นอกจากประเทศไทยแล้ว ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โรคไข้เลือดออกระบาดอย่างหนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่น เช่น ประเทศเวียดนาม มีรายงานแล้วว่าพบผู้ป่วยกว่า 20,000 ราย ส่วนใหญ่พบในกรุงโฮจิมินท์ บาเสียะหวุงเต่าและบิ่งเซือง โดยเฉพาะในกรุงโฮจิมินท์เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 27 เปอร์เซ็นต์
ในประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ 1 มกราคม – 2 พฤศจิกายน 2558 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศ จำนวน 102,762 ราย และมีผู้เสียชีวิต 102 ราย จากเดิมที่คาดการณ์ว่าไว้ว่าปีนี้จะมีผู้ป่วย 70,000 ราย
ด้านเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย มีผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 51,000 ราย (ข้อมูลเมื่อ 14 มิถุนายน) ผู้เสียชีวิต 144 ราย เพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับยอดผู้เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว
ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา (the Center for Disease Control : CDC) เผยว่า ประชากร 1 ใน 3 ของโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้เลือดออก แต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกมากถึง 400 ล้านคนผ่านพาหะอย่างยุงลายสายพันธุ์ Aedes aegypti และ Aedes albopictus
ทั้งนี้การติดเชื้อไข้เลือดออกเป็นผลมาจากการได้รับเชื้อไวรัส 4 ชนิด คือ dengue 1-4 คนส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อจะไม่อาการใดๆ บ่งบอก จากนั้นเมื่อเชื้อไวรัสเดงกี่ (dengue) เริ่มแพร่ไปในกระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ช่วงเวลามีไข้นี้ กินเวลาประมาณ 2-10 วัน อาการหลักๆ คือไข้ขึ้นสูง และ ปวดตามาก ปวดตาข้อ มีผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดกระดูด เลือดไหลเล็กน้อย เม็ดเลือดขาวลดลงมาก ปวดศีรษะรุนแรง
อย่างไรก็ตาม อาการของไข้เลือดออกชนิดรุนแรง หรือ dengue hemorrhagic fever จะรวมถึง ปวดช่องท้องมาก อาเจียนต่อเนื่อง เลือดไหลออกจากจมูกหรือเหงือก อาเจียนเป็นเลือด และ หายใจลำบาก ถ้าอาการต่างๆ นี้ปรากฎขึ้นในระหว่าง 3-7วันหลังจากล้มป่วย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐอเมริกาหรือ CDC แนะนำว่า ให้ไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาทันที
ปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีรักษาไข้เลือดออกโดยเฉพาะ หลายคนเลือกบรรเทาอาการปวดโดยการใช้ยา ibuprofen, Naxproxen หรือ aspirin ซึ่งจะทำให้เลือดเจือจาง ยิ่งทำให้อาการแย่ลง
ความคืบหน้าด้านวัคซีนและการรักษาอื่นๆ จากการรายงานของ Disease Daily เรื่องวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดย Sanofi Pasteur อยู่ในช่วงการทดลองและวิจัย อาจทดลองใช้ได้ต้นปี 2016 ในประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากหน่วยงาน Food and Drug Monitoring Agency(BPOM) ของอินโดนีเซียเสียก่อน
ที่มา : healthmap.org