าไปด้วย”

พีรภัทร์แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับความบาลานซ์ของการนำเสนอข่าว โดยระบุว่า สื่อนั้นต้องพึ่งพาข้อมูลทางการแพทย์ในด้านที่จะให้ความหวัง และระงับความหวาดกลัวของประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์จะต้องออกมาให้ข้อมูล รวมถึงภาครัฐก็จำเป็นต้องสื่อสารกับประชาชนอย่างชัดเจนและจริงจัง

“สิ่งที่ผมมองปัญหาของการสื่อสารในปัจจุบันข้อหนึ่งคือ การสื่อสารของภาครัฐที่ไม่มีความเป็นทางการ และไม่มีความจริงจังมากพอกับสถานการณ์ที่วิกฤติ อย่างเช่น ในกรณีที่หมอทวีศิลป์ออกมาพูดว่า ถ้ากลับบ้านนอกไป ก็กลับไปกักตัวที่เถียงนา หรือหมอยงที่พยายามใช้ภาษาที่ซอฟต์ เพื่อที่จะทำให้สถานการณ์มันดูคลี่คลายลง แต่ปัญหาคือคนกลัวทั้งแผ่นดินแล้ว คุณควรจะเปลี่ยนท่าทีการสื่อสารให้มีความจริงจังมากยิ่งขึ้น รวดเร็วมากขึ้น

“ทางแก้ก็คือ หนึ่ง อยากให้ทางแพทย์แอคทีฟในการให้ข้อมูลที่เป็นทางเลือกในการรักษาเยอะกว่านี้ สองคือ อยากให้การสื่อสารของทางแพทย์และทางภาครัฐ ออกมาในลักษณะที่มีความจริงจังกว่านี้ บางเรื่องมันไม่น่าเล่นมุก อย่างกรณีที่ให้ไปกักตัวที่เถียงนา มันจะไป romanticize ปัญหาตรงนี้ทำไม คือคนกลัวกันมากแล้ว เพราะฉะนั้นท่าทีของแพทย์ขอให้เร็ว แล้วก็ขอให้มีความจริงจังในการสื่อสารกว่านี้ ชัดเจนกว่านี้

“แล้วก็ขอฝากไปถึงรัฐบาลว่า เรื่องวัคซีนจะเอายังไง ในเมื่อกรณีของ AstraZeneca เทไปแล้ว ว่าจะให้ส่งมอบให้ครบก็ต่อเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2565 แล้วระหว่างนี้ถ้าเกิดเหตุวัคซีนขาด คุณจะทำยังไง เพราะเราเลือกรัฐบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรนะครับ ประชาชนเป็นคนจ่ายค่าจ้างรัฐบาล อะไรก็ตามที่รัฐบาลไปจัดซื้อจัดจ้าง เรามีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์คุณได้”

อวิกา กันยาแสงศรี
เด็กปาก(กา)แจ๋วในทวิตเตอร์ผู้ผันตัวมาเป็นนัก(อยาก)เขียน เฟมินิสต์และแพนเซ็กชวลผู้หลงใหลในบทเพลงและสนับสนุนความเท่าเทียมในทุกรูปแบบ

ณัฐวรรณ ทองพันภิญโญ
เด็กประวัติศาสตร์ที่กำลังจะเรียนจบในปีหน้าผู้กำลังรอคอยการไปคอนเสิร์ตอีกครั้งอย่างใจจดใจจ่อ และหาลู่ทางไปเติบโตในสังคมที่ดีกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า