ในปี พ.ศ. 2546 คงเดช จาตุรันต์รัศมี แหวกทางย้อนไปเล่าเรื่องถึงปี พ.ศ. 2535 ปีสุดท้ายแห่งยุคทองของนิตยสาร ‘ปลุกใจเสือป่า’ ซึ่งเป็นปีแห่งความผันผวนปรวนแปรทางการเมือง ผ่านภาพยนตร์เรื่อง สยิว ท่ามกลางสังคมที่ผู้คนยังมุบมิบเรื่องเพศ ซุกปัญหาไว้ใต้พรม
ในปี พ.ศ. 2554 ไพรัช คุ้มวัน พูดคุยกับผู้คนถึงฮอร์โมนง่วนเงี่ยนปรารถนา วัยหนุ่มสาว ความไม่ถูกทำให้รู้ประสา จึงโจ๊ะพรึมๆ ถุงยางไม่สน ผ่านภาพยนตร์ รักจัดหนัก (ตอน ไปเสม็ดเสร็จทุกราย) ท่ามกลางบรรยากาศที่เรื่องเพศยังเป็นเรื่องบัดสีบัดเถลิง อกอีแป้นจะแตก โดยเขาบอกว่าหนังของเขาโดนด่าตั้งแต่ยังไม่เริ่มฉาย
และในปี พ.ศ. 2567 ปีที่คนดูสตรีมมิงที่บ้านถี่กว่าการไปดูหนังในโรง ปีที่คนทำหนังลอบยิ้มเพราะอะไรที่เคยห้ามถ่าย ห้ามฉาย ก็มาฉายในสตรีมมิงสิ ปีที่คลิป TikTok เล่าเรื่องวิธีถึงจุดสุดยอดของผู้หญิงเป็นไวรัลได้โดยไม่มีใครดรามา ท่ามกลางสถานการณ์ที่เอื้อให้ผู้คนถกเถียงกันในเรื่องที่เคยลึกลับเหลือเกินนี้ คงเดชและไพรัชจับมือกันสร้างซีรีส์ฉายทาง Netfilx เรื่อง Doctor Climax ปุจฉาพาเสียว ซีรีส์พีเรียดที่ย้อนกลับไปมองบรรยากาศเรื่องเพศในช่วงปลายยุค 70s ยุคที่เรื่องเพศถูกเอามาพูดในที่เเจ้งอย่างหนังสือพิมพ์ ผ่านเรื่องราวของ ‘หมอนัท’ แพทย์ผิวหนังและกามโรคที่จับพลัดจับผลูมาเป็นคอลัมนิสต์ตอบปัญหาเรื่องเพศ
WAY ชวนสองผู้กำกับที่เดินทางผ่านช่วงเวลาและการเปลี่ยนแปลงของสังคม มาพูดคุยกันด้วยเรื่องซีรีส์ เรื่องเซ็กซ์ การทำงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนที่ของสังคมที่มาไกลมาก และในขณะเดียวกันบางสิ่งบางอย่างก็ไม่ต่างจากเดิมเลย
ถามคุณคงเดช: จุดเริ่มต้นในการทำหนังของคุณมาจากอะไร
คงเดช: จริงๆ ตอนที่ผมทำหนังแต่ละเรื่องมักจะมีจุดเริ่มต้นที่ไม่เหมือนกัน หากเป็นหนังยาวของตัวเอง มันอาจจะมีความเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า และยังขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลาในชีวิตช่วงนั้นเรากำลังสนใจเรื่องอะไรอยู่ แต่ตอนเริ่มเขียนบท Doctor Climax ตอนตั้งต้นเราก็ไม่ได้คิดว่าจะกำกับเองด้วยซ้ำไป ตั้งใจจะมาเขียนบทอย่างเดียว แต่ด้วยคอนเซปต์ของเรื่องที่พูดถึงเรื่องเซ็กซ์ทำให้เรารู้สึกว่ามันน่าสนุกและมีอะไรให้พูดเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมแบบประเทศไทย มันก็มีเลเยอร์ให้เราเล่นได้มากมายอยู่แล้ว ดังนั้นหมายความว่าแต่ละครั้งการเริ่มเขียนบทมันก็ไม่ได้ตั้งต้นมาเหมือนกัน ถ้าเป็นหนังยาวของตัวเองมันจะบันทึกความรู้สึกส่วนตัวอะไรบางอย่าง แต่พอเป็นโปรเจกต์ซีรีส์แบบ Doctor Climax มันเหมือนเป็นการตั้งคำถามว่าเรื่องเซ็กซ์จะพาเราไปสู่ประเด็นไหนในสังคมได้บ้างมากกว่า และใช้ประเด็นเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการเขียนบท
ถ้าหากย้อนกลับไปถึงหนังเรื่องเก่าๆ จาก สยิว (2546) จนถึง Faces of Anne (2565) หนังแต่ละเรื่องของคุณมีคำถามต่อสังคมอย่างไร
คงเดช: จะสังเกตได้ว่าในช่วงที่ทำหนังเรื่อง Where We Belong (2562) และ Faces of Anne เราสนใจเรื่องคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็คืออนาคตของประเทศ มีการตั้งคำถามว่า ชีวิตของเราเป็นของเราขนาดไหน ซึ่งมันก็เป็นความคิดในช่วงเวลานั้นที่เราอยากจะค้นหา แต่ช่วงที่เราทำเรื่อง Snap แค่…ได้คิดถึง (2558) มันเป็นการเล่าถึงการตกแต่งและดัดแปลงความทรงจำ หนังแต่ละเรื่องของเราก็จะมีโจทย์ที่ค่อนข้างแตกต่างกันไป
ซีรีส์เรื่อง Doctor Climax ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง สยิว มันคือการย้อนกลับมาสำรวจประเด็นเดิมไหม
คงเดช: เราคิดว่ามันคนละประเด็นกันเลย เมื่อ 20 ปีที่แล้วเราทำหนังเรื่อง สยิว เข้าฉายในปี 2546 ในขณะที่ซีรีส์เรื่อง Doctor Climax ฉายบนสตรีมมิงในปี 2567 บริบทของยุคสมัยในตอนที่หนังฉายแตกต่างกันมาก และในปัจจุบันการเข้าถึง sex issue มันไปไกลมากแล้ว
ในหนังเรื่อง สยิว เราเล่าเรื่องย้อนไปในปี 2535 ซึ่งเป็นยุคทองยุคสุดท้ายของหนังสือปลุกใจเสือป่า แต่พอมาทำเรื่อง Doctor Climax เราย้อนเรื่องราวกลับไปในปี 2521 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เรื่องเซ็กซ์ถูกเอามาพูดในที่แจ้ง ในสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ ซึ่งยุคนั้นเป็นสื่อที่ใหญ่ที่สุดแล้ว หนังสือพิมพ์เป็นมีเดียที่เข้าถึงทุกคนที่สุด เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการเอาเซ็กซ์มาทำให้ป๊อปเป็นครั้งแรก แล้วบริบทสังคมของทั้ง 2 ช่วงเวลา ก็มีเรื่องให้พูดต่างกันอยู่แล้ว และในเรื่อง Doctor Climax ความเป็นซีรีส์ของมันก็ทำให้เราสำรวจเรื่องราวที่เราอยากจะพูดได้มากกว่า ทั้งหมดทั้งมวลทำให้เราคิดว่าทั้ง 2 เรื่องไม่ได้เหมือนกันเลยแม้แต่น้อย มันแค่พูดเรื่องเซ็กซ์เหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้ถูกหยิบมาพูดด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน
จากตอนแรกที่เขียนบทอย่างเดียว ทำไมอยู่ๆ ถึงมากำกับร่วม
คงเดช: พอผมรู้ว่าจะทำโปรเจกต์นี้กับทาง Netflix ทางทีมก็บอกว่าเรื่องนี้จะต้องเป็นคงเดชกำกับแหละ เขียนบทมาขนาดนี้แล้ว ไม่มีใครรู้จักเรื่องนี้ไปมากกว่านี้แล้ว แต่ตัวเราเองก็ไม่เคยทำซีรีส์ เคยทำแต่หนังยาว ก็กลัวว่ามันจะเหนื่อย จะยาก เพราะมันเยอะ เราก็เลยต่อรองกับเขาไปว่าขอหาอีกคนมาช่วยกันกำกับแล้วแบ่งตอนกันได้ไหม ไม่งั้นมันเหนื่อยเกินไป ผมเองก็แก่แล้ว (หัวเราะ) พอคิดได้ ชื่อแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวเลยก็คือ ปกป้อง (ไพรัช คุ้มวัน) เพราะว่างานของเขาทำให้เรารู้สึกว่าคนนี้เจ๋งว่ะ และตัวปกป้องเองเขาก็เคยทำซีรีส์มาก่อนด้วย น่าจะช่วยเราได้เเน่ๆ แถมยังเคยทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ถ่ายโฆษณาด้วย ก็เลยได้มาทำงานกำกับด้วยกันในซีรีส์ Doctor Climax
ถามคุณไพรัช: ในเส้นทางของคนทำหนัง คุณเริ่มจากบทบาทผู้กำกับภาพมาก่อน จนมาได้เป็นผู้กำกับ ทั้งสองหน้าที่มีความแตกต่างไหม
ไพรัช: จริงๆ ผมเองก็อยากทำงานเป็นผู้กำกับหนังมาตั้งแต่สมัยเรียน แต่รูทของการทำงานมันดันเตะเราไปเป็นผู้กำกับภาพก่อน แต่ว่าโดยส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าทั้งสองหน้าที่นี้มันต่างกันขนาดนั้น หมายถึงว่าในแง่ของการทำงานเราก็ยังได้ออกมาถ่ายหนัง ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็น filmmaker ในทั้ง 2 ตำแหน่ง เพียงแต่ว่าสถานะในการตัดสินใจหรือความรับผิดชอบในการทำงานมันเป็นคนละส่วนกัน ถ้าเป็นแผนกผู้กำกับภาพ พอเราออกกองเสร็จมันก็คือจบ อาจจะไม่ได้มามีส่วนร่วมในขั้นตอน post-production ด้วย แต่ตัวผมเองกลับรู้สึกว่าสนุกกับทุกกระบวนการเลย เมื่อได้มาทำงานเป็นผู้กำกับจริงๆ ก็มีความรู้สึกว่าสนุกดีที่ได้มีส่วนร่วมทั้งหมด ผมเองเป็นคนที่ชอบทำหนัง ก็รู้สึกว่าอยากจะอยู่ในแผนกที่ได้ทำงานเยอะที่สุด ซึ่งก็คือผู้กำกับ
จริงๆ ผมเองก็เคยมีส่วนร่วมกับหนังสั้นที่ได้ร่วมฉายเป็นหนังโรง คือเรื่อง รักจัดหนัก (ตอน ไปเสม็ด) จึงได้ทำงานเป็นผู้กำกับมาก่อน แล้วจับพลัดจับพลูได้มาทำงานกำกับภาพในหนัง 36 (2555), Mary is Happy, Mary is Happy (2556) จากนั้นจึงได้ตั้งหลักใหม่แล้วก็กลับมาเป็นผู้กำกับอีกทีหนึ่งครับ
จากผลงานที่ผ่านมาของคุณ ส่วนมากเป็นประเด็นวัยรุ่น (กำกับภาพ Marry is Happy, Marry is Happy ผู้กำกับ สยามสแควร์ (2560) ผู้กำกับ รักจัดหนัก) รวมทั้งมีบทบาทที่หลากหลาย ทั้งกำกับ MV ผู้ช่วย ลำดับภาพ กำกับซีรีส์ [เด็กใหม่ (2018, 2021)] แต่เหมือนรวมๆ จะมีจุดร่วมคือ เยาวชน วัยรุ่น นี่คือประเด็นที่คุณสนใจไหม อยากให้ช่วยขยายความ
ไพรัช: สิ่งที่ผมสนใจจริงๆ คือความคิดเห็นของผู้คนต่อหนังในแต่ละช่วงเวลามากกว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ผมทำหนังเรื่อง รักจัดหนัก กับช่วงเวลานี้ที่ทำเรื่อง Doctor Climax ผมรู้สึกว่าสังคมเดินหน้ามาไกลมาก ณ ตอนนั้นในช่วงปี 2554 แค่จะพูดเรื่องเซ็กซ์กันอย่างตรงไปตรงมายังเป็นเรื่องยากเลย ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นเรื่องของกฎมายควบคุมด้วย หรือว่าเป็นเพราะบรรยากาศทางสังคมมันไม่ค่อยเอื้อให้เราถกเถียงกันในเรื่องพวกนี้มากเท่าไร หนังเรื่อง รักจัดหนัก จึงโดนด่าตั้งแต่คิดจะทำฉายในโรงเลย แต่ว่าในปัจจุบันที่ Doctor Climax กำลังจะฉาย ผมรู้สึกว่าสังคมไปไกลและค่อนข้างเปิดกันพอสมควรแล้ว มันจึงขึ้นอยู่กับว่าคนดูเขาจะถกเถียงกันในประเด็นไหนมากกว่า และสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเลยคือเมื่อมีข่าวว่า Doctor Climax กำลังจะฉาย โดยเป็นเรื่องที่สื่อสารตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเซ็กซ์ แต่ก็ไม่ได้มีใครมาดรามาว่ามีซีรีส์ที่จะพูดเรื่องเพศมาฉายเลย
อยากรู้กระบวนการทำงานร่วมกันของผู้กำกับ 2 คน แบ่งงานกันอย่างไร
คงเดช: พวกเราแบ่งตอนกันเลยครับ พอเขียนบทเสร็จแล้วได้ข้อสรุปว่าปกป้อง (ไพรัช คุ้มวัน) จะมาร่วมกำกับกับผม ก็แบ่งตอนกันทำคนละ 4 ตอน ผมทำตอนที่ 1, 2, 3, 8 ส่วนปกป้องทำ 4, 5, 6, 7 ดังนั้นมันเหมือนกับว่าผมทำหน้าที่เซ็ตตัวละคร โทนเรื่องของซีรีส์ให้เรียบร้อยก่อน พอถึงจุดหนึ่งแล้วตัวละครจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกเยอะแยะ ก็จะส่งไม้ต่อให้ปกป้องรับ แล้วตัวเราก็มาขมวดจบช่วงท้าย มันเป็นการออกแบบการทำงานที่พวกเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นยังไงนะ (หัวเราะ) เป็นวิธีที่แปลกเหมือนกัน เป็นการทดลองกันประมาณหนึ่ง เพราะว่าโดยปกติแล้วซีรีส์ที่มีผู้กำกับหลายคนก็มักจะนำโดย showrunner แต่เรื่องนี้จะแตกต่างจากตอนที่ปกป้องกำกับซีรีส์เรื่อง เด็กใหม่ เพราะเรื่องนั้นเป็นแบบจบในตอน เป็นเรื่องใครเรื่องมันไปเลย แต่ว่าครั้งนี้มันแบ่งตอนกันทำโดยที่เนื้อเรื่องยาวต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ดังนั้นในขั้นตอน pre-production จึงต้องคุยกันให้เยอะ ทำความเข้าใจกันให้มาก ต้องตีความตัวละครให้หลากหลายมุม เมื่อไปถึงจุดที่เราคุยกันมากพอแล้ว ต่างคนก็จะต่างมีอิสระในการจัดการส่วนของตัวเองได้
ไพรัช: คล้ายกับว่ามีลู่วิ่งแล้ว เราก็แค่วิ่งไปตามลู่นั้น
คงเดช: ใช่ๆ
ตอนถ่ายช่วงที่ไม่ใช่พาร์ตของตัวเองมีแอบอยากรู้ แอบไปดูบ้างมั้ย
คงเดช: มันเห็นกันอยู่ตลอด เพราะว่าตอนถ่ายทำเราออกกองด้วยกันตลอด เมื่อเราไปดูโลเคชันสักหนึ่งแห่งมันก็จะมีอยู่ในทั้งตอนของเราและตอนของปกป้อง ก็จะมานั่งคุยกันตลอดว่าเราจะถ่ายแบบไหน อย่างไรต่อ มันเห็นกระบวนการร่วมกัน
ไพรัช: ผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างเป็นงานกลุ่มพอสมควร อย่างที่พี่เดชยกตัวอย่างตอนไปดูโลเคชัน เราก็จะมองเห็นภาพร่วมกันว่าแต่ละตอนจะมีซีนอะไรบ้าง จะมีการแบ่งเค้กกันอย่างลงตัวว่า ถ้าสมมติบ้านมี 2 ชั้น เดี๋ยวพี่เดชใช้ตรงนี้ ผมใช้ตรงนี้นะ ก็พยายามจะช่วยหาทางออกให้กันทั้งคู่เลย
คงเดช: บางโลเคชัน มันโอ้โห มีถ่ายจำนวนซีนเยอะมากเลย ทำยังไงดีนะให้มันไม่ซ้ำกัน ก็จะมาช่วยกันคิด พยายามหาทางออกด้วยกัน ระหว่างนั้นก็จะเห็นกันอยู่ตลอดว่าใครคิดอะไรอยู่ ได้คุยกันตลอด
ในการร่วมกันกำกับมีอุปสรรคบ้างมั้ย
คงเดช: เราก็ต่างให้อิสระและเคารพกัน เมื่อผ่านการจูนกันมาเรียบร้อยแล้วว่าตัวละครมีที่มาที่ไปยังไง ที่เหลือเราต่างก็ให้พื้นที่กันและกันในการออกแบบวิธีเล่าว่ามันจะเป็นยังไง
ไพรัช: สำหรับผมคิดว่ามันค่อนข้างง่ายต่อการทำงาน เพราะพี่เดชเป็นคนเขียนบทเรื่องนี้เองด้วย ถ้าเกิดเรามีข้อสงสัยตรงไหนก็จะถามพี่เดชได้โดยตรง เราก็เลยค่อนข้าง follow direction ของพี่คงเดชไว้ค่อนข้างเยอะ แต่ในขณะเดียวกันตรงไหนที่มีพื้นที่ให้ได้ลองทำนู่นทำนี่ก็จะพยายามใส่ไอเดียใหม่ๆ เข้าไปครับ
พอเป็นเรื่องที่ย้อนยุค การทำรีเสิร์ชเรื่องเพศมีประเด็นอะไรที่ทำให้เราประหลาดใจบ้างไหม
คงเดช: ความน่าสนใจคือไปเจอว่าเรื่องเพศที่เราคาดไม่ถึงมันมีมานานแล้ว มีมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่เราแล้ว เรื่องเพศมันเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร มันเเซ่บกันมาก่อน มันวิตถารกันมานานแล้ว แต่นั่นยิ่งเป็นตัวตอกย้ำว่า เรายังอยู่ในประเทศที่สังคมไม่ยอมพูดถึงและไม่ยอมรับในเรื่องนี้กัน เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาพูดกันอย่างสร้างสรรค์ให้มันมีประโยชน์
เหตุใดถึงเลือกจะเขียนบทโดยหมุนย้อนเวลากลับไปในยุคนั้น เพราะสังคมเราขยับเรื่องนี้มาไกลพอสมควรแล้ว คุณอยากให้เรื่องราวในซีรีส์มันทำงานอย่างไรกับสังคมปัจจุบัน
คงเดช: เมื่อมันเป็นหนังพีเรียด เราจะนึกถึงคำว่า ‘look on a hindsight’ หมายความว่า เมื่อคนในยุคปัจจุบันมองย้อนกลับไปในอดีตก็จะเห็นอะไรได้ชัดเเจ้ง มันมีประโยชน์ 2 อย่างก็คือ เราจะได้เห็นการเคลื่อนที่ของสังคมที่มาไกลมาก และในขณะเดียวกันเราก็ยังได้เห็นว่าบางสิ่งบางอย่างไม่ต่างจากเดิมเลย แม้ว่าจะผ่านมาแล้ว 40-50 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มันมักจะเป็นการฉุดรั้งของคนรุ่นก่อน มาจากค่านิยมที่ครอบทับหรืออะไรต่างๆ นานา หลายอย่างยังถูกดึงจากฝ่ายอนุรักษนิยม เราว่าความพีเรียดมันสะท้อนได้หลายอย่างว่าเราในตอนนี้กำลังอยู่ในจุดไหน
ไพรัช: ผมคิดว่าแค่ได้ดูว่าคนในยุคก่อนหน้านี้เขา struggle กับเรื่องอะไรอยู่ก็สนุกแล้ว
แม้ปัจจุบันบางสิ่งมันไม่ใช่อุปสรรค์แล้ว แต่ว่าแม่งโครตจะเป็น big deal ของคนในบางช่วงเวลาเลย สิ่งเหล่านั้นก็จะกลายมาเป็นปัญหาและอุปสรรค์ต่างๆ ของตัวละคร ซึ่งสำหรับผม มันเป็น bad joke มันขำ แต่ก็ขำไม่ออก เพราะบางสิ่งบางอย่างมันดันยังตกค้างอยู่ในปัจจุบันนี้อยู่
คงเดช: และแม้ว่าในปัจจุบันนี้เราจะสามารถเข้าถึงเรื่องพวกนี้ได้ง่าย แต่มันก็เป็นการเข้าถึงที่ได้รับการดูแลที่ดีไหม เราเองก็ไม่แน่ใจ และในปัจจุบันเราก็ยังคงเห็นว่ามีดรามาในเรื่องค่านิยมเก่าๆ ที่ยังคงแฝงอยู่ เรารู้สึกว่าบางทีสังคมมันอาจไม่ได้เคลื่อนไปมากอย่างที่คิด อาจจะเห็นว่าในส่วนของ physical หรือการเข้าถึงจะเกิดการเคลื่อนไปเยอะ แต่ในส่วนที่เป็นนามธรรมหรือแนวความคิดมันกลับถูกชักเย่อกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปีแล้วก็ตาม
ไพรัช: เหมือนว่าทัศนคติของสังคมก็ยังไม่ค่อยเปลี่ยนอย่างที่คิด
พอเป็นซีรีส์พีเรียด ต้องทำงานกับโลเคชันอย่างไรบ้าง
คงเดช: พอเราจะต้องถ่ายหนังที่ใช้สถานที่ที่เก่า ความยากของมันคือเราอยู่ในเมืองที่ไม่เก็บประวัติศาสตร์ ดังนั้นหมายความว่าเมื่อเราจะหาสถานที่ใดสถานที่หนึ่งมาเป็นโลเคชัน มันมีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก เราจำเป็นต้องหาโลเคชันหลายสถานที่เพื่อประกอบร่างให้มันกลายเป็นหนึ่งสถานที่ใหญ่ เช่น เราต้องหาสถานที่สำหรับถ่ายด้านหน้าสำนักพิมพ์หนึ่งที่ ข้างในสำนักพิมพ์อีกหนึ่งที่ เเล้วเราก็จะถ่ายให้เห็นด้านหลังซึ่งก็คือ ตึกเวิลด์ แทรเวล เซอร์วิส อีกที่หนึ่ง สิ่งเหล่านี้มันก็มีผลกับการออกแบบการถ่ายทำต่างๆ แต่ก็เป็นเพราะว่าการถ่ายหนังพีเรียดในบ้านเรามันยาก เพราะเราไม่ได้เก็บสถาปัตยกรรมอะไรเอาไว้อย่างที่ควร เราไล่ทุบทิ้งและสร้างห้างอย่างเดียว
เวลาถ่ายทำหากเป็นฉากภายนอก เราถ่ายช่วงถนนที่เป็นตึกเก่าเราถ่ายให้เห็นได้แค่นิดเดียว พอยิงกล้องกลับมาอีกด้านก็ต้องไปหาอีกที่หนึ่งถ่าย หรือมันก็จะกลายเป็นงานหนักของ CG ที่ต้องคอยลบสิ่งที่ไม่ควรจะโผล่มา และต้องคอยเติมส่วนที่ขาดไป
ไพรัช: ความยากในการต่อจิ๊กซอว์ของโลเคชัน สำหรับผมมันสะท้อนทุกอย่างเกี่ยวกับการรักษาประวัติศาสตร์ของบ้านเราเลย
จริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องโลเคชันที่ทำงานยาก เพราะในพาร์ตของการรีเสิร์ชเอง ผมคิดว่าหลักฐานที่หลงเหลืออยู่หรือว่าความสมบูรณ์ของมันไม่ได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราต้องหาหนังเก่ามาดูเพื่อเป็น reference แต่ material ที่เรามีอยู่มันเป็นแค่ซีดี ดังนั้นภาพมันก็จะไม่ชัดสักเท่าไร หรือว่าอย่างพาร์ตที่เราต้องใส่ฟุตเทจจริงของยุคสมัยนั้นเข้าไป พอได้ค้นหาจริงๆ มันกลับกลายเป็นว่าคนที่บันทึกไว้ส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติที่เขาเข้ามาทำงานในช่วงเวลานั้น น้อยมากที่ material พวกนี้จะมาจากคนไทยและถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
คงเดช: เราหลงเหลือความสมบูรณ์พร้อมที่จะใช้งานจริงๆ น้อย
อยากทราบแนวคิดในการดีไซน์คาแรคเตอร์ตัวละครแต่ละตัว
คงเดช: ผมคิดว่าตัวละครแต่ละตัวก็มีหน้าที่มีการเดินทางของมัน มีเรื่องที่เราอยากจะเล่าผ่านพวกเขา เช่น ตัวละครหมอนัท (ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) เขาเป็นภาพแทนของคนที่อยู่ในจารีต อยู่ในกรอบที่ถูกครอบเอาไว้ พอเขาค้นพบว่าสามารถปลดปล่อยแฟนตาซีของตัวเองออกมาได้มันจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง ตัวละครอย่างลินดา (อรัชพร โภคินภากร) ซึ่งเป็นสาวหัวก้าวหน้า มีความเป็นเฟมินิสต์ด้วย เขาก็เป็นตัวละครที่สะท้อนภาพของหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้นที่เป็นช่วงเวลาปลายยุค 70 ยุคบุปผาชน เสรีชนอะไรต่างๆ นานา ตัวละครอย่างตุ๊กตา (เฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชค) ก็คือตัวละครที่อยู่ในกรอบ จนกระทั่งในที่สุดก็จะเจอสถานการณ์หรือมีเเรงขับดันอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับเธอ ลักษณะของตัวละครหรือสิ่งต่างๆ สะท้อนยุคสมัยของมันหมด ตัวละครสำหรับการทำภาพยนตร์แต่ละเรื่องมันก็คือคนที่ทำหน้าที่ deliver สิ่งที่เราอยากจะพูดออกมาให้กับคนดูฟัง
ถ้าเรื่องราวในซีรีส์เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันจะเป็นอย่างไร ตัวละครจะเป็นแบบไหน
คงเดช: เรื่องราวก็คงจะเปลี่ยนไปเป็นอีกเรื่องเลย เพราะว่าสื่อมันไม่ใช่แบบเดิม คงจะไม่ได้พูดกันเรื่องการตอบคำถามทางเพศแล้ว ยุคนี้พอพูดเรื่องเพศมันก็จะมีเรื่องอื่นๆ แตกย่อยกันออกไป มีการเข้าถึงได้มากขึ้น มันอาจเป็นเรื่อง consent (ยินยอม) เพราะว่าบริบทยุคปัจจุบันมันจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะหนังประเภทไหน หนังแอ็กชัน หนังรัก หนังที่ว่าด้วยเรื่องเซ็กซ์ พอมันเปลี่ยนบริบทปุ๊บ มันก็มีประเด็นที่แตกต่างกันออกไป
ไพรัช: ผมว่าถ้าเปลี่ยนช่วงเวลาในหนัง คอนเซปต์ของหนังก็คงจะเปลี่ยนไปเลย เราคงจะพูดกันในประเด็นที่คนปัจจุบันสนใจแทนที่จะเป็นเรื่องที่คนยุคนั้นสนใจ
พอโลกของการทำหนังหรือกระทั่งโลกจริงมันเปลี่ยนไป เช่น พฤติกรรมของผู้ชม เราปรับตัวอย่างไร อย่างปกติทำหนังฉายจอใหญ่ ตอนนี้มาทำซีรีส์ฉายจอเล็กให้คนดูอยู่ที่บ้าน วิธีการมันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
คงเดช: มันก็อาจจะมีบ้างที่การวางคอมโพสต์บางอย่างต้องเผื่อไว้สำหรับให้คนดูในโทรศัพท์จอเล็กๆ แล้วเขายังคงมองเห็น แต่ว่าเราก็ยังคงทำมันในภาษาของภาพยนตร์อยู่ดี เราแค่ทำความเข้าใจว่าธรรมชาติของ medium นี้มันเป็นยังไง และทำให้มันออกมาสมดุลกับ medium มากกว่า ส่วนพฤติกรรมคนดูที่เราคิดว่ามันเปลี่ยนไป อย่างเช่นเวลานั่งดูหนังในโรง คนดูมักถูกคอนโทรลอยู่ประมาณหนึ่งด้วยรูปแบบของโรงหนัง แต่พอพูดถึงการดูซีรีส์อยู่ที่บ้าน เราก็รู้ว่าธรรมชาติของการดูซีรีส์อยู่ที่บ้านมันเป็นอย่างไร เราก็แค่ปรับตรงนั้น แต่เราไม่ได้ทำให้ภาษาภาพยนตร์มันเสียหาย มันก็ทำงานของมันอย่างเต็มที่ ดีไม่ดีในซีรีส์เรื่อง Doctor Climax อาจเป็นงานที่เราได้งัดภาษาภาพยนตร์ออกมาทุกกระบวนการด้วยซ้ำไป เพราะคอนเซปต์ของซีรีส์มันเอื้อให้เราได้ดีไซน์หลายอย่างเต็มไปหมดเลย แล้วเราก็สนุกมากในการทำ
ไพรัช: จริงๆ เหมือนพวกเราทำหนังกันบนความเชื่อว่าคนดูจะเอากับเราด้วยมากพอสมควร คือด้วยเนื้อเรื่องมันเอื้อให้เราได้ใช้ลูกเล่นในการเล่าเรื่อง ออกแบบซีนให้มันสนุกต่างกันออกไป พอซีรีส์ถูกย้อนไปในปี 2521 มันจะเป็นช่องให้เราเอาความเรโทร เอารายการทีวีเก่าๆ มาเล่นในซีรีส์ได้ ซึ่งในฐานะคนทำก็รู้สึกสนุก และก็รู้สึกว่าคนดูก็น่าจะสนุกไปกับเราได้
พอรู้ว่าซีรีส์จะถูกดูบนมือถือที่จอเล็ก หรือทีวีแต่ละบ้านอาจจะมีความชัดไม่เท่ากัน ในขั้นตอนการทำเราแก้ไขมันอย่างไร
คงเดช: เราไม่แก้ครับ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรา ในการทำงานมันจะมีสิ่งที่เราควบคุมได้กับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ มันมีหลายปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ อย่างเช่นคนจะเลือกกดดูซีรีส์นี้ในเวลาไหน เขาจะดูกันกี่คน เขาจะดูบนรถไฟฟ้าหรือเปล่า ก็แล้วแต่เขา มันเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เราก็แค่ทำในส่วนของเราไป
หากดูซีรีส์นี้ในที่สาธารณะมันจะ awkward ไหม
คงเดช: มันก็คงต้องมีแหละ เพราะมันเป็นซีรีส์ที่ว่าด้วยเรื่องเซ็กซ์ ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าจะมีใครใจถึงไปดูในรถไฟฟ้าโดยไม่เสียบหูฟังไหม เขาจะกล้ากันขนาดนั้นหรือเปล่า
หากย้อนมองตัวเองกลับไปตลอดระยะเวลาของการทำงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะในฐานะผู้กำกับภาพ นักวาดการ์ตูน นักดนตรี คนทำหนัง เราถูก disrupt จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีเสมอๆ คุณก้าวผ่านแต่ละขยักมายังไงบ้าง
คงเดช: พอผมทำงานมานานก็จะรู้สึกว่าทั้งโลกที่เราอยู่และเทคโนโลยีมันหมุนไป เราอยู่มาตั้งแต่ยุคที่ถ่ายหนังด้วยฟิล์ม พอเขาเปลี่ยนเป็นดิจิทัล เราก็มาถ่ายดิจิทัลแทน พอสตรีมมิงมาถึง เราก็มาทำซีรีส์ลงฉายทางสตรีมมิง โลกมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา วิวัฒนาการตลอดเวลา เราจะอยู่รอดได้ก็ต้องปรับตัว หากเรายังอยากที่จะทำงานในอาชีพนี้เมื่อเกิดการเปลี่ยนเเปลงเราก็ต้องดีลกับมันให้ได้ ไม่งั้นก็อกแตกตายพ่ายแพ้ไป (หัวเราะ) แต่สิ่งที่มันเปลี่ยนไปมากกว่าเครื่องไม้เครื่องมือของการผลิตภาพยนตร์ก็คือ คนดูที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องดีลและเป็นเรื่องที่เราเองควบคุมได้น้อยที่สุด ยิ่งช่วงหลังโควิดการเปลี่ยนแปลงของคนดูยิ่งชัดขึ้น การกักตัวอยู่บ้านทำให้เขามีพฤติกรรมในการดูหนังเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน เราจะเห็นภาพคนเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ แต่ก็ยังนั่งไถจอโทรศัพท์ไปด้วย หนังทุกวันนี้มันถูกทำให้อายุสั้นลง อายุสั้นไม่ได้หมายถึงแค่ความยาวของหนัง และไม่ใช่แค่เพราะการมาถึงของคลิป TikTok แม้บางทีหนังก็ต้องไปสู้กับสิ่งนี้ แต่ด้วยตัวหนังเองมันก็ไม่ได้มีอายุที่ยาว
ยกตัวอย่างเช่น ใน My List ที่เราเซฟเอาไว้ว่าจะดูเรื่องอะไรบ้างบนสตรีมมิง ทุกวันนี้มันมีแต่จะเพิ่มขึ้น เราไม่เคยเคลียร์มันได้เลย อาทิตย์หน้าก็มีมาใหม่อีกแล้ว คือมันกลายเป็นของที่อายุสั้นลงเพราะว่ามันมีเรื่องใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาตลอดเวลา ในฐานะ filmmaker เราทำอะไรไม่ได้ แต่เราก็ยังต้องทำหนังที่ดีที่สุดออกมาให้ได้
วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) เคยบอกว่า ‘film time’ ยืดยาวกว่า ‘life time’ ตอนที่เขาได้รางวัล life time ที่เบอร์ลิน นั่นหมายความว่าตัวหนังมันจะผ่านกาลเวลาไปได้ยาวนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวหนังเอง หน้าที่ของเราคืออย่าไปทำให้มันกลายเป็นของอายุสั้นตามยุคสมัย
ในทรรศนะของคนทำหนัง คิดว่าใครบ้างหรือคนวัยไหนที่มีปัญหาทางเพศมากที่สุด
คงเดช: เราคิดว่าคนมีปัญหาทางเพศได้ทุกเมื่อทุกวัย เพียงแต่ว่าหลายปัญหามันถูกหมกเม็ดซุกเอาไว้อยู่ใต้พรม แม้แต่คู่สมรสเองก็ไม่เปิดเผยความรู้สึกกัน ปัญหามันมีอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ถูกพูดออกมาเท่านั้นเอง เรามีปัญหาเซ็กซ์กันได้ทุกเพศทุกวัยทุกช่วงเวลา
ในซีรีส์มีโฟกัสไหมว่าจะ explore คนกลุ่มไหนเป็นพิเศษ
คงเดช: ถ้าดูในซีรีส์มันก็จะมีจดหมายจากทางบ้านส่งเข้ามาถึง Doctor Climax ซึ่งตัวจดหมายก็จะสะท้อนปัญหาในแต่ละวัย วัยที่ยังไม่ประสาหรือจัดการกับมันไม่ถูก หรือวัยที่ใช้เป็น แต่ดันใช้ผิดประเภทก็มี ยิ่งถ้าดูจนจบจะรู้ว่ามันมีปัญหาหลากหลายกลุ่มเต็มไปหมด
อะไรที่ทำให้เราต้องกลับมาสำรวจประเด็นนี้อยู่เรื่อยๆ แล้วมันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
คงเดช: เรื่องเพศมันมีมาตลอดการมีชีวิตอยู่ของมนุษยชาติ เราทำโปรเจกต์นี้เพราะเซ็กซ์มันไม่ได้เพียงสะท้อนแค่ตัวมันเอง แต่มันสะท้อนไปยังสังคมในช่วงเวลาต่างๆ อย่างที่บอกว่าถ้าเปลี่ยน setup ของซีรีส์มาเป็นยุคปัจจุบัน เรื่องมันก็จะเปลี่ยนไปเลย แล้วเรื่องที่เปลี่ยนไปมันก็มาสะท้อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับยุคนี้ แล้วต่อให้เรื่องนี้มันเป็นพีเรียดที่สะท้อนภาพยุคนั้น แต่ไอ้การสะท้อนภาพยุคนั้นมันก็สามารถสะท้อนมาถึงยุคปัจจุบันได้เหมือนกัน ภาพยนตร์มันเป็นแบบนั้นสำหรับเรา
อีกข้อสังเกตหนึ่งคือเรื่องเพศ (gender) ที่เป็นประเด็นของยุคสมัย คนช่วงวัยรุ่นหรือคนช่วงทำงานตอนต้นจะสนใจเรื่องพวกนี้เป็นพิเศษ คิดว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
คงเดช: เพราะว่าช่วงวัยรุ่นมันเป็นวัยเจริญพันธุ์ ดังนั้นหมายความว่ามันจะเป็นช่วงเวลาที่ความคิดหรือความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้มันเยอะที่สุด พอเข้าสู่วัยทำงานมันก็จะมีโฟกัสไปสู่บางเรื่อง หรือว่าเมื่อคุณมีครอบครัวมีลูก คุณจะคิดถึงมันน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันทำให้คุณเลิกคิดเรื่องเพศนะ เพียงแต่ว่ามันมีสิ่งที่แชร์ออกไปมากขึ้น แต่ว่าช่วงวัยรุ่นหรือช่วงเริ่มทำงานมันเป็นวัยที่โดยเฉลี่ยทั่วไปคนยุคก่อนก็มีลูกกันแถวๆ นี้แหละ หรือก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำไป เราเลยคิดว่ามันเป็นเรื่องของภาวะสังคมและเป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่สุกงอม
ไพรัช: คือผมคิดว่า เมื่อใดที่สังคมเกิดการเปลี่ยนเเปลง กำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมันจะอยู่ที่วัยรุ่นนี่แหละ เพราะเป็นวัยเจริญพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กับการค้นหาตัวเองของคนแต่ละยุคสมัย ซึ่งผมคิดว่าไอ้การค้นหาตัวเองในยุคปัจจุบันนี้ทำให้เกิดเฉดสีต่างๆ ของเพศที่มันเยอะขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก มันเป็นผลมาจากการที่เราได้พูดคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น ณ จุดสตาร์ทว่า เฮ้ย โลกเรามันมีเพศมากกว่า 2 เพศนะ
เมื่อ 20 ปีก่อน เราจะพูดแค่คำว่าเพศที่ 3 แต่พอสังคมมัน evolve ไป คำว่าเพศที่ 3 มันไม่มีแล้ว มันกลายเป็นความหลากหลายทางเพศที่เราเลือกกันเองได้ว่าจะเป็นแบบไหน ซึ่งปัจจุบันมันมีมากไปกว่า LGBTQ+ มันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว
คงเดช: เราเคยเห็นบทความที่พูดว่าวัยรุ่นยุคใหม่หมกหมุ่นเรื่องเพศน้อยลง หมายความว่ามีคนที่เป็น asexual (ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ) เยอะขึ้นด้วยซ้ำไป ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีความโรเเมนติกกับใครสักคนนะ มีแฟนได้ แต่อาจจะไม่ฝักใฝ่ทางเพศ มันมียิบย่อยไปถึงขั้นนั้นแล้ว วัยรุ่นยุคนี้สนใจเรื่องเพศน้อยลงด้วยซ้ำไปถ้าเทียบกับยุคเรา เราว่ายุคเราหมกหมุ่นทางเพศกว่าเยอะเลย ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเขาเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนหรือเปล่า เรื่องเพศมันจึงไม่ได้ลึกลับอะไรสำหรับเขาเลย การอยู่ด้วยกันก่อนแต่งตั้งแต่เป็นนักศึกษามันก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องอกอีแป้นจะแตกเหมือนเมื่อก่อนแล้ว นั่นหมายความว่า เขาไม่สนใจแม้แต่ชีวิตสมรสด้วยซ้ำไป เพราะเขาได้ทดลองมาแล้วและได้รู้ว่าปลายทางมันเป็นยังไง มันกลายเป็นเรื่องที่ตัวเขาเองได้พัฒนาการส่วนนี้เร็วมาก ทำให้เขาตัดสินใจที่จะสนใจหรือไม่สนใจมันก็ได้ เราก็เลยไม่แน่ใจว่าเด็กยังหมกหมุ่นทางเพศเท่ากับยุคเราไหม สมัยก่อนหมกหมุ่นกันมาก เพราะมันลึกลับเหลือเกิน
เขาอาจจะสนใจมันในมิติทางสังคมมากกว่าหรือเปล่า
คงเดช: ใช่ๆ พอพูดอย่างนั้นมันก็ไม่ค่อย sexual แล้วนะ
ไพรัช: มันดูเป็นเรื่องของ identity มากกว่า ดังนั้นความน่าสนใจคือในซีรีส์เรื่องนี้มันก็มีสิ่งที่เป็นเรื่องปกติของสังคมสมัยก่อน ซึ่งกลายมาเป็น bad joke ของสังคมในปัจจุบัน ผมเลยอยากรู้ว่าหากเด็กเขาดูซีรีส์ เขาจะรู้สึกอย่างไรกับเคสแบบนี้ เช่น เคสที่ตัวละครโดนจับแต่งงานคลุมถุงชน คือมันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ในยุคปัจจุบันแล้ว อยากเห็นรีแอคชั่นของคนดูเหมือนกันว่า เมื่อเขาพบเจอกับสิ่งนี้เขารู้สึกยังไงต่อมัน
คงเดช: เรื่องเซ็กซ์มันเป็นหัวข้อที่แค่เรามานั่งคุยกันมันก็มีมุมที่ดิเบตได้ตั้งเยอะตั้งแยะ และเรารู้สึกว่าสิ่งนี้ควรจะได้รับการพูดถึงเยอะขึ้น
คาดหวังว่าซีรีส์เรื่องเซ็กซ์จะช่วยต่อบทสนทนากับคนปัจจุบันยังไง
คงเดช: อย่างแรกคงคาดหวังให้เกิดบทสนทนาก่อน นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้ามีคนพูดคุยกันเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นรูปแบบไหน เราก็ถือว่ามันได้ทำหน้าที่ของมัน โดยสมบูรณ์ เรื่องที่มันถูกปกปิดมานาน วันหนึ่งถ้าคนได้มาพูดคุยกันบ่อยๆ มันก็จะมีอีกหลายเรื่องที่จะถูกเอามาเปิดมากขึ้น
ไพรัช: จริงๆ ในเรื่องจะมีอยู่หลายเคสที่ผมใช้คำว่า เดินอยู่บนเส้นลวดศีลธรรม ทั้ง ณ เวลานั้นและเวลานี้ รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันก็ยังเป็นประเด็นที่ชวนถกเถียงอยู่ ว่ามันผิดไหม หรือว่าก็มันเป็นสิทธิ์ของตัวละครที่จะทำแบบนั้นได้
หากมองซีรีส์เรื่องนี้ในฐานะผู้ชม (audience) คุณมองซีรีส์เรื่องนี้ยังไง
คงเดช: เราคิดว่าอย่างน้อยที่สุด มันเป็นซีรีส์ที่ว่าด้วยเรื่องเซ็กซ์ ซึ่งไม่ได้มีให้เห็นบ่อยนักในเมืองไทย และการที่เราจะได้สร้างบทสนทนาในเรื่องที่ปกติแล้วสังคมไทยเรามันชอบปากว่าตาขยิบ หรือมุบมิบกับบางเรื่องบางประเด็น ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นเรื่องที่เปิดเผยและพูดคุยกันได้อย่างสร้างสรรค์ได้แล้ว ดังนั้นเวลามีซีรีส์เรื่องไหนที่ไปแตะ topic ใดๆ อะไรแบบนี้ เราสนับสนุนเต็มที่ ต่อให้เราไม่ได้ทำก็ตาม
ไพรัช: ประเด็นต่างๆ ที่ซีรีส์กำลังโยนใส่คนดู ผมคิดว่ามันถึงเครื่องแน่นอน
แม้ว่าตัวซีรีส์มันจะว่าด้วยเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องใหญ่มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันมันก็มีเรื่องอื่นอีกมากมายตามมาเป็นพรวนที่เราได้สอดเเทรกไว้ในเรื่อง ซึ่งผมว่าประเด็นที่ชวนถกเถียงเหล่านี้ เป็นประเด็นที่คนดูจะดูเอาสนุกก็ได้ หรือว่าจะดูแล้วมาถกเถียงกันต่อเพื่อหา solution ให้มันก็ได้ ผมรู้สึกว่าสนุกดีที่จะได้พูดคุยกัน อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ไอ้บรรยากาศของเรื่องนี้มันพาคนดูย้อนกลับไปสัก 40-50 ปีที่แล้ว ซึ่งผมในฐานะที่ได้ดูไปแล้ว 8 ตอน (หัวเราะ) ก็รู้สึกว่าเราจะไม่ค่อยได้เห็นสถาปัตยกรรมหรือว่าชีวิตชีวาในแบบนี้ได้ง่ายๆ พอเรามีโอกาสได้ย้อนกลับไปค้นดูหนังเก่าในไทยเองก็ไม่ได้ถูกอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีเป็นจำนวนมากพอที่เราจะมานั่งดูชีวิตชีวาของผู้คนในยุคนั้น คือยุคนั้นพอเขาฉายหนังเสร็จเขาก็อาจจะทิ้งฟิล์มไปเลย หรือแม้เเต่สถาปัตยกรรมต่างๆ ในกรุงเทพฯ เอง มันก็ทยอยหายไปเรื่อยๆ สำหรับผมเเค่ได้พาตัวเองย้อนกลับไปดูอะไรเหล่านี้ก็สนุกแล้ว ถ้าบวกกับประเด็นที่มันพ่วงตามมามากมายก็จะยิ่งสนุกขึ้นไปอีกครับ