ภาพ: ศิวพงษ์ วงศ์คูณ
เมื่อวันที่ 24-25 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) ได้จัด ‘การประชุมวิชาการประจำปีด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ครั้งที่ 1: เชื่อม ข้าม เผชิญหน้า ณ จุดตัด’ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องได้นำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อพัฒนาความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ
หนึ่งในวงเสวนาที่น่าสนใจคือหัวข้อ ‘มานุษยวิทยาภัยพิบัติ’ ประกอบด้วยสามบทความย่อยที่มานำเสนอประเภทของภัยพิบัติแตกต่างกัน และรูปแบบของข้อมูลที่นำเสนอก็ต่างกันด้วย ทั้งฐานข้อมูล ระเบียบวิธีวิจัย และผลของการศึกษา แต่ทั้งสามบทความทำให้เห็นว่าการศึกษาเรื่องภัยพิบัติไม่สามารถศึกษาอยู่ในกรอบความรู้ชุดเดียวอีกต่อไป แต่ต้องก้าวข้ามศาสตร์หนึ่งไปอีกศาสตร์หนึ่ง และเชื่อมศาสตร์เหล่านั้นเข้าด้วยกันเพื่อความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในมิติรอบด้าน
Data base: ฐานข้อมูลที่แข็งแรง
คนกรุงเทพฯ วิตกกังวลเรื่องน้ำท่วมมากขึ้นตั้งแต่มีอุทกภัยเมื่อปี 2554 เป็นต้นมา รวมถึงข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้คนสนใจกับเรื่องปัญหาอุทกภัยมากขึ้นในปีนั้น
รพีพรรณ เจริญวงศ์ นักวิจัยจากศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงรวบรวมข้อมูลเรื่องน้ำและระบบจัดการน้ำในฐานะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ ในงานชื่อ ‘เมื่อสายน้ำยากจะไหลไป ชีวิตและการเดินทางของน้ำในกรุงเทพฯ’
กรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นพื้นที่น้ำหลากตามฤดูกาลมาแต่เดิม ด้วยการเป็นเมืองหลวงและขยายเติบโตเป็นพื้นที่สำคัญทางการปกครอง เศรษฐกิจ และการคมนาคม ทำให้เกิดพื้นที่แห้งขวางคั่นการหลากของน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบคูคลองที่ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ถูกอ้างอิงว่าเป็นช่องทางหลักให้กับการระบายน้ำ
การนำเสนอครั้งนี้ รพีพรรณต้องการให้ภาพการมีอยู่ของระบบคูคลองในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นช่องทางที่แปลกแยกไป จากชีวิตทางสังคมของเมืองที่ต้องการพื้นที่แห้งและปลอดภัย น้ำในสถานะของของเหลวที่ไหลผ่านไปได้ทุกที่ เป็นตัวแทนของการเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ต้องควบคุมและจัดการ แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยสภาพปัญหาการพัฒนาไปข้างหน้าของเมือง ช่องทางควบคุมน้ำเหล่านี้จึงมีบทบาทในเชิงสังคมและวัฒนธรรมต่อสังคมเมือง การไหลเวียน หรือไม่ไหลเวียนของน้ำเป็นระบบอันเงียบเชียบแต่มีผลกระทบสำคัญต่อการขับเคลื่อนของเมือง
Methodology: วิธีวิจัยศึกษาภัยพิบัติของนักมานุษยวิทยา
อลิสา หะสาเมาะ อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี หัวข้อวิจัยของเธอคือศึกษาเรื่อง ‘บาดแผลทางใจและเพศสภาพของคนที่ได้รับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอยู่บนพื้นที่ความขัดแย้ง’
ในการนำเสนอครั้งนี้ อลิสาเล่าถึงระเบียบวิธีวิจัยที่เธอใช้ในการศึกษาผลกระทบของภัยพิบัติธรรมชาติและความขัดแย้งในสองพื้นที่ คือ จังหวัดอาเจะห์ในประเทศอินโดนีเซียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็นสามส่วน จากการพัฒนาและการนำระเบียบวิธีวิจัยในการปฏิบัติการเก็บข้อมูลภาคสนาม
ส่วนแรก ประสบการณ์ของผู้วิจัย เคยประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ และพื้นที่ขัดแย้ง เมื่อปี 2547 อลิสาเป็นหนึ่งในผู้ที่รอดชีวิตจากภัยพิบัติที่อาเจะห์ ประเทศอินโดเนเซีย วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 มีแผ่นดินไหวใหญ่ที่เรียกว่า ‘แผ่นดินไหวชวา’ มีผู้บาดเจ็บ 30,000 – 50,000 คน มีผู้เสียชีวิต 5,000 คนในเวลาเพียงวันเดียว และวันเดียวกันก็มีภูเขาไฟระเบิด ถือได้ว่าเป็น multiple disaster
จากเหตุการณที่เกิดขึ้นทำให้อลิสาสัมผัสถึงสถานการณ์ที่ไม่สามารถพึ่งพาใครได้ เป็นพื้นที่เปราะบาง มีภัยพิบัติธรรมชาติ เราสามารถสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นจากเพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ แถวนั้น แล้วกลับมาดูตัวเองว่าเราจะจัดการกับตัวเองอย่างไร เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ แล้วเราจะรับมือกับมันอย่างไรเมื่อมีภัยพิบัติครั้งต่อไป
ส่วนที่สอง การสร้างความไว้วางใจของนักวิจัยกับผู้ถูกสัมภาษณ์ เพราะเวลาทำงานในพื้นที่ความขัดแย้ง การเข้าถึงข้อมูล หรือการพูดถึงเรื่องละเอียดอ่อน เช่น ผลกระทบทางด้านจิตใจในบริบทของพื้นที่ขัดแย้ง ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ประสบการณ์การสร้างความไว้วางใจมาตลอดเวลาที่ผ่านมาจะถูกนำมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผลจากความสัมพันธ์นี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การสร้างและเลือกเก็บข้อมูลภาคสนาม
ระหว่างการเก็บข้อมูล อลิสาต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ฝึกศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว สร้างกล้ามเนื้อ เพราะเธอต้องเข้าไปในพื้นที่ตามลำพัง เข้าไปในพื้นที่ที่เคยมีเหตุการณ์การข่มขืน ถ้าอยู่ในสามจังหวัดไม่เป็นไร แต่ถ้าไปอยู่ในอาเจะห์ พูดภาษาในท้องถิ่นไม่ได้ เธอต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้เธอยังได้รับการปรึกษาจากจิตแพทย์เพื่อเป็นการเยียวยาตนเองจากการทำงานอีกด้วย
ส่วนที่สาม ภูมิหลังของนักวิจัยที่มีผลต่อการวิเคราะห์ข้อมูล กล่าวคือ บทความนี้จะตอบคำถามว่า ทำไมประสบการณ์ชีวิตของนักวิจัยและเทคนิคในการวิเคราะห์ข้อมูลจึงถูกสร้างขึ้น และนำไปสู่การปรับประยุกต์ใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบ
จากระเบียบวิธีวิจัยที่อลิสานำเสนอมานั้น เพื่อเป็นเครื่องมือศึกษาว่าครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบว่ามีประสบการณ์อย่างไร ความเชื่อ ศาสนามีส่วนในการสร้างแผลใจของเขาได้อย่างไร ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขภาวะของคนในพื้นที่ แล้วดูว่าสิ่งเหล่านี้มีช่องว่างอย่างไร เพื่อหาแนวทางการจัดการเยียวยาผู้เผชิญสถานการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้
Ontology: ความจริงของโลกร้อน
หัวข้อนี้เป็นการนำเสนอของ ชยา วรรธนะภูติ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ศึกษาเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและศีลธรรมของลมฟ้าอากาศ: บทเรียนจากเกษตรกรจังหวัดน่าน ในโลกที่ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างนภา พสุธา กายา’
ก่อนเริ่มการนำเสนอ ชยากล่าวว่า “ผมเป็นนักภูมิศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” แต่งานที่ชยาศึกษาทำให้เห็นว่าการศึกษาภูมิศาสตร์อย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ การนำเสนอนี้จึงเป็นการก้าวข้ามศาสตร์มาสู่การศึกษามานุษยวิทยาเพื่อหาความหมายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่ได้นิยามด้วยวิทยาศาสตร์
10 ปีที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มเป็นที่รับรู้ในวงสาธารณะ มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างประเทศและรัฐบาลไทยในการสร้างความร่วมมือลดก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าไทยยังไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกโดยตรง แต่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องให้ความรู้ และทำให้ประชาชนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จึงเป็นเหตุให้กรมอุตุนิยมวิทยาต้องตระเวนไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลว่าอะไรคือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมอธิบายว่า อะไรคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นความรู้ที่เดินทางจากห้องทดลองของโลกตะวันตก ซึ่งเมื่อเข้าไปยังพื้นที่อื่นๆ แล้วคาดหวังว่าคนจะเข้าใจทันที สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะความเป็นจริงแล้ว เมื่อความรู้เดินทางมา ยังต้องใช้เครื่องมืออีกมากมาย เพื่อทำให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจริง
“ดังภาพเราเห็นในทีวี เห็นหมีขาวทั่วโลกไม่มีน้ำแข็งให้อยู่แล้ว มันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับที่เราอยู่เลย ตรงนี้เลยกลายเป็นคำถามวิจัยตัวเองด้วยว่ามันน่าจะมีมิติทางสังคม หรือมิติทางมนุษย์ที่มันลึกกว่างานข้อมูลภูมิอากาศเป็นข้อมูลเชิงตัวเลขเท่านั้น มันกลายเป็นการถอดถอนความเชื่อ ความรู้สึก วัฒนธรรมออกจากอากาศที่เราอยู่ร่วมกัน ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมเวลาที่เราพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึงไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคน”
จากการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณาของชยาที่จังหวัดน่านเป็นเวลา 14 เดือน พบว่าความสุขสบายกายและใจ อารมณ์ จินตนาการ กิจวัตรประจำวัน การเดินทางระหว่างบ้านและไร่นานั้น เป็นไปตามรอบฤดูกาลและอยู่บนพื้นฐานความเชื่อทาง ‘พุทธศาสนาและการนับถือผี’
สำหรับชาวบ้าน อากาศที่ ‘ดี’ และ ‘ไม่ดี’ ทำให้พวกเขาโหยหาอดีต ยอมรับความจริง และยำเกรงผีและเทวดา ความเชื่อและคุณค่าเหล่านี้ผูกโยงกับฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝนตามลำดับ นำไปสู่การตอบสนองในสามแนวทาง สำหรับบางคน อากาศแย่เพราะศีลธรรมเสื่อมถอย ดังนั้นจึงต้องรื้อฟื้นรากวัฒนธรรมเพื่อหวังว่าวัฏจักรของอากาศที่ดีจะหวนกลับคืน
บางคนเรียนรู้ที่จะทำใจและอดทนอยู่ร่วมกับ ‘ธรรมชาติ’ ของฤดูกาลตามหลักความเชื่อทางพุทธศาสนา ในความผันผวนของอากาศ บางคนย้อนกลับมาทวนคิดหากได้ลบหลู่ผีสางเทวดา แล้วจึงทำพิธีกรรมเพื่อให้เบื้องบนดลบันดาลอากาศดีมาให้
ชยากล้าวว่า “สำหรับคนน่าน การเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศเป็นปรากฏการณ์ท้องถิ่นปกติ ศีลธรรมความดีต่างหากที่เป็นพลังในการขับเคลื่อนชุมชนให้ตอบสนอง หาใช่ระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงควรเปิดกว้างต่อภววิทยา (ความจริง) ของอากาศที่ข้ามเส้นแบ่งระหว่าง ธรรมชาติ/วัฒนธรรมท้องถิ่น/โลกและสสารวัตถุ/จินตนาการ”