WAY to READ: ถ้าเลือกได้ “จงกินกบที่น่าเกลียดก่อน”

เรื่อง: รัชดา อินรักษา

Eat That Frog! กินกบตัวนั้นซะ! แค่อ่านชื่อเรื่องก็เกิดความสงสัยในใจ “ทำไมต้องกินกบ?” หนังสือฮาวทูเล่มนี้พยายามจะสื่ออะไรกับเรากันแน่

เพราะต้องการหาคำตอบ จึงรีบพลิกกระดาษหน้าต่อไป และได้พบกับประโยคเปิดเรื่องที่เพิ่มความกระหายให้อยากจะพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ และลงมือทำทันที

โชคดีเหลือเกินที่การกินกบเป็นทักษะที่เรียนรู้กันได้จากการทำซ้ำๆ เมื่อคุณเริ่มลงมือทำงานที่สำคัญที่สุดก่อนงานอื่นจนกลายเป็นนิสัยแล้ว ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

ประโยคแนวจิตวิทยาที่อ่านแล้วเพิ่มพลังบวก สูบฉีดใจดวงเนือยๆ ให้กลับมาเต้นตามจังหวะเดิม หลังจากผจญกับภารกิจงานอันแสนเหนื่อยล้ามาตลอดทั้งวัน บางครั้งยังมีงานคั่งค้าง ต้องทำยิงยาวไปค่อนคืน

21 ตัวช่วยจากทั้งหมด 21 บทของหนังสือเล่มนี้เหมือนมาช่วย ‘เบรก’ และ ช่วยชาร์จแบตชีวิตไปพร้อมๆ กัน

ไบรอัน เทรซี (Brian Tracy) ผู้เขียนและเจ้าของประโยคนี้ได้ทดลองทั้ง 21 วิธีกับตัวเองมาแล้ว เขาเปลี่ยนชีวิตตัวเองจาก ‘พวกไม่มีอนาคต’ กลายเป็น ‘นักพูดและนักเขียน’ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก

หนังสือเล่มนี้จึงติดอันดับขายดีตลอดกาลจากการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2001 เทรซีพัฒนาและปรับปรุงเนื้อหามาเรื่อยๆ จนปัจจุบันตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 และยังคงมีผู้คนมากมายให้ความสนใจอย่างอบอุ่น การันตีได้จากยอดขายทั่วโลกกว่า 1.6 ล้านเล่ม

หนังสือเล่มนี้รวมวิธีขจัดนิสัยผัดวันประกันพรุ่งไว้ถึง 21 วิธี ด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย กลั่นมาจากประสบการณ์ตรงของเทรซี จากการศึกษาเรื่องบริหารเวลามากว่า 40 ปี ผ่านเรื่องราวและแนวคิดของผู้ที่ประสบความสำเร็จมากมาย ทั้งหมดถูกสรุปและขมวดออกมาเป็นเคล็ดลับความสำเร็จที่อัดแน่นในหนังสือความหนา 154 หน้า

หลายคนอาจคิดว่าการทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จเป็นเรื่องยาก หรือต้องใช้เวลานาน ไหนจะเรียนรู้ทำความเข้าใจ คิดบวก เปลี่ยนแปลงตัวเอง แค่คิดจะออกจากชีวิตความเป็นอยู่เดิมๆ (comfort zone) อย่างดูหนัง ฟังเพลง ช็อปปิ้ง ก็ว่ายากแล้ว ฉันเองก็คือหนึ่งในนั้น

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ ฉันเลือกหยิบบางข้อมาปรับใช้ เริ่มจากข้อง่ายๆ ‘หั่นงานเป็นชิ้นๆ’ วิธีนี้นอกจากจะทำให้งานเสร็จไวขึ้นแล้ว ยังช่วยลดนิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้อีกด้วย เปรียบเทียบง่ายๆ กับการแล่แฮม ‘จะกินแฮมชิ้นโตหมดในคำเดียวได้อย่างไร ถ้าเราไม่แล่ออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อน’

การทำงานก็เช่นกัน แบ่งซอยงานออกมาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ค่อยๆ เริ่มทำอย่างตั้งใจ รู้ตัวอีกทีงานเกือบเสร็จแล้ว นิสัยทุกอย่างสร้างได้ ความสำเร็จก็เช่นกัน หนังสือเล่มนี้ช่วยให้ฉันสามารถทำสิ่งที่ต้องทำ สะสางงานที่ประดังประเดเข้ามาให้เสร็จทันท่วงที จนเหลือเวลาไปทำสิ่งที่อยากทำ ได้มีเวลาเถลไถลส่วนตัว

ทำไมถึงจะต้องย้ำ ย้ำ และย้ำ! เรื่องการผัดวันประกันพรุ่ง เพราะมันคือตัวการสำคัญที่ขัดขวางความสำเร็จ ที่สำคัญ ถลำง่ายแต่เลิกยากเสียด้วย โดยเฉพาะสมัยนี้แทบไม่มีใครทำงานหน้าที่เดียว หนึ่งคน หนึ่งตำแหน่ง ล้วนทำงานหลายหน้าที่ ปัญหาอยู่ที่ว่าเลือกผัดผ่อนถูกงานหรือเปล่า หนังสือเล่มนี้สามารถช่วยคุณคัดเลือกงานที่เป็นลำดับสำคัญ (priority) แรกๆ ได้ โดยเอาเวลา 20 เปอร์เซ็นต์มานั่งวางแผนงานก่อนลงมือทำ เชื่อได้เลยว่าคุณต้องพอใจในผลลัพธ์ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับอย่างไม่น่าเชื่อ

หากสิ่งแรกที่คุณทำในตอนเช้าของวันคือการกินกบเป็นๆ หนึ่งตัว คุณจะผ่านวันนั้นไปได้สบายๆ เพราะคุณรู้แล้วว่านั่นน่าจะเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับคุณในวันนั้น

เทรซีเปรียบเทียบ ‘กบ’ เท่ากับ ‘งาน’ ยิ่งกบน่าเกลียดและตัวใหญ่เท่าใด ก็เปรียบเสมือนงานที่หนักและยากขึ้นเท่านั้น การผัดงานที่ยากไปทำเป็นลำดับสุดท้ายไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะถ้าเราผ่านงานที่ยากที่สุดไปแล้วงานที่เหลือก็จะเป็นแค่เรื่องกล้วยๆ สำหรับคุณไปเลย ดังนั้นถ้าจะเลือกกินกบสองตัวให้เลือกกินกบตัวที่น่าเกลียดก่อน

‘คุณจะกินช้างสักตัวได้อย่างไร?’ คำตอบก็คือ ‘กินทีละคำไงล่ะ!’

ทุกอย่างเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ เสมอ อย่างการตั้งเป้าหมาย และวางแผนงานล่วงหน้า หนังสือเล่าการแบ่งงานไว้อย่างง่าย (simple) ที่เหลือเราแค่ลองปฏิบัติตาม

ยกตัวอย่าง ตื่นเช้ามา เปิดอีเมลแล้วพบว่า พายุงานโหมกระหน่ำเข้ามาทีเดียวกว่า 10 เมล คุณจะทำอย่างไร? หนังสือเล่มนี้แนะว่าให้ “กินทีละคำ”

แต่ทำอย่างไรล่ะ? เทคนิค ABCDE ช่วยผ่อนการทำงานให้ง่ายขึ้นได้เสมอ

ก่อนอื่น ให้แบ่งงานออกเป็น ‘งานที่ควรทำ’ VS ‘งานที่อยากทำ’ ลำดับงานที่สำคัญที่สุดด้วยสัญลักษณ์ A B C D และ E ตามลำดับความสำคัญ

ยกตัวอย่าง งาน A คืองานสำคัญที่สุดของวัน ถึงยากก็ควรทำ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อองค์กร หรือการงานที่ทำอยู่ เช่น การส่งงานให้ทันตามเวลากำหนดส่ง

งาน B คืองานที่ควรจะทำ แต่ถ้ายังไม่ทำก็ไม่ส่งผลกระทบรุนแรง เช่น งานที่มีกำหนดส่งในวันถัดๆ ไป ถึงงาน B จะง่ายกว่างาน A ก็ไม่ควรทำจนกว่างาน A จะเสร็จ

งาน C คืองานหรือกิจกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการงาน เช่น พักเบรกกินข้าว หรือดื่มกาแฟ

งาน D คืองานที่ไหว้วานผู้อื่นให้ทำแทนได้ เช่น ถ่ายเอกสาร หรือพิมพ์สรุปรายงานการประชุม

และงาน E คืองานที่อยากทำสามารถตัดทิ้งได้โดยไม่ส่งผลกระทบใดๆ เช่น ดูละคร ฟังเพลง หรือเมาท์กระจายกับเพื่อน

เทคนิค ‘ABCDE’ ผนวกกับกฎ ’80/20′ ที่ ไบรอัน เทรซี ยกเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการบริหารเวลาและการจัดลำดับความสำคัญในชีวิต เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘หลักการพาเรโต’ ตามชื่อของ วิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Federico Damaso Pareto) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลีผู้คิดค้นกฎนี้ขึ้นในปี 1895

คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต กับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จต่างมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือการลำดับความสำคัญในการทำงานของพวกเขา คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเลือกทำงาน 20 เปอร์เซ็นต์ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ 80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะอีกกลุ่มหนึ่งเลือกทำงาน 80 เปอร์เซ็นต์ที่ส่งผลต่องานเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไบรอันแบ่งแยกคนสำเร็จและคนไม่สำเร็จออกจากกันโดยกฎข้อนี้

บทส่งท้ายในหนังสือไบรอันสรุปกฎทั้ง 21 ข้อไว้สั้นๆ สามารถเลือกปฏิบัติทีละข้อโดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามหนังสือ เชื่อเถอะว่านิสัยผัดวันประกันพรุ่งรักษาได้เพียงแค่เริ่มคิดจะแก้ไข ตัดสินใจฝึกฝนจนกลายเป็นนิสัยให้กฎเหล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ถ้าจะต้องกินอยู่แล้วจะรอทำไม ก็กินไปเลย ทำไปเลย จัดการกบที่น่าเกลียดตัวนั้นซะ!


Eat That Frog! กินกบตัวนั้นซะ!
เขียน: Brian Tracy
แปล: พรเลิศ อิฐฐ์
สำนักพิมพ์: วีเลิร์น

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า