คุยกับ อั๋ว-จุฑาทิพย์ และ มายด์-ภัสราวลี ใน WINTER BOOK FEST 2020

ผู้มีมลทินมัวหมอง คือหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ 14 ราษฎรคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านและตั้งคำถามกับมรดกทางอำนาจที่ส่งทอดมารุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ในรั้วโรงเรียนไปจนถึงบนถนนหลายแห่งทั่วประเทศ พวกเขาเรียกร้องตั้งแต่เรื่องเครื่องแบบในโรงเรียน สิทธิทางกฎหมายและความหลากหลายทางเพศ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

กลายเป็นข้อเรียกร้องหลักในการชุมนุมในนาม ‘ราษฎร’

นอกจากอำนาจรัฐที่ใช้จัดการกับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา การลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐและเรียกร้องประชาธิปไตยยังทำให้พวกเขาถูกสังคมตัดสินว่า ถูกล้างสมอง ไม่รู้จักหน้าที่ โดยมองข้ามปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นความอยุติธรรม อำนาจนิยม เผด็จการ การปกป้องพวกพ้อง

กองบรรณาธิการ WAY เก็บประเด็นมาจากเวที ‘DIRTY TALK’ คุยสบายๆ ไม่มีมัวหมอง ครั้งที่ 1 โดยมี อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 2 ใน 14 ผู้มีมลทินมัวหมองในหนังสือเล่มนี้มาเป็นแขกรับเชิญ งานจัดขึ้นวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ในงาน ‘WINTER BOOK FEST 2020’ สามย่านมิตรทาวน์

หมายเหตุ: ‘DIRTY TALK’ คุยสบายๆ ไม่มีมัวหมอง ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม เวลา 16.00 น.

ในครอบครัวของอั๋วและมายด์

มายด์ ภัสราวลี: สิ่งสำคัญที่ครอบครัวมอบให้เราคือความเข้มแข็งในตัวตนและความคิด หากจะทำอะไรก็ตามเราต้องยึดหลักความเป็นจริง ต้องพูดหรือเข้าใจสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้และถูกต้อง เราจะไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดออกไปสู่สาธารณะ ส่วนแนวคิดทางการเมืองของเราถูกบ่มเพาะเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เราพบเจอสังคมและเพื่อนหลายคน ได้เห็นโลกมากขึ้น ย่อมทำให้เห็นมุมมองความคิดที่แตกต่างจากเรา หากเราไม่เคยได้รับฟังมุมมองเหล่านั้น เราอาจจะไม่รู้เลยว่ามีคนคิดเห็นต่างจากเราอยู่จริงๆ 

อั๋ว จุฑาทิพย์: ครอบครัวสอนให้เราดูแลตัวเองตั้งแต่เด็ก เราหัดทำอาหารตั้งแต่ประถมศึกษาและต้องช่วยงานอีกหลายอย่าง อีกทั้งยังเริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ และศึกษาเรื่องของศาสนา การถือศีล เดินจงกรม นั่นคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เราโตมากับเรื่องของระเบียบ วินัย หรือแม้กระทั่งระบบทหารในขั้นต้นที่ได้เรียนรู้จากการฝึก รด. ครอบครัวอยากให้เราเรียนรู้ว่าระบอบเหล่านั้นมันเป็นอย่างไร เราได้ฝึกความอดทนและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น ส่วนด้านความรัก ความฝัน แม่ให้อิสระเต็มที่และสามารถที่จะทำตามความคิด ความต้องการจริงๆ ของตัวเองได้ 

มายด์ ภัสราวลี: ครอบครัวมีความเป็นห่วงและกังวลต่อชีวิตของเรา ในเรื่องของอันตรายและการกระทำที่สุ่มเสี่ยง

ซ้ำยังมีเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านอีก แต่ในทางอุมดมการณ์ทางการเมือง เราโชคดีที่ครอบครัวไม่ได้ขัดแย้ง เขาก็แอบเห็นด้วยเหมือนกันกับเรา แต่เขาอาจจะมองว่ามันไม่ใช่เรื่องของเราหรือเปล่าที่จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว 

ทำไมถึงไม่ปล่อยให้คนที่มีหน้าที่จัดการไป ซึ่งเราก็พยายามอธิบายว่ามันเป็นหน้าที่ของเรา ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เป็นพลเมืองไทย เราต้องคอยดูสถานการณ์บ้านเมืองว่ามีอะไรที่ผิดเพี้ยนหรือผิดพลาดไปบ้าง แล้วเราจะได้บอกให้รัฐบาลช่วยแก้ไข  ณ จุดที่เรายืนอยู่ จริงๆ แล้ว คุณพ่อกับคุณแม่ก็มายืนกับเราได้นะ 

จุดเริ่มต้นของความสนใจทางการเมือง

มายด์ ภัสราวลี: ความสนใจทางการเมืองเกิดขึ้นจากการอ่านข่าว เมื่อปี 2558 เราเห็นเหตุการณ์ที่นักศึกษา 14 คน และประชาชนหลายคนอยู่หน้าหอศิลปฯ โดยมีจุดประสงค์แค่ต้องการจะยืนมองเวลาเพื่อรอวันครบรัฐประหาร แต่พวกเขากลับถูกเจ้าหน้าที่อุ้มออกไปทีละคนอย่างกับเป็นอาชญากร ภาพนั้นทำให้เราฉุกคิดว่าทำไมเขาถึงโดนแบบนี้ เขาไม่มีอาวุธ มีเพียงมือเปล่าสองข้างที่ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ทำไมพวกเขาถึงต้องมาโดนเจ้าหน้าที่อุ้มออกไป 

ทำไมแค่การยืนมองเวลาถึงทำไม่ได้ 

ประชาธิปไตยที่บอกว่าเป็นระบอบการปกครองของเรา มันเป็นจริงๆ หรือเปล่า หรือมันเป็นแค่ชื่อ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากทำความเข้าใจว่า ณ ตอนนี้สังคมเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันเกิดการตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วจริงๆ เราในฐานะประชาชน เรามีอำนาจมากน้อยแค่ไหนในประเทศนี้ เราจึงเริ่มทำความเข้าใจและค้นคว้าหาว่าประชาธิปไตยของเราอำนาจสูงสุดอยู่ที่ใคร กระบวนการเป็นอย่างไร เรื่องราวในสังคมนี้มีอะไรบ้างที่เป็นปัญหา แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้ต่อไป

จุดชี้ขาดสะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 เราเห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าประยุทธ์รัฐประหารเข้ามา กระทำการประกาศกฎอัยการศึก และมีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจออกมา แล้วเขาก็บอกว่าขอเวลาไม่นาน เดี๋ยวเขาจะคืนความสุขให้เรา ซึ่งนี่คือความหลอกลวงที่เขาหลอกลวงประชาชน 

หนึ่งปีผ่านไปที่เขาบอกว่าอยากปฏิรูปสังคม อยากจะปฏิรูปประเทศไทย มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราว่า คสช. ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้ประชาชนเห็นอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลเป็นความอึดอัดสะสมมาเรื่อยๆ แล้ว ณ วันหนึ่งที่ประจวบเหมาะโอกาสในการที่เราจะได้ออกมาพูด และหลายคนเริ่มที่จะเห็นพ้องต้องกันกับเรา มันจะกลายเป็นจังหวะเหมาะสมในการขยายแผลให้สังคมได้เห็นว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำอะไรกับสังคมไทยไปบ้างตลอดระยะเวาลา 6-7 ปีที่ผ่านมา 

หลังจากที่มีการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ นั่นเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้กลุ่มคนที่ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกรู้สึกว่ารัฐบาลทำให้เสียงของเขาไม่มีค่า รัฐบาลทำให้ 6.3 ล้านเสียงไม่มีความหมาย แล้วอย่างนี้พวกเขาจะยินดีกับการกระทำแบบนั้นของรัฐบาลได้อย่างไร มันก็เลยเกิดการตื่นตัวของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และก็เริ่มขยับเขยื้อนมาเรื่อยๆ คนเริ่มอยากจะรับฟังการส่งเสียงในสังคมมากขึ้น อยากที่จะทำความเข้าใจว่าการที่ทุกๆ มหาวิทยาลัยออกมาเรียกร้องในเรื่องใด ทำไมเขาถึงทนไม่ไหวอีกต่อไป ทำไมนักศึกษาที่จำเป็นต้องเคร่งเครียดกับการเรียนยังต้องออกมาสนใจเรื่องนี้ เราว่าเป็นช่วงพีค ที่ทำให้ประชาชนในประเทศได้เห็นว่ารัฐบาลนี้ทำไม่ดีแล้วเราพูดได้ และพูดกันต่อมาเรื่อยๆ 

อั๋ว จุฑาทิพย์: ส่วนของเราเป็นเรื่องของความสงสัยมากกว่า เราอยู่กับครอบครัวการเมืองมาตลอด งานที่แม่เคยทำก็สัมพันธ์กับทางราชการ เช่นการค้าขายกับภาครัฐ เราก็สงสัยว่าทำไมทำงานแล้วไม่ได้เงิน เงินมันไปกองอยู่ที่ไหนแล้วทำไมต้องจ่ายภาษีที่เยอะกว่ารายได้ที่ได้ด้วยซ้ำ เราสงสัยว่าทำไมเราต้องบากบั่นเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เราสงสัยว่าทำไมเราต้องอยากเรียนที่ธรรมศาสตร์ เราสงสัยมาตลอดว่าทำไมที่ที่เราอยู่ไม่ได้มีเหมือนที่กรุงเทพฯ เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำไมเราต้องแสวงหาอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เราสามารถได้รับเท่ากันได้ 

เมื่อมามองดูที่โครงสร้าง เราได้ศึกษาและพบผู้คนมากยิ่งขึ้น เห็นว่าปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ได้ที่ตัวเราคนเดียว เราเลยมองว่าปัญหาที่จะถูกแก้ไขอย่างยั่งยืนและสามารถทำให้เป็นระบบได้ ต้องแก้ไขทั้งโครงสร้างและแก้ไขที่ตัวระบบ 

เราอยากให้ความฝันของเรากลายเป็นจริง เราอยากให้ความฝันของน้องชายและคนรอบตัวเราสามารถเติบโตได้ภายในสังคมไทย และเราคิดว่าปัญหานี้มันจะไม่ถูกแก้ไขถ้าเราไม่เรียกร้อง ถ้าเราไม่ออกมาต่อสู้ทางการเมือง เพราะว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้มันเป็นปัญหาเรื่องการเมืองทั้งหมด 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำมันมีทุกยุคทุกสมัย เราพอเข้าใจ แต่รัฐบาลเผด็จการทำให้มันสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนติดอันดับโลก มันทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ขยับมาใกล้ตัวเรามากยิ่งขึ้น 

เราคิดว่าประเทศไทยใหญ่มาก การที่จะทำให้มันดีทั้งหมดได้ ไม่สามารถแก้ได้ที่จังหวัดเดียว สมมุติว่า สส. ที่จังหวัดเราดี ก็ไม่สามารถแก้ได้ มันต้องแก้ตั้งแต่ระบบการเมือง ระบบราชการ และทุกอย่างที่จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้ 

‘ไม้ซีกงัดไม้ซุง’

มายด์ ภัสราวลี: คุณแม่เคยบอกว่าเราเป็นไม้ซีกจะไปงัดไม้ซุงได้อย่างไร เรารู้สึกเจ็บปวดว่าทำไมถึงมองว่าเราเป็นไม้ซีกแล้วเขาต้องเป็นไม้ซุง เขาอาจจะเป็นไม้ซุงที่ผุมากๆ แล้วก็ได้ หากเราสร้างแรงกระทบ เขาก็อาจจะแตกสลายไป 

ข้อเท็จจริงอีกอย่างที่เราอาจจะตกหล่นไปก็คือ ไม้ซีกไม่ได้มีแค่อันเดียว (พูดด้วยรอยยิ้มทั้งสีหน้าและแววตา) แล้วสิ่งที่อั๋วพูดก็ถูกต้องค่ะ เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนสังคมนี้ได้ด้วยตัวคนเดียวเพราะกฎเกณฑ์ที่เราใช้ในการอยู่ร่วมกันนั้นมันเกิดมาจากข้อตกลงของทุกคน ฉะนั้นหากเราอยากจะเปลี่ยนแปลงมัน เราต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน และต้องทำมันด้วยกัน เราต้องมองหาปัญหาที่เราจะได้แก้ไขและอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ทฤษฎีไม้ซีกงัดไม้ซุงก็เลยแข็งแกร่งขึ้นมาทันที หากเราเอาไม้ซีกหลายๆ อันรวมกัน ไม้ซุงก็จะเป็นโพรงแน่นอนค่ะ

ชุมนุมแฮร์รี พอตเตอร์ สร้างความกล้าระดับใหม่ให้กับสังคม

มายด์ ภัสราวลี: ตอนการชุมนุมเสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ครั้งนั้นเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด เราร่วมกันจัด ร่วมกันคิด ร่วมกันตกผลึกว่าตอนนี้มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องเอาปัญหาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์หยิบยกขึ้นมาพูดในที่สาธารณะ และมันถึงเวลาที่เราจะต้องคุยกันถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาสักที 

เราไตร่ตรองถึงวิธีพูดถึงเรื่องนี้อย่างไรให้ปลอดภัย พูดอย่างไรให้ทุกคนในสังคมยอมรับได้ และเปิดฟังกันได้ ซึ่งสุดท้ายเราตกผลึกกันได้ว่าเราต้องพูดด้วยความตรงไปตรงมาและพูดอยู่บนหลักความจริง เราจะไม่มีการใส่การเหน็บแนม ไม่มีการใส่อารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัว เราจะไม่ตัดสินแค่อารมณ์ของเราหรือความรู้สึกของเรา แต่เราจะวิเคราะห์เรื่องราวเหล่านั้นด้วยเหตุผลที่มันประจักษ์ขึ้น ตามหลักข้อเท็จจริงที่มีข้อมูลวิชาการ เอกสารทางการหลายอย่างที่ทุกคนสามารถค้นคว้าได้ นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ การพูดคุยที่สามารถพิสูจน์ได้และทุกคนยอมรับฟังกันได้ 

กฎหมายอาญา มาตรา 112 แฝงอำนาจนิยมภายใต้ประชาธิปไตย

อั๋ว จุฑาทิพย์: เราเชื่อมั่นในหลักความจริง แต่เราไม่เคยเชื่อมั่นในคดีอาญา มาตรา 112 กฎหมายนี้ไม่สามารถอิงกับหลักการใดๆ ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งยังเป็นกฎหมายที่เปิดช่องว่าง ให้คนที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องได้รับโทษ 

คุณบอกว่าคุณไม่ได้แจ้งเองแต่มีคนอื่นแจ้ง ในขณะที่คนอื่นนั้นคือ ตำรวจ ซึ่งก็อยู่ในระบบราชการ โดยอิงกับรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ไม่ได้แสดงถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปสถาบันให้ดีขึ้นเลย แต่กลับกันคือ ใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดต่อคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่มีโทษค่อนข้างรุนแรง ถึงแม้ยังไม่มีการตัดสินคดีความก็จำคุกไปก่อนแล้ว ส่วนตัวเราสนับสนุนเต็มที่ในการยกเลิกกฎหมายนี้ เพราะที่ผ่านมา หลายคนโดนข้อหาคดีอาญา มาตรา 112 และก็ไม่ได้เป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักในสังคม รวมไปถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย จิตใจ นับได้ว่าคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นไม่มีความยุติธรรมต่อผู้ใดเลย

“The Land of Compromise” เป็นเพียงวาทกรรมบังหน้า

อั๋ว จุฑาทิพย์: เราเชื่อว่า การประนีประนอมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่เคยมีความเข้าอกเข้าใจกัน (empathy) กับประชาชน โดยสิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้ตอกย้ำอย่างชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลได้ใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ทั้งใช้แก๊สน้ำตา ใช้สารเคมีผสมน้ำฉีดเหล่าผู้ชุมนุมอย่างที่ผ่านมา และอีกอย่างคือ พวกเราทุกคนออกมาเรียกร้องด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราเชื่อมั่นว่าทุกอย่างมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราเชื่อมั่นว่าประเทศสามารถไปไกล และดีขึ้นกว่านี้ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้คือ สิ่งที่รัฐบาลทำมันไม่มีความประนีประนอม (compromise) กับเราเลย อีกทั้งยังมีทีท่าแข็งกร้าวออกมาเป็นระยะ ก็แน่นอนแล้วว่า ต่อจากนี้ก็คงไม่เกิดการประนีประนอมแล้วอย่างแน่นอน “The Land of Compromise” ก็คงเป็นแค่วาทกรรมที่เอาไว้หลอกผู้สนับสนุนพระมหากษัตริย์ (royalist) เพียงเท่านั้น

สิ่งที่สูญหายระหว่างทางสำหรับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย

อั๋ว จุฑาทิพย์: ก็มีบ้าง ตามสถานการณ์และปัจจัยหลายๆ อย่าง รวมไปถึงคนในครอบครัว จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีไลน์ครอบครัวเด้งเข้ามา ถึงรายชื่อนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุมและพบว่ามีชื่อของเรา ตั้งแต่นั้นมาเราก็คุยกันน้อยลง และญาติๆ ก็โทรมาเตือนว่าอย่าไปร่วมการชุมนุม เดี๋ยวโดนคดีต่างๆ แม้แต่พ่อเองก็ไม่ได้สนับสนุน แม้เราจะอยู่กับแม่มาตลอด ส่วนแม่สนับสนุนอย่างเต็มที่ คำห้ามปรามของเขาคือความไม่เข้าใจทางความคิด หากวันหนึ่งสิ่งที่เราทำลงไปสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง พวกเขาก็ได้รับประโยชน์ และเมื่อวันนั้นมาถึง เรายินดีที่จะกลับมาพูดคุยและอยู่ร่วมกัน อย่างที่เคยเป็นมา

มายด์ ภัสราวลี: หนูโชคดีที่คนรอบข้าง คนสนิททุกคนเห็นด้วย และเอาใจช่วย รวมไปถึงครอบครัวของเราเอง แต่ก็จะมีบางคนที่เราเคยรู้จัก เคยนับถือในอดีต มองเราเปลี่ยนไปจากเดิม และไม่ได้มีคำถามถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 

เขาเหล่านั้นก็มีดุด่า ตำหนิ จากเดิมที่เคยรักและชื่นชมเรา ซึ่งเรามองว่า ไม่เป็นไร เพราะโดยปกติ เราทุกคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่ง ณ ตอนนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เราและเขา อาจจะคิดเห็นไม่ตรงกัน อาจจะคลาดเคลื่อนหรือหายกันไปบ้าง และวันหนึ่งเมื่อเขาเปิดใจรับฟังมากขึ้น เขาอาจจะเดินมาถามเราเองก็ได้ว่าในช่วงเวลานั้น คำที่ว่าเรา ชังชาติ เราชังชาติแบบไหนกันแน่

ความหวังของนักเคลื่อนไหวกับการเริ่มต้นใหม่ในปี 2564

อั๋ว จุฑาทิพย์: สิ่งที่คาดหวังมาโดยตลอด คือรัฐบาลชุดนี้ต้องลาออก เขาไม่สมควรที่จะอยู่ต่อถึงปี 2564 เราทุกคนทนมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งไม่ถือว่าเราทนด้วยซ้ำ เราทั้งต่อสู้ เรียกร้อง แต่แล้วเขาก็ยังอยู่ เราคิดว่า พ.ศ.ใหม่ที่กำลังจะมาถึง ควรจะได้รัฐบาลใหม่ และต้องมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน ขอของขวัญปีใหม่ให้แก่ประเทศชาติ หากเราต่อสู้มาโดยตลอดแล้วเขายังอยู่ เราทุกคนควรพิจารณายกระดับการชุมนุม (ถึงแม้จะมีเสียงหัวเราะแต่น้ำเสียงหนักแน่นและมั่นใจ)

มายด์ ภัสราวลี: สิ่งที่คาดหวังในปีหน้า คือ อย่างแรกคงหนีไม่พ้นรัฐบาลชุดนี้ลาออก แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาพูดคุยถึงการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สามารถมั่นใจได้ว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะมาบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอันดับสามจะต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ภายหลังมีการพูดอย่างเปิดเผยมากขึ้น ซึ่งเราไม่ได้อยากสร้างความบาดหมาง หรือสร้างสถานการณ์ให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อกัน ขณะนี้สถาบันพระมหากษัตริย์เองก็ควรเริ่มตั้งคำถาม และหาทางออกเพื่อแก้ไขบทบาทของตนเอง 

แต่กระนั้นเหนือเหตุผลอื่นใด การที่เราจะสามารถพูดคุยกันได้ พลเอกประยุทธ์ต้องลาออกก่อน เพราะเราไม่ไว้ใจพลเอกประยุทธ์อีกต่อไปแล้ว และในฐานะประชาชนคนหนึ่ง หากปีนี้เขาไม่ออก และปีที่กำลังจะมาถึงนี้ก็ไม่ออกอีกเช่นกัน เราก็จะออกมาเรียกร้องอยู่ร่ำไป

ส่งต่อกำลังใจ เพื่อวันใหม่ที่ดีกว่า

อั๋ว จุฑาทิพย์: เราอยากให้ทุกคนเดินหน้าต่อสู้ไปด้วยกัน คิดว่าอนาคตที่สดใสรอเราอยู่แล้ว เวลายังอยู่ข้างเรา ทุกคนยังมีแรง มีพลัง และเราก็ไม่อยากที่จะส่งต่อสังคมนี้ไปสู่รุ่นต่อไป 

เราคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ดีมากๆ แล้ว ทุกคนออกมาแสดงพลัง ออกมาร่วมเรียกร้อง สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องเดินไปด้วยกัน ในท้ายที่สุดสิ่งที่เราเรียกร้องไปต้องได้รับการปรับปรุง การแก้ไข และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มีอำนาจใดจะปิดปาก หรือปิดกั้นเราได้ และตอนนี้ทุกคนกำลังร่วมกันสร้างประชาธิปไตย พร้อมเดินไปด้วยกัน (พร้อมเสียงปรบมือที่ดังขึ้น)

มายด์ ภัสราวลี: สถานการณ์ที่ทุกคนตื่นตัวทางการเมืองเป็นเรื่องที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ยาก และนี่เป็นโอกาสที่ดีที่เราทุกคนจะช่วยกันปลูกต้นประชาธิปไตยลงในสังคมให้เยอะมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ 

ถึงเวลาพอเหมาะพอควรที่เราจะสร้างความเข้าใจ คือ ประเทศนี้เป็นของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม อำนาจในการบริหารประเทศก็ต้องมาจากประชาชน เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารประเทศต้องมาจากการตกลงพร้อมใจของประชาชน

ฉะนั้นเราจะไม่ยอมให้ ใครมากำหนดชะตาสังคมไทยของเรา โดยไม่ถามความคิดเห็นจากเราอีกต่อไป แม้ในช่วงชีวิตนี้ของเรา อาจจะยังไม่เห็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่หากเราไม่หมดหวังในการดูแลต้นประชาธิปไตย และหมั่นปลูก ใส่ใจ ดูแลต้นประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ เราจะสามารถส่งต่อต้นประชาธิปไตยแก่รุ่นต่อไปได้ ที่สำคัญเราไม่ได้ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเพื่ออำนาจทางการเมือง แต่ออกมาสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และอนาคตของเราเอง เราต้องเริ่มสร้างสังคม อย่างระมัดระวัง และพิถีพิถันขึ้นมาก่อน และไม่ส่งต่อสังคม ณ ทุกวันนี้ให้คนรุ่นหลังต่อไปอีกแล้ว สู้ต่อไป (ยิ้มแย้ม)

การพูดคุยของทั้ง อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ได้ถ่ายทอดความเข้มแข็งและอุดมการณ์ที่มีความปรารถนาดีในการผลักดันสังคมไทย ถึงแม้ทั้งสองคนจะยังไม่สามารถคาดเดาได้ถึงแนวทางของการต่อสู้ในอนาคต 

แต่ตลอดการพูดคุยเราได้เห็นถึงรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และกำลังใจที่แข็งแกร่ง ได้ถ่ายทอดผ่านตัวเธอเอง และคนรอบข้างอย่างมากมายทั้งผู้ที่มาร่วมงาน และผู้ชมจากทางบ้าน โดยมีความคาดหวังเดียวกันว่า สักวันหนึ่งการต่อสู้ของราษฎรจะประสบผลสำเร็จ และต้นประชาธิปไตยจะเบ่งบานผลิดอกออกผลอย่างสวยงามในสังคมไทย 

Author

มานิตา โอฬาร์ศาสตร์
ละอ่อนน้อย ผู้กำลังปั้นตัวในบ้าน WAY ใฝ่ฝันอยากปรุงแต่งจริยธรรมและจรรยาบรรณลงบนหม้อต้มสื่อ หล่อหลอมมอมเมา mindset ของผู้อ่านให้เข้าถึงความเป็นคน นับถือจินตนาการ ความสัมพันธ์ และบ่อความคิดของมนุษย์

Author

ดวงนฤมล บุญแก้ววรรณ
นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยพะเยา สนใจและติดตามการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่บางครั้งก็แอบหนีเข้าป่า และดื่มชาร้อน

Photographer

ญาดา พระนคร
เด็กฝึกงานสายกราฟิกจากเชียงใหม่ มีใจรักในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกต้นไม้ทุกชนิด ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตคือการทำงานด้านกราฟิกควบคู่ไปกับการเปิดสวนสัตว์ และร้านขายต้นไม้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า