“I can’t breathe” จาก จอร์จ ฟลอยด์ ถึงมุสลิมที่ตากใบ: ทำไมเราจึงมีมนุษยธรรมหลายมาตรฐาน

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน ผมมีโอกาสเป็นวิทยากรร่วมกับ ดร.ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ อาจารย์ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ และอาจารย์สุวรา แก้วนุ้ย ในวงเสวนาวิชาการออนไลน์ ‘สันติวิธีและความรุนแรง: กรณีสหรัฐอเมริกา บทเรียนสู่ชายแดนใต้’ ซึ่งสภาประชาสังคมชายแดนใต้กรุณาเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น

เริ่มต้นทีแรก เราวางแผนกันว่าจะดำเนินการเสวนาให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว ด้วยประเด็นและแง่มุมการอภิปรายขยับขยายออกไปอย่างได้อรรถรส วงเสวนาของพวกเราจึงเลยเถิดไปเป็นราว 2 ชั่วโมงครึ่ง (ท่านผู้อ่านสามารถติดตามรับชมการเสวนาย้อนหลังแบบเต็มๆ ได้ในเพจเฟซบุ๊คชื่อ สภาประชาสังคมชายแดนใต้

ประเด็นชวนคุยของผมในวงเสวนาดังกล่าวยืนอยู่บนโจทย์ที่ว่า สถานการณ์ที่อเมริกาสะท้อนภาพกว้างอะไรต่อการทำงานของอัตลักษณ์ (identity)  

ผมใช้กรณีตัวอย่างหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นจุดเริ่มเพื่อนำเสนอข้ออภิปรายโจทย์ข้างต้น

เราเห็นปรากฏการณ์ที่มีการแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจของผู้คนในสังคมไทยเกี่ยวกับการกระทำต่อคนผิวสี ซึ่งมีการร่วมติดแฮชแท็ก black lives matter กันอย่างกว้างขวาง ท่าทีดังกล่าวก่อตัวเป็นข้อสงสัยตั้งคำถามสำหรับคนจำนวนหนึ่งในทำนองว่า เหตุใดสถานการณ์ทำนองเดียวกัน คือ การถูกกระทำความรุนแรงจากรัฐ แต่เกิดกับกลุ่มชนอื่นที่ไม่ใช่กรณีคนผิวสี ท่าทีของผู้คนในสังคมไทยดูจะเงียบงันผิดกัน เช่น กรณีคนที่เห็นต่างจากรัฐ หรือหลายกรณีในปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้

สถานการณ์ ‘หลายมาตรฐาน’ ทางท่าทีของผู้คนดังกล่าวนี้อาจเป็นเหตุมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยที่ผมเสนอว่าค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างสำคัญมาก คือ การทำงานของสิ่งที่เรียกว่า ‘อัตลักษณ์’

 

อัตลักษณ์ผ่านการวาดภาพวงกลม

อัตลักษณ์ (identity) ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเป็นคุณสมบัติติดตัวแต่กำเนิดของคน หากแต่เป็นสิ่งประกอบสร้างขึ้นจากกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมผ่านสถาบันทางสังคมชนิดต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันพื้นฐาน เช่น ครอบครัว สถาบันการศึกษา มนุษย์เรียนรู้ภายใต้เงื่อนไขของกระบวนการดังกล่าวที่จะกำหนดคุณลักษณะและตำแหน่งแห่งที่ของตนเองให้โยงใยความสัมพันธ์กับโลกทางสังคมที่ห้อมล้อม เพื่อให้คำตอบกับตนเองว่า ‘เราเป็นใคร’ และ ‘เราสัมพันธ์กับโลกที่ห้อมล้อมอย่างไร’ ภาพทัศน์ในจินตนาการประดิษฐ์นี้เองเป็นตัวการสำคัญที่กำหนดผลประโยชน์และพฤติกรรมของเธอ/เขาต่อโลก

เราอาจเข้าใจกระบวนการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของผู้คนซึ่งเป็นกระบวนการที่มีลักษณะนามธรรมได้อย่างเห็นภาพขึ้น ถ้าจะพิจารณาเทียบเคียงว่า เสมือนการวาดภาพวงกลมขึ้นมาทำหน้าที่ 2 แบบอย่างง่าย

หนึ่งคือ ลากเส้นตีวงรอบเพื่อรังสรรค์สำนึกหนึ่งต่อพื้นที่ข้างในวงกลม สำนึกที่ทั้งครอบครองเป็นเจ้าของพื้นที่ข้างในวงกลมนั้น พร้อมๆ กับทั้งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ข้างในวงกลมร่วมกับสิ่งอื่นๆ ที่ถูกจัดวางให้อยู่ภายในพื้นที่ขอบวงนั้นๆ สำนึกร่วมนี้ยึดโยงความเป็นชุมชนหรือความเป็นพวกเดียวกันบางระดับเอาไว้ กระทั่งมนุษย์มีความรู้สึกร่วมกับสุขทุกข์ของสิ่งที่ถูกนับรวมอยู่ภายในชุมชนเดียวกัน หวงแหน และพร้อมปกป้องรักษาพื้นที่ ผู้คน ทรัพยากร และคุณค่าภายในวงกลมประกอบสร้าง ซึ่งบางครั้งก็เข้มข้นถึงพร้อมสละชีพได้ ผมเรียกในภาษาตัวเองว่า สำนึกความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนร่วม (sense of belonging to shared community) ซึ่งอาจจะเป็นชุมชนที่มีอยู่จริงในทางกายภาพ หรือชุมชนในจินตนาการก็สุดแล้วแต่

สองคือ ลากเส้นแบ่งจำแนกพื้นที่นอกวงกลมออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อรังสรรค์สำนึกอีกชุดหนึ่งต่อพื้นที่ข้างนอกชุมชน ซึ่งเราพบเห็นค่อนข้างมากว่าการจัดแบ่งนี้มักจำแนก ‘ข้างนอก’ ออกเป็น 2 กลุ่มอย่างเรียบง่าย ก่อรูปเป็นสำนึกเชิงตัดสินความเป็นมิตรและศัตรูต่อพื้นที่ภายในวงกลม (sense of foe & friend)

ในความเป็นจริงแล้ว ภาพดังกล่าวซับซ้อนกว่าที่คิด ด้วยการลากเส้นวงกลมนี้ทั้งสามารถลากยืดขยายกว้างได้ไกลเท่าใจนึก ทั้งขีดหดแคบได้เท่าใจปรารถนา

แนวคิดอย่างพลเมืองโลก (Cosmopolitanism) ตีวงล้อมเอามนุษย์ทั้งโลกเข้าไว้ภายในพื้นที่วงกลม

ส่วนแนวคิดจำพวกชนเผ่านิยม อย่างชาตินิยมผิวขาว (White Nationalism) หรือแนวคิดความสูงส่งของคนขาว (White Supremacy) คั่นขีดล้อมเส้นรอบวงที่แคบเหลือเพียงเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ไร้เจือปนด้วยชนอื่น

ในความเป็นจริงแล้ว ในชีวิตหนึ่งๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย มนุษย์ลากหรือถูกลากเส้นวงกลมล้อมตนเองหลายภาพ พร้อมกัน ซ้อนทับ ลบ ขีดฆ่า ลากใหม่ ฯลฯ ด้วยเหตุแห่งการเป็นสิ่งประกอบสร้าง อัตลักษณ์ของเราจึงผันแปรไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ มีได้หลายชุดพร้อมกัน และในภาคปฏิบัติการของชีวิตจริง มนุษย์มีแนวโน้มจะ ‘เลือก’ หรือ ‘เกิดการเรียนรู้ว่าจะต้องเลือก/ควรเลือก’ สวมใส่อัตลักษณ์อย่างไรให้เหมาะสม เข้ากับบริบทแวดล้อมและเป้าประสงค์ของตนเองเป็นกรณีๆ ไป พร้อมกับแสวงหาสมดุลที่อัตลักษณ์ชุดต่างๆ ที่ตนสังกัดพอจะสามารถอยู่ร่วมด้วยกันได้

 

สิทธิมนุษยชนเป็นหย่อมๆ

การมีท่าทีเห็นใจคนผิวสีที่ถูกกระทำจากรัฐ พร้อมๆ กับมีท่าทีเพิกเฉยหรือกระทั่งเป็นไปในทางตรงกันข้ามต่อการกระทำของรัฐที่มีต่อกลุ่มชนอื่น กระทั่งเกิดข้อวิพากษ์ที่มิตรสหายของผมเรียกว่า สภาวการณ์ ‘สิทธิมนุษยชนเป็นหย่อมๆ’ นั้น สะท้อนการทำงานของ ‘เส้นวงกลมประกอบสร้าง’ ในจินตนาการมนุษย์ ซึ่งวางความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและชุมชนที่ตนสังกัด กับกลุ่มชนกลุ่มต่างๆ ไว้แตกต่างกัน เช่น

คนคนหนึ่งอาจรู้สึกร่วมกับคนผิวสีในฐานะ ‘มนุษย์โดยทั่วไป’ เจ็บปวดกับการที่มนุษย์คนหนึ่งโดนกระทำอย่างมิชอบ แต่ทว่าหาก ‘มนุษย์โดยทั่วไป’ สวมใส่อยู่ใน ‘อัตลักษณ์ที่ท้าทาย’ ต่อการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ตนเอง ความรู้สึกร่วมดังกล่าวอาจหายไปหรือเปลี่ยนเป็นอีกแบบ

ขณะที่อีกคนหนึ่งอาจอินกับคนผิวสีมากเป็นพิเศษ ด้วยจัดจำแนกวางคนผิวขาวหรือ ‘ฝรั่ง’ ไว้ในกลุ่มที่เป็นภัยต่อ ‘ไทย’ อยู่แล้ว โดยเฉพาะ ‘สหรัฐอเมริกา’ ทั้งในเชิงบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศ และในเชิงที่มองว่าเป็นที่มาของการกัดกร่อนบ่อนทำลายคุณค่า ประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิมอันดีงามของไทย ตลอดจนในเชิงที่มองว่าคนผิวขาวกดขี่เอาเปรียบและแสดงความสูงส่งเหนือกว่าไทย โดยเราก็จะเห็นภาพสะท้อนลักษณะนี้ได้ไม่ยากในหนังละครย้อนยุค รวมถึงประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลักหลายช่วงตอน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สำหรับบุคคลสมมุติคนนี้ ‘ฝรั่ง’ ถูกจัดจำแนกในกลุ่มศัตรูต่ออัตลักษณ์ความเป็นไทย และในเมื่อคนผิวสี ‘แอฟริกันผู้เคยตกเป็นทาส’ ถูกกระทำจากคนผิวขาวในเชิงกดขี่เอาเปรียบ ‘เหมือนกัน’ ศัตรูของศัตรูก็ย่อมเป็นมิตรที่มีภัยคุกคามร่วม 

 

การทำงานของ ‘การเหยียดในเหยียด’

ในทางตรงกันข้าม อีกคนหนึ่งอาจไม่อินกับคนผิวสีเลย ด้วยวางโยงใยความสัมพันธ์อีกแบบ ซึ่งผมพบว่าหลายคนที่แสดงออกเช่นนี้มักมีประสบการณ์ตรงกับสังคมอเมริกันและคนผิวสี นั่นคือ พวกเขารู้สึกว่า ในขณะที่คนผิวสีโดนคนผิวขาวเหยียด คนผิวสีเองก็เหยียด ‘คนเอเชีย’ หนักไม่แพ้กัน ดังนั้น คนผิวสีจึงเป็นกลุ่มที่ถูกจัดจำแนกไม่ต่างจากคนผิวขาวให้อยู่ในหมวดศัตรู ไม่เพียงศัตรูของชนชาติไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นศัตรูต่อ ‘ชนชาติเอเชีย’ ในภาพรวมอีกด้วย  

กรณี ‘เหยียดในเหยียด’ นี้สะท้อนธรรมชาติอย่างหนึ่งว่า อัตลักษณ์นอกจากจะเป็นสิ่งประกอบสร้าง มิใช่ของธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดแล้ว อัตลักษณ์ยังมีลักษณะสัมพัทธ์ ไม่ใช่ของสัมบูรณ์ในตัวเองอีกด้วย กล่าวคือ การจะบอกว่าเราเป็นใครนั้น พูดอีกแบบคือหมายถึงว่า เราแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ดังนั้น การประกอบสร้างอัตลักษณ์จึงจำต้องอาศัยวิธีการเปรียบเทียบอยู่เสมอ และดังนั้นแล้ว การมี ‘คนอื่น’ จึงสำคัญต่อการปรากฏ ‘ความเป็นเรา’ ที่เข้มชัด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การมีพื้นที่ภายนอกวงกลมทำให้การลากเส้นวงกลมมีความหมายพอๆ กับการเกิดพื้นที่ภายในเส้นที่ลากตีวง

ความโชคร้ายมีอยู่ว่า อัตลักษณ์ของมนุษย์มักจัดเรียงเชิงคุณค่าประกอบขึ้นมาด้วยว่า พื้นที่ภายในวงกลมสูงส่งกว่าและดีกว่าพื้นที่ภายนอก หรือพื้นที่ภายนอกเต็มไปด้วยภยันตรายที่จะคุกคามทำลายภายในวงกลมจนแหลกสลาย การเปรียบเทียบเชิงลบเช่นนี้เป็นที่เห็นได้ทั่วไป เพราะเป็นแบบวิธีที่ง่ายมากในการหลอมสำนึกร่วมภายในขึ้นมาที่ทั้งภาคภูมิ หวงแหน และรู้สึกถึงภัยคุกคามร่วมจากภายนอก อันบีบคั้นให้การสมัครสมานสามัคคีรวมพลังเป็นเรื่องจำเป็น

การ ‘เหยียดในเหยียด’ มี function การทำงานในลักษณะดังกล่าวในกระบวนการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มชน เช่นเดียวกับกระบวนการสร้างชาติ (nation-building) นั่นเอง

   

ความเป็นอื่นภายใน

กรณีท่าทีของผู้คนต่อเหยื่อความรุนแรงหลายเหตุการณ์ในความขัดแย้งที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น กรณีหะยีสุหลง เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์กรือเซะ ฯลฯ อันที่จริงอาจมีรากความรู้สึกที่น่ากลัวยิ่งกว่าที่กล่าวมาเสียอีก เพราะสำหรับหลายคนในสังคมไทยแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้นับได้ไม่เต็มที่นักว่าเป็น ‘คนนอกวงกลม’ หากแต่เป็นกลุ่มคนที่ประวัติศาสตร์และกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมลากเส้นตีล้อมว่ารวมเลือดเนื้อชาติเชื้ออยู่ ‘ข้างใน’ ด้วยกัน ซึ่งควรคาดหวังได้ว่าจะ ‘เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน’ มิใช่ ‘แปลกแยกแตกต่าง’

การลากเส้นสร้างวงกลมอัตลักษณ์หนึ่งๆ ขึ้นมาจะมีจุดศูนย์กลางวงกลมอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เป็นจุดศูนย์กลางของคุณค่ามาตรฐานสมมุติที่อุดมคติมากเสียจนแทบไม่มีสมาชิกชุมชนรายใดมีคุณค่าเหล่านี้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ไม่บกพร่องได้เลย

แต่หลายคนก็มักยึดมั่นถือมั่นกันอยู่กับคุณค่าแก่นแกนประดิษฐ์เหล่านั้น และกลุ่มชนที่มีรัศมีห่างจากเส้นผ่าศูนย์กลางสมมุติออกไปไกลที่สุด ไม่พยายามย่นรัศมีเข้าใกล้จุดศูนย์กลาง หรือกระทั่งพยายามถีบถอยเพิ่มรัศมีความห่างของกลุ่มตนออกจากเส้นผ่าศูนย์กลางสมมุติออกไป ย่อมถูกมองเป็นภัยจากภายในที่น่าเจ็บปวดเสียยิ่งกว่าภัยจากภายนอก ด้วยสำทับเข้ากับทัศนะว่าอัตลักษณ์ของเรานั้นดีแล้ว ดีเสียยิ่งกว่าภายนอกมากมายเท่าใดแล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มชน ‘ภายใน’ ที่ไม่ยอมรับ ‘ชังชาติ’ และอยากเป็นอื่น ก็ก่อตัวขึ้นกลายเป็น ‘ความเป็นอื่นภายใน’ ซึ่งจำต้องปราบปราม กดทับ หรือกำจัดทิ้ง อย่างชอบธรรม 

เป็นรอยเส้นตะปุ่มตะป่ำ สีไม่เข้าพวก จุดละอองเลอะจากสะบัดพู่กันผิด ภายในพื้นที่วงกลมซึ่งต้องเก็บกดปิดกั้น กลบกลืนด้วยสีอื่น

Author

อาทิตย์ ทองอินทร์
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาการก่อการร้ายและการเมืองในตะวันออกกลาง รวมถึงมีความสนใจบทบาทนโยบายต่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลต่อการเมืองในโลกอิสลาม

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า