10 ประเทศที่มีผู้ป่วยซึมเศร้าสูงสุด

หลายๆ คนอาจคุ้นหูกับคำว่า ‘โรคซึมเศร้า’ กันแล้ว เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยเองก็มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้จำนวนไม่น้อย แต่คนส่วนใหญ่มักจะมองคำว่า ‘ซึมเศร้า’ เป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก มากกว่าจะมองเป็นโรค

หากว่ากันตามจริงแล้ว อารมณ์ซึมเศร้านั้นเป็นอารมณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าความเศร้าอยู่นานมากกว่าปกติโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น และมีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ หมดความสนใจต่อโลกภายนอกหรือสิ่งที่เคยชื่นชอบ เบื่ออาหาร หรือไม่คิดอยากจะมีชีวิตต่อ ก็อาจจะเข้าข่ายโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยภายนอกหลายๆ อย่างร่วมด้วย เช่น ค่านิยมทางสังคมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า การปลีกตัวทางสังคม การกดทับในสังคม ความไม่มั่นคงทางการเมือง แรงกดดันภายในสังคม หรือขาดการเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิต 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการสถิติ 10 ประเทศที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด ได้แก่

  1. ยูเครน 6.3%
  2. สหรัฐอเมริกา 5.9%
  3. เอสโตเนีย 5.9%
  4. ออสเตรเลีย 5.9%
  5. บราซิล 5.8%
  6. กรีซ 5.7%
  7. โปรตุเกส 5.7%
  8. เบลารุส 5.6%
  9. ฟินแลนด์ 5.6%
  10. ลิทัวเนีย 5.6%

แม้จะมีตัวเลขสถิติอย่างชัดเจน แต่ในความเป็นจริงแล้วอัตราผู้ป่วยอาจสูงกว่าตัวเลขที่บันทึกไว้ โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาที่อาจจะมีการวินิจฉัยน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพ

สถิติ 10 ประเทศที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุดในปี 2023 | ที่มา: องค์การอนามัยโลก (WHO)

WHO ประเมินว่า 76-85 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ทุกข์ทรมานจากความผิดปกติทางจิต ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงต่ำไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศเองก็มองว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นเรื่องน่าละอาย ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าเปิดเผยและเข้ารับการวินิจฉัย

ระวัง ‘ซึมเศร้าซ่อนเร้น’

นอกจากโรคซึมเศร้าที่รู้จักกันดีแล้ว ยังมีการเจ็บป่วยทางจิตใจอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นภาวะซึมเศร้าที่ไม่แสดงอาการทางจิตใจออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน แต่อาจจะเป็นอาการที่แสดงออกทางร่างกาย โดยจะเรียกภาวะนี้ว่า ‘ซึมเศร้าซ่อนเร้น’ (masked depression) ซึ่งมีผลกระทบเช่นเดียวกับโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยซึมเศร้าซ่อนเร้นจะไม่พบอาการซึมเศร้าที่ชัดเจน สามารถรับผิดชอบหน้าที่และการงานของตนเองได้อย่างไม่บกพร่อง แต่มักจะมีความวิตกกังวล หรือแสดงอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดหลัง บางรายมีอาการทางพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ เนื่องจากความไม่มั่นคงทางจิตใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดสะสมหรือปัญหานอนไม่หลับจนต้องพึ่งพาปัจจัยอื่นๆ

การป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจึงต้องหมั่นสังเกตตัวเองและบุคคลใกล้ชิด เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าภายใต้ชีวิตที่ดูปกติของบุคคลเหล่านั้นได้ซ่อนความเจ็บป่วยทางจิตใจไว้หรือไม่ หรือปรึกษาได้ที่ #สายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323

ที่มา: 

อชิรญา ดวงแก้ว
ชอบฟัง ชอบเขียน ชอบแลกเปลี่ยนเรื่องราว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า